บุญเลิศ นาจพินิจ
ศิลปะการแสดงของไทยที่เข้าถึงคนในวงกว้าง และเป็นที่ยอมรับมากที่สุดแขนงหนึ่ง คือศิลปะการแสดงที่เรียกว่าลิเก ครูบุญเลิศ นาจพินิจ คือหนึ่งในบรมครูผู้สืบทอดตำนานลิเกไทยโบราณไว้อย่างครบถ้วน ท่านผ่านชีวิตการเป็นลิเกมาอย่างยาวนานมีความสามารถชั้นสูงทั้งการร้อง เล่น เต้น รำ และเล่นตรีไทยถูกต้องตามต้นฉบับหลักการนาฏศิลป์ไทย ท่านได้สร้างคุณูปการให้กับวงการลิเกไทยมาอย่างนาน ทำจนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) ลิเก ในปี พ.ศ.2539
ชีวิตของครูบุญเลิศในวัยเด็กนั้นเกิดที่อำเภอชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ท่านมีความชอบในเรื่องนาฏศิลป์มาตั้งแต่เด็ก เวลาที่มีการจัดประกวดร้องเพลงในอำเภอท่านเข้าประกวดแทบทุกครั้งและมักจะชนะรางวัลที่ 1 มาด้วยเสมอ จากพรสวรรค์และความตั้งใจมีอยู่ในตัวทำให้เป็นเด็กซึ่งเก่งที่สุดในย่านนั้นก็ว่าได้
แต่ชีวิตก็มีจุดเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเหมือนเป็นทางเดินที่ทำให้ความฝันในวัยเยาว์เร็วขึ้น เมื่อลิเกชื่อดังในสมัยนั้นคือ ครูหอมหวล นาคศิริ ได้รู้จักคุณพ่อของครูบุญเลิศและสนิทกันพอสมควร ต่อมาท่านจึงได้ฝากฝังลูกชายให้ติดตามเป็นลูกศิษย์ในคณะลิเก
“ผมตามครูหอมหวลลงเรือเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จำได้ว่าขึ้นเรือตั้งแต่ 4 โมงเย็น มาถึงกรุงเทพฯ ตี 5 แต่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ยังไม่นานเท่าไหร