ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา
โลกแห่งธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ถ้าเรายังคงยึดติดอยู่กับกรอบและโลกใบเดิมอยู่ ก็คงจะไม่สามารถเติบโตและไล่ตามความสำเร็จได้ทัน มุมมองของคุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Priceza ธุรกิจ E-Commerce ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี กับการก้าวข้ามไปสู่ระดับโลกด้วยพาร์ทเนอร์ชิปร่วมจากต่างประเทศ แนวคิดของธุรกิจกับคอนเซ็ปต์ Thailand 4.0 ที่จะทำให้ประเทศชาติเติบโตไปอย่างยั่งยืน
การทำงานในธุรกิจ E-Commerce ของ Priceza
“Priceza คือ Shopping Search Engine หรือที่เรียกกันว่า เครื่องมือค้นหาสินค้าออนไลน์ ซึ่งระบบตรงนี้เราสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของ User หรือผู้บริโภค เมื่อเราต้องการซื้อสินค้าสักชิ้นหนึ่ง เราก็ย่อมอยากได้สินค้าในราคาที่ดีที่สุดใช่ไหมครับ สิ่งที่เราทำก็คือเครื่องมือค้นหาที่จะเข้าไปค้นผ่านร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ว่าแต่ละร้านมีสินค้าอะไรอยู่บ้าง แต่ละชิ้นราคาแตกต่างกันเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันเราสามารถค้นหาสินค้าต่าง ๆ ในประเทศไทยผ่าน Priceza ได้ประมาณถึง 10 ล้านรายการเลย เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้อะไรสักอย่าง เพียงแค่พิมพ์ชื่อสินค้า ชื่อรุ่นลงไปเราก็จะไปค้นมารวมถึงเปรียบเทียบราคาแต่ละร้านให้เสร็จสรรพปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 6 ประเทศ (ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม) โดยมีผู้ใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคนต่อเดือน โดย Priceza ในไทย มีผู้ใช้บริการมากกว่า 7.5 ล้านคนต่อเดือนทั้งในเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้บริการค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา
“ในด้านของกลไกการทำงาน ด้วยความที่เราเป็น Search Engine เราก็จะมีตัว Robot ที่เป็นเหมือนกับ Spider ทำหน้าที่ในการวิ่งไต่ไปตามใยต่าง ๆ ในส่วนของร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ ว่ามีสินค้ากี่ชนิด ราคาเท่าไหร่บ้าง จากนั้นจึงดึงข้อมูลที่ได้มาใส่ลง Priceza นอกจากนี้ Spider จะทำหน้าที่อัพเดตราคาสินค้าทุก ๆ วัน อย่างถ้าวันไหนมีราคาโปรโมชั่น Spider ก็จะไปดึงเข้ามา เช่นเดียวกับเวลาที่มีการลงสินค้าใหม่ เจ้า Spider นี้จะทำงานตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรอัพเดต ทาง Priceza ก็จะเปลี่ยนแปลงตามได้อย่างทันท่วงที
“สำหรับเกณฑ์ในการเลือกสินค้า เนื่องจากว่าเราทำเป็นเครื่องมือค้นหาสินค้า เพราะฉะนั้นเราจึงเจาะจงไปยังสินค้าที่จับต้องได้ สินค้าที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งสินค้าหลัก ๆ ที่คนไทยนิยมกันมากเลยก็จะเป็น สินค้ากลุ่ม IT กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มี Demand ค่อนข้างสูง เพราะเทคโนโลยีค่อนข้างอัพเดตแบบวันต่อวัน บางครั้งการซื้อมาขายไปมันค่อนข้างไว สินค้ากลุ่มนี้จึงต้องมีการอัพเดตฉับไวตลอดเวลา อีกกลุ่มนึงก็จะเป็นสินค้าสำหรับสุภาพสตรี สินค้าแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นทั้งเครื่องแต่งกายหรือว่าเครื่องสำอางราคาต่อชิ้นไม่สูงมาก และผู้หญิงช้อปปิ้งบ่อย นอกจากสองกลุ่มนี้ก็จะมีกลุ่มอื่น ๆ อีกมากมายเลย ไม่ว่าจะเป็น สินค้าแต่งบ้าน ของใช้ของสะสม เรียกได้ว่าร้านค้าออนไลน์ขายอะไร เข้ามาที่ Priceza
ที่เดียว เรารวบรวมมาให้คุณทั้งหมดแล้วก็ว่าได้ครับ”
ตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบัน
“จุดเริ่มต้นของ Priceza เกิดขึ้นเมื่อตอนปี 2009 แบคกราวด์ของผมกับ Co-Founder เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ครับ ก็คือมีผม คุณวัชระ นิวาตพันธุ์ และ คุณวิโรจน์ สุภาดุล อยากที่จะตั้งเป็นธุรกิจออนไลน์ขึ้นมาสักหนึ่งอย่าง ตอนนั้นคำว่า
Startup เมืองไทยยังไม่เข้าใจความหมายเลย ทีนี้เรามาทางสายวิศวะ-คอม ก็เลยได้มีโอกาสเรียนรู้ว่าช่องทาง E-Commerce กำลังจะมาแน่นอนในอนาคตอันใกล้ และมันจะช่วยต่อยอดให้ธุรกิจของเราไปได้ไกลถึงระดับประเทศ ซึ่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการมาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าในประเทศที่ตลาด E-Commerce เติบโตแล้วนั้น เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาสินค้าจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้คนอยากซื้อสินค้า รวมถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัวด้วย และปัจจุบัน Priceza กำลังพลิกโฉมหน้าของการซื้อขายออนไลน์ โดยช่วยเพิ่มการเข้าชมเว็บไซต์และรายได้ของผู้ค้าหลายร้อยรายด้วยการนำผู้ซื้อไปสู่หน้าเว็บไซต์ของผู้ขายโดยตรงและในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเองก็ได้รับประโยชน์จากข้อมูลการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ครบถ้วน
“ต้นแบบที่เราเลือกนำมาเป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจ E-Commerce เราก็เอาแบบอย่างมาจากประเทศญี่ปุ่น ที่เขามีผู้จัดทำรายการธุรกิจแบบนี้อยู่ รวมถึงทางฝั่งอเมริกาหรือแม้กระทั่งยุโรปเองก็ตาม ประเทศเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีเครื่องมือลักษณะนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ในช่วงเวลานั้นในประเทศไทยเองยังไม่มีใครคิดริเริ่มตรงส่วนนี้จริงจัง Priceza เลยถือกำเนิดขึ้น จะเรียกว่าเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยเลยก็คงไม่ผิดนักที่ประสบความสำเร็จจวบจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ประเทศไทยก็มีบริการแบบเดียวกับ Priceza เกิดขึ้นแล้วหลายเจ้าเหมือนกัน แต่ถ้าเทียบสเกลกันแล้วทาง Priceza มีผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ประมาณ 10 ล้านผู้เยี่ยมชมต่อเดือน ในขณะที่เจ้าอื่นยอดรวมอาจจะไม่ถึง ก็ถือได้ว่าเราค่อนข้างที่จะเป็นเว็บไซต์หลักที่คนไทยให้ความน่าเชื่อถือแล้วในตอนนี้”
การทำงานและการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce
“การทำงานของผมนั้น ขอเรียนตามตรงเลยว่า Priceza ไม่ได้แข่งขันกับใครในธุรกิจ E-Commerce แต่เราจะเน้นไปที่การบริการ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ User หรือว่าผู้ใช้บริการมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเราได้รับข้อแนะนำ ติติง หรืออะไรที่ผู้ใช้งานต้องการเพิ่มเติมทางเราก็จะพยายามเสิร์ฟให้ผู้ใช้งานให้ได้ดีที่สุดตั้งแต่แรกเริ่มเลยอย่างที่เรียนให้ทราบว่า Priceza ก่อตั้งมาจากคน 3 คนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ ช่วงแรกเลยนั้นผมก็จะเป็นคนวาง Business Model ขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง รวมถึงดูแลทางเซลล์และการตลาด ในขณะที่ Co-Founder อีก 2 ท่าน จะดูแลในส่วนของ Product Development กับส่วนของ Technology รวมถึง Programing ต่าง ๆ เราจะแบ่งภาพของการทำงานกันให้ชัดเจน และรับผิดชอบส่วนของตัวเองให้ดีที่สุดก่อนครับ
