ล้วงเรื่องราวทะเลวรรณกรรม - ปิยะพร ศักดิ์เกษม

ล้วงเรื่องราวทะเลวรรณกรรม - ปิยะพร ศักดิ์เกษม

Life is like a Novel

ล้วงเรื่องราวทะเลวรรณกรรม

ปิยะพร ศักดิ์เกษม

                            

ปิยะพร ศักดิ์เกษม คือนามปากกาของอาจารย์ เอียด นันทพร ศานติเกษม ท่านเป็นนักเขียนที่มีผลงานมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี จากเรื่อง เรื่องสั้น บทความ สารคดี รวมถึงนิยายดังหลายเรื่อง อาทิ ตะวันทอแสง, ทรายสีเพลิง,รากนครา,ในวารวัน ฯลฯ ด้วยฝีมือทางด้านวรรณศิลป์ที่คมคายมีการร้อยเรียงเรื่องราวโครงเรื่องน่าสนใจ บวกกับจินตนาการที่กว้างไกล ท่านจึงเป็นนักเขียนนิยายที่ตรึงใจเหล่าบรรดานักอ่านมาแล้วหลายรุ่น นับได้ว่าเป็นนักเขียนที่มีแฟนคลับติดตามผลงานมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย

“เชื่อไหม สมัยก่อนดิฉันไม่กล้าเรียกตัวเองว่านักเขียน ขนาดเขียนนิยายมาแล้ว 3 - 4 เรื่องยังไม่กล้าเรียกเลย คิดว่าตัวเองเป็นเพียงนักอ่านที่เขียนได้เท่านั้น เพราะมีความรู้สึกว่าคำว่า “นัก” นำหน้า มันแปลว่าเก่งแต่คิดว่าตัวเองยังไม่เก่งเท่าไหร่ จึงยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่านักเขียน อีกเหตุผลหนึ่งเพราะตอนนั้นเรามีงานประจำ แล้วรายได้จากการเขียนก็ยังไม่มาก จนกระทั่งนิยายที่เขียนเริ่มขายได้บางเล่ม ต่อมานิยายได้รับรางวัล มีนำไปทำละคร ก็คิดว่าสงสัยเราจะเป็นนักเขียนจริง ๆ

“การเป็นนักเขียนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ผลงานมันจะเป็นตัวบอกเองว่า จริง ๆ เราเป็นนักเขียนหรือไม่ แต่สำหรับดิฉันการเป็นนักเขียน คือการมีผลงานที่สร้างรอยเอาไว้บนเส้นทาง ถ้าสมมุติว่าการทำงานของเรา มันคือการเดินทาง รอยเท้าของเราที่ปรากฏอยู่นั่นแหละคือเราเป็นนักเขียน มันต้องพิสูจน์กันด้วยกาลเวลาที่ยาวนานพอสมควร แต่เราต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในโลกออนไลน์ใครจะเป็นนักเขียนก็ได้มันง่ายขึ้น ดิฉันยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ อย่างน้อยเด็กรุ่นใหม่เขาก็รักในการอ่านการเขียนตรงนี้เป็นเรื่องที่ดี”            

                เรื่องราวชีวิตของอาจารย์เอียดนั้น พื้นเพเดิมท่านเป็นคนจังวัดชลบุรี เติบโตมากับบ้านเรือนไทยติดทะเล โดยมี “บ้านหลวงอำนาจจีนนิกร” ซึ่งมีอายุร้อยกว่าปีอยู่ในการครอบครอง เป็นบ้านเก่าแก่ที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทยโบราณ แอบซ่อนประวัติและเรื่องราวไว้มากมาย ด้วยบรรยากาศที่เงียบสงบ บวกกับความทรงจำและจินตนาการ สิ่งเหล่านี้ส่วนหนึ่งถูกถ่ายทอดออกมาเป็นนิยาย โดยเฉพาะเรื่องที่ชื่อว่า “ในวารวัน”

“บ้านที่เรานั่งคุยกันอยู่ตรงนี้ (บ้านหลวงอำนาจจีนนิกร) เป็นบ้านที่ดิฉันเกิดและเติบโต ตอนที่คุณยายยังมีชีวิตท่านเป็นคนช่างเล่าเรื่องราวเก่า ๆ  ดิฉันก็เป็นลูกมือคุณยายทั้งตำหมากตักน้ำ คือให้ช่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ คือได้ใกล้ชิดคุณยายมากดิฉันจึงเกิดภาพจำสะสมไว้ ภายหลังคุณยายท่านเสียชีวิตแล้วมีการจัดบ้านใหม่ ดิฉันได้เจอเอกสารเก่า ๆ ของท่านจึงเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนนิยาย “ในวารวัน” ขึ้นมา

