ผู้ดีแปดสาแหรก โดย สันติ เศวตวิมล

ผู้ดีแปดสาแหรก โดย สันติ เศวตวิมล

จากปากคลองไปถึงปลายคลองบางหลวง ย่าเล่าว่าเป็นละแวกบ้านของคนเก่าก่อน มีทั้งคนที่อพยพมาจาก “กรุงเก่า” พระนครศรีอยุธยา หนีไอ้พม่าข้าศึกมา มีทั้งคนที่ตามพระเจ้าตาก จากเมืองชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ชลบุรี ระยอง ไปถึงเมืองจันทบุรี ร่วมช่วยกู้บ้านเมือง คลองที่เดิมเรียกว่า “คลองบางกอกใหญ่” คู่กับ “คลองบางกอกน้อย” ก็เลยได้ชื่อเรียกกันใหม่ว่า “คลองบางหลวง” เพราะมีคนของหลวงอยู่อาศัยเรียงรายสองฟากคลอง

บรรดาบ้านน้อยใหญ่ริมคลองบางหลวงทั้งหลาย จึงเป็นบรรดาข้าราชการที่แต่ละคนรู้จักกัน ย่ามีญาติผู้ใหญ่ที่เป็นคนอพยพมาจากอยุธยาอยู่ริมสะพานเจริญพาสน์ สะพานแรกที่สร้างข้ามคลองบางหลวง ในสมัยปู่รับราชการอยู่ที่กรมพระนครบาล รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีงานบุญงานกุศลย่าจะขนบ่าวไพร่ไปช่วยญาติ หรือมีเวลาว่างก็มีโอกาสไปรับใช้ “ย่าใหญ่” ที่บ้านริมคลองเชิงสะพานเจริญพาสน์ “ย่าใหญ่” อายุมากแล้ว คะเนว่าตอนนั้นก็ราว 80 กว่าปี หรือมากกว่า แต่ความทรงจำของคุณย่าดีมาก “ย่าใหญ่” มักจะมีเรื่องราวที่เกิดกับครอบครัวเราในสมัยที่ยังอยู่กรุงเก่ามาเล่าให้ลูกหลานได้เห็นความยากเข็ญของคนรุ่นก่อนปู่หลายท่านต้องล้มหายตายจากก่อนที่จะเดินทางมาถึงกรุงธนบุรี ที่รอดมาก็มีไม่น้อยอย่างครอบครัวของ “ย่าใหญ่” ครอบครัวหนึ่ง 

บรรดาคนที่รอดตายจากสงครามจากกรุงเก่า เมื่อมาอยู่ที่กรุงธนบุรีจะมีความเป็นอยู่แตกต่างไปจากพวก “จีนใหม่” ครอบครัวของย่าที่มาจากเมืองบางปลาสร้อย แต่เมื่อมาอยู่ที่คลองบางหลวง จึงนับญาติเสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เพราะทุกข์สุขได้ฝ่าฟันร่วมกันมา ทั้งยังไม่รู้ว่าวันพรุ่งข้างหน้าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับคนกรุงใหม่ จะแตกซ้ำเหมือนกรุงเก่าอีกหรือไม่ เมื่ออยู่ร่วมกันจึงเกิดมีธรรมเนียมที่จะต้องไล่ญาติกันว่า เป็นคนมีสกุลรุนชาติอะไร จนกระทั่งมีคำพูดที่เคยได้ยินย่าใหญ่ เล่าไว้ว่าเป็นการลำดับของผู้ดีแปดสาแหรก เพราะถ้าสามารถไล่ได้ไปจนถึงแปดชั่วคน จึงจะนับได้ว่าเป็นคนดั้งเดิมอย่างที่เรียกกันว่า ผู้ดีกรุงเก่าโดยแท้

