The Legend : The Adam’s Bridge ตำนานพระรามจองถนน| Issue 163
ย้อนไปในสมัยมัธยมของคนที่มีอายุ 30 ขึ้นไปนั้นเราจะได้เรียนวิชาภาษาไทยที่ยกบทกาพย์กลอนของมหากาพย์ รามเกียรติ์ ตอนสังหารไมยราพ กันแทบทุกคน ในกาพย์ตอนนั้นจะกล่าวถึง หนุมาน ลิงเผือกทหารเอกของพระรามได้ออกตามตัวพระรามผู้เป็นนาย ที่โดนไมยราพลักพาตัว แต่ระหว่างทางก็กลับได้พบกับมัจฉานุ ลูกของตนอย่างบังเอิญ ซึ่งเกิดจากนาง สุพรรณมัจฉา
เหตุของการตกล่องปล่องชิ้นจนเกิดเป็นลูกลิงหางปลานี้เกิดจากพระรามนั้นได้สั่งให้บรรดาทหารลิงทั้งหลายทำการถมทะเลสร้างถนน (พระรามจองถนน) เพื่อที่จะกรีทาทัพยกพลไปสังหารเผ่าพันธุ์ยักษ์ด้วยเหตุจากการที่ทศกัณฑ์ได้ไปลักพาตัวนางสีดาคนรักของพระรามมานั้นเอง ระหว่างที่ถมทะเลนั้น ทศกัณฑ์ก็ได้ใช้ให้นางสุพรรณมัจฉา บุตรสาวตนเองที่เกิดกับปลา ไปทำลายแนวหินของถนนเสีย ซึ่งเป็นเหตุให้การสร้างถนนล่าช้า พระรามจึงสั่งให้หนุมานทหารเอกออกไปตรวจเป็นเหตุให้เกิดการจับกุมยื้อยุด จนตกล่องปล่องชิ้นเป็นมัจฉานุในที่สุด
เรื่องราวของพระรามจองถนนนั้น ดูเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อเกินบรรยาย แต่ก็เป็นเรื่องราวตำนานเทพกึ่งนวนิยายที่เล่าต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนาน มาวันนี้ด้วยเทคโนโลยีอันก้าวหน้า ทำให้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นได้ค้นพบสิ่งก่อสร้างขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะเกี่ยวพันกับตำนานรามเกียรติ์ของอินเดียดังกล่าว สิ่งก่อสร้างนี้มีขื่อเรียกว่า Adam’s Bridge หรือ สะพานพระรามนั่นเอง
สะพานพระราม หรือ สะพานของอดัม (Adam’s Bridge) เป็นสะพานหินความยาวกว่า 47 กิโลเมตร ที่เรียงพาดผ่านช่องแคบ Palk Strait เชื่อมระหว่างเกาะแพมแบน (Pamban) ที่ตั้งเมืองราเมศวารัม (Rameswaram) ของอินเดีย กับเกาะมันนาร์ (Mannar) ของประเทศศรีลังกา ซึ่งจากการคาดการครั้งแรกของนักโบราณคดีคาดว่ามันมีอายุมามากกว่า 1 ล้านปี แต่เมื่อตรวจสอบโดยนักวิทยาศาสตร์แล้ว ได้มีการประเมินว่ามันมีอายุของการก่อสร้างประมาณ 125,000 ปีเท่านั้น แม้จากสภาพและร่องรอยที่เห็นอาจจะทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่ามันเป็นสะพานที่สร้างขึ้น โดยมนุษย์แน่ ๆ แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปครับ มันมีประเด็นความคิดเห็นที่ขัดแย้งเกิดขึ้นโดยตลอด และสะพานแห่งนี้จะมีความเกี่ยวโยงกับ มหากาพย์รามายณะ รามเกียรติ์หรือไม่ วันนี้ผมจะมาจำแนกตำนานนี้ให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันครับ
เริ่มแรก สะพานแห่งนี้มีชื่อเรียกหลักอยู่ 3 ชื่อ ได้แก่ Rama Setu , Nala Setu และ Adam’s Bridge
โดยชื่อแรก Rama Setu แปลตรงตัวก็คือ “สะพานพระราม” ไม่ได้มีความหมายอื่นใด แต่ชื่อที่สองนั้น Nala Setu เพราะในตำนานรามายณะฉบับทมิฬได้กล่าวไว้ว่า Nala คือสถาปนิกผู้ออกแบบสะพานแห่งนี้ ส่วนชื่อสุดท้ายที่เรียกว่า Adam’s Bridge นั้น มาจากพระคัมภีร์โบราณของศาสนาอิสลาม ที่กล่าวถึงภูเขาในศรีลังกาที่มีชื่อว่ายอดเขาอดัม ซึ่งเป็นยอดเขาที่อดัมตกลงมาจากฟากฟ้าสู่พื้นดิน ก่อนที่จะข้ามจากศรีลังกาไปยังอินเดียนั่นเอง
ประเด็นที่ 2 เรื่องราวตำนานรามายณะเกิดขึ้นที่ อินเดีย อ้างอิงจาก ตำนานรามายณะฉบับทมิฬ ได้กล่าวไว้ว่า Rama Setu (สะพานพระราม) ถูกสร้างขึ้นด้วยกองทัพลิง เพื่อที่จะให้ทัพของพระรามนั้น เดินทางไปรบที่กรุงลงกา ที่ทศกัณฑ์จอมยักษ์นั้นปกครองอยู่ จากตรงนี้มีความเป็นไปได้หลาย ๆ ทางที่ใกล้เคียงกัน เมื่อตัดเรื่องของเทพนิยายออกไป แล้วใส่ในเรื่องของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในอดีตเข้าไปแทน
