ชานนท์ ผ่องเจริญกุล
การทำธุรกิจกาแฟมีการแข่งขันกันสูงมาก คนที่สามารถยืนอยู่ได้ต้องดีพอบนเส้นทางของตัวเอง เหมือนอย่าง Nacha Coffee กาแฟอาราบิการะดับโลกคุณภาพสูงที่ปลูกอย่างทะนุถนอมจากยอดดอยของจังหวัดเชียงใหม่แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องยกเครดิตให้ คุณชานนท์ ผ่องเจริญกุล ผู้ที่เป็น CEO Nacha International Company
แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะมาทำธุรกิจกาแฟ ตระกูลของคุณชานนท์ประกอบธุรกิจจิวเวลรี่ รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของหยกที่สร้างรายได้เป็นหลักให้กับบริษัทมากมาย ในส่วนนี้เองคุณชานนท์ได้เข้ามาบริหารโดยปรับเปลี่ยนให้มีดีไซน์เข้ากับยุคสมัย จากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจมาก่อนนี้เองทำให้คุณชานนท์มีพื้นฐานและมุมมองของนักลงทุนที่เมื่อมาทำธุรกิจด้านอื่นจึงหาช่องทางความสำเร็จได้ไม่ยาก
จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจกาแฟมาจากความบังเอิญที่คุณพ่อของคุณชานนท์อยากได้บ้านพักตากอากาศบริเวณดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้มีการซื้อที่ดินจำนวนหนึ่ง แล้วมาพบว่าที่บริเวณนี้เป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟคุณภาพดีมานาน จึงทดลองเอากาแฟที่ชาวบ้านปลูกมาคั่วและชิม ผลปรากฏว่ารสชาติอร่อยมาก
เหมือนเป็นแหล่งขุมทรัพย์บนดินที่มีพันธุ์กาแฟชั้นดีอยู่บริเวณพื้นที่ดินของตัวเอง คุณชานนท์จึงได้ทำแบรนด์ Nacha Coffee ขึ้นมา และในปี พ.ศ.2549 มีการจัดประกวดกาแฟจากทั่วโลกโดยสมาคมกาแฟคุณภาพพิเศษแห่งสหรัฐอเมริกา จึงได้ส่ง Nacha Coffee เข้าประกวด ผลปรากฏว่าเป็นครั้งแรกของทวีปเอเชียที่กาแฟของไทยได้รับคะแนนสูงมากถึง 84.5% ซึ่งในวงการกาแฟถือว่าเป็นคะแนนที่สูงมาก
“เราไม่ได้เปิดร้านขายกาแฟ สิ่งที่เราทำคือการผลิตเมล็ดกาแฟในทุกกระบวนการจนถึงมือลูกออกมาให้ดีที่สุดอร่อยที่สุด ขั้นตอนของการทำกาแฟนั้นสำคัญมากเพราะมันต้องมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นคนที่ไม่รู้ถึงเรื่องราวกาแฟก็อาจคิดว่าใช้พันธุ์อะไรปลูกที่ไหนก็ได้แต่ความจริงแล้วไม่ใช่
“กาแฟที่ดีต้องเริ่มจากสายพันธุ์ สภาพอากาศดินน้ำแสงแดดแหล่งเพาะปลูกที่เหมาะสมทุกอย่างสำคัญหมด กาแฟเราปลูกในป่ามีหุบเขาจะโดนแดดเพียงแค่ช่วงเช้าเท่านั้น ใช้มือเก็บปกติสามารถคัดเลือกผลที่สุกได้ ในขณะที่คนอื่นจะใช้เครื่องเก็บซึ่งอาจนำเอาเมล็ดที่ไม่สุกติดมาด้วย ส่วนการคั่วเรามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพราะนี่คือหัวใจของการทำกาแฟ ต่อปีเรามีกำลังการผลิตประมาณ 400-500 ตัน แล้วส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เราน่าจะเป็นเจ้าเดียวที่คุณภาพถึง
