วังวนที่หนีทหารไม่พ้นของพม่า

วังวนที่หนีทหารไม่พ้นของพม่า

วังวนที่หนีทหารไม่พ้นของพม่า ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญ บอกเล่าเรื่องพม่ามาสองตอนแล้ว ฉบับนี้ผมขอสรุปเรื่องพม่าให้ผู้อ่านได้เห็นภาพอะไรบางอย่างกันนะครับ (พม่าหลังยุคอาณานิคม เมื่อทหารมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน 8888 สิงหาคมเลือด เหนือแผ่นดินพม่า

อะไรบางอย่างที่ผมว่านี้ แท้จริงคือสิ่งสำคัญในการปกครองประเทศ เพราะมันคือแนวทางและกรอบแห่งการบริหารจัดการบ้านเมือง ซึ่งแน่นอนอะไรบางอย่างที่ผมว่านี้ก็คือ รัฐธรรมนูญ ท่านผู้อ่านอาจจะจำได้ว่าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เมื่อพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ทำการปฏิวัติรัฐบาลของนางอองซานซูจีลง ข้อหนึ่งที่เขาออกมาพูดตลอดเวลาก็คือ การปฏิวัติของเขานั้นสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แปลกไหมครับ มีด้วยเหรอรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ทำรัฐประหารได้ ถ้าไม่พอใจคณะรัฐบาล เอาละครับเราย้อนไปดูกัน

หลังได้รับเอกราชภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน พม่ามีรัฐธรรมนูญมา 3 ฉบับแล้วประกอบด้วย ฉบับแรกคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 ซึ่งได้ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2491 หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ถูกประกาศใช้ใน พ.ศ.2517 อันเป็นยุคสมัยที่นายพลเนวิน เข้ากุมอำนาจการบริหารประเทศ และรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ก็ถูกประกาศใช้ ใน พ.ศ. 2551 โดยสลอร์ค ภายใต้การนำของนายพลตานฉ่วย เป็นผู้จัดตั้งสมัชชา แห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยทหารเป็นผู้คัดเลือกผู้เข้ามาทำหน้าที่นี้ ความแตกต่างของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป กระนั้นพอจะประมวลได้ ดังนี้

รัฐธรรมนูญแรก พ.ศ. 2490 นั้น ได้บัญญัติให้แยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นสามฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตามหลักการในระบอบประชาธิปไตย สำหรับรัฐสภาของเมียนมา (Union Parliament) ในช่วงเวลานั้นเป็นแบบสองสภา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และสภาชาติพันธุ์ (Chamber of Nationalities) ซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้งจากแต่ละรัฐและมณฑลเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศ อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับแรกได้ถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2505 เมื่อนายพล เนวิน ทำการปฏิวัติและนำประเทศเข้าสู่สังคมนิยม จาก พ.ศ. 2505 - 2517 เป็นเวลา 12 ปีพม่าไม่มีรัฐธรรมนูญใช้ เพราะนายพลเนวินปกครองภายใต้กฎหมายของคณะปฏิวัติ จนเกิดแรงบีบจากภายนอกพอสมควรแล้วนายพลเนวินเลยยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยสภาปฏิวัติของตนเองจึงเกิดมาเป็น รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 พ.ศ. 2517

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 พ.ศ. 2517 นั้น อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของนายพลเนวิน จึงมีการกำหนดให้พม่า ปกครองในระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตย มีสภาประชาชน (People’s Assembly / Pyithu Hluttaw) เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดและใช้อำนาจในนามของประชาชน และกำหนดให้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ดังนั้นสมาชิกสภาประชาชนแม้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จากประชาชน แต่สมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมดล้วนมาจากพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (Burma Socialist Programme Party: BSPP) เพียงพรรคเดียวเท่านั้น ฉะนั้นการบริหารปกครองประเทศจึงขึ้นอยู่กับพรรค BSPP และนายพลเนวิน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้น

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 พ.ศ. 2551 นั้น เกิดขึ้นเมื่อนายพลตันฉ่วย เข้ามามีอำนาจใน สลอร์ค และก้าวขึ้นเป็นประธานของสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) และเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าบุคคลในสมัชชานี้ส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกของฝ่ายทหาร และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างล่าช้า กว่าจะแล้วเสร็จก็ใช้เวลานานถึง 16 ปี เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมเสร็จแล้ว รัฐบาลทหารจึงจัดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการของสมัชชาแห่งชาติเกิดความชอบธรรม 

