ดอยอ่างขาง

ดอยอ่างขาง

ลมพัดวูบหวิวสยิวไปทั้งเรือนร่าง ยิ่งดึกยิ่งหนาวสะท้านไปถึงทรวง... สายลมหนาวครานี้ทำให้ไออุ่นยามเช้า แดดอ่อน ๆ เป็นสิ่งที่หลายคนในทริปล้วนถวิลหา คืนนั้นอากาศหนาวจับใจ วัดอุณหภูมิได้ประมาณ 6 องศาเซลเซียส ลมเย็นยามพลบค่ำทำให้เราต้องเบียดกายย้ายจากที่นั่งด้านนอกของร้านอาหารสโมสรอ่างขาง ช่วงเวลายามเย็นวิวสวย ๆ ชักชวนให้เรานั่งดื่มด่ำบรรยากาศมวลหมู่ไม้บนดอย ย้ายเข้าด้านในเพื่อหาไออุ่นจากเปลวเพลิง ทว่าเป็นเพลิงแห่งรักและมิตรภาพ

ผมยังนึกถึงบรรยากาศล้อมวงสนทนาเคล้าเสียงเพลงพระราชนิพนธ์สุดไพเราะได้อยู่เลยพวกเราล้อมวงหันหน้าเข้าหาเตาผิง นอกจากความอบอุ่นกายที่ได้รับจากเตาผิงในสโมสรอ่างขางแล้ว ความอบอุ่นใจในมิตรภาพยังคงกึกก้องอยู่ในความทรงจำ เป็นความประทับใจที่ยากหาที่ใดเหมือน

แม้จะเป็นช่วงเข้าหน้าร้อนแต่อากาศและบรรยากาศนั้นดีสุด ๆ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเราได้ไปทำสกู๊ปใหญ่ของเล่มดังที่ได้เห็นกันไปในฉบับที่แล้วหากแต่ในสกู๊ปยังบอกเล่าความประทับใจได้ไม่หมด เลยขออนุญาตพาเที่ยวต่อ
ในคอลัมน์นี้ครับ 

ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะมีโรงงานอาหารหลวงที่ 1 (ฝาง) และชุมชนบ้านยาง ที่น่าไปเยือนแล้ว สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือสถานที่ที่ห้ามพลาดอย่างเด็ดขาด ที่นี่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 1,800 ไร่ 

ที่นี่พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์และสวยงามราวกับสวนสวรรค์ เพราะการดำเนินงานของสถานีฯ คืองานศึกษาวิจัยไม้ผลเขตหนาว เพื่อขยายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ เผยแพร่และฝึกอบรม เป็นแหล่งวิชาการปลูกพืชบนที่สูงที่สำคัญของเมืองไทย 

เป็นสถานที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และเกษตรกรของมูลนิธิฯ พัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรบริเวณรอบสถานี  ส่งเสริมพัฒนาอาชีพชาวเขาในละแวกนั้นถึง 6 หมู่บ้าน ภายในสถานีฯ มีแปลงปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาว ชนิดต่าง ๆ มากมาย และเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมอีกด้วย

ในช่วงฤดูหนาวของทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาสัมผัสอากาศหนาวบนดอยอ่างขางเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นยอดดอยที่ขึ้นชื่อว่าหนาวที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 17.7 องศาฯ และอุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึกไว้ถึง –3 องศาฯ

ชมดอกไม้ต่าง ๆ ในโครงการหลวง และดอกนางพญาเสือโคร่ง ภายในโครงการหลวงจะแบ่งเป็นสวนและแปลงต้นไม้แยกแต่ละชนิด อาทิ สวน 80 พรรษา เป็นสวนดอกไม้, สวนไผ่,สวนคำดอย, สวนหอม, สวนกุหลาบ, แปลงไม้ผล,สวนบอนไซ ฯลฯ การเข้าชมสถานีเกษตรฯ และพื้นที่รอบโครงการหลวงดอยอ่างขางควรจะใช้รถ เพราะภายในมีพื้นที่กว้างขวางมาก และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าแวะไปอีกหลายจุด

หลังจากรับประทานอาหารค่ำและสนุกกับวงสนทนาท่ามกลางอากาศหนาว รุ่งเช้าเราเริ่มต้นด้วยการเดินชมสวน 80 พรรษา ซึ่งเป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวตั้งอยู่ใจกลางสถานีเกษตรฯ เป็นแหล่งรวบรวมไม้ดอกเมืองหนาวปลูกลงบนแปลงไว้ให้
นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม และยังมีต้นซากุระจากญี่ปุ่นประดับไว้ ซึ่งออกดอกสวยงามในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ส่วนไม้ดอกเมืองหนาวที่ปลูกลงบนแปลงชนิดอื่น มีการปลูกสับเปลี่ยนกัน เพื่อให้มีดอกสวยงามตลอดทั้งปี

