โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๗ ซึ่งต้องพิสูจน์

โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๗ ซึ่งต้องพิสูจน์

“นี่เป็นเด็กฝึกงานคนใหม่ ผมขอให้คุณช่วยฝึกทำงานด้วย”

ผู้อำนวยการ “ไชยยงค์ ชวลิตร” เรียกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” มาพบในห้องของท่าน

บรรณาธิการมองฉันอย่างแปลก ๆ แต่ไม่ได้พูดว่าอะไร

“เอาล่ะ ผมส่งคุณเข้าฝูงแล้ว ต่อไปนี้คุณไปต่อสู้เอาเอง”

คำที่ท่านผู้อำนวยการบอกในวันแรกที่ฉันเข้าทำงานยังคงก้องอยู่ในสมองของความทรงจำมาจนถึงทุกวันนี้

ทำไม...ฉันจะต้องเข้าฝูง มีอะไรที่จะต้องต่อสู้มากมายอย่างนั้นหรือ แล้วฉันจะอยู่รอดปลอดภัยหรือเปล่า

“ทำงานหนังสือพิมพ์ไม่มีเวลาเข้าเวลาออก นายจะต้องเตรียมพร้อมตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง” บรรณาธิการบอกเช่นนั้น แล้วตะโกนบอกกับผู้ชายวัยกลางคนที่กำลังสาละวนวุ่น ๆ อยู่กับกระดาษหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่กางอยู่ข้าง ๆ ตัว

“เฮ้ย!! ไอ้จบนี่เด็กใหม่มันจะมาทำงานด้วย”

ผู้ชายคนนั้นเงยหน้าขึ้นมามองฉัน แล้วก็ถามด้วยน้ำเสียงที่ทำให้เกิดความอบอุ่นสบายใจขึ้นบ้าง

“ทำอะไรเป็นบ้างล่ะไอ้หนุ่ม”

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไรได้”

“เออ...งั้นนั่งรับโทรศัพท์ตรงนี้ล่ะ พอนักข่าวเขาโทรเข้ามา นายก็รับข่าวและเขียนมาให้พี่อ่านก่อนแล้วกัน

ยังจำได้ว่าข่าวแรกที่ฉันได้รับทางโทรศัพท์ เป็นข่าวอุบัติเหตุรถชนคนตายที่จังหวัดลำปาง

การส่งข่าวจากต่างจังหวัดผ่านทางโทรศัพท์นับว่าทันสมัยที่สุดในยุคที่ข่าวต่างจังหวัดจะส่งได้ด้วยการเขียนจดหมาย ซึ่งกว่าส่งมาถึงต้องใช้เวลาวันสองวันหรือบางทีอาจจะนานกว่านั้นเสียอีก

“ไหน...ลองเขียนเป็นข่าวมาซิ เขียนข่าวเป็นหรือเปล่า” ไอ้จบที่บรรณาธิการเรียก ซึ่งก็คือหัวหน้าข่าวบอกกับฉันเมื่อเห็นข้อความที่ฉันจดบันทึกมาจากการรับโทรศัพท์ต่างจังหวัด

“เฮ้ย!! นายเขียนเป็นนี่ เขียนข่าวได้ยังกับเคยเป็นนักข่าวมาก่อน”
เมื่อพี่จบของฉัน หรือไอ้จบของบ.ก. (บรรณาธิการ) บอกเช่นนั้น ฉันนึกถึงครูท่านหนึ่งที่สอนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบ

ครูอัมพา เขมะอุดม (แสนโกสิท) เคยเขียนลงในสมุดเรียงความที่ฉันไปให้ท่านตรวจครูเขียนว่า

........ “สันติ เธอเขียนเรียงความได้ดี เขียนส่งมาให้ครูอีกได้นะ แล้วครูจะส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ เธออาจจะมีชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก”

ครูครับ ครูนั่นแหละที่เห็นความสามารถอันน้อยนิดของฉัน

จากการรับข่าวต่างจังหวัดทางโทรศัพท์ในวันนั้น และการที่ได้ลองเขียนข่าวส่งให้หัวหน้าข่าว พี่จบหรือบรรจบ แก้วศิลป์ก็บอกกับฉันว่า

“ต่อไปนี้นายเป็นรีไรต์เตอร์ (ผู้เรียบเรียงเขียนข่าว) เลยคอยรับข่าวทั้งต่างจังหวัดทั้งในกรุงเทพ แต่นายจะต้องอยู่ในโรงพิมพ์ทั้งกลางวันกลางคืนเลยน่ะ” 

