บัวซอน ถนอมบุญ
หากใครที่เป็นคนภาคเหนือคงจะพอคุ้นเคยกับศิลปะการแสดงที่เรียกว่าการขับซออยู่บ้าง แต่สำหรับคนภาคอื่นอาจต้องทำความเข้าใจกันมากหน่อย เพราะการขับซอถือว่าเป็นศาสตร์ที่ใช้ทักษะหลายด้านตั้งแต่การแต่งบทกวี การขับกลอนโดยใช้เสียงร้องที่เปล่งออกมาอย่างไพเราะให้เข้ากับดนตรี หรือแม้กระทั่งการด้นสดโดยไม่มีบทมาก่อน หากเทียบกันในภาคอีสานจะคล้ายกับการแสดงหมอลำ หรือในภาคกลางคล้ายการร้องแหล่ที่ไหลไปตามอารมณ์ของศิลปินเพลงพื้นบ้าน
บุคคลสำคัญที่ถือว่าเป็นผู้สืบทอดศาสตร์การขับซอของภาคเหนือท่านเก็บตัวเงียบอาศัยอยู่ในท่ามกลางหุบเขา ของอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่มานานหลายปี คือครูบัวซอน ถนอมบุญ ผู้มีความสามารถอย่างสูงด้านการขับซอสร้างผลงานทรงคุณค่าเอาไว้มากมาย จนเป็นที่ประจักษ์ว่าท่านคือศิลปินตัวจริงของประเทศจึงได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-การขับซอ) พ.ศ.2555
ย้อนกลับไป พ.ศ.2487 หรือเมื่อ 73 ปีก่อน ครูบัวซอนได้ถือกำเนิดในอำเภอพร้าว ซึ่งว่ากันว่าในสมัยนั้นเป็นดินแดนที่ห่างไกลจากเมืองหลวงมากแถมยังเป็นถิ่นทุรกันดารที่มีความลำบากแห่งหนึ่งของประเทศ เมื่ออายุ 11 ขวบครูบัวซอน
ได้สัมผัสการแสดงครั้งแรกคือการฝึกหัดลิเกซึ่งได้ออกแสดงบ้าง แต่หลังจากนั้น 2 ปีต่อมามีเหตุให้ต้องย้ายตัวเองไปอยู่กับแม่ครูคำปันซึ่งเป็นครูสอนขับซอคนสำคัญท่านหนึ่งของเชียงใหม่ ครูบัวซอนจึงอยู่ในที่แห่งนี้โดยได้เรียนรู้เรื่องการขับซอมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ด้วยการที่เป็นคนเรียนรู้ไวท่านเรียนการขับซอเพียงไม่กี่เดือน ก็สามารถเข้าประกวดการขับซอที่ทางอำเภอจัดขึ้นในปี พ.ศ.2500 ครูบัวซอนได้รับรางวัลที่ 1 ด้วยวัยเพียงแค่ 13 ปีเหมือนเป็นการเปิดโอกาสบทเส้นทางการแสดงเพราะหลังจากนั้นมีงานขับซอโดยตลอดจึงเป็นที่รู้จักตามลำดับ และด้วยอายุและประสบการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นบวกกับมีลีลาชั้นเชิงการขับซอที่หาใครจับยาก จนทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดเชียงใหม่รวมทั้งเป็นที่รู้จักทั่วทั้งภาคเหนือ
เมื่อมีชื่อเสียงครูบัวซอนก็ได้รับโอกาสในการบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกเมื่ออายุ 18 ปี โดยห้างนครพิงค์พานิชในชุด น้ำตาเมียหลวง หลังจากนั้นห้างขายยารัตนเวชได้เชิญให้ไปอยู่ในสังกัดใช้ชื่อว่า “คณะสี่โพธิ์แดง” โดยได้รับเงินเดือน 600 บาท นอกจากการแสดงขับซอด้นสดกับคณะแล้วท่านก็ได้บันทึกเสียงอีกหลายชุด
ชีวิตของท่านกลายเป็นศิลปินกวีขับซอทางภาคเหนือที่ถือว่าเป็นคนดังคนหนึ่ง แต่ในขณะที่ชีวิตกำลังอยู่ในเส้นทางที่รุ่งเรื่องในอายุ 25 ปี ก็เกิดจุดพลิกผันในอาชีพการแสดงเพราะท่านได้แต่งงาน และต้องการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวโดยต้องการออกไปประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ใช่การขับซอ นั้นหมายความว่าช่วงเวลานั้นท่านตัดสินใจไม่รับงานแสดงขับซออีกต่อไป
“เหตุผลคือเรามีภาระที่ต้องดูแลไม่ว่าจะเป็นญาติและลูกที่เกิดมา ส่วนอาชีพก็หันมาทำนาทำสวนเลี้ยงหมูรับจ้างทั่วไปเพราะครอบครัวต้องกินต้องใช้มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเหนื่อยและลำบากมากส่วนเรื่องการขับซอแม่ทำมาหลายปีแล้ว มันก็เริ่มเบื่อหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่การเดินทางที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงมันไม่สะดวกเหมือนสมัยนี้ แล้วการขับซอสมัยก่อนมันไม่ได้มีเครื่องขยายเสียงทำให้ต้องใช้พลังเสียงที่หนักกว่าปกติ เวลาไปงานแสดงส่วนใหญ่ที่เจอคือสังคมของคนเมามันมีทุกงานคือเบื่อมาก”
ครูบัวซอนใช้ชีวิตแบบชาวบ้านปกติโดยไม่ได้กลับไปขับซออีกเลยตลอดระยะเวลาถึง 19 ปี แต่ด้วยโชคชะตาที่อาจกำหนดมาให้ชีวิตของท่านเกิดมาเป็นศิลปิน แม้ว่าอยากจะหยุดตัวเองไม่ให้ขับซออีกแต่ต้องมีเหตุให้กลับมาทำในสิ่งที่ตัวเองต้องเป็นจนได้ เมื่อรุ่นน้องช่างซอท่านหนึ่งได้ออกอุบายให้ครูบัวซอนไปเที่ยวพักผ่อนที่อำเภอแม่แจ่ม โดยท่านไม่รู้ว่าที่นั่นมีการจัดงานแสดงซอ โดยต้อนรับครูบัวซอนให้ขึ้นเวทีทั้งที่ไม่เคยขับซอมากว่า 19 ปีแล้วก็ตามด้วยความคาดหวังของเจ้าภาพและชาวบ้านที่สนใจ แม้จะร้างเวทีมาอย่างยาวนานแต่ท่านก็พยายามแสดงจนจบ
เมื่อกลับมาถึงบ้าน ท่านเสียใจที่โดนหลอกไปแสดงงาน ทั้งที่คิดว่าจะเลิกอาชีพนี้เด็ดขาด แต่อีกด้านหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นตั้งมั่นโดยมีการอธิษฐานต่อครูบาอาจารย์ว่าถ้ามีบุญจะได้เป็นช่างซออีก ก็ขอให้แต่งบทซอเรื่องอริยสัจสี่ได้สำเร็จ แน่นอนว่าท่านทำได้ไม่ยากกลายเป็นก้าวแรกของการกลับมา แม้คราวนี้จะไม่คล่องแคล่วในช่วงแรก แต่ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่มีอย่างเต็มเปี่ยมก็สร้างความมั่นใจในการขับซอในเวลาต่อมา
“ช่วงที่แม่เลิกขับซอก็มักมีคณะซออื่นมาเล่นแถวบ้านแต่ตัวเองไม่เคยไปดู เพราะว่ามันเบื่อคิดว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอีก แต่เมื่อได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการซออีกก็ต้องเดินต่อไป โดยที่วันหนึ่งได้มีโอกาสไปช่วยงานบุญเป็นงานที่มีการฉลองครูบาศรีวิชัย ซึ่งแม่ก็ได้ศึกษาและอ่านประวัติครูบาศรีวิชัยมาก่อนแล้ว พอมีโอกาสก็เอามาแต่งเป็นบทซอ แล้วมีคนนำไปอัดเสียงเรื่องราวของครูบาศรีวิชัย ในภายหลังก็โด่งดังขึ้นมาทำให้ชาวบ้านก็ได้รู้จักบัวซอนอีกครั้ง เพราะการขับซอของครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนานี้เอง
“อีกเหตุการณ์หนึ่งจำได้ว่าตรงกับวันแม่แห่งชาติ ทางหมู่บ้านมีการเปิดเพลงค่าน้ำนม ตอนนั้นที่บ้านปลูกเป็นทรงยกสูงมีใต้ถุนแล้วแม่กวาดบ้านอยู่ พอได้ฟังเพลงค่าน้ำนมน้ำตาก็ไหลออกมาเพราะคิดถึงแม่ เรื่องนี้นักร้องลูกทุ่งชื่อดังหลายคนได้แต่งเพลงเกี่ยวกับแม่ลูกมาบ้างแล้ว ก็มานั่งคิดว่าการซอเพลงแนวนี้ ทำไมไม่มีใครทำเรื่องความรักของพ่อของแม่ ก็เลยมีแรงบันดาลใจแต่งบทซอพระคุณของแม่ขึ้นมาซึ่งออกเผยแพร่มาพร้อม ๆ กับบทซอของครูบาศรีวิชัย ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นบทซออมตะไปแล้วนะ มีการนำไปอัดแผ่นเสียงเป็นเทปคาสเซทในสมัยนั้นม้วนละ 80 บาท ได้เงินกลับมาหลายแสนบาท
“จากนั้นมาแม่ก็เริ่มคิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องของการขับซอเพราะสมัยก่อนที่เคยร้องซอในช่วงวัยรุ่น พอมาถึงตอนนี้มันไม่เข้ากับยุคปัจจุบัน ต้องมาแต่งใหม่ทั้งหมดคนเดียว คือแม่จะเอาหนังสือธรรมะมาอ่านใช้ธรรมะสอดแทรกในบทซอ จนคนของกรมศิลปากรทราบก็ยังเอาหนังสือมาส่งให้แม่เป็นร้อยเล่มก็เลยกลายเป็นนักอ่านนักคิดนักเขียนไปเลย
“การขับซอของคนเมืองเหนือมันคือวัฒนธรรมที่สืบกันมาอย่างยาวนาน อย่างถ้าบ้านไหนจัดงานบุญเขาก็จะนำวงซอไปแสดง ซึ่งมันคือกระบอกเสียงที่ใช้ในการโฆษณาโปรโมทให้กับทางเจ้าภาพ เพราะการซอเวลาขึ้นเวทีเริ่มต้นต้องเอ่ยถึงงานว่ามีอะไรบ้างมีการยกยอปอปั้นเจ้าภาพเป็นคนดีมีเงินมีทองร่ำรวยมีศีลธรรมจริยธรรมเป็นคนดีของสังคม ซึ่งการซอมันต้องใช้โวหารด้นสดซอของภาษาที่สวยงามซอจึงมีจุดเด่นตรงนี้
“ศิลปินซอส่วนใหญ่จะมีความต่างตรงที่ความลึกความหนาของภาษา หากเรียนรู้หรือมีประสบการณ์มาน้อยก็ไม่สามารถเป็นนักขับซอที่ดีได้ อย่างแม่เองอ่านหนังสือเยอะมาก เช่น หากเราจะซอเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ต้องศึกษาเรื่องราชาศัพท์และคำพูดที่เหมาะสม หรือแม้แต่งานที่แม่ประพันธ์เอาไว้เป็นเรื่องธรรมะหลายเรื่อง อย่างพระเจ้าสิบชาติ แล้วแต่ละชาติของพระพุทธเจ้าก็แยกเป็นอีกเรื่อง แต่ละเรื่องก็ใช้เวลาเล่าประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้วก็มีการบันทึกเก็บเอาไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ศึกษา
“การขับซอนี่ไม่ใช่ว่าเก่งแล้วจะสำเร็จ มันต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง คือถ้าสังคมเขายอมรับเราเราจะเข้าไปอยู่ในหัวใจเขาเอง เพราะบางคนขับซอดีแต่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ไม่มีน้ำใจ ใจของเราต้องกว้างในการเป็นศิลปิน อย่างการไปแสดงที่บางครั้งมีเกินเวลาไปบ้าง แต่เราก็ต้องอดทนใจดีสู้เสือ เราต้องมีอัธยาศัยไมตรีที่ดี อย่าไปโอ้อวดว่าเราเป็นคนเก่งเราต้องไปด้วยใจศิลปิน
“แม่คิดว่าคนเราเกิดมาได้รับพรสวรรค์กันทุกคน คือเรามีรูปสมบัติติดตัวมา นอกจากคนพิการคือรูปสมบัติไม่พร้อม เมื่อเรามีรูปสมบัติมาแล้วเราต้องมาสร้างคุณสมบัติ ถ้าเราไม่สร้างสังคมจะไม่ยอมรับ ไม่มีคนรู้จัก เมื่อเรามีรูปสมบัติ คุณสมบัติ เราจะได้นามสมบัติมา นั่นคือชื่อเสียง เมื่อเรามีครบทั้งสามแล้วทรัพย์สมบัติจะมาทีหลังจึงไม่ต้องไปกังวลอะไร
“คนที่เป็นนักซอจึงต้องมีหลายอย่างแม้กระทั่งพรสวรรค์และพรแสวง นักซอรุ่นใหม่ที่เป็นลูกศิษย์ก็จบปริญญาตรีทั้งนั้น แต่แม่จะสอนหลักการซอในตำราให้พวกเขาได้เรียนรู้หลักการ เพราะบทซอมันเป็นเรื่องของภาษามีร้อยแก้วร้อยกรองมีลูกโซ่ มีตัวสะกด มีสัมผัสนอกสัมผัสในถ้าเขามีองค์ความรู้ตรงนี้จะสามารถทำได้ทุกอย่าง ถ้าเขาไม่มีองค์ความรู้จะทำไม่ได้เลย อย่างถามว่าองค์ความรู้อยู่ที่ไหน เขาจะตอบไม่ได้เลยเพราะเขาไม่รู้ ทุกอย่างต้องมีองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นซักผ้าหรือทำกับข้าวก็เหมือนกัน
“ปัจจุบันช่างขับซอมีจำนวนเยอะขึ้น เราก็ภูมิใจว่าเรากลับมาอีกครั้งด้วยรากฐานและประสบการณ์เก่า ได้มีโอกาสถ่ายทอดบทซอให้คนที่สนใจโดยใช้เรื่องที่แต่งใหม่ทั้งหมด ซึ่งนักซอที่เกิดขึ้นในยุคหลังยังต้องใช้บทซอโดยการแต่งของแม่เป็นแบบอย่างในการออกแสดงงาน แต่แม่ก็ไม่ได้หวงเพราะเป็นการดีเป็นการส่งเสริม คือถ้าเราแต่งออกมาแล้วไม่ได้เผยแพร่มันก็ไม่มีประโยชน์ แต่คำซอของแม่มันมีธรรมะสอดแทรกไปร่วมกับความบันเทิงคือทุกคนสามารถฟังได้
“ในเรื่องของศิลปินแห่งชาติแม้แม่จะอยู่ในจุดที่ห่างไกล แต่ต้องขอบคุณที่มีคนเห็นคุณค่า ทุกอย่างมันมาจากเบื้องหลังที่แม่เป็นคนที่อ่านหนักฟังหนักเขียนหนักจึงมีความรู้ แม่เรียนหนังสือจบแค่ ป. 4 ไม่ได้เรียนหนังสือต่อมัธยม แต่อ่านหนังสือเองตลอดอยากรู้เรื่องอะไรก็อ่านแล้วเอามาแต่งเป็นเรื่องราว ต้องขวนขวายในทุกเรื่อง ๆ ตั้งแต่วันสำคัญของชาติ เรื่องของกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ เวลาดูหนังดูละครถ้าดูแบบเอาแค่สนุกสนานก็คงไม่มีประโยชน์ แต่เราดูแล้วบันทึกความรู้
หรือแม้กระทั่งการฟังเพลงก็ฟังเพื่อนำมาเป็นแนวซอ ถ้าคนที่ไม่คิดเขาจะฟังเอาสนุกอย่างเดียว แต่แม่ฟังแล้วเก็บข้อมูลตลอดมันเป็นนิสัยของเราที่ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา
“ชีวิตของแม่ส่วนหนึ่งมันผูกพันกับงานของสังคมไปแล้ว เป็นสังคมที่ผู้ใหญ่มีความเอื้อเฟื้ออยู่ตลอดมีการสนับสนุนเรื่องซอ แต่เรื่องที่การซอส่วนใหญ่มาทางธรรมมะเพราะเราเรียนรู้หนักในเรื่องนี้ อีกเหตุผลคือ แม่จะไปซอแนว เกี้ยวพาราสีก็คงไม่เหมาะสมหรือไปในแนวการเมืองก็ไม่ได้ก็เหลือแต่ธรรมะนี่แหละที่ทำให้เข้าถึงผู้คนได้ อย่างที่พยายามทำออกมาอีกคือการสวดกรรมฐานแปล แล้วก็เอาอภิธรรมจากพระไตรปิฎกมาแปล
“ที่ทำแปลเพราะส่วนใหญ่เวลาที่เราไปงานศพพระท่านก็สวดอภิธรรมแล้วไม่ได้อธิบายความคำแปลว่าอะไร ฉะนั้นแม่นำสิ่งเหล่านี้มาอธิบายเป็นคำซอ บางคนไม่รู้เลยว่าสวดอภิธรรมมันคืออะไร บางคนบอกว่าเป็นบทที่สวดให้คนตาย แต่มันไม่ใช่อภิธรรมมันคือการสวดให้คนเป็นฟัง แล้วพอบางคนไปงานศพสวดอภิธรรมก็ไม่สนใจฟังเพราะไม่รู้เรื่องก็ไปเล่นไพ่ไฮโลแทน เลยเอามาแปลเป็นคำซอทั้งหมด แม่ก็ภูมิใจที่ได้ทำตรงนี้ออกมาก็กลายเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มผู้มีผลงานเด่นระดับจังหวัดจนถึงระดับชาติ
“ปัจจุบันวงการซอมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งชาติและกระทรวงวัฒนธรรมท่านลงมาช่วย มีการจัดตั้งสมาคมจังหวัด สมาคมภาค แล้วมีนักเรียนมาเรียนซึ่งถ้าจะเรียนเป็นอาชีพต้องมีความสามารถึงขั้นที่ด้นสดได้ มีสื่อการเรียนการสอนที่แม่บันทึกเอาไว้จะมีบทมาตรฐานเอาไว้สอนเด็ก ๆ พวกเขาก็เรียนตามบท เพื่อให้มีการสืบสานก็คิดว่าศิลปะชนิดนี้จะยังคงอยู่ได้ตลอด ปัจจุบันแม้ว่าตัวแม่เองจะคงรับงานอยู่ แต่ก็เลือกงานแสดงเนื่องจากตัวเองอายุมากแล้ว อยากให้คนซอรุ่นใหม่ได้มีโอกาสบ้าง เพราะศิลปะการแสดงซอในอนาคตจะอยู่กับพวกเขานี่แหละ”
= Did you know =
ครูบัวซอนมีงานที่เผยแพร่ข้อมูลทางศิลปะการแสดงแก่สาธารณชนมากมาย อาทิ งานบันทึกแผ่นเสียงซอเรื่องน้ำตาเมียหลวง, ซอคู่กับ นายบุญศรี สันเหมือง, ซอเรื่องโรคทรัพย์จาง, ซอคู่กับนางจันทร์ทิพย์ สามหลัง ประเภทซอบันทึกแถบบันทึกเสียงซอเรื่องมหาเวสสันดรชาดกคู่กับ นายเฉลิมพล, ซอเรื่องประวัติครูบาศรีวิชัย คู่กับเรวัฒน์ พรหมรักษ์,ซอเรื่องประวัติเมืองเชียงใหม่, ซอเรื่องทศพิธราชธรรม
ด้วยผลงานที่มีคุณค่าที่ท่านสร้างสรรค์ขึ้นทำให้ได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ ปริญญาบัตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาวรรณกรรม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี 2546, ศิลปินพื้นบ้านดีเด่น สาขาการซอภาคเหนือ จากสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2540, ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ (ร้อยกรองพื้นบ้าน) จาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2539