โยชิมิ โฮริอุจิ

โยชิมิ โฮริอุจิ

แม้เธอจะเป็นผู้พิการทางสายตา อยู่ในโลกของความมืดมาตลอด แต่ความมืดบอดก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตแม้แต่น้อย กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอลุกขึ้นมาหยัดยืนในสังคมให้คนได้รับรู้ว่าผู้พิการทางสายตาอย่างเธอสามารถให้อะไร ๆ ต่อสังคมได้เช่นกัน โดยไม่ต้องเป็นผู้รับเพียงฝ่ายเดียว “โยชิมิ โฮริอุจิ” ผู้จุดประกายส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลให้ได้เข้าถึงแก่นแท้ของการอ่าน

“โยเกิดที่เมืองโคจิ บนเกาะชิโกกุ ประเทศญี่ปุ่น ถูกปลูกฝังให้รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก โดยจะมีญาติ ๆ คอยอ่านหนังสือให้ฟัง ก็เลยชอบการอ่านมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งได้ย้ายมาเรียนอยู่โตเกียว ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนผู้พิการทางสายตาแห่งชาติ แล้วเป็นคนที่ชอบภาษาอังกฤษ ชอบสื่อสารกับชาวต่างชาติ กระทั่งถึง ม.6 จึงได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปที่อเมริกา เลยได้มีเพื่อนคนไทย จึงได้มีความสนใจเกี่ยวกับประเทศไทย วัฒนธรรมไทย อาหารไทย จากนั้นเมื่อกลับมาโตเกียวจึงได้ตัดสินใจเรียนภาษาไทยค่ะ

“โยเป็นผู้พิการทางสายตา ในชีวิตประจำวันก็มีคนมาช่วย ทั้งถามทาง ซื้อของสั่งอาหาร จนทำให้เรารู้ว่าเราไม่สามารถเป็นคนที่ใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง จุดนั้นทำให้กลายเป็นปมด้อย จนทำให้เราคิดว่าชีวิตเราไร้ค่า ไม่ใช่คิดอยากจะฆ่าตัวตายนะ (หัวเราะ) เหมือนอึดอัด!! เราอยู่เฉย ๆ มันไม่สนุกเลย เหมือนเราไม่มีความหมายที่จะอยู่ เราจะอยากทำอะไรที่จะทำให้เรารู้สึกดีด้วย ถ้าเรามาทำงานด้านสังคมเราอาจจะรู้สึกว่าตัวเรามีคุณค่าในตัวของเราเองก็ได้ เหมือนเราอาศัยการช่วยเหลือผู้คน เพื่อที่จะช่วยให้เรารู้สึกมีคุณค่าในตัวเราเอง (ยิ้ม)

“หลังจากจบมัธยมปลายโยก็ได้เลือกเรียนต่อที่ International Christian University โยเรียนที่นั่นมีโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนญี่ปุ่นกับไทยด้วย ก็เลยได้มาที่เมืองไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ มาทำงานอาสาสมัครที่เวียงป่าเป้าค่ะ เราไปสร้างโบสถ์ให้ชนเผ่ามูเซอ ระหว่างเรียนก็ยังมีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เกี่ยวกับการเป็นอาสาสมัครที่เมืองไทยมาเรื่อย ๆ 

“จนได้ตัดสินใจก่อตั้งสมาคมคาราวานหนอนหนังสือ (ARC) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร โดยเริ่มจากไอเดียของเราเองค่ะ ที่อยากจะทำเกี่ยวกับด้านการบริการหนังสือ ให้คนที่สามารถเข้าถึงหนังสือได้เข้าถึง โดยเคลื่อนที่ไปตามชุมชนต่าง ๆ
ในประเทศไทย หลังจากนั้นช่วงปี 53 ก็มีคนที่สนใจเรา ซึ่งเขาทำงานด้านสังคมอยู่แล้วโดยเป็นชาวต่างชาติที่มาดูแลเด็ก ๆ ด้อยโอกาสบนพื้นที่สูงในเขต อำเภอพร้าว ให้มีโอกาสลงมาเรียนหนังสือในตัวอำเภอ จึงได้ติดต่อชักชวนมาเราก็เลยตัดสินใจมาดูก่อนว่าเป็นยังไง 