การทำข่าวก็จะแบ่งกันตามหน้าที่ พวกนักข่าวตระเวนโรงพักก็จะต้องแบ่งเป็นสายฝั่งพระนคร (ในสมัยนั้นยังไม่ได้มารวมกับกรุงเทพเป็นกรุงเทพมหานครเหมือนปัจจุบัน) นักข่าวฝั่งพระนครจะมี ๒ สายคือ สายเหนือกับสายใต้

ส่วนธนบุรีจะมีเพียงสายเดียว

สถานที่สำคัญนักข่าวจะต้องอยู่ประจำก็คือ “โรงพยาบาลกลาง”ในเวลากลางวันและ “โรงพยาบาลตำรวจ” ในเวลากลางคืน สองแห่งนี้จะมีข่าวใหญ่ให้ตลอด

โรงพักสำคัญก็คือ โรงพักพญาไท ในฝั่งพระนคร และโรงพักบางยี่เรือในฝั่งธนบุรี

สมัยนั้นมูลนิธิเก็บศพมี “ปอเต๊กตึ๊ง” ที่ช่วยเหลือสาธารณภัยเคียงข้างตำรวจ นอกจากนี้ก็มีพวกนักข่าวช่างภาพที่บางครั้งจะต้องลงมือร่วมด้วยช่วยกัน รถจิ๊บตระเวนข่าวบางครั้งก็จะต้องกลายเป็นรถขนศพให้ “ปอเต๊กตึ๊ง” หรือขนผู้ต้องหาให้กับตำรวจอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

เหมือนอย่างที่ บ.ก.บอกว่า การทำงานหนังสือพิมพ์จะต้องทุ่มเททั้งกายและใจ นักข่าวช่างภาพจะต้องทำงานได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

“นายจะไหวหรือ” บ.ก.เคยถามฉัน อาจจะเป็นเพราะว่าท่านเห็นว่าบ้านสนามบินน้ำของฉันอยู่ไกลจากโรงพิมพ์ที่อยู่สามเหลี่ยม ถนนดินแดงซึ่งตอนนั้นก็จัดว่าเป็นเขตชานเมือง

เป็นคำถามที่ท้าทาย ทำไมฉันจะไม่ไหว

ด้วยรถมอเตอร์ไซด์ที่เธอดาวน์ให้ และฉันก็ยังผ่อนอยู่ ฉันจะตื่นนอนตั้งแต่หกโมงเช้าและรีบห้อมอเตอร์ไซด์มาให้ทันรถตระเวนที่ออกจากโรงพิมพ์ตอนสองโมงครึ่งหรือสามโมงเช้าเป็นอย่างช้าจากรีไรต์เตอร์ที่เขียนข่าวแทนนักข่าว เพียงไม่กี่เดือนฉันก็ได้เขยิบหน้าที่

ขึ้นมาเป็นนักข่าวตระเวน แต่เป็นนักข่าวผู้ช่วยหรือผู้ช่วยนักข่าว คอยทำทุกหน้าที่ช่วยพี่นักข่าวสายไหนนักข่าวขาด ฉันก็จะต้องไปตระเวนข่าวแทน ซึ่งก็รวมทั้งการเป็นช่างภาพด้วย นักข่าวคนไหนไม่อยากจะอยู่เวร ฉันจะต้องทำหน้าที่รับเวรแทน

และการอยู่เวรก็หมายถึงว่า จะต้องควง (สำนวนหมายถึงทำตลอดทั้งกลางวันกลางคืน) แต่ฉันก็เต็มใจ หน้าที่และการงานมันท้าทายความอดทนและความสามารถของฉัน

“นายจะไหวหรือ” คำถามของบ.ก.ยังก้องอยู่

ฉันจะต้องไหวแน่ แม้จะไม่มีเงินเดือน เพราะนักข่าวฝึกหัดจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเพียงวันละ ๖ บาท เท่านั้นเอง เงินจำนวนนี้ซื้อน้ำมันเติมรถมอเตอร์ไซด์ของฉันได้เพียง ๓ ลิตรเท่านั้นเอง

ความจริงเงินเบี้ยเลี้ยงรายวันนั้นมันไม่พอใช้ แม้ว่าในสมัยนั้นข้าวราดแกงจาน ๑ บาท น้ำแข็งเปล่าร้านให้กินฟรี ส่วนน้ำอัดลมไม่ว่ายี่ห้อไหนขวดละบาทก็ไม่กล้ากิน เพราะมันไม่อิ่ม

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือ โรงพิมพ์ “นสพ.พิมพ์ไทย” ในตอนนั้นประสบปัญหาเรื่องการเงิน เหตุเพราะไปกู้เงิน “ธนาคารกรุงเทพ” มาซื้อเครื่องพิมพ์ทันสมัยจากญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ระบบการพิมพ์แบบโรตารี่”