“ปัญหาหลักที่ผมเจอส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคู่แข่งที่ใช้วิธีขายของถูก แม้แต่โรงแรม 5 ดาวแห่งหนึ่งผมเคยเอากาแฟไปเสนอ เขามีเงินซื้อกาแฟคุณภาพดีของผมอยู่แล้วหากเทียบกับกาแฟระดับโลกก็ไม่ได้แพงมาก แต่ก็ยังเลือกซื้อกาแฟราคาถูกที่มีคุณภาพต่ำ เขาไม่ได้มองว่าลูกค้าดื่มแล้วจะพอใจแค่ไหน มองแค่จะซื้อถูกได้แค่ไหนถ้าดูดี ๆ กาแฟหนึ่งกิโลกรัมอาจใช้ทำกาแฟได้ร้อยกว่าแก้ว ส่วนต่างที่ซื้อวัตถุดิบระหว่างกิโลละ 300 บาท กับ 500 บาท เมื่อนำไปขายต่อแก้วต้นทุนมันสูงขึ้นไม่กี่บาท ลูกค้าที่ผมมีจึงเป็นลูกค้าเน้นคุณภาพเท่านั้น
“ในเรื่องของธุรกิจกาแฟคนส่วนใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเขามุ่งที่จะออกไปเปิดร้านขายกันมากกว่า คนรุ่นใหม่มักคิดว่าพอเรียนจบออกมาไม่อยากเป็นพนักงานประจำ หรือไม่มีอะไรทำก็ไปเปิดร้านขายกาแฟ แต่ปัญหาคือเขาไม่เข้าใจเรื่องธุรกิจกาแฟ หรือโดนหลอกจากค่านิยมที่ต้องมีการแต่งร้านสวยซื้อเครื่องชงกาแฟราคาแพงคือลงทุนกันหลายล้านบาทที่ผมเคยเจอแล้วตกใจคือมีร้านกาแฟเล็ก ๆ ใช้เครื่องทำกาแฟราวห้าแสนบาท แต่ทำกาแฟคุณภาพต่ำออกมา
ให้ลูกค้าคือมันไม่สมดุลกัน เปิดร้อยแห่งอาจปิดไปเก้าสิบเก้าแห่ง เราจึงไม่ไปแข่งขันกับเขา เราเน้นขายกับคนที่ทำธุรกิจเปิดร้านกาแฟมากกว่า ในทางกลับกันตอนนี้มีคนรุ่นใหม่จากกรุงเทพจำนวนมากเลยมาเชียงใหม่เพราะว่าเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของกาแฟในประเทศไทย พวกเขามาลงทุนซื้อที่ดินแล้วปลูกต้นกาแฟดูแลสายพันธุ์อย่างดี บางเจ้าทำออกมาแล้วอร่อยมาก ที่เป็นแบบนี้เพราะเขาดูแลเหมือนลูกผลที่ออกมารสชาติมันจึงดีมากเลย
“แต่การที่จะปลูกกาแฟในแบบที่ผมทำไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วซื้อที่ดินปลูกกาแฟแล้วจะสำเร็จง่าย ต้องมี Passion มีความรักที่จะปลูกมันขึ้นมา แต่จะประสบความสำเร็จได้มั้ยก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนอย่างที่ผมทำธุรกิจขายหยกแล้วประสบความสำเร็จได้เรื่องแบบนี้มันไม่สามารถที่จะสอนกันได้ง่าย ๆ มันต้องใช้ความรักเอาใจใส่และใช้เวลาในการเรียนรู้
“สำหรับคนที่อยากมาทำธุรกิจโดยเพาะเรื่องของกาแฟผมอยากแนะนำว่าควรจะอยู่ในจุดที่ตัวเองชอบและถนัด อย่างบางคนถนัดการทำโรงคั่วก็ทำไป บางคนถนัดเป็นบาริสต้าที่ชอบชงกาแฟให้สวยและอร่อย ลองคิดดูเขาอาจไม่รู้เรื่องกระบวนการผลิตสักเท่าไหร่ แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จในเรื่องของกาแฟได้เหมือนกัน
“อนาคตผมผมกำลังขยายไปขายที่ต่างประเทศมากขึ้นอย่างตอนนี้กำลังนำไปขายที่อเมริกากับสวีเดนคือในประเทศไทยคนทำกาแฟเยอะมาก เลยเหมือนกับเราอยู่ในบ่อน้ำเล็กที่มีปลาเยอะแย่งกันกินอาหาร เราก็ต้องไปหาบ่ออื่น แต่ในต่างประเทศแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่เยอะที่เขาดื่มกาแฟที่หลากหลายกว่าอย่างกาแฟของเชียงใหม่ถ้าพูดถึงชื่อเสียงในตลาดโลก อาจไม่โด่งดังนักแต่ที่พวกเขากินเพราะรสชาติและเรื่องราว (Story) ตรงนี้ผมจึงพยายามนำกาแฟของเชียงใหม่ไปเปิดตลาดโลกดูบ้าง”