“จนถึงวันนี้เราเปิดให้บริการ Priceza ใน 6 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่เราเล็งเห็นจากการต่อยอดการลงทุนดังกล่าว คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเป็น ระบบ Search Engine ที่ว่าเนี่ย มันสามารถต่อยอดสเกลที่ใหญ่ขึ้น สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ได้โดยที่ต้นทุนไม่สูงมาก ซึ่งธุรกิจ Digital ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน คือสามารถเชื่อมต่อไปต่างประเทศโดยที่เราสามารถทำงานอยู่ในประเทศได้ การทำงานของ Priceza ก็จะเป็นการไปสร้างเซิฟเวอร์ที่นั่น ปล่อย Spider ไปดึงสินค้า รวบรวมข้อมูลร้านค้ารวมถึงสินค้าจากประเทศเหล่านั้นจากการทำงานในประเทศไทยได้เลยแล้วมันเป็นสิ่งที่พวกเรามองกันว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ธุรกิจของเราที่ไทยพร้อมที่จะก้าวไปต่อแล้ว เราก็พร้อมที่จะสเกลไปในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้
“ส่วนที่ว่าทำไมถึงเลือกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อไหมครับว่าประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่แหละ ที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ค่อนข้างสูง ทำให้เราเลือกที่จะสเกลไปในภูมิภาคนี้เป็นอันดับแรก ซึ่งประเทศแรกที่เราเริ่มขยายสเกลไปคือประเทศอินโดนีเซีย เหตุผลอย่างแรกก็คืออินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคและติดอันดับโลก ข้อสองในประเทศอินโดนีเซียนั้น ตลาด E-Commerce ยังไม่มีผู้เล่นครองตลาดนี้อยู่ ถ้าจะเข้าไปลงทุนก็ควรเป็นจังหวะนี้ และข้อที่สาม E-Commerce ที่อินโดนีเซียมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก รัฐบาลที่นั่นสนับสนุนธุรกิจ Digital และ E-Commerce อย่างมาก ซึ่งในอนาคตเรามองว่าตลาดหลัก E-Commerce ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไปอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็เลยเลือกประเทศนี้เป็นอันดับแรก ถัดมาปี 2015 เราก็ได้ขยายธุรกิจเพิ่มเข้าไปอีก 4 ประเทศ คือมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนามครับ”
นิยามตัวเองเป็น Search Engine แล้วรายได้หลักมาจากทางไหน
“รายได้หลักของ Priceza แน่นอนครับว่าต้องมาจากโฆษณาคือ User ที่เข้ามาใช้บริการ Priceza เพื่อค้นหาเปรียบเทียบราคา เมื่อผู้ใช้ค้นพบสิ่งที่ต้องการขั้นต่อไปก็จะกดเข้าไปสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้านั้น ๆ ทางเราเองก็ได้โฆษณาต่าง ๆ กลับมาจากร้านค้าเหล่านั้นที่ปรากฏอยู่บน Priceza การตอบสนองต่อร้านค้าต่าง ๆ นั้นก็มีตั้งแต่ ร้านค้าที่เรามองว่าดี มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ร้านค้าที่เป็นตัวเลือกหลักของผู้ใช้ เราก็จะดึงร้านค้าเหล่านั้นเข้ามาเพื่อให้ผู้ใช้ตัดสินใจ เสร็จแล้วเราก็จะแชร์ข้อมูลส่งกลับไปที่ร้านค้า เป็นข้อมูลที่ว่าทางเราสามารถเพิ่มยอดขายให้กับร้านของเขาได้ ก็จะมีการประสานเผื่อเป็นพาร์ทเนอร์กันต่อไป ส่วนร้านค้าต่าง ๆ รายย่อยที่อยากจะเข้ามาอยู่บน Priceza ต้องทำอย่างไร ขั้นแรกเลยนะครับคือร้านค้านั้น ๆ จะต้องมีเว็บไซต์เป็นร้านค้าออนไลน์ก่อน ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน เพียงแค่มีตัวตนที่ยืนยันได้และน่าเชื่อถือ ระบบ Search Engine ของ Priceza ก็สามารถที่จะไปค้นหาจนเจอได้ ถ้าสินค้าในร้านของคุณตรงกับความต้องการของผู้ใช้ครับ”
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Priceza กับการลงทุนของต่างชาติ
“ทาง Priceza ได้มีโอกาสเปิดรับ Investor เข้ามาร่วมลงทุนกับเรา ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 ทาง CyberAgent Venture ของประเทศญี่ปุ่น ครั้งนั้นเราถือว่าเป็นซีรีส์ A และครั้งที่สองซีรีส์ B กับทาง Hubert Burda Media ของประเทศเยอรมัน ที่เพิ่งเข้ามา Invest กับเราเมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง การที่ Investor จะเข้ามาลงทุนกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้น เขาจะมองอันดับแรกเลยคือทีม ทีมที่เขาไว้ใจ ทีมที่สามารถ Execute ไอเดีย แล้วก็ Business ที่คุยกันไว้ให้เกิดขึ้นได้จริง คือทีมของเรามีแบคกราวด์ที่ค่อนข้างชัดเจนในด้าน Technical และเรารู้ว่าใน Business ที่กำลังทำอยู่คืออะไร ซึ่งเราสามารถทำให้มันเติบโตแบบดับเบิ้ลเพิ่มขึ้นได้ในทุกปี
