สายนํ้าที่ไหลกลับ - บทที่สิบห้า

สายนํ้าที่ไหลกลับ - บทที่สิบห้า

หรีดริ่งเรไรร้อง เสียง “จักจั่น” ก้องท้องร่องสวน
มองจากเฉลียงมุขของบ้านย่า...เบื้องหน้าที่เห็นจะเป็นร่องสวนมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมพงหญ้าสองฝั่งชวนให้คิดถึงสองฝากลำประโดงที่บ้านเมืองนนท์ของปู่

ปู่เคยเล่าว่า เมื่อย้ายจากคลองบางซื่อ มาอยู่ที่คลองสมเด็จเจ้าพระยา บรรยากาศของสองเมืองไม่ต่างกัน

ที่เมืองนนท์มีแม่นํ้าเจ้าพระยา

ที่กรุงธนฯ ก็มีแม่นํ้าสายนี้

บ้านปู่หันหน้าเข้าคลอง บ้านย่าก็หันหน้าเข้าคลอง มองแล้วคิดถึงบ้านที่จากมา

แต่หลังบ้านย่าเป็นป่ารกชัฏ ปู่จึงจัดขุดเป็นท้องร่องสวน ลงต้นไม้จากเมืองนนท์ที่ขนเอามาด้วย

แล้วช่วยเสริมด้วยผักหญ้า ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกเป็นสวนครัวหลังบ้าน

จะใช้ก็ให้บ่าวไพร่ไปเด็ดเอามา ไม่ต้องซื้อหาให้เสียเงินเสียงาน

ที่เหลือก็เจือจานให้เพื่อนบ้านมาช่วยกันกิน

ย่าก็ยินดีที่จะแจกให้ทั่วย่านบ้านเล็ก...บ้านใหญ่ บ้านขุนนํ้าขุนนางด้วยกัน ไปจนชาวบ้านในละแวกแถวริมคลองสมเด็จพร้อมกับลูกหลานให้มีจิตใจเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว

เหมือนต้นไม้เล็ก...ไม้ใหญ่ ไม้ใบ...ไม้ผลที่เกิดมาเพื่อผู้คนได้เก็บกินไม่รู้จักสิ้น

มีต้นไม้ชราที่ติดมาตั้งแต่ย่าและปู่จะมาสร้างบ้านที่นี่ อายุยืนยาวราวร้อยปีเห็นจะได้

แต่เดิมปู่ตั้งใจว่าจะโค่นทิ้งเพราะเป็น “ต้นมะขามเทศ” ที่กินไม่อร่อย เนื้อของมันไม่ค่อยหวาน มีแต่ความมันกินแล้วฝืดติดคอ

ย่านั้นล่ะที่ขอปู่ไม่ให้โค่นทิ้ง ถึงจะไม่ชอบกินลูกของมัน หรือเนื้อไม้ก็ทำประโยชน์อันไม่ได้

มะขามเทศไม่เหมือนกับมะขามหวาน

ใบอ่อนเอามาต้มโคล้ง ทำแกง ใบแก่ก็สุมไฟไล่ยุง ไปจนถึงแก่นของมันทำเป็นเขียงหั่นผัก...หั่นปลา เป็นเขียงที่ดีกว่าเขียงไม้อื่น

แต่ “มะขามเทศ” ก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาแมลงในสวนทั้งหลายมากมาย ที่จะมาชุมนุมกันตลอดทั้งปี

ในฤดูหนาวจะมีแมลงตัวเล็ก...เล็กที่เรียกว่า “ตัวเรไร” มาส่งเสียงร้อง อยู่บนต้น

พอเข้าหน้าฝนก็จะมี “แมลงทับ” ปีกงามสีเขียวอร่าม มาเกาะกินใบ

แต่ถึงหน้าร้อนตอนนี้ บ้านทั้งหลังของย่า ก็จะระงมไปด้วยเสียง “แมลงจักจั่น” ที่จะมาร้องเพลงก้องสนั่นได้ยินกันไปสามบ้าน...สี่บ้าน ทั้งกลางวัน...กลางคืน

ย่าบอกว่า เสียง “จักจั่น” คนส่วนใหญ่จะรำคาญ

เสียงของมันดังมาก ดังตลอดเวลาอย่างแทบจะไม่มีเวลาที่มันจะหยุดร้อง

ตอนแรก...แรกเมื่อฟังอาจจะเหมือนกับเส้นประสาทสมองจะแตก แต่ถ้าหากเข้าใจในธรรมชาติของมันก็จะเข้าใจ

ย่าอธิบายว่าในช่วงเวลาที่มันมีชีวิตอยู่แสนจะสั้น ในปีหนึ่ง “จักจั่น” จะสามารถร้องเพลงให้เราได้ฟังเพียงฤดูร้อนแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น

ฉะนั้นเมื่อมันมีโอกาสได้ร้อง พวกมันจึงพร้อมใจกันเปล่งเสียงดัง เหมือนจะเป็นการสั่งลาฤดูร้อน ที่เป็นเวลากาลของดอกไม้ทั้งสวนบาน

