การถ่ายทอดชีวิตจิตวิญญาณในตัวตนของแบบผ่านสภาพแวดล้อม
หนึ่งในรูปแบบการถ่ายภาพที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ PortraitPhotography หรือการถ่ายภาพบุคคล ในกล้องของท่านผู้อ่าน น่าจะต้องมีภาพถ่ายทั้งคนในครอบครัว เพื่อนและบุคคลอันเป็นที่รักอยู่ ในเมื่อทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับการถ่ายภาพคนอยู่แล้ว เราลองมาเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพบุคคลที่เพิ่มเติมวิธีการคิด และเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ลงไปด้วยดีไหมครับ
เทคนิคที่ช่างภาพมืออาชีพชอบนำไปใช้คือ Environmental Portrait Photographyการสร้างเรื่องราวของบุคคลผ่านสภาพแวดล้อมรอบตัวแบบ ซึ่งเทคนิคนี้จะนิยมใช้มาก ในสื่อสิ่งพิมพ์เช่น คอลัมน์สัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆช่างภาพจะจัดวางองค์ประกอบให้มองเห็นถึงสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวแบบ ไม่ถ่ายเน้นคนจนมองไม่รู้ว่าสถานที่นั้นคืออะไร โดยสภาพแวดล้อมนั้นจะต้องช่วยถ่ายทอดอารมณ์ เรื่องราชีวิตของตัวแบบออกมาให้มากที่สุด
เบื้องต้นวิธีการคิดงานในลักษณะนี้ ลองสอบถามตัวแบบว่า เขาใช้เวลากับสถานที่ใดมากที่สุดหรือคิดง่าย ๆ ว่า เขาทำอาชีพอะไรก็ลองไปหาที่สถานที่แห่งนั้น พูดคุยกับตัวแบบเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น เวลาที่เขาอยู่ที่นั่น มีวิธีการทำงานอย่างไร นั่งตรงมุมไหน พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวแบบให้มากที่สุด จะช่วยให้เราเกิดไอเดียที่จะสร้างเรื่องราวในแง่มุมความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบและสิ่งแวดล้อมนั้น เพื่อที่จะสร้างออกมาเป็นภาพตามที่เราต้องการ
ภาพที่ 1 ภาพคุณลุงประกอบอาชีพปลอกเปลือกมะพร้าว
เป็นหนึ่งในอาชีพที่ค่อนข้างพบเห็นได้ยาก คุณลุงมีหน้าที่ปลอกเปลือกมะพร้าวในแต่ละวันให้มากที่สุด เนื่องจากรายได้จะนับตามจำนวนมะพร้าวที่ปลอกเปลือกเสร็จแล้ว โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายตะขอในการปลอกเปลือกซึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว คุณลุงต้องใช้สมาธิในการทำงานมากเนื่องจากใช้เครื่องมือมีคมจึงต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่กี่อึดใจจำนวนมะพร้าวก็สูงขึ้นเกือบถึงเข่า แนวความคิดสำหรับภาพนี้ก็คือ คุณลุงทำงานอย่างรวดเร็วจนบางครั้งกว่าคุณลุงจะรู้ตัว ตัวของคุณลุงก็อาจจะติดอยู่ในกองภูเขามะพร้าวจนขยับไม่ได้ ผมจึงใช้ไอเดียนี้ในการสร้างสรรค์ภาพขึ้นมา การทำงานจำเป็นต้องหพื้นที่ค่อนข้างกว้างพอสมควร และการวางถมกองมะพร้าวให้สูงระดับนี้มีโอกาสที่กองมะพร้าวจะถล่มลงมาทับตัวคุณลุงและอุปกรณ์ถ่ายภาพจึงต้องวางแผนนำกระสอบที่ใส่มะพร้าวสร้างฐานรอบตัวคุณลุงก่อน แล้วค่อยวางมะพร้าวที่ละลูกทับกระสอบและตัวคุณลุงอีกที การสร้างความคุ้นเคยจากการพูดคุยกับคุณลุงมาหลายวัน ทำให้คุณลุงผ่อนคลายและยิ้มแย้มกับการถ่ายภาพ และด้วยโทนสีผิวของคุณลุงและสีมะพร้าวที่ดูกลมกลืนกันจึงวางองค์ประกอบให้คุณลุงอยู่ตรงกลางเพื่อเพิ่มความเด่น และชัดเจนของตัวแบบในกองภูเขามะพร้าว