“อย่างที่สองคือเรารู้ Product ของเราอย่างจริงจัง Technology ต่าง ๆ ที่เราทำขึ้นมาสามารถนำไปใช้ได้จริง และต่อยอดได้ ปัจจุบัน Priceza ได้เปิดให้บริการแล้วใน 6 ประเทศทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมสินค้ากว่า 60 ล้านชนิด ด้วยความที่ Technology ตัวนี้คือสิ่งที่เราพัฒนาขึ้นมาเอง ทำให้เราสามารถตอบได้ว่าจะแก้ปัญหาหรือพัฒนาไปในด้านใดรูปแบบใด Investor ต่าง ๆ ก็สามารถมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เรารู้จริง
“อย่างที่สามเรื่องของการเป็นที่รู้จัก Priceza เปิดให้บริการในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2010 และมีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ผู้ใช้บริการที่ต้องการเปรียบเทียบราคาต่างก็นึกถึง Priceza ด้วยแบรนดิ้งที่เราสร้างขึ้นมาจนปัจจุบันถือได้ว่าเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง นั่นคือสามสิ่งที่ทางผู้ลงทุนต่างชาติมองว่า Priceza สามารถตอบโจทย์การลงทุนของพวกเขาได้ นอกจากนี้การที่ได้ Investor ต่างชาติมาร่วมลงทุนกับเราแล้วเนี่ย มันเป็นมากกว่าแค่เงินทุนที่เขามอบให้ เพราะว่าเราจะได้ทั้งความเป็นพาร์ทเนอร์ชิป เน็ตเวิร์คคอนเนคชั่น รวมไปถึงการที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วยครับ”
มุมมองของคุณธนาวัตน์กับตลาดธุรกิจ E-Commerce ในประเทศไทย
“จริง ๆ แล้วในเมืองไทยเอง ธุรกิจ Tech Startup หรือธุรกิจเกี่ยวกับ E-Commerce นั้นยังไม่ถือว่าครอบคลุมมากนะครับ ยังมีโอกาสให้หน้าใหม่ ๆ ลงทุนค่อนข้างมาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธุรกิจพวกนี้ในบ้านเราเองถือว่ายังน้อย รวมไปถึงด้านเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนทาง E-Commerce ก็ยังน้อยกว่าประเทศอย่างอินโดนีเซียหรือสิงคโปร์ ดังนั้นธุรกิจ E-Commerce ประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Quality ต้องได้ จำนวนเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่คุณภาพไม่ถึงที่จะเชิญชวนให้ Investor ต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน ปัจจุบันในประเทศไทยนี่แทบจะนับรายได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นสำหรับผู้เล่นที่อยากก้าวเข้ามาในตลาด E-Commerce จึงจำเป็นต้องโฟกัสที่ Product ให้รู้ลึกรู้จริงเสียก่อน ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ Networking ไม่อย่างนั้นมันก็จะเหมือนการขายฝัน ดังนั้นควรทำ Product ให้ดีก่อน
“อีกส่วนนึงที่ Investor ไม่เสี่ยงที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็คือการที่รัฐบาล รวมไปถึงเศรษฐกิจไทยเองนั้นยังไม่นิ่ง รัฐบาลไทยยังไม่เปิดรับในแง่การลงทุนของ Investor ต่างชาติอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงไม่ได้มีนโยบายในการสนับสนุนให้เกิดธุรกิจรูปแบบดังกล่าว ก็ถือเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ต่างชาติที่พร้อมจะลงทุน แต่ยังไม่กล้าเข้ามาลงทุนจริงจัง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยก็อย่าง Uber หรือว่า Grab ในเมื่อมีการลงทุนที่ส่งผลชัดเจนต่อผู้ใช้ แต่ทว่าทางรัฐบาลกลับเลือกที่จะปิดกั้นการลงทุนดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้น เพราะว่าต้องการสนับสนุนรูปแบบการขนส่งแบบเก่าหรืออะไรก็ตามแต่ นั่นแหละครับมันคือการตัดโอกาสในการลงทุนของต่างชาติ”