ทั้ง ๆ ที่ในตอนนั้นโรงพิมพ์ทั่วไปใช้ระบบการพิมพ์แบบเก่าที่เรียกว่าพิมพ์ด้วยแท่น อย่างภาษานักข่าวเรียกกันว่า “แท่นจับแกละ” สื่อจะต้องจับกระดาษมาจากแท่นพิมพ์แล้วเอามือสอด ซึ่งจะต้องใช้คนงานเป็นจำนวนมาก
แตกต่างไปจากระบบโรตารี่ ที่เครื่องพิมพ์จะทำหน้าที่ด้วยเครื่องจักรไม่พึ่งมือคน พิมพ์เป็นฉบับไหลออกมาจากแท่นพิมพ์เลย

เพราะโรงพิมพ์มีปัญหาเรื่องการเงิน พนักงานทุกคนก็เดือดร้อนไปทั่วหน้า

เงินเดือนออกไม่ตรงเวลา เบี้ยเลี้ยงออกบ้างไม่ออกบ้าง คนที่ช่วยเหลือก็มีฉันอยู่คนเดียว เธอนางดินที่ฉันเรียกเธอว่า... “นางดินที่บินได้”

แม้ว่าฉันจะทอดทิ้งเธอมา ด้วยความหวังว่าจะกลับไปเรียนหนังสือสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ แต่ลงท้ายฉันต้องกลายมาเป็นนักข่าวที่ไม่มีเงินดาวเงินเดือน เงินเบี้ยเลี้ยงแต่ละวันก็ออกบ้างไม่ออกบ้าง แต่เธอก็ยังคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงชีวิตฉัน

“เป็นนักข่าวมีเงินพอใช้ไหม” ทุกครั้งที่เธอโทรศัพท์มาประโยคนี้เธอจะพูดซ้ำ ๆ และย้ำพูดหลายครั้งอย่างไม่แน่ใจ

หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ฉันก็จะได้รับเงินธนาณัติส่งมาให้น้อยบ้างมากบ้าง แต่เงินเหล่านี้ก็พอที่ฉันจะยาไส้ไปวัน ๆ ได้

ฉันรับเงินที่เธอส่งมาให้เป็นระยะ...ระยะ แต่สิ่งเดียวที่ฉันจะไม่รับจากเธอก็คือ รับคำขอร้องที่เธอจะบอกกับฉันทางโทรศัพท์เสมอว่า

“เลิกทำงานเป็นนักข่าวเถิด เลิกคิดที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เรามาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้ง”

...ฉันจะเลิกได้อย่างไร ฉันเพิ่งจะเริ่มต้น

ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ฉันจะต้องทำตามความตั้งใจอันแน่วแน่โดยไม่หวั่นไหวว่า ฉันจะทำสำเร็จได้หรือไม่ก็ตาม

หลายเดือนที่ทำงานเป็นนักข่าวฝึกหัด ที่จะต้องรับทำหน้าที่ทุกอย่างทั้งเป็นนักข่าวตระเวน และบางครั้งก็ต้องทำงานเป็นนักข่าวภูธรเพื่อไปช่วยนักข่าวต่างจังหวัดในกรณีที่เกิดข่าวใหญ่ อย่างเช่นข่าวเสือขาวและพวกปิดตลาดท่าเรือพระนครศรีอยุธยาปล้นร้านทอง และร้านค้าที่ร่ำรวย 

ข่าวนั้นฉันจะต้องฝังตัวอยู่กับตำรวจภูธรตามล่าเสือขาวไปหลายจังหวัด ต้องนอนกลางดินกินกลางทรายอยู่เป็นเดือน

จนกระทั่งถึงวันประหารชีวิตเสือขาวและพวกด้วยการยิงเป้าหน้าโรงเรียนท่าเรือเป็นจำนวนถึง ๖ คน ซึ่งนับว่าเป็นการยิงเป้าประหารชีวิตหมู่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

และก็ยังมีข่าวใหญ่อีกหลายสิบข่าวที่ฉันต้องทำทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

ทุก ๆ ข่าวฉันจะไม่ได้กลับบ้านเป็นอาทิตย์หรือบางทีก็เป็นเดือน และเหมือนทุกครั้งเมื่อพบหน้ากับ บ.ก. ท่าจะถามฉันเสมอว่า

“ไหวไหม” บางทีท่านอาจจะล้อฉันด้วยความเอ็นดู ฉันก็ได้แต่ยิ้มไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องตอบท่าน งานพิสูจน์ความไหวหรือไม่ไหวของฉันต่างหาก

แล้วก็มีวันหนึ่งบรรณาธิการเรียกประชุมนักข่าวทั้งหมด การประชุมเช่นนี้นาน ๆ ทีจะมีครั้ง ซึ่งจะต้องเป็นการประชุมที่สำคัญผิดปรกติจากการประชุมข่าวเหมือนทุกวัน