ภาพที่ 2 ภาพช่างโลหะหนุ่มสองคน ประกอบอาชีพปั๊มโลหะ
ชายหนุ่มร่างกายกำยำ ทำงานปั๊มโลหะเพื่อขึ้นเป็นชิ้นงาน โดยชิ้นที่ทำสำเร็จแล้วจะต้องมีกระบวนการปั๊มขึ้นรูปหลายครั้ง ซึ่งการทำงานในแต่ละวันจะมีค่าเฉลี่ยในการปั๊มโลหะหลายพันครั้งเลยทีเดียว อีกทั้งจะต้องทำแม่พิมพ์ให้ตรงกับความต้องการของรูปทรงเหล็กที่เราต้องการ โลหะเป็นวัตถุที่มีน้ำหนักมาก ทำให้ร่างกายทั้งคู่มีลักษณะกำยำสมส่วน จึงให้คนที่นั่งถอดเสื้อออกเพื่อเน้นรูปร่าง และบังเอิญได้เห็นรอยสักมังกรที่สวยงาม การวางองค์ประกอบด้านขวา วงกลมที่ซ้อนกันสองเครื่อง บ่งบอกเป็นนัยว่าการทำงานที่ซ้ำวนไปมา ชิ้นงานโลหะที่มีความหลากหลายปรากฏให้เห็นในส่วนต่าง ๆ ของภาพ อีกทั้งเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับทำแผ่นพิมพ์ บ่งบอกถึงลักษณะงานของช่างโลหะ พื้นและกำแพงตลอดจนถึงเสื้อผ้า ล้วนมีคราบสีดำของน้ำมันปรากฏอยู่เน้นย้ำถึงความทรหดอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้มีความสะอาดมากนัก แม้งานจะหนักเพียงใดแต่ทั้งคู่แสดงอาการยิ้มแย้มเล็ก ๆ ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งคู่บอกว่าเค้ามีความสุขในการทำงานมาก เพราะเจ้านายดูแลพวกเขาดี ให้ค่าตอบแทนที่ดีและมีที่พักให้พวกเขา เนื่องจากสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่เป็นโลหะ การจัดแสงจึงจำเป็นต้องเน้นความแวววาวของโลหะให้เด่นชัดขึ้นมา แต่ต้องคุมโทนภาพไม่ให้สว่างมากนักเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความหนักหน่วงของชีวิตในโรงงานออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด
วิธีการดังกล่าว ไม่ได้ยากเลยใช่ไหมครับ จากเดิมที่เราต้องศึกษาเทคนิคการปรับค่าในกล้อง มาเป็นการศึกษาชีวิตของตัวบุคคลที่เราจะถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ เราจึงจำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อที่จะเรียนรู้และสังเกตเพื่อที่จะนำมาต่อยอดความคิดในการสื่อสารความเป็นตัวตนของเราให้ปรากฏในผลงานของเรา ซึ่งหากท่านผู้อ่านนำเทคนิคนี้ไปสร้างงานแล้ว รับรองได้ว่าท่านผู้อ่านจะมีความสุขในการสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบนี้ สิ่งนี้เป็นยิ่งกว่าภาพเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เป็นการร่วมสร้างเรื่องราวชีวิตจิตวิญญาณในตัวตนของตัวแบบ คนที่ถูกท่านผู้อ่านถ่ายจะมีความสุขและรักภาพนี้ร่วมไปกับท่านผู้อ่านครับ ขอให้มีความสุขในการถ่ายภาพการถ่ายทอดชีวิตจิตวิญญาณในตัวตนของแบบผ่านสภาพแวดล้อมในภาพ