                “ในวารวัน” เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดเรื่องมาด้วยเด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบ เล่าย้อนหลังไปว่าปู่ย่าเธอเป็นใคร ไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต ดิฉันไม่ได้เอาชีวิตของใครคนใดคนหนึ่งมาเขียน แต่ว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องชีวิตคุณยาย เอามาผสมกับคนพื้นถิ่นชลบุรี โดยนำประวัติศาสตร์ ของรัชกาลที่ 5, 6 และ 7 มาเขียนเป็นพื้นหลังนิยาย ซึ่งนิยายมันต้องเดินเรื่องด้วยชีวิตผู้คน ดิฉันจึงเลือกชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีพื้นฐานคล้ายคุณยายเอามาเดินเรื่องร่วมกับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ นอกจากเรื่องที่เขียนถึงคุณยายแล้ว อีกส่วนหนึ่งอยากจะบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคนั้นด้วย

“ในวัยเด็กสิ่งที่ดิฉันได้สัมผัสอีกอย่างคือเรื่องของศาสนา ซึ่งคนโบราณเขาใกล้ชิดศาสนามาก แล้วเราเป็นครอบครัวที่อยู่ร่วมกัน คุณแม่มีหน้าที่ทำกับข้าวหุงข้าวในวันพระ คุณยายก็เอาข้าวใส่หม้อใส่อวย นั่ง 3 ล้อจากบ้านไปทำบุญที่วัด ดิฉันเป็นเด็กได้อยู่ใกล้ชิดยายมาก คือช่วงปิดเทอมไปวัดทุกวันพระเลย ไปกับยายช่วยทำบุญฟังเทศน์ มันก็ซึมซับเข้ามา

“แล้วดิฉันไม่ได้ติดอยู่กับการสอนของศาสนาพุทธอย่างเดียว เพราะดิฉันเรียนโรงเรียนคาทอลิกมาตั้งแต่เด็ก เวลาที่โรงเรียนเปิดคลาสคำสอน หลายครอบครัวได้ห้ามลูกเข้าไปเรียนเพราะกลัวลูกจะเข้ารีต แต่คุณพ่อกับคุณแม่ของดิฉันเปิดกว้าง บอกว่าอยากรู้อะไรก็เข้าไปเรียน เขาก็สอนให้ทำความดีด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นดิฉันจึงได้เรียนรู้การสอนของศาสนาคริสต์ เข้าพิธีมิสซา เขาก็ไม่ได้บังคับเด็กคนไหนอยากจะเข้าก็เข้า แต่ถ้าเป็นเด็กคาทอลิกเขาจะเข้าทุกสัปดาห์ ไปร้องเพลง ฟังคุณพ่อบาทหลวงเทศน์

“ดิฉันจึงเรียนรู้ทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ มีนิทานเรื่องราวตำนาน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากทั้งสองศาสนาให้เรียนรู้ ดิฉันเห็นว่าไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกัน ล้วนแต่สอนให้คนเป็นคนดี สร้างความดีละเว้นความชั่ว มันง่ายแค่นี้เองสำหรับทุกศาสนา เมื่อมีโอกาสได้เขียนนิยายจึงเอาสิ่งที่คิดที่รู้มาสอดแทรกลงไป

“ถ้าพูดถึงเรื่องความงดงามของนิยาย มีหลายคนบอกว่าบรรยายฉากสวยมากใช้ถ้อยคำได้ดี เหตุผลเพราะดิฉันสนใจเรื่องของศิลปะมาแต่ไหนแต่ไร ได้เข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในครอบครัวคุณพ่อท่านเรียนจบด้านอักษรศาสตร์มา จึงเป็นนักอ่านโดยเฉพาะหนังสือวรรณคดี ทำให้ดิฉันได้อ่านวรรณคดีเยอะตามไปด้วย การที่เราเรียนศิลปะจะเห็นเรื่องของความงาม เหมือนถูกฝึกปรือมา ดูความงามรอบตัวให้เป็น เพราะฉะนั้นเมื่อเขียนอะไรออกมา มันจึงติดแน่นอยู่ในเรื่องของความงามความเชื่อทางศาสนา รวมถึงสิ่งที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่วัยเด็ก ถูกหล่อหลอมมาเป็นนิยายที่เขียนขึ้นนั่นเอง