รัฐธรรมนูญการปกครองพม่า ฉบับ พ.ศ. 2551 เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่ควรรู้ในที่นี้ คือ สภาแห่งชาติของพม่า จะมี 2 สภา ประกอบด้วย 1.สภาผู้แทนราษฎร โดยมีสมาชิกได้ไม่เกิน 440 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 330 คน และอีก 110 คน มาจากการแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ 2 สภาชาติพันธุ์ (หรือสภาสูง) มีสมาชิกได้ไม่เกิน 224 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง โดยตรง168 คน และอีก 56 คน มาจากการแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ข้อนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งจากประชาชน กระนั้นส่วนหนึ่ง ทหารก็ยังคงรักษาเอกสิทธิ์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและการปกครองอยู่เช่นเดิม โดยทหารมีผู้แทนอยู่ในสภาแห่งชาตินี้อยู่ถึง 25%

อีกข้อหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีต้องถือสัญชาติเมียนมา และเกิดจากบุพการีที่เกิดในดินแดนที่เป็นเขตอำนาจรัฐของเมียนมาและถือสัญชาติเมียนมา นอกจากนี้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี จะต้องไม่มีบุพการี คู่สมรส บุตรหรือคู่สมรสของบุตร ที่เป็นคนในบังคับหรือพลเมืองของชาติอื่น ซึ่งข้อนี้ถูกมองว่าถูกตราขึ้นเพื่อกีดกัน นางอองซาน ซูจี ที่มีสามีเป็นชาวต่างชาติโดยตรง นอกจากนี้ยังมีข้ออื่นที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยอีกหลายข้อ ที่สำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตราสำคัญ ๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาแห่งชาติมากกว่าร้อยละ 75 และต้องจัดให้มีการลงประชามติทั่วทั้งประเทศ โดยจะต้องได้รับ ความเห็นชอบจากประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งยังกำหนดเอาไว้อีกว่า หากไม่ผ่านการทำประชามติ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาแห่งชาติมากกว่าร้อยละ75 ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะการจะได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาแห่งชาติ เกินร้อยละ 75 นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากกองทัพไม่เห็นด้วย เพราะตามรัฐธรรมนูญ สภาแห่งชาติ มีผู้แทนในสัดส่วนของกองทัพถึงร้อยละ 25 แล้ว

ด้วยเหตุเหล่านี้เองที่ นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD มองว่า รัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใน พ.ศ. 2553 และเมื่อไม่ได้นำพรรค NLD เข้าร่วมสังฆกรรมด้วยการลงทะเบียนพรรคการเมืองตามที่กำหนดก็ส่งผลให้พรรค NLD ต้องถูกยุบลงไปด้วยโดยปริยาย กระนั้นด้วยท่าทีจริงจังเพื่อนำพาประเทศก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ของคณะรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใน พ.ศ. 2533 โดยมีนายเต็งเส่ง เป็นประธานาธิบดีพลเรือน แม้ว่าประชาธิปไตยของพม่า ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในเวลานั้นจะยังไม่เต็มใบเสียทีเดียวด้วยว่ารัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะยังเปิดพื้นที่ให้กับฝ่ายทหารที่มีโอกาส ในการควบคุมและดูแลการบริหารงานของรัฐบาลได้มากอยู่ แต่การดำเนินงานของรัฐบาลเลือกตั้งที่มีขึ้น ก็สร้างความสบายใจต่อผู้ที่จับตาในสถานการณ์การเมืองของพม่าอยู่ไม่น้อย

ความเปลี่ยนแปลงของพม่าดูจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถคลายความวิตกกังวลจากนานาชาติลงไปไม่น้อย แม้ในครั้งนั้น นางอองซาน ซูจี จะได้เข้าเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติ หากแต่ในเวลาไม่นาน เมื่อมีการประกาศ การเลือกตั้งครั้งใหม่ อันเป็นการเลือกตั้งซ่อมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาชาติพันธุ์ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555 พรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี ก็ตัดสินใจเข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งภายหลัง การเลือกตั้งปรากฏว่า พรรค NLD ซึ่งส่งผู้แทนลงสมัครจำนวน 44 คน (ความจริงส่งครบทั้ง 45 ที่นั่ง แต่จากการตรวจสอบในภายหลังมี 1 เขตที่ผู้สมัครขาดคุณสมบัติ) จากที่นั่งที่มีอยู่ 45 ที่นั่ง ได้รับเลือกเข้ามาถึง 43 ที่นั่ง แม้จะมีการร้องเรียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งว่านางอองซาน ซูจีไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ประกาศยกคำร้อง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานี้ เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณที่ดีในการปรองดองทางการเมืองที่จะมีมากขึ้น ชัยชนะของพรรค NLD ในครั้งนี้แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรในรัฐบาลได้ เพราะพรรค USDP รวมถึง ทหารของนายเต็ง เส่ง ยังครองเสียงข้างมากอยู่ กระนั้นชัยชนะครั้งนี้ก็เป็นเสมือนแสงทองที่ทำให้มองเห็น อนาคตในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้อย่างดี

ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของพม่าในเรื่องการเมืองการปกครอง ส่งผลให้ได้รับการผ่อนคลายจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศภายนอกที่มีมายาวนานนับ 10 ปี ขณะที่ภายในพลเอกเต็งเส่งก็เร่งดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศอย่างจริงจังทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ มีการแก้ไขกฎหมายในหลายข้อ เพื่อจูงใจให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน การเข้าสู่สภาของพรรค NLD ในช่วงนี้หน้าที่หลักที่พรรคดำเนินการนั่นก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายหัวข้อและหลายประเด็น กระนั้นดังที่กล่าวมาแต่ต้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อกำหนดเงื่อนไขไว้ตายตัวเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งในที่สุดพรรค NLD ก็แทบจะไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลย นอกเพียงจากประเด็นเดียวจาก 6 ประเด็นที่เสนอเข้าสู่สภานั่นก็คือการแก้ถ้อยคำในบางมาตรา ที่เดิมกำหนดว่า “ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีต้องมีความรอบรู้ในกิจการต่าง ๆ ของสหภาพ อาทิ ด้านการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ และกิจการกองทัพ” โดยขอแก้ไขจากคำว่า “กองทัพ” เป็นคำว่า “กลาโหม” เท่านั้น เมื่อวาระของรัฐบาลใกล้จะสิ้นสุดลง ซึ่งจะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 การเลือกตั้งครั้งนี้เองที่ทุกฝ่ายต่างเฝ้ารอว่า การเมืองของพม่าจะก้าวไปสู่ทิศทางใดแท้จริงในอนาคต

และแล้วก็เป็นไปตามที่คาดหมาย กล่าวคือ ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น ปรากฏว่า พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้โดยสามารถได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 255 ที่นั่งได้ที่นั่งในสภาชาติพันธุ์จำนวน 135 ที่นั่งและได้ที่นั่งในสภาระดับภาคและสภาระดับรัฐ (Region/State Parliament) ซึ่งเป็นสภาระดับท้องถิ่นจำนวน 496 ที่นั่งในขณะที่พรรค USDP ของรัฐบาลได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 30 ที่นั่งได้ที่นั่งในสภาชาติพันธุ์จำนวน 11 ที่นั่งและได้ที่นั่งในสภาระดับภาคและระดับรัฐจำนวน 76 ที่นั่ง ส่งผลให้พรรค NLD ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แม้ข้อกำหนดจากรัฐธรรมนูญ ฉบับพ.ศ. 2551 จะกีดกัน นางอองซาน ซูจี ไม่ให้ได้เป็นประธานาธิบดีอย่างแน่นอน กระนั้น ในฐานะผู้นำพรรคและเป็นผู้วางแนวทางของพรรค มานับแต่ต้น การจัดตั้งรัฐบาลต้องเนิ่นช้าออกไป 

ในการประชุมของสภาแห่งชาติหรือรัฐสภาของพม่าที่มีขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552 อูถิ่นจอจากพรรค NLD ได้รับการเลือกตั้งจากสภาแห่งรัฐด้วยคะแนนเสียง 360 เสียงจากจำนวนสมาชิก 652 ที่นั่ง ในการลงมติคัดเลือกประธานาธิบดีครั้งนั้น มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 3 คน ประกอบด้วย 1. ถิ่นจอ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎร 2.พลเอกมยิ่นซ่วย ได้รับการเสนอชื่อจากกองทัพ พลเอก มหยิ่นซ่วย ได้รับการลงคะแนนเสียงเป็นที่ 2 ด้วยคะแนน 213 เสียง จึงได้ดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานาธิบดีคนที่ 1และ 3.นายเฮนรี่ บานทียู ได้รับคะแนน 79 คะแนน โดยอองซาน ซูจี รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี และที่สำคัญคือ ประธานที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า ซึ่งตำแหน่งนี้แท้จริงแล้วก็เปรียบเสมือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐบาล เป็นผู้อยู่ เบื้องหลังประธานาธิบดีที่มีสถานะเป็นเพียงหุ่นเชิด ซึ่งแน่นอนว่าในแง่ของประชาธิปไตยแล้วมันไม่สมควรเป็นเช่นนั้น เพราะประธานาธิบดีควรได้รับอิสระ ในการดำเนินการบริหาร กระนั้นทุกฝ่ายต่างก็เข้าใจดีในสถานะของการเมือง แบบพม่าที่ถูกกรอบแห่งรัฐธรรมนูญถูกเขียนเพื่อกันเอาไว้ ภายใต้การบริหารงานของอองซาน ซูจี พม่ามีสถานะชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเวทีประชาคมโลก ขณะที่เศรษฐกิจภายในก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการปรับตัวของทหาร และความเป็นประชาธิปไตยที่มีมากขึ้นนับแต่รัฐบาลก่อนหน้า การลงทุนหลั่งไหลเข้าสู่พม่าอย่างต่อเนื่อง