มนุษย์ลิงนั้นมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็น มนุษย์นีเเอนเดอทัล (มนุษย์วานร) มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ใช้ชีวิตจนสูญพันธุ์ไปเมื่อ 40,000 ปีก่อน มนุษย์นีแอนเดอทัล มีกล้ามเนื้อล่ำสันกระดูกใหญ่ สูงเต็มที่ประมาณ 160 ไม่เกิน 170 เซนติเมตร แต่มีความแข็งแรง มีใบหน้าและจมูกที่ใหญ่คล้ายลิง มีความเชี่ยวชาญในการล่าสัตว์และสู้รบอย่างมาก จึงอาจจะเป็นได้ว่า ด้วยรูปลักษณ์ดังกล่าวนั้นได้ถูกเปรียบเทียบให้เป็นลิง หรือทหารลิงของพระรามไปในที่สุดนั่นเอง
สะพานพระรามทอดข้ามไปยังประเทศ ศรีลังกา ซึ่งพ้องเสียง กับกรุงลงกา หรือ ลังกา ในตำนานรามายณะ ซึ่งประเทศศรีลังกาทางตอนเหนือนั้น จะเต็มไปด้วยชนชาวทมิฬ ซึ่งมีรูปร่างใหญ่โต (สูง 2 เมตร พบเห็นได้เป็นเรื่องปกติ) และมีจำนวนประชากรคิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรในประเทศ จึงอาจจะเป็นไปได้ที่ถูกนำไปเปรียบเปรยเป็นยักษ์ ซึ่งเมื่อเทียบขนาดตัวของ นีแอนเดอทัลทางฝั่งลิง ที่มีวามสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 160 จึงเป็นขนาดตัวและความต่างที่มากเอาการอยู่นั่นเอง
ประเด็นที่ 3 ได้มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งมหาวิทยาลัย Bharathidasan ได้ศึกษาตามแนวตะกอนของปะการังที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นไปได้ที่สะพานพระรามแห่งนี้ ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ทางนักโบราณคดีก็ได้สวนด้วยภาพแนวถนนที่โค้งไปมาอย่างผิดธรรมชาติซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสะพาน ทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่าสะพานแห่งนี้สร้างโดยฝีมือของมนุษย์ไม่ใช่จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั่นเอง (แต่จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือมนุษย์ก็นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อยู่ดี)
ประเด็นที่ 4 ประเด็นสุดท้าย ตามตำนานรามายณะได้กล่าวถึงพระรามจองถนนว่า สร้างโดยแรงงานทหารลิง และสร้างด้วยหินที่ลอยน้ำได้ จึงได้มีการเก็บตัวอย่างหินของสะพานแห่งนี้ ทั้งจากสะพานและในบริเวณใกล้เคียงมาตรวจสอบ พบว่า หินมีน้ำหนักเบาและสามารถลอยน้ำได้จริงๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นหินภูเขาไฟชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเราพบเห็นหินภูเขาไฟที่สามารถลอยน้ำได้อยู่ทั่วไป เนื่องจากมีแร่ธาตุหลายชนิดประกอบและมีโพรงอากาศอยู่ด้านในสูง แต่แปลกที่หินที่ใช้ก่อสร้างนั้นตรงกับบันทึกตำนานของรามายณะนั่นเอง
จากตรงนี้นักโบราณคดีและพลเมืองท้องถิ่นผู้เชื่อในศาสนาฮินดูและตำนานรามายณะเชื่อกันว่าในอดีตชาวอินเดียและศรีลังกาสามารถเดินทางโดยเท้าหรือเกวียน ไปมาหาสู่ระหว่างสองประเทศนี้ได้ จนกระทั่งประมาณช่วงศตวรรษที่ 15 ได้ถูกพายุพัดให้จมหายไปในที่สุด และจากร่องรอยของสะพานที่จมลง ทำให้เรือบรรทุกสินค้าไม่ว่าขนาดเล็กขนาดใหญ่ไม่สามารถแล่นผ่านช่องแคบนี้ได้ เป็นเหตุให้ในปี ค.ศ.2001 รัฐบาลอินเดียมีโครงการจะขุดลอกช่องแคบเพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมในเชิงพาณิชย์ ก่อนถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู เนื่องจากมองว่าช่องแคบดังกล่าวมีความสำคัญในด้านศาสนาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ จึงทำให้โครงการดังกล่าวต้องถูกยกเลิกไป
จากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้มีประเด็นทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมายที่เกี่ยวข้องกับตำนานรามายณะในอดีต ทำให้เป็นที่ขบคิดขึ้นมาว่า ตำนานในอดีต อาจจะไม่ใช่ตำนานอีกต่อไป อาจจะมีเค้าโครงเรื่องจริงหรือประเด็นบางอย่างเกิดขึ้นในอดีต และอาจจะเฉลยบางอย่างเกี่ยวกับต้นกำเนิดของมนุษย์เราอดีตก็เป็นได้ และไม่ว่าตำนานจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Adam’s Bridge หรือ Rama Setu สะพานพระรามแห่งนี้ ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่น่าทึ่งและน่าค้นหาอยู่ดี