“ในช่วงแรกที่ดิฉันเริ่มเป็นนักเขียนนิยาย สมัยก่อนงานแต่ละชิ้นต้องผ่านสายตาของบรรณาธิการชั้นยอด อย่างคุณ สุภัทร สวัสดิรักษ์ ท่านคัดเลือกนิยายเรียกว่าเหมือนตะแกรงที่ถี่มาก ๆ ใครสักคนที่หลุดรอดขึ้นไปแสดงว่ามีโอกาสแจ้งเกิดแล้ว คือต้องทำอย่างไรบรรณาธิการจะประทับตราว่าให้ผ่านลงได้แล้วมันยากตรงนี้ มันเหมือนกับว่า มีคนที่อยากเป็นนักเขียนอยู่เป็นโอ่งใหญ่ แต่ปากโอ่งแคบนิดเดียว แต่ถ้าโผล่พ้นขึ้นมาเมื่อใดคือได้เกิดแน่นอน

“แต่สมัยนี้โลกออนไลน์มันใหญ่มาก เหมือนทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาล มีจำนวนนักเขียนเยอะมาก ปัญหาของยุคนี้คือ ทำอย่างไรถึงจะโดดเด่นขึ้นมาจากจำนวนหลายหมื่นหลายแสนเรื่อง ที่มีอยู่ในทะเลวรรณกรรมได้ มันเป็นความยากง่ายของแต่ละยุคสมัย ปัญหาใหญ่คือทำอย่างไรถึงจะโดดเด่นขึ้นมา และเป็นนักเขียนตัวจริงยืนหยัดอยู่ยาวนาน

“แล้วในระยะหลังนิตยสารเริ่มหายไปจากแผงหนังสือเกือบหมด พื้นที่ของนักเขียนนิยายจึงเริ่มหายไปด้วย แต่ชีวิตเหมือนถูกสาปให้ต้องเขียนต่อไป ยังมีเรื่องอีกเยอะเลยที่อยากเล่า ตอนแรกก็คิดว่าไม่เป็นไร เรายังมีช่องทางที่จะลงผลงานของตัวเองก็คือแฟนเพจเฟจบุ๊ค พอเขียนไปได้สักพักหนึ่งน้อง ๆ ก็มาชวนให้มาทำเว็บไซต์นิยาย เราก็คิดต่อว่าจะไปอาศัยลมหายใจสื่อออนไลน์คนอื่นทำไม จึงรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ช่วยกันสร้างเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาดีกว่าชื่อว่า อ่านเอา (www.anowl.co) ขึ้นมา

“สมัยก่อนนิตยสารที่มีนิยายเป็นตัวเดินหลักอย่างสกุลไทย ขวัญเรือน พลอยแกรมเพชร ดิฉัน หายไปจากแผงหนังสือแล้ว แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบอ่านนิยายเป็นรายสัปดาห์ รายปักษ์ ก็เลยตั้งใจสร้างเว็บไซต์ “อ่านเอา” ขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งแค่นั้นเอง ใน “อ่านเอา” มีนิยาย 10-20 เรื่องลงสลับกันไป แต่อย่างไรก็ตามนักเขียนแต่ละคนจะต้องเขียนหนึ่งบทใหม่ในแต่ละสัปดาห์ แล้วให้มีบทความ มีรีวิวหนังสือและหลายสิ่งหลายอย่าง เหมือนนิตยสารที่ออกเป็นเล่มทั่วไปมี