งานสำคัญที่ ซูจี เร่งดำเนินการในช่วงของการเข้ามาบริหารประเทศนั่นก็คือ การทำตามคำมั่นสัญญาที่เธอได้ให้ไว้ในตอนรณรงค์หาเสียง โดยเธอได้ให้สัญญากับชนกลุ่มน้อยเอาไว้ว่า หากพรรค NLD ได้บริหารรัฐบาลแล้ว สิ่งแรกที่เธอจะทำก็คือ การให้สิทธิและความเท่าเทียมกันแก่ชนกลุ่มน้อยในประเทศ หลังประธานาธิบดี ถิ่น จอ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559 กระบวนการเจรจาเริ่มต้นในอีกไม่กี่เดือนต่อมา รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานเพื่อควบคุมกำกับกระบวนการสร้างสันติภาพขึ้นในชื่อ “ศูนย์ปรองดองและสันติภาพแห่งชาติ” (National Reconciliation and Peace Center – NRPC) ซึ่งหน่วยงานนี้จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและจัดการประชุมเพื่อสันติภาพ หรือที่เรียกว่าการประชุม “ป๋างโหลงแห่งศตวรรษที่ 21”

สิ่งที่ ซูจี และ พรรค NLD กำลังดำเนินการนี้แท้จริงแล้วก็เป็นเหมือนการสานต่อ แนวคิดและนโยบายของนายพลอองซาน ผู้พ่อของเธอที่ได้เคยวางพื้นฐานเอาไว้นับแต่ตอนที่พม่าใกล้จะได้รับเอกราช ซึ่งในเวลานั้นได้สัญญาให้ชนกลุ่มน้อยเข้าร่วมในสหภาพพม่าและมีสิทธิ์ ที่จะถอนตัวออกจากสหภาพเมื่อการปกครองดำเนินมาถึง 10 ปีแล้ว แต่สัญญาในครั้งนั้นถูกเมินเฉยจากรัฐบาลในชุดหลัง ๆ นับแต่นายพลเนวินทำการรัฐประหารเป็นต้นมา ฉะนั้นการฟื้นฟูและการเริ่มเจรจากับชนกลุ่มน้อยใหม่อีกครั้งของรัฐบาลที่นำโดย อองซาน ซูจี จึงดูเหมือนจะเป็นความหวังอีกครั้งในสายตาของชาวโลก แต่กระนั้น การดำเนินการต่าง ๆ ในสภาพการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย กล่าวคือมันแตกต่างจากยุคที่นายพลอองซานเดินทางไปเจรจากับชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นบรรดา ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ยังไม่ถูกแทรกแซงจากต่างประเทศ อีกทั้งความรู้สึกที่ยังเป็นหนึ่งเดียวกันว่า อยู่ภายใต้ของอาณานิคมอังกฤษในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ทุกฝ่ายต้องการที่จะเป็นอิสระก่อน หากแต่ในปัจจุบันนี้ ชนกลุ่มน้อยแทบทุกกลุ่มมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับ ต่างประเทศไม่มากก็น้อย ทั้งแต่ละกลุ่มก็มีลักษณะ รูปแบบ และการจัดตั้งที่แตกต่างจากเดิมไปมาก ส่งผลให้การเจรจาไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเมื่อใกล้สิ้นสุดวาระในการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเรือนชุดแรกของพม่า หลังจากการครองอำนาจอย่างยาวนานของทหาร ภายใต้การนำของพรรค NLD และนางอองซาน ซูจี รัฐบาลได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โลกกำลังประสบภัยจากโรคระบาด “โควิด 19” อันสร้างความหวั่นไหวไปทั่วโลก การเลือกตั้งครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้การจัดการของพรรค NLD  แตกต่างจากครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมาที่ทหารเข้ามาเป็นผู้จัดการเลือกตั้งผ่านทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายทหารได้ออกมาติติงอย่างต่อเนื่องถึงการจัดการเลือกตั้ง ที่มีหลายประเด็น ที่ฝ่ายทหารมองว่าไม่มีความยุติธรรม แต่กระนั้นการเลือกตั้งก็ผ่านไปได้ด้วยดี ในจำนวนผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งจำนวน 5,600 กว่าคน จากพรรคการเมืองกว่า 200 พรรค แต่มีพรรคหลักที่แข่งขันกันอย่างจริง ๆ อยู่เพียง 2 พรรคนั่นคือพรรค NLD ซึ่งเป็นพรรคของนางอองซาน ซูจี และพรรค USDP ซึ่งเป็นพรรคแปลงร่างของทหารพม่า ผลการเลือกตั้งจากการประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งพม่าปรากฏออกมาว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ได้รับเลือกเข้าสู่สภาแห่งชาติ ซึ่งแบ่งเป็น สภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) จำนวน 225 ที่นั่ง และสภาแห่งชาติพันธุ์ (สภาสูง) ได้ 121 ที่นั่ง รวมแล้ว 346 ที่นั่งจากที่นั่งทั้งหมด 644 ที่นั่ง ขณะที่พรรค USDP (พรรคทหาร) ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง 25 ที่นั่งเท่านั้น ส่งผลให้ พรรค NLD ได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศอีกครั้ง

ชัยชนะจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ของพรรค NLD แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงอย่างไร ประชาชนชาวพม่าก็ยังให้การสนับสนุนพรรค NLD อย่างสูง ประชาชนพม่าที่ได้ลิ้มลองประชาธิปไตยของประเทศอย่างน้อยก็ 5 ปีหรืออาจจะมากกว่านั้นนับแต่การผ่อนปรน ของทหาร เริ่มพบว่าสภาพชีวิตของตนเองที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเปลี่ยนไปของทหารและการเข้ามาของวิถีแห่งประชาธิปไตย โดยธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีการปิดกั้นไม่อาจทาให้เกิดการพัฒนาได้ เมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้วย่อมนำไปสู่การพัฒนาในด้านอื่น ๆ ด้วยรวมทั้งทางด้านการเมืองและสิทธิเสรีภาพของคนในประเทศระบบเศรษฐกิจแบบเสรีมีส่วนสนับสนุนรูปแบบการปกครองแบบเสรีหรือระบอบประชาธิปไตยได้ เพราะระบบเศรษฐกิจแบบเสรีก่อให้เกิดค่านิยมปัจเจกชนนิยมความเชื่อเรื่องเสรีภาพ การส่งเสริมการแข่งขัน และการยอมรับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งมีความสอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญแก่เรื่องสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดทางเลือกของสังคม

แม้ปัจจุบัน พม่าจะยังไม่ได้ก้าวพ้นจากความเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา กระนั้นการเข้ามาของประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้ประชาชนชาวพม่าในวงกว้างมีความสุขมากยิ่งขึ้น พวกเขาเชื่อและหวังว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นจะหายไป ซึ่งระยะเวลาร่วม 5 ปีที่พรรค NLD ที่ได้นำมาใช้และดำรงอยู่ดูเหมือนจะเป็นความหวังไปอีกยาวไกลว่า วันข้างหน้าจะดียิ่งขึ้นอีก แต่แล้ววันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ของ อองซาน ซูจี ยังไม่ทันได้เริ่มดำเนินการใด ๆ ในเรื่องของการบริหารประเทศ พลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า ก็ก่อการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยการเข้าจับกุมตัวแกนนำพรรค NLD รวมถึง นางอองซานซูจี หลังจากนั้นจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน เป็นเวลา 1 ปี แล้วแต่งตั้งให้พลเอก มยิ่นซ่วย นายทหารนอกราชการที่เป็นรองประธานาธิบดีจากทหารในรัฐบาลชุดก่อน ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี และแต่งตั้ง สมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐขึ้นอีก 16 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพลเอกมิน อ่อง หล่าย รวมอยู่ด้วย นอกจากนั้นก็ได้ประกาศตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศอีกจำนวน หนึ่ง

การประกาศตั้งสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council หรือ SAC) ใน พ.ศ. 2564 ภายใต้รัฐธรรมนูญพม่า ฉบับ พ.ศ. 2551 ที่ประกอบไปด้วยบรรดานายทหารนั้น เป็นเหมือนภาพเก่า ๆ ที่เคยหลอก

 

บอกเล่าเรื่องพม่ามาสองตอนแล้ว ฉบับนี้ขอสรุปเรื่องพม่าให้ผู้อ่านได้เห็นภาพอะไรบางอย่างกัน