“โรงพิมพ์ของเราได้รับคำเชิญจากรัฐบาลเวียดนามให้ส่งนักข่าวไปดูการรบที่เวียดนาม” ท่านหยิบจดหมายเชิญจาก “ประธานาธิบดีเหงียน วัน เทียว” ที่ส่งมาให้ เพราะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ขายดีในยุคนั้น

ท่านประธานาธิบดีเหงียนคงอยากให้เรารายงานข่าวสงคราม เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลไทยส่งทหารไปร่วมรบ เหมือนกับรัฐบาลสหรัฐและออสเตรเลียและเกาหลี สามประเทศที่ส่งทหารไปร่วมรบเพื่อยับยั้งอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือที่กำลังมีชัยชนะเพิ่มมากขึ้น

“สงครามเวียดนาม” เป็นสงครามที่แปลกแตกต่างไปจากสมรภูมิรบที่อื่นเพราะเป็นสงครามที่รบกันไปทั่วประเทศ ฆ่ากันตายได้ทุกสถานที่ ไม่ใช่ในสนามรบ แม้แต่ในเมืองในบ้าน หรือแม้แต่ที่ ๆ คิดว่าปลอดภัยก็ตายได้ทั้งนั้น

ทุกวันจะมีข่าวคนตายเป็นร้อย ๆ ซึ่งไม่ใช่ทหารแต่เป็นพลเรือนเป็นประชาชนคนเดินถนนหรือคนเดินในป่าในท้องนาตายได้ทั้งนั้น

จากภาพที่สำนักงานข่าวต่างประเทศส่งเข้ามาเราก็ถึงจะเห็นแต่ภาพคนตายเกลื่อนถนน เกลื่อนท้องไร่ท้องนา

ภาพระเบิดนาปาล์มที่เผาผลาญบ้านเรือนมอดไหม้ ระเบิดจากเครื่องบินที่ทิ้งใส่จนทั่วทั้งประเทศมีหลุมใหญ่ ๆ กระจายไปสุดลูกหูลูกตา

มันเป็นสงครามที่สยดสยองอย่างที่สงครามสมรภูมิไหนก็ไม่เสมอเหมือน

“มีใครสมัครไปทำข่าวในสงครามเวียดนามบ้าง” ถามกับทุกคนที่มาประชุมกัน

เงียบไม่มีใครตอบ

“ไปครั้งนี้ขอบอกก่อนว่า ไม่มีค่าเบี้ยเลี้ยงเพราะรัฐบาลเวียดนามจะให้เฉพาะที่พักกับอาหารเท่านั้น อย่างอื่นไปหากันข้างหน้า” ท่านเว้นเสียงพูดนิดหนึ่ง เพื่อจะพูดเสียงขึงขังต่อว่า

“สำหรับความปลอดภัย ขอบอกว่าในสงครามไม่มีความปลอดภัย หากมีอะไรเกิดขึ้นก็ขอให้คิดว่าไปทำงานตามหน้าที่ เอ๊า...ใครจะสมัครไปทำข่าว”

เงียบ...เงียบยิ่งขึ้นทุกคนมองหน้ากันเลิกลั่ก

และนั้นล่ะ...ถึงเวลาของฉันแล้ว

ถึงเวลาที่ฉันจะต้องพิสูจน์ว่าฉันทำได้ ฉันจะต้องทำให้ได้

“ผมไปเองครับ” ฉันลุกขึ้นยืนและบอกท่านด้วยเสียงดัง

“เธอนั้นเหรอที่จะไป” บ.ก.ถามฉันเหมือนไม่แน่ใจ

“ครับผมจะไป” ฉันยืนยันซ้ำ ทุกคนในห้องปรบมือลั่น พวกเขาชื่นชมหรือสมน้ำหน้าผมไม่อาจจะบอก แต่ถ้าผมจะบอกก็จะบอกพวกพี่ ๆ ว่า

... “ผมมันคนโง่ มีแต่คนโง่เท่านั้นที่กล้าทำอะไรโง่ ๆ อย่างนี้” ...

แต่ฉันไม่กล้าพูดไม่กล้าบอกได้แต่คิดในใจ ในตอนนั้นก็ได้ยินเสียงบ.ก.ถามผมอีกว่า

“จะไหวเหรอ”

...ไหวหรือไม่ไหว ผมขอเอาชีวิตมาเดิมพันพิสูจน์กันครับบ.ก. .....

ผลงานประพันธ์ของอาจารย์ สันติ เศวตวิมล ในคอลัมน์ Life Poet ซึ่งต้องพิสูจน์