“ย่าใหญ่” จะเล่าวิธีการนับญาติแปดสาแหรกไว้ว่า การนับจะเริ่มต้นจากตัวเองเป็นสาแหรกที่หนึ่ง นับญาติข้างพ่อไปอีกสามสาแหรกคือ พ่อเป็นสาแหรกที่สองต่อจากเรา ปู่และย่าทวดเป็นสาแหรกที่สาม สาแหรกที่สี่ เช่นเดียวกับการนับญาติข้างแม่ ที่จะต้องนับไปอีกสามสาแหรกเช่นกันคือ แม่เป็นสาแหรกที่สองต่อจากเรา ตาและยายเป็นสาแหรกที่สาม ตาทวดและยายทวดเป็นสาแหรกที่สี่ ฉะนั้นเมื่อรวมตัวเราซึ่งเป็นสาแหรกที่หนึ่งแล้ว นับทางพ่ออีกสามสาแหรก และนับไปทางแม่อีกสามสาแหรก เมื่อรวมกันเข้าแล้วจึงจะเป็นแปดสาแหรก จึงถือได้ว่าเป็น “ผู้ดีแปดสาแหรก” นั้นเอง

เรื่องราวของ “ผู้ดีแปดสาแหรก” เป็นเรื่องเกิดขึ้นภายหลังกรุงแตกเกิดจากคนที่กระสานซ่านเซ็นมาอยู่รวมกันในแผ่นดินกรุงธนบุรีโดยเฉพาะคนดั้งเดิมจากกรุงศรีอยุธยาคิดขึ้นมา เพื่อตรวจสอบว่ามีโคตรเหง้าศักราชของตนเองเป็นใคร “ย่าใหญ่” เคยเล่าว่า ในสมัยแผ่นดินของพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) เคยมีการทายเล่นของคนกรุงรัตนโกสินทร์ที่มักจะถูกเรียกว่าเป็น “ผู้ดีแปดสาแหรก” การทายเล่นนี้เรียกว่า “ทายสายโลหิต ทวดแปด” การทายเล่นจะต้องตอบคำถามให้ถูกต้องบรรพบุรุษของตัวเองถึงแปดข้อคือ 

พ่อของปู่เป็นใคร
แม่ของปู่เป็นใคร
พ่อของตาเป็นใคร
แม่ของตาเป็นใคร
พ่อของย่าเป็นใคร
แม่ของย่าเป็นใคร
พ่อของยายเป็นใคร
และแม่ของยายเป็นใคร

หากตอบได้ถูกต้องจึงสมควรจะเรียกได้ว่าเป็น “ผู้ดีแปดสาแหรก” เรื่องเล่าจากคลองบางหลวงยังมีอีกหลายเรื่อง สำหรับเรื่องของ “ผู้ดีแปดสาแหรก” เป็นเรื่องที่เคยได้ฟังมาจาก “ย่าใหญ่” จึงเป็นคนเก่าในคลองบางหลวง ที่ยังมีชีวิตในช่วงสงครามโลกเลิกเป็นระยะเวลาที่ย่าจะพาไปกราบไหว้ผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ในเรื่องความเป็นผู้ดีนั้น ย่าไม่เคยพูดเหมือนอย่าง “ย่าใหญ่” เล่าความเป็นมาของคำว่า “ผู้ดีแปดสาแหรก” ย่าเพียงแต่บอกว่า ผู้ดีไม่ได้หมายถึงจะมีเป็นผู้ที่มีเทือกเขาเหล่ากอมาแต่ครั้งแผ่นดินอยุธยา ที่เราสามารถนับได้ถึงแปดชั่วคน สำหรับย่าผู้ดีก็คือ ผู้ที่ประพฤติดีเพราะความดีทั้งหลายไม่ได้อยู่ที่ชาติตระกูล แต่อยู่ในวิสัยสันดานของเราเองที่จะประพฤติตัวเป็นคนดี อยู่ในศีลในธรรม มีความสุจริตเป็นที่ตั้งในการดำเนินชีวิต ชีวิตของผู้ดี อาจจะไม่มีชื่อเสียงร่ำรวย แต่สิ่งที่ผู้ดีประพฤติเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทั้งหลายไม่สามารถจะทำได้ เพราะคนที่มีชื่อเสียง คนที่ร่ำรวยทั้งหลายก็ไม่ใช่จะเป็นคนดีได้ทุกคนไป 

ผู้ดีกรุงเก่า (ผู้ดีแปดสาแหรก) โดย สันติ เศวตวิมล