“ต้องยอมรับว่าสังคมตอนนี้เปลี่ยนไปต่างคนต่างมีโลกของตัวเอง สิ่งที่สามารถทำได้คือพยายามสร้างสรรค์งานดี ๆ ช่องทางดี ๆ แล้วก็เรียกคนเข้ามาให้มาก เหมือนพยายามเอาน้ำดีไล่น้ำเสีย ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับคนในสังคมด้วยว่าจะดูแลลูกหลาน ของตัวเองได้ดีแค่ไหน มันเป็นเรื่องที่เราต้องร่วมกันรับผิดชอบ ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตมาสังคมในช่วง 5 -10 ปี นี้มันเปลี่ยนแปลงเร็วมากจริง ๆ เพียงแค่พริบตาเดียวมันก็เปลี่ยนไปแล้ว ดิฉันก็ทำในสิ่งที่สามารถทำได้พยายามขยายแนวคิดจากตัวตนของเราต่อไป ทั้งการโพสต์เพสบุ๊คบ้าง เขียนบทความบ้าง จะสอดแทรกสิ่งสวยงามเอาไว้เสมอ แล้วพยายามดึงคนที่มาอ่านให้มากที่สุด

“ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เติบโตมาจากการอ่านนิยายบนเว็บไซต์ แล้วนิยายในเว็บไซต์บางที่ปราศจากการกลั่นกรอง อย่างเช่นเรื่องทางเพศ ในยุคดิฉันเรื่องแบบนี้ก็มีแต่หนังสือที่เรียกว่าปกขาว มีขายใต้แผงต้องหลบซ่อน ๆ แต่พอมาถึงยุคนี้ลองไปเปิดบางเว็บไซต์ถ้าเจอสัญลักษณ์นี้จะเจอแบบนี้ มันไม่มีการซุกซ่อนอีกต่อไป แล้วอนาคตเด็กก็จะเติบโตมาแบบนั้น

“ดิฉันก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี ให้เขาได้อ่านหนังสือที่สะอาดเป็นงานดีแล้วสนุกด้วย ดิฉันก็เอาเรื่องที่หมดลิขสิทธิ์กับสำนักพิมพ์แล้ว นำไปลงในเว็บไซต์ใหญ่ที่มีคนอ่านเยอะ ๆ ให้เด็กที่ไม่เคยอ่านเรื่องของดิฉันไม่เคยรู้จักมาก่อนได้สัมผัสเราก้าวทีละก้าว ด้วยการลงทีละ 2 หน้าค่อย ๆ ทำไป แต่ด้วยความตั้งใจจะให้เด็กอ่านฟรี ด้วยการลงวันละ 2 หน้า  สักวันหนึ่งมันจะค่อย ๆ ซึมเข้าไป เขาจะได้รู้ว่างานที่สนุกโดยไม่มีเรื่องเลอะเทอะเข้ามาเกี่ยวข้องก็มี มีเรื่องอื่นที่น่าสนใจในโลกนี้ตั้งเยอะ ก็ตั้งใจจะทำแบบนี้ ค่อย ๆ ทำกันไป

“สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียน นอกจากมุมมองและประสบการณ์ของชีวิตแล้ว ต้องแตกรากมาจากการรักการอ่าน แต่คนที่อ่านหนังสือเยอะ ๆ ทุกคน ไม่ใช่จะเป็นนักเขียนได้ มันต้องมีสองอย่างประกอบกัน อย่างแรกคือ เป็นคนรักการอ่าน และต่อด้วยรักการเขียน ถ้าเขียนเป็นคอนเทนต์ด้านอื่น เช่น สารคดี อาจไม่ต้องมีจินตนาการมากนัก แต่ถ้าเป็นนักเขียนนิยาย อย่างแรกคือต้องรักการอ่าน และรักการเขียนอย่างแท้จริง แล้วต้องเป็นคนมีจินตนาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่สามารถสอนได้ แต่มันสามารถแนะนำได้ค่อย ๆ สะสมด้วยตัวเองจากการอ่านหนังสือเยอะ ๆ นั้นคือการซึมซับเอาคำ กับวิธีการเล่าเรื่องของนักเขียนทุกคน จากหนังสือทุกเล่มมาไว้ในตัวเรา เสร็จแล้วมันจะตกตะกอนออกมาเป็นตัวเราเอง