ต่อด้วยสวนบอนไซ ภายในสวนบอนไซอ่างขางจัดแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนจัดแสดงบอนไซไม้เมืองหนาว, โดมอนุรักษ์พันธุ์พืชภูเขาเขตร้อน, กลุ่มพืชทนแล้ง,พันธุ์ไม้ต่างถิ่น, สวนหินธรรมชาติ สวนบอนไซแห่งนี้ได้รับรางวัลมากมายจากการประกวดบอนไซ

จากนั้นก็ไปโรงเรือนรวบรวมพันธุ์พืชผักเมืองหนาว เป็นที่รวมพันธุ์ผักเขตหนาวต่าง ๆ ที่ปลูกในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีใหม่และเป็นส่วนของการจัดแสดงงานเกี่ยวกับการปลูกผักเขตหนาวต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม และด้านหลังโรงเรือนจะจัดแสดงวิธีการปลูกพืชระบบไฮโดรโพนิกส์และที่ห้ามพลาดคือแปลงไม้ผล สถานที่ปลูกผลไม้เขตหนาว ที่ปลูกในสถานีฯอ่างขาง ได้แก่ สตรอว์เบอร์รี่, กีวี, บ๊วย, พีช, พลัม,บลูเบอร์รี, สาลี่, พลับ 

เมื่อออกจากสถานีเกษตรอ่างขางแล้วอีกสถานที่หนึ่งซึ่งมีวิวทิวทัศน์สวยสุด ๆ ในแบบ Bird Eye View ก็คือจุดชมวิวม่อนสนลานกางเต็นท์ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวประจำทุกฤดูหนาว เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้ฐานปฏิบัติการดอยอ่างขางและมีห้องน้ำไว้ให้บริการ จึงครบครันเหมาะแก่การพักค้างคืนสำหรับใครที่อยากสัมผัสความหนาวและวิวสวย ๆ แบบถึงใจ ไฮไลท์ของม่อนสนคือการที่นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นเช้ามาชมทะเลหมอก แต่เราไม่ได้พักที่นี่นะครับเราพักกันที่รีสอร์ทธรรมชาติอ่างขางสำหรับทริปนี้พวกเราขอตัวกลับที่พักกันก่อนเพราะอากาศช่วงเย็นย่ำนั้นเริ่มหนาวแล้วไว้โอกาสหน้าเจอกันใหม่ครับ ราตรีสวัสดิ์  

การเดินทางโดยรถยนต์ขึ้นดอยอ่างขางสามารถเดินทางไปได้ 3 เส้นทาง ดังนี้ ขึ้นดอยอ่างขาง ณ วัดหาดสำราญ กม 137 สามารถใช้เส้นทาง เชียงใหม่-ฝาง (เส้นทางหลวงหมายเลข 107) มาถึงปากทางขึ้นดอยอ่างขาง ให้เลี้ยวซ้ายตามถนน
ซึ่งค่อนข้างลาดชัน มีทางโค้งและสูงชัน

ขึ้นดอยอ่างขาง ณ อำเภอเชียงดาว กม 79 จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงหมายเลข 107) เดินทางเรื่อยมาจนถึงอำเภอเชียงดาว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 จะพบทางแยก (เส้นทางหมายเลข 1) เลี้ยวซ้ายผ่าน ต.เมืองงาย บ้านอรุโณทัย บ้านหลวง เส้นทางค่อนข้างแคบแต่ไม่ลาดชัน

เส้นทางจากอำเภอฝาง-หมู่บ้านนอแล มีระยะทางสั้นที่สุด แต่มีความลาดชัดมากและไหล่ทางชำรุด เป็นหลุมบ่อ พื้นถนนเป็นหินกรวด เส้นทางนี้เป็นเส้นทางเลียบแนวชายแดนไทย-พม่า ตลอดทางจะมีด่านทหาร และพบเห็นทั้งค่ายทหารของไทย
และพม่า บริเวณสองริมฝั่งหุบเขาไม่แนะนำให้ไปโดยเด็ดขาด 

ดอยอ่างขาง พร่างพร้อย ร้อยรำลึก