ศุภกานต์ มุทุมล
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายมีหลากหลายชนิด กีตาร์ถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีสากลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก กีตาร์ยังสามารถที่จะผสมผสานไปกับเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด หลากหลายวัฒนธรรมดนตรีได้อย่างลงตัวไม่ต่างจากเรื่องราวในวันนี้ที่พาผู้อ่านได้ไปสัมผัสกับส่วนผสมที่เข้ากันได้อย่างลงตัวระหว่างกีตาร์กับปรัชญาในพุทธศาสนา ในเรื่องของทางสายกลาง
“สมัยก่อนผมเล่นดนตรีที่กรุงเทพฯ เป็นอาชีพหลัก เคยออกอัลบั้มและมีเพลงดังกับค่ายใหญ่เพราะว่าดนตรีเป็นสิ่งที่เรารัก แต่ช่วงเล่นดนตรีกลางคืนนั้น คืนหนึ่งจะเล่นหลายชั่วโมง และหลายที่ ในแต่ละปีก็จะมีความเบื่อหน่าย ท้ออกท้อใจในการเดินทางสายดนตรีบ้าง เลยพยายามสรรหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้สามารถเล่นดนตรีได้ต่อไป
“แต่พอถึงจุดจุดหนึ่ง ในความชอบมันกลายเป็นคำว่า Routine เมื่อคำว่า Routine เกิดขึ้นก็เลยกลายเป็นคำว่าเบื่อหน่าย ก็เลยย้อนกลับมาถามตัวเองในทุก ๆ วันว่าเราชอบอะไร? คำตอบก็ยังเป็น ดนตรีอยู่!! แต่ทำไมเรารู้สึกเบื่อหน่าย ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นจุดพลิกผันทำให้เราต้องทบทวนว่า อะไรที่ทำให้เรารู้สึกดีอะไรที่ทำให้เวลาที่เราตื่นมาทุก ๆ เช้าแล้วอยากจะทำ
“สมัยก่อนเราจะร้องเพลงไปด้วยเล่นกีตาร์ไปด้วย แต่พอเวลากีตาร์เราเสียก็ต้องส่งให้ช่างซ่อมตลอดเลย บางครั้งช่างซ่อมก็ทำให้เราถูกใจบ้าง บางทีก็ทำกีตาร์เราพังบ้าง ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนแน่นอน ก็เลยมีความรู้สึกนึกคิดในหัวว่าเล่นกีตาร์มาหลายปี ทำไมเราซ่อมกีตาร์ไม่ได้เลย คนที่เขาขับมอเตอร์ไซค์ไปไกล ๆ เวลาที่มอเตอร์ไซค์เขาพังระหว่างทาง เขายังซ่อมไปต่อได้ แต่ทำไมเราเดินทางมาตั้งไกลแล้วเรายังไปต่อไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่ากีตาร์นี่แหละอยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แต่เราละเลยมาตลอดเวลา
“ตอนแรกก็อยากเรียนซ่อมกีตาร์อย่างเดียวเลยหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตดู พอเปิดไปเปิดมามันก็ลึกขึ้นเรื่อย ๆ จนไปสะดุดกับคำว่ากีตาร์แฮนด์เมด ความคิดเราก็เริ่มกว้างขึ้นว่างานแฮนด์เมดมันคงไม่ใช่แค่การซ่อมกีตาร์แล้วแหละ มันยังจะสามารถทำให้เราเดินต่อไปได้เลยคิดว่ามันสามารถกลายมาเป็นมาสเตอร์พีซได้ ก็เลยเริ่มสนใจมากขึ้น