“ถ้าหากว่าเราเขียนนิยาย แต่ไม่คิดว่าจะเขียนต่อยอดจากสิ่งที่เราเห็น มันคงไม่ใช่นิยายที่ดีพอ ดิฉันยกตัวอย่างเช่น เราเปิดทีวีแล้วเห็นคนชกมวยบนเวที ถ้าหากไม่ใช่นักเขียนนิยายจริง ๆ คงเห็นแค่ฝ่ายแดงหรือฝ่ายน้ำเงินชนะแล้วก็จบ แต่ถ้าเป็นนักเขียนนิยาย จะคิดต่อว่าการก้าวขึ้นบนเวทีมวย เป็นการก้าวขึ้นไปเพื่อเจ็บตัว ทำไมผู้ชายคนนี้ถึงได้ก้าวขึ้นไปบนเวที และยอมเจ็บตัว เขาต้องมีอะไรบางอย่างผลักดัน แม่เขากำลังป่วยไหม หรือลูกเขากำลังต้องการเงินไปเรียนหนังสือรึเปล่า และถ้าจบไปแล้ว ชนะจะเกิดอะไรขึ้น แพ้แล้วเกิดอะไรขึ้น คือเราต้องคิดต่อ และหาเหตุผลทุกสเต็ปของชีวิต

“การเขียนนิยาย คือการถอดเอาชีวิตคน ถอดเอาสภาพสังคมรอบ ๆ ออกมาเป็นตัวหนังสือ บางคนคิดว่านิยายเป็นเพียงเรื่องเล่าเล่น ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันลึกกว่านั้น มีทั้งแนวคิดเรื่องของศีลธรรมจรรยา มีทั้งจดหมายเหตุทางสังคม การวิเคราะห์จิตใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวละคร มันจะมีอยู่ในนั้นหมด

“การสร้างตัวละครแต่ละตัว ไม่ใช่เพียงแค่สร้างจินตนาการออกมาเป็นพระเอก ผู้ชายหล่อ ร่างสูง ร่ำรวย แค่นี้จบ ต้องคิดว่ามีนิสัยเป็นอย่างไร พูดจาแบบไหน มีพื้นฐานความคิดอย่างไร พ่อแม่เป็นใคร ปู่ย่าเป็นใคร มีความเชื่อ มีอุดมการณ์ในใจเป็นแบบไหน ต้องคิดลึกขนาดนั้น ถ้าขาดจินตนาการก็เป็นนักเขียนนิยายไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเป็นนักเขียนนิยายสิ่งที่ต้องมีคือหนึ่ง เป็นนักอ่าน และรักการเขียน อย่างที่สองคือ ต้องมีจินตนาการนั่นเอง

“แล้วการเป็นนักเขียนสมัยนี้ไม่ต้องกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคม เหมือนอย่างที่นิตยสารหายไป หรือหนังสือเป็นเล่มหายไป ซึ่งการอ่านไม่ได้ล่มสลาย มันเพียงแต่ย้ายแพลตฟอร์มจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงมันอาจจะดูแล้วน่าตกใจมาก แต่ไม่ต้องตกใจ สักพักเราก็จะปรับตัวได้

“ดิฉันคิดว่าในโลกยุคนี้ การดำรงชีวิตของผู้คน สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และดำเนินชีวิตไปได้อย่างสบายทั้งกายและใจ คือการดำเนินตามรอยพระราชดำริใช้ชีวิตแบบพอเพียงดีที่สุด ท่ามกลางคลื่นกระแสทางเศรษฐกิจต่าง ๆ นานา ให้คนที่รู้จักใช้เศรษฐกิจแบบพอเพียง คือการใช้ในสิ่งที่เรามี ทำในสิ่งที่เรามีทุน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทั้งการดำรงชีวิตและสภาพจิตใจดีขึ้น แล้วเมื่อไหร่ที่กระแสคลื่นร้ายแรงทั้งหลายที่ถาโถมเข้าใส่มันจะซาลง เราก็จะสามารถปรับใจ ปรับตัวเองให้เข้ากับสังคมยุคใหม่ได้ในที่สุด”

 

Did You Know

อาจารย์ เอียด นันทพร ศานติเกษม จบการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ร.ร.เมรี่อิมมาคุเลตคอนแวนต์ และ ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์,ปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ เอกวิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในอดีตเคยรับราชการสังกัดกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ

ผลงานนิยายที่มีชื่อเสียงอาทิ ตะวันทอแสง, ทรายสีเพลิง, รากนครา, บัลลังก์แสงเดือน, ในวารวัน, ตะวันเบิกฟ้า ฯลฯ

ปิยะพร ศักดิ์เกษม คือนามปากกาของอาจารย์ เอียด นันทพร ศานติเกษม ท่านเป็นนักเขียนที่มีผลงานมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี จากเรื่อง เรื่องสั้น บทความ สารคดี รวมถึงนิยายดังหลายเรื่อง