ต้นตะแบก ออกดอกสีม่วงเข้ม
ต้นทองกราว ออกดอกสีแสดสด
ต้นคูนหรือลมแล้ง ออกดอกสีเหลืองเป็นพวงระย้าย้อย

ก็มีแต่ “ต้นมะขามเทศ” ชราต้นหลังบ้านที่ไม่มีดอกให้เห็นเย็นระรื่นชื่นใจ แต่ “มะขามเทศ” ก็เป็นบ้านของแมลงมากมาย ที่มารวมกันร้องเพลงขับขานดนตรีธรรมชาติ ที่เงินไม่อาจจะซื้อเสียงนี้ได้

มีเรื่องเกี่ยวกับ “จักจั่น” ที่ย่าเล่ามากมาย

เรื่องหนึ่งที่ได้รู้เมื่อได้เรียนวิชาชีววิทยา ที่ว่าด้วยถึงชีวิตทั้งหลาย

เรื่องของ “จักจั่น” เป็นแมลงที่น่าศึกษา นับตั้งแต่การกำเนิดขึ้นมาของมันดูจะแตกต่างไปจากแมลงอายุสั้นในโลก

“จักจั่น” เกิดขึ้นแสนจะลำบาก

แต่เมื่อมันจะตาย “จักจั่น” ตายอย่างง่ายดายเสียดายนัก

มันจะวางไข่อยู่ในดินนานถึง ๔-๕ เดือน

หรือบางทีมันก็จะกล้าขึ้นมาวางไข่กับเปลือกไม้ใหญ่

จากไข่กว่าจะมาเป็นตัวอ่อนได้ “จักจั่น” จะต้องใช้เวลานานถึงครึ่งปี ด้วยการใช้นํ้าเลี้ยงจากต้นไม้ รากไม้ แม้แต่ใบไม้

จนมันเติบใหญ่ เป็นแมลงเสียงดัง แต่มันก็จะร้องลำนำเพลงสวรรค์ได้เพียงฤดูร้อน

อีกไม่ถึงสิบปีหรือมากกว่านั้นเพียงเล็กน้อย แล้วมันก็จะจากโลกนี้ไป

มีแหวนหยกสีขาว แกะสลักเป็นรูป “จักจั่น” อยู่นิ้วมือย่า

เป็นแหวนของคนจีนเช่าห้องแถวมอบให้กับย่าเป็นของขวัญ

คนจีนเล่าว่าเป็นแหวนเก่ามาจากเมืองจีน

ย่าเล่าว่าเคยปฏิเสธที่จะไม่รับของกำนัลจากใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ๊กจีน แขกฝรั่งมังค่า รวมทั้งคนไทยทั้งหลาย

แต่คนจีนอธิบายว่านี้ไม่ใช่เป็นการติดสินบน เพื่อจะได้อยู่อาศัยใบบุญของครอบครัวย่า นาน...นาน

คนจีนถือว่าเป็นเครื่องบรรณาการด้วยความเคารพ อย่างที่มีคำเรียกว่า “จิ้มก้อง” ซึ่งเป็นธรรมเนียมของคนจีนแท้แต่โบราณ

ย่าจึงรับไว้และใส่ “แหวนจักจั่นหยก” ตลอดเวลาจนถึงวันที่ย่าจากไป จึงได้ถอดออกจากปลายนิ้วย่า และยังคงรักษาไว้มาอยู่ถึงทุกวันนี้

ย่าเป็นคนเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ถ้ามีอายุยืนยาวอยู่มาถึงทุกวันนี้ ย่าจะอายุราว ๑๗๐-๑๘๐ ปี

บางทีการศึกษาของผู้หญิงไทยสมัยนั้นคงไม่มากนัก

ย่าอาจจะไม่รู้ปรัชญาจีนโบราณ ที่มีต่อแมลงตัวที่ย่ารักและสงสารมัน

คนจีนเชื่อกันว่า “จักจั่น” มีชีวิตได้หลายครั้ง จากการที่มันลอกคราบตัวเองได้หลายคราว

นับตั้งแต่ชีวิตใต้ดิน เป็นชีวิตเหนือดิน จนกระทั่งเป็นชีวิตบนฟ้า

คนจีนเชื่อว่า “จักจั่น” มีชีวิตเป็นอมตะ จึงมีบทกวีนิพนธ์มาแต่โบราณกาลที่กล่าวขานถึง “จักจั่น” ว่า

พญาเหยี่ยวอินทรีบินเหนือฟ้า นกน้อยธรรมดาบินตํ่าลงมา แต่ “จักจั่น” น้อยซ่อนกายอยู่ใต้ดิน...ชีวิตของมันจึงยืนยาว...

TEXT : สันติ เศวตวิมล
IllUSTRATOR : ภู่ประดิษฐ์

life poet