THE MUSIC BUSINESS - ดนุภพ กมล
ก้าวไปข้างหน้าบนการเปลี่ยนแปลง
ในยุคที่วงการเพลงกำลังเปลี่ยนแปลง คนทำเพลงต่างกำลังหันหลังให้กับวงการแต่ค่าย MUZIK MOVE กลับเดินหน้าถือกำเนิดขึ้นมาในยุคแห่งผลัดเปลี่ยนยืนหยัดสร้างผลงานเพลงของตัวเองต่อไป และผู้ที่มีส่วนสำคัญท่านหนึ่งก็คือ คุณบอม ดนุภพ กมล ASSISTANT VICE PRESIDENT เขาดูแลภาพรวมธุรกิจให้ MUZIK MOVE ที่กำลังทำงานในวงการเพลงอย่างตั้งใจ
“ผมอยากให้มองว่าธุรกิจที่เราทำอยู่ตรงนี้เป็นบริษัทเอนเตอร์เทนเมนท์ครบวงจร อย่างการดูแลศิลปิน การจัดแสดงโชว์ต่าง ๆ คือไม่ได้ทำแต่ค่ายเพลงอย่างเดียว เพียงแต่เรามีค่ายเพลงที่ดูแลอยู่ด้วยกัน 3 ค่าย คือ Muzik Move Records, Me Records และ Boxx Music หลายคนจะตั้งคำถามว่าธุรกิจดนตรีมันจะไปได้แค่ไหน แล้วค่ายเพลงต้องมีอยู่ไหม เพราะยุคนี้ใคร ๆ ก็ทำเพลงออกมาได้ วันหนึ่งถ้าเกิดศิลปินมีชื่อเสียงขึ้นมาด้วยวิธีการอะไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานั้น เรื่องของการจัดการทางด้านธุรกิจจะมีผลต่อตัวศิลปินทันที เช่นการออกแสดงงาน สัญญาการจ้างงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องของลิขสิทธิ์เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งเขาไม่ถนัดสุดท้ายนี้คือความสำคัญของค่ายเพลง”
การได้มาทำงานในค่ายเพลงแห่งนีิ้ คุณบอมเริ่มต้นจากความชอบในเสียงเพลงมาตั้งแต่เด็กโดยมีโอกาสเล่นดนตรีกับกลุ่มเพื่อนมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมจนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ได้สัมผัสดนตรีจริงจังก็คิดว่าตัวเองเหมาะกับการทำงานเบื้องหลังมากกว่าเบื้องหน้า จึงได้สมัครเข้ามาทำงานเป็นซาวด์เอ็นจิเนียร์ที่ค่ายเพลงมอร์ มิวสิค ได้ร่วมงานกับศิลปินดังในยุคนั้นเช่น แบล็คเฮด ซีล ฟาเรนไฮธ์ เก็ทสึโนวา ฯลฯ เขาทำงานอยู่ที่ค่ายเพลงถึง 7 ปี จนอยากแสวงหาความท้าทายใหม่ ๆ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโททางด้าน Music Business ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
หลังเรียนจบเขากลับมาเมืองไทยประจวบเหมาะกับหัวหน้าเก่าย้ายค่ายออกมาตั้งบริษัทใหม่ เลยชักชวนเขามาร่วมดูแลธุรกิจเพลง ซึ่งในช่วงแรกเป็นค่ายสหภาพดนตรีก่อนจะพัฒนาแบรนด์มาเป็น Muzik Move Records อย่างในปัจจุบัน
“เรื่องธุรกิจเพลงในยุคนี้มันมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ผมมองว่าการที่บริษัทจะมีรายได้เข้ามาเหมือนเมื่อก่อนในรูปแบบเก่าจึงทำได้ยาก อย่างการให้ศิลปินแต่งเพลงเข้าห้องอัดพอเสร็จก็ทำเทปเพลงออกมา ถ้าประสบความเสร็จขายได้ล้านตลับก็มีงานเดินสายแสดงโชว์ ตอนนี้รูปแบบเดิมใช้ไม่ได้เพราะเพลงมันเปลี่ยนไปเป็นระบบดิจิตอล ด้วยสื่อและสังคมที่เปลี่ยนไปการทำธุรกิจในแบบเดิมแทบเป็นไปไม่ได้เลย
“โมเดลธุรกิจมันเปลี่ยนมาเป็นดิจิตอล ด้านธุรกิจเพลงผมมองว่ามันเป็นต้นนํ้าที่เรานำเพลงออกมาเพื่อให้ศิลปินมีคอนเทนต์ส่งไปให้คนฟัง จากนั้นศิลปินสามารถออกมาแสดงสด ปลายทางคือการออกไปแสดงตามที่ต่าง ๆ รายได้จะเกิดจากตรงนี้เป็นส่วนใหญ่ ในอนาคตอาจมีการต่อยอดเป็นพรีเซนเตอร์หรือเชื่อมโยงกับอีเว้นท์ก็ได้ ซึ่งเราก็หาทางกันต่อไป ส่วนผลงานเพลงก็อาจทำเป็นโปรดักส์พิเศษ มีลายเซ็นศิลปิน Box Set สามารถต่อยอดกับอีเว้นท์ คงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะมาขายแฟนเพลง แต่ละช่องทางผมมองว่ามันต้องประกอบกันเป็นภาพรวมแบบนี้
“ในมุมหนึ่ง Muzik Move เองมีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เป็นหลัก ค่ายเพลงอาจไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประกอบด้วยพาร์ทเนอร์ที่ช่วยเหลือกันอย่างในส่วนของดิจิตอลแพลตฟอร์มออนไลน์และมีเดียต่าง ๆ ที่ช่วยโปรโมท ก็ช่วยเหลือกันในแต่ละส่วนที่ทำให้ธุรกิจดนตรีมันอยู่ได้
“การทำงานของผมนอกจากเรื่องสายงานการตลาดและพัฒนาธุรกิจแล้วสิ่งที่ยากสำหรับผมคือ การทำงานร่วมกับศิลปินเพราะตัวศิลปินเองเขามีความเป็นตัวเองค่อนข้าสูง แล้วเรื่องของงานเพลงไม่ใช่ว่าเราอยากได้เพลงดี ๆ ในวันพรุ่งนี้แล้วเขาจะทำออกมาเสร็จ ศิลปินอาจต้องใช้เวลาในการทำงาน ผมเองจึงต้องมาดูในเรื่องของไทม์ไลน์และการต่อยอดไม่ให้ตึงหรือหย่อนจนเกินไป สมมติว่าตึงมากเราอาจได้งานไว แต่ก็อาจทำให้ไม่เข้าใจกันกับศิลปิน แต่ถ้าหย่อนมากงานเลยกำหนดเวลาเดตไลน์ด้านธุรกิจก็จะเสีย ไม่ได้ตามเป้าหมายจึงต้องบริหารสิ่งเหล่านี้ให้ดี
“ทิศทางในอนาคตของ Muzik Move ผมมองว่ามันเป็นก้าวแรก ก็คงต้องใช้เวลาในการโปรโมทตัวเองมากขึ้น ทำการตลาดหรืออีเว้นต์อาจจะออกไปต่างจังหวัดให้คนทั่วประเทศรู้จัก ในด้านธุรกิจเองเราก็เตรียมซับพอร์ทศิลปินที่เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น วางโครงสร้างต่าง ๆ ทางธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ศิลปินว่าจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ทางค่ายดูแลเขาได้แค่ไหนสุดท้ายแล้วมันจะมีเรื่องของรายได้ที่ศิลปินจะต้องอยู่รอด แล้วด้านต่าง ๆ ของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนท์ที่เราวางไว้จะต้องทำให้มันโตขึ้น นี่คือภาพชัดเจนของ Muzik Move ในภาพรวมก็อยากฝากติดตามศิลปินของทางค่ายด้วยครับ”
TEXT : Passaponge Prerajirarat
PHOTO : Satchaphon Rungwichitsin