“ครั้งแรกที่มาก็พบว่าที่นี่มีห้องสมุดของ กศน.อยู่ แต่ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับเด็กเลยและไม่สะดวกสบายสำหรับคนที่จะมาใช้บริการ ก็เลยจัดตั้งห้องสมุดรังไหมขึ้น จุดประสงค์ก็คือสำหรับทุกเพศทุกวัย แต่โฟกัสไปที่เด็ก ก็มาคิดว่าทำไมคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ อาจเพราะว่าเขาไม่ได้ถูกปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่เด็ก ก็เลยโฟกัสไปที่เด็กเพราะว่าถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมเปลี่ยนโลก เราก็ต้องปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่เด็ก และเน้นกิจกรรมกับเด็ก

“ที่มาของชื่อ ห้องสมุดรังไหมนั้น ก็เพราะว่า เราเป็นคาราวานหนอนหนังสือ หนอนก็ต้องมีรัง ถ้าจะตั้งชื่อว่ารังหนอนก็ฟังไม่น่ารัก (หัวเราะ) เลยตั้งชื่อรังไหมค่ะ เพราะที่อำเภอพร้าวก็มีคนผลิตผ้าไหมอยู่แล้ว ที่เลือกมาที่นี่เพราะว่าที่กรุงเทพฯ
มีห้องสมุดเยอะมากแล้ว องค์กรด้านนี้ก็มีแล้ว 

“หนังสือเป็นอะไรที่เราสามารถอ่านได้ตลอดชีวิต เป็นอะไรที่ราคาไม่สูง และยังสามารถเป็นเพื่อนกับเราได้ในเวลาที่เราลำบาก เครียด มีปัญหา สิ่งที่กำลังทำนี้คืออยากให้เด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงรสชาติหนังสือที่สนุกมันเป็นยังไง ให้เขาได้รับรู้ อนาคตก็อยากให้ห้องสมุดนี้เป็นห้องสมุดของชุมชน ไม่จำเป็นต้องมาอ่านหนังสือก็ได้ มาชิลล์ มาเล่นก็ได้ เพราะที่นี่มีของเล่นด้วย มีหนังสือเสียง หนังสือป๊อบอัพ การสร้างห้องสมุดแสนเดียวก็สร้างได้ค่ะ แต่มันต้องมีกิจกรรมอื่น ๆ เป็นตัวกระตุ้นการอ่านค่ะ”

“นอกจากนี้เรายังมีศูนย์เด็กเล็กสำหรับเด็กชาวเขาด้วยนะคะ ชื่อว่าศูนย์การเรียนรู้บ้านพระอาทิตย์ ตั้งอยู่รอบ ๆ อำเภอพร้าวเลยค่ะ เพราะเราอยากทำกิจกรรมร่วมกับเด็กในชนเผ่า เคยเอาหนังสือไปให้แต่เด็กในชนเผ่าเขาอ่านภาษาไทยไม่ได้ค่ะ เลยถามผู้ใหญ่ในชุมชนว่าอยากให้ช่วยอะไรบ้าง เขาก็เลยแนะนำมาว่าน่าจะทำศูนย์เด็กเล็กเพื่อสอนภาษาไทย และอังกฤษพื้นฐานให้กับเด็ก อาข่า ลาหู่ ปกาเกอะญอ ก่อนที่จะเข้ามาเรียนโรงเรียนตามหลักสูตรพื้นฐานในที่ราบ เลยอยากยกระดับให้น้อง ๆ ในด้านนี้”

“ฝากถึงผู้ใหญ่ที่มีลูกมีหลานใกล้ ๆ ตัว อยากให้อ่านหนังสือให้เขาฟัง เพราะผู้ใหญ่เป็นผู้เปิดโลกสู่การอ่าน เพราะคนไทยยังมองว่าหนังสือเป็นแค่เพียงอุปกรณ์การอ่านเพื่อเรียนหนังสือแค่นั้น ตลาดหนังสือของเมืองไทยก็มีหนังสือแบบเรียนเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีหนังสือด้านอื่น ๆ เพื่อเสริมจินตนาการเลย ไม่สามารถไปเปลี่ยนคนอื่นให้มารักการอ่านได้หรอก แต่แค่เพียงว่าอยากให้ลองอ่านบ้าง เหมือนคนที่ไม่ชอบกาแฟ ก็อยากให้ลองว่ารสชาติมันเป็นยังไง อยากให้เห็นให้รับรู้ในสิ่งที่เราชอบ คล้าย ๆ อย่างนั้น” 

My Heart So Bright จุดประกายการอ่านจากหัวใจ