“ผมเรียนกับอาจารย์วิรุฬห์ ทรงบรรดิษฐ์ หรือพี่นิด (ช่างทำกีตาร์ชื่อดังของไทย) ด้วยความเป็นครู แกก็ทั้งสอนและทั้งปลูกฝังหลักการการทำกีตาร์ที่ถูกต้องตามหลัก Traditional เพราะช่างกีตาร์ก็จะมีอยู่หลายแนว หลัก ๆ มีอยู่ 3 แนว แนวแรกเขาเรียกว่า แนวโฟล์ก แนวแทรดดิชั่นนอล และแนวอินโนเวทีฟแนวโฟล์กก็เป็นเหมือนภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ได้มีวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนแนวแทรดดิชั่นนอล ก็เป็นแนวที่มีการค้นคว้าวิจัยมามีการนำวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องมีมาตรฐานและสากล สวนแนวอินโนเวทีฟ ก็จะเป็นส่วนที่สานต่อจากแนวแทรดดิชั่นนอลอีกทีหนึ่ง
“กีตาร์ตัวแรกใช้เวลาทำ 4 เดือน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรในการทำกีตาร์ตัวแรกแต่มันเป็นเหมือนครูเรา การทำออกมานั้นไม่ได้ยากเหมือนตัวที่สองครับ เพราะว่าตัวแรกนั้นเรามีอาจารย์คอยดูแลตลอดเวลา บางครั้งเราทำไม่ได้อาจารย์ก็ทำให้ แต่กีตาร์ตัวที่สอง เป็นงานออเดอร์เลยจากศิลปินดังท่านหนึ่งมันก็เลยเป็นงานยากของเราเพราะว่าเราลุยเดี่ยวเอง มันเป็นเรื่องของสกิล ก็พยายามทำให้ดีที่สุดครับ ทำเรื่อย ๆ ไม่ได้กำหนดเรื่องระยะเวลา ว่าจะต้องเป็นกี่เดือน เรารู้ว่าเราสกิลน้อย เราทำเร็วไม่ได้ต้องค่อย ๆ ทำ ให้มันออกมาดีที่สุด เพราะมีความตั้งใจตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าจะทำอย่างช้า ๆ แล้วมีคำคำหนึ่งที่ทำให้เรานึกถึงขึ้นมา และก็คิดว่าน่าจะเหมาะสมสำหรับการตั้งชื่อแบรนด์กีตาร์ของตัวเรา ก็คือคำว่า “สติ” (STI)
“ส่วนกีตาร์ตัวที่ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซก็จะใช้ไม้ไทย โดยคอนเซ็ปต์ของ สติ ก็จะอิงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่เราสามารถใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกีตาร์ตัวนี้ให้ชื่อว่า มาชิ (มัชฌิมาปฏิปทา) คือการทำกีตาร์ในคอนเซ็ปต์ทางสายกลางนั่นเอง โดยใช้ไม้ไทย (ชิงชัน) ในการทำ โดนส่วนมากไม้ชิงชันจะถูกนำมาใช้ทำเครื่องดนตรีไทย เพราะคุณสมบัติของมันสามารถสะท้อนเสียงได้ดี ดังกังวาน ส่วนลวดลายก็จะเป็นลายฟิงเกอร์บอร์ด ที่มีลักษณะเหมือนเส้นด้าย โดยมีส่วนที่ตึงเกินไปก็จะเป็นรอยที่ขาด ส่วนที่ตึงพอดีก็จะอยู่ในช่วงเฟรตที่ 12 เพราะเฟรตที่ 12 เป็นช่วงกึ่งกลางระหว่างหัวกีตาร์กับท้ายกีตาร์ ส่วนบริดกีตาร์ ก็จะใช้เป็นทองเหลือง มัดไว้ตรงเส้นที่ 4 ตรงนี้ก็มีนัยเหมือนกันว่า เส้นที่ 4 ในความหมายของคนจีนคือ ความตาย (价) ส่วน 4 ในที่นี้ของเราก็คือ มรณะสติ ให้นึกถึงความตายไว้เสมอมันไม่แน่นอน ดังนั้นเราจะทำอะไรก่อนที่เราจะตาย”
ผู้เขียนเป็นหนึ่งในแฟนเพลงของวง HUM ด้วยเช่นกัน ข้อคิดที่ได้จากการพูดคุยครั้งนี้ก็ทำให้ตระหนักรู้ว่า เมื่อคนเราไปถึงจุดจุดหนึ่งที่เป็นจุดสูงสุดของชีวิต ก็มิอาจเป็นดาวค้างฟ้าเสมอไป ชีวิตคนเราไม่แน่นอน มีทั้งขึ้นและลง อย่าไปยึดติดกับชื่อเสียงเงินทอง และที่สำคัญต้องทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ดำเนินชีวิตเป็นทางสายกลางเท่านั้นก็คงเพียงพอ