NEVER FORGET THAI MUSICAL - พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์

NEVER FORGET THAI MUSICAL - พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์

เส้นทางดนตรีของนักร้องโบราณ

กาลเวลาผันแปรไปตามยุคสมัยนำพาการเปลี่ยนแปลงของแนวเพลงมาตลอดหลายสิบปี แต่อีกด้านหนึ่งยังมีคนพยายามอนุรักษ์แนวเพลงไทยสากลในอดีตไม่ให้จางหายไปเช่นกัน ครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ท่านคือนักดนตรี นักแต่งเพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน และนักร้อง ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพลงเก่า ๆ เข้าขั้นผู้เชี่ยวชาญชั้นสูงของไทยท่านหนึ่ง

จากผลงานที่ผ่านมาทำให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เห็นคุณค่าในความสามารถจึงได้คัดเลือกให้ ครูพิมพ์ปฏิภาณ เป็นศิลปินแห่งชาติปีล่าสุด พ.ศ. 2560 สาขาดนตรีไทยสากล ด้วยความสามารถทางด้านดนตรีที่หลากหลายและการทำงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจึงสมควรได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้อย่างแท้จริง

“รางวัลศิลปินแห่งชาติสำหรับผมเป็นตำแหน่งเกียรติยศที่ทางรัฐบาลได้สรรค์สร้างตำแหน่งไว้ให้สำหรับศิลปินที่ทำงานมานานแล้วต่อเนื่อง ในฐานนะที่ผมเป็นศิลปินคนหนึ่งตอนแรกก็คิดว่าคงไม่มีโอกาสได้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่ตอนหลังคณะกรรมการคงเห็นอะไรบางอย่างจึงได้ให้ตำแหน่งนี้มา นับได้ว่าเป็นความภูมิใจมากที่สุดในชีวิตเพราะศิลปินแห่งชาติเป็นความหวังของทุกคนที่เป็นศิลปิน เมื่อได้ตำแหน่งนี้มาจึงมีความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นบุญคุณอย่างยิ่ง นอกจากนี้จะพยายามทำตัวให้มีประโยชน์ โดยผมจะรักษาวัฒนธรรมประเพณีและสนับสนุนเพลงไทยสากลให้ยืนยงต่อไป”

เรื่องชีวิตของอาจารย์พิมพ์ปฏิภาณ พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดนราธิวาสมาจากครอบครัวข้าราชการ ในวัยประถมท่านเรียนโรงเรียนประจำอำเภอยี่งอก่อนจะย้ายไปหลายที่ จนได้มาเรียนในโรงเรียนระดับจังหวัดนราธิวาสที่นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของการได้สัมผัสเรื่องของดนตรีเป็นครั้งแรกของท่าน

“ผมจำได้ว่าช่วงที่พักเรียนกำลังเล่นกองทรายกับเพื่อน ครูก็เดินมาถามว่าใครอยากจะเป่าแตรบ้าง ผมบอกว่าอยากเป่าครับ แล้วก็เดินตามครูไปพอถึงห้องดนตรีครูก็หยิบแตรบาริโทนมาให้ผม แล้วครูก็บอกว่าคนเป่าบาริโทนคนเก่าเขางอนไม่อยากมาเล่นดนตรีแล้วเธอต้องหัดเป่าแทนเขานะ ผมก็พยักหน้าครับ ๆ ทั้งที่เป่าอะไรไม่เป็นก็มานั่งหัดอยู่ได้สองวัน พอจะเริ่มเป่าได้คราวนี้คนเก่าที่เคยเป่าบาริโทนกลับมาก็ต้องยกตำแหน่งเดิมให้เขา ผมจึงไม่มีเครื่องดนตรีเพราะเครื่องดนตรีของโรงเรียนมีไม่กี่ชิ้น

“เมื่อผมไม่มีเครื่องดนตรีเล่นครูก็ไปหาเครื่องเป่าปิคโคโลมาชิ้นหนึ่ง เป็นขลุ่ยฝรั่งสั้น ๆ ซึ่งไม่มีใครในโรงเรียนเป่าได้เลย เพราะมันไม่ได้เป่าแบบขลุ่ยปกติแต่มันเป่าจากด้านข้าง ผมก็มานั่งหัดเป่าเองคนเดียวตอนนั้นยังไม่มีสื่อและวิทยาการสอนเล่นดนตรีอะไรมาก รู้เพียงว่าตองหาวิธีเป่าให้ดังให้ได้จนในที่สุดก็ทำได้โดยจินตนาการเพลงเอาว่าเขาใช้ทำนองในการเดินแถวอย่างไร อย่างทำนองลาวกระแซ คลื่นกระทบฝั่ง คือผมจำทำนองเหล่านี้ได้เพราะมันไม่ยาก ก็เป่ากันไปครูก็เขียนโน้ตแบบง่าย ๆ โดยใช้ภาษาไทย การเล่นดนตรีสมัยนั้นจึงอาศัยความจำอย่างเดียว

“จากนั้นผมเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนสันติราษฎร์ ทางผู้ใหญ่คาดหวังว่าผมควรจะเติบโตในสายราชการ แต่ผมก็หมกมุ่นทำกิจกรรมอยู่กับโรงเรียนบ้านช่องห้องหอก็กลับบ้างไม่กลับบ้างอาศัยโรงเรียนนอนบ้าง จนมีโอกาสไปเรียนต่อที่โรงเรียนพณิชยการพระนคร มาเป็นนักดนตรีของโรงเรียน ช่วงนั้นเริ่มมีการเล่นเป็นวงดนตรีคอมโบแล้ว จากนั้นผมไปย้ายเป็นนักเรียนของโรงเรียนพณิชยการธนบุรีก็เล่นดนตรีอีกเหมือนเดิม จนกระทั่งผมเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมาเรียนต่อที่ธรรมศาสตร์ก็ได้เป็นนักดนตรีของวงธรรมศาสตร์โดยรับหน้าที่เป็นคนเป่าแซกโซโฟนตำแหน่งเฟิร์สแซก

“หลังเรียนจบเพื่อน ๆ นักดนตรีธรรมศาสตร์ได้ทำงานที่ธนาคารออมสินกันหมดมีผมตกหล่นอยู่คนเดียว เพราะที่ธนาคารอมสินเขามีนักดนตรีเป่าแซกโซโฟนอยู่ก่อนแล้ว เหลือตำแหน่งเดียวคือทรอมโบน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ผมไม่ถนัด แต่ผมก็ต้องมาหัดเป่าเพื่อจะได้สอบเข้าที่ธนาคารออมสิน สุดท้ายผมทำสำเร็จเป็นนักดนตรีของธนาคารออมสินจนได้

“ยุคนั้นหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจนิยมจัดตั้งวงดนตรีขึ้นมาวงของธนาคารออมสินถือว่าเป็นวงหนึ่งที่ช่วยโฆษณาองค์กรของตัวเองได้มีการแสดงทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จากที่ผมเล่นทรอมโบนก็เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นบาริโทนแซกโซโฟน ซึ่งเป็นตระกูลหนึ่งของแซกโซโฟนที่ใหญ่ที่สุดในวง แล้วก็ไต่อันดับมาเล่นเทเนอร์แซกโซโฟน เล่นอัลโต้แซกโซโฟน จนเป็นเฟิร์สแซกโซโฟนของธนาคารออมสิน

“ระหว่างที่ทำงานอยู่ธนาคารออมสิน ครูสมานกาญจนะผลิน ท่านเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยนั้น เวลาไปที่ไหนแกชอบเอาผมติดสอยห้อยตามไปด้วยอย่างการไปบันทึกเสียงของนักร้องดังเช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, สวลี ผกาพันธุ์, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี นักร้องชั้นหนึ่งเหล่านี้ครูสมานแกทำเพลงให้แล้วเรียกผมไปช่วยอัดเพลงอีกเสมอ จึงเริ่มซึมซับประสบการทำเพลงให้คนอื่นไปในตัว

“แม้จะทำงานกับธนาคารออมสินแต่อีกด้านหนึ่งผมเป็นหัวหน้าวง Big Band ซึ่งเป็นวงที่ประกอบด้วยนักดนตรีจำนวนมาก มีเครื่องเป่าและเครื่องให้จังหวะวงผมเป็นเอกเทศน์ไม่ได้ขึ้นกับหน่วยงานราชการใด ๆ สมัยก่อนจะมีเครื่องเป่าอย่างแซกโซโฟนเข้าแถวข้างหน้า 5 ชิ้นมีเครื่องเป่าทองเหลืองอยู่ข้างหลัง 5-6 ชิ้น ทรัมเป็ต ทรอมโบน แล้วมีกีตาร์ คีย์บอร์ด แบบวงฝรั่งสมัยก่อนวง Big Band ที่ดังก็เช่นวงสุนทราภรณ์แต่วง Big Band อื่น ๆ ในประเทศไทยมันลำบาก เพราะใช้คนจำนวนเยอะแต่ความนิยมทางดนตรีกลับลดน้อย อยู่รอดยากหากไม่มีหน่วยงานราชการมาช่วยเครื่องดนตรีก็ลดจำนวนลงเหลือเพียงไม่กี่คนเท่านั้นวงดนตรีจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย

“ในช่วงเวลาที่อยู่ธนาคารออมสิน 7 ปีผมทำงานด้านดนตรีของตัวเองอีกหลายอย่างเช่นการเล่นดนตรีที่ไนท์คลับ และอัดเสียงให้นักร้อง พอดีผมได้งานทำตอนกลางวันคิดว่าน่าจะดีกว่าเดิมก็เลยลาออกจากธนาคารออมสินไปเป็นนักดนตรีอาชีพที่ร้านเซซิบง ทำงานสองช่วงเวลาตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสองโมง ช่วงกลางคืนก็ตั้งแต่สามทุ่ม ถึงตีหนึ่งวันศุกร์ วันเสาร์ก็เล่นดนตรีถึงตีสองเป็นอย่างนี้ทุกวัน

“ผมเป็นคนที่อยากจะทำอะไรให้สำเร็จครอบคลุม อยากพัฒนาตัวให้ครบทุกด้านนั่นคือการเขียนเพลงให้เป็น ในที่นี้หมายถึงเขียนโน้ตเพลงให้คนอื่นเขาร้อง เพื่อนก็แนะนำให้ไปเรียนที่สยามดนตรียามาฮ่า ผมไปเรียนจนมีความรู้กลับมาฝึกฝนได้ทำเพลงให้กับ ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ในชุดแม่สาย เพลงไม่รักพี่แล้วจะรักใคร คือทำออกมาดังตั้งแต่อาทิตย์แรกที่เผยแพร่ เพลงแม่สาย นักจัดรายการหากันทั่วเลย ถ้าไม่มีแผ่นนี้ถือว่าตกเทรนด์ตอนนั้นชื่อเสียงผมก็โด่งดังขึ้นมา จากนั้นผมก็ได้รับความกรุณาจากคุณหมอวราวุธ สุมาวงศ์ ท่านให้ผมทำเพลงมาเรื่อย ๆ ซึ่งเพลงที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำก็เช่น เพลงพะวงรัก ของ ศรวณี โพธิเทศ เพลง อย่ามารักฉันเลย ของดาวใจ ไพจิตร

“ชีวิตช่วงนี้ของผมก็ทำงานในไนต์คลับและเรียบเรียงเสียงประสานไปเรื่อย ๆ จนเพื่อนเห็นความสามารถก็แนะนำให้ผมมารับราชการอยู่กับกรมศิลปากร ซึ่งตอนนั้นผมอายุ 40 ปีแล้ว เมื่ออยู่กรมศิลปากรผมก็ตั้งใจทำงานอย่าเต็มความสามารถ เพราะการเป็นนักดนตรีอิสระทำงานอยู่ไนท์คลับมันเหมือนการโหนอยู่บนเส้น ด้าย วันใดวันหนึ่งเขามาบอกว่าพรุ่งนี้คุณไม่ต้องมาคือเล่นชีวิตจะแย่ทันทีผมถึงเรียนว่าโหนเส้นด้าย เมื่อมาอยู่กรมศิลปากร ผมได้แต่งเพลง โชคดีที่มีในหลวง, สมเด็จย่าของชาวไทย, มหาราชินี เพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ผมได้มีคนรู้จักเช่นกัน

“อีกด้านหนึ่งผมทำธุรกิจเปิดสตูดิโออัดเสียงของตัวเองเล็ก ๆ เรียบเรียงเสียงประสาน ทำเพลงแต่งเพลงไปเรื่อย ๆ จนอายุเริ่มมากก็ผันตัวเองมาเป็นนักร้องฉายานักร้องโบราณอย่างในปัจจุบัน คือร้องเพลงเก่าดั้งเดิมที่คนรุ่นหลังลืม แต่ผมจะอนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้เอาไว้แล้วแต่สถานภาพตัวเองจะทำได้นานแค่ไหน”

ครูพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ คลุกคลีและก้าวผ่านเรื่องราวของวงการเพลงไทยสากลมาหลายทศวรรษ ท่านจึงมีมุมมองต่อวงการเพลงไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของสังคม ข้อมูลประสบการณ์และความรู้ด้านดนตรีของท่านจึงนับว่าสำคัญนัก

“ในยุคผมวัยรุ่นมีนักร้องดังอย่างเช่น พยงค์ มุกดา, สมศรี ม่วงศรเขียว, เตือนใจ บุญพระรักษา ท่านเหล่านี้เราจัดอยู่ในกลุ่มนักร้องเพลงตลาด คือมีแนวเพลงว่าขานกันอย่างถึงใจคน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งร้องเพลงเรียกว่าสายสุภาพ เช่น พวงจันทร์ ไพโรจน์, ชรินทร์ นันทนาคร, สุเทพ วงศ์กำแหง, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, สวลี ผกาพันธุ์ เพลงของท่านทั้งสองกลุ่มนี้สมัยก่อนยังไม่มีการแยกกันว่าเป็นแนวเพลงลูกกรุงหรือลูกทุ่งแต่อย่างใด

“จนกระทั่งมีหนังฝรั่งเรื่อง Your Cheatin’ Heart ได้เข้ามาฉายในประเทศไทยที่โรงหนังคิงส์ วังบูรพา เป็นหนังประเภทประวัติชีวิตของแฮงค์ วิลเลียมส์ พระเอกถือกีตาร์ตัวหนึ่งพร้อมรถยนต์เดินทางไปในที่ต่าง ๆ หนังเรื่องนี้มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า เพลงลูกทุ่ง ซึ่งดังมาก หลังจากนั้นมีรายการทีวีของช่อง 4 บางขุนพรม โดยมีท่านจำนง รังสิกุล กับท่านประกอบ ไชยพิพัฒน์ จัดรายการหนึ่งขึ้นมาใช้ชื่อว่าเพลงลูกทุ่ง พวกเขาก็เอาเพลงตลาดเหล่านี้มาลงในจอทีวี จึงเกิดแยกสายกันอย่างชัดเจนว่าเป็นเพลงลูกทุ่ง คราวนี้เพลงที่เรียกกันว่าสุภาพก็ต้องกลายเป็นลูกกรุงไปโดยปริยาย

“ความจริงเพลงลูกทุ่งนี่คนในเมืองแอบฟังกันเยอะ แต่บางทีไม่กล้าเผยตัวเองเพราะคิดเอาว่ามันดูเชย แต่ผมว่าไม่ใช่หรอกเพลงก็คือเพลง จริง ๆ มันก็คือเพลงไทยสากลด้วยกันนั่นแหละ เพราะมันใช้เครื่องดนตรีสากลแต่ใครจะเรียกว่าลูกทุ่งหรือลูกกรุงเรื่องของเขา บางคนอายที่จะบอกว่าชอบเพลงลูกทุ่งผมไม่เคยอายและผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปแบ่งแยกอะไรนี่คือจากใจ

“อย่างสมัยก่อนผมก็เคยไปเดินสายแบบคนลูกทุ่งใครจ้างผมก็ไป อย่างแม่ผ่องศรี วรนุช ผมก็เคยไปทำงานอยู่ในวงของท่านคือมีคนมาจ้างผมให้เป็นเล่นดนตรีที่ลพบุรีได้ค่าจ้าง 30 บาท ผมก็ไปเลย แต่ตอนหลังได้มาเจอแม่ผ่องศรีอีกครั้งท่านจำผมไม่ได้แล้ว เพราะมันนานมากแถมวงดนตรีใหญ่คนเยอะ ในวงดนตรีของผ่องศรีจะมีผู้จัดการวงแล้วท่านเป็นนักร้อง ผู้จัดการวงจะบริหารจัดการเกือบทั้งหมด เวลาเขาติดต่อมาให้ผมไปเล่นยุคนั้นไม่ได้มีพิธีอะไรมากมาย พอไปถึงผมก็ถามเขาเลยว่าเพลงจะเล่นร้องยังไงก็จดตรงนั้นเลย ผมเป็นนักดนตรีเป่าแซกโซโฟนก็ต้องจำเพลงของท่านให้ได้แล้วก็ออกไปแสดงหน้าเวทีเลย

“ปัจจุบันเพลงลูกกรุงกับลูกทุ่งนั้นเพลงลูกกรุงได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้วเป็นสตริง แต่ลูกทุ่งเขาก็เปลี่ยนตัวเองเป็นลูกทุ่งสมัยใหม่ ฉะนั้นลูกทุ่งแบบพุ่มพวง ดวงจันทร์ มันจะขายไม่ได้ แต่ถ้าลูกทุ่งประเภทไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้จะขายได้เพราะว่ามันเป็นรูปแบบที่ทันสมัยเข้ากับสังคม ซึ่งสมัยนี้มีการแยกประเภทของเพลงเยอะไปกว่าเดิมตั้งแต่ ลุกทุ่ง เพื่อชีวิต หมอลำ ฯลฯ แต่ว่าทุกอย่างมันจะได้รับความนิยมไปตามจังหวะกาลเวลาของมัน

“ในปัจจุบันวงการเพลงถึงแม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้คนทำเพลงสะดวกขึ้น สมัยก่อนถ้าอยู่เชียงใหม่จะเข้าห้องอัดเพลงต้องมาที่กรุงเทพฯ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้วอยู่ที่ไหนก็ทำเพลงได้คือมันเป็นข้อดีที่ทุกคนสามารถผลิตเพลงของตัวเองจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้เลย แต่ข้อเสียของมันคือระบบธุรกิจแบบเก่าอาจอยู่ลำบากต้องปรับตัว

“ไม่ว่าทุกวันนี้แนวเพลงต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ส่วนตัวผมเองจะขอรักษารูปแบบเพลงแบบดั้งเดิมอย่างที่เคยทำเอาไว้เพื่อรักษาวัฒนธรรมเพลงไทยสากลในแบบของผมตลอดไป”

"ไม่ว่าทุกวันนี้แนวเพลงต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ส่วนตัวผมเอง จะขอรักษารูปแบบเพลงแบบดั้งเดิม เพื่อรักษาวัฒนธรรมเพลงไทยสากลในแบบของผมตลอดไป"

DID YOU KNOW
เพลงของอาจารย์พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ ได้เรียบเรียงเสียงประสานโดยได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำ อาทิ
• เพลง “ไทยธำรงไทย” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2514
• เพลง “นํ้าตาหรือจะแก้ปัญหาใจ” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2518
• เพลง “ตะแลงแกงแทงใจ” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2520
• เพลง “พะวงรัก” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2521
• เพลง “สุดเหงา” ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ปี 2525

TEXT : Passaponge Prerajirarat
PHOTO : Nutchanun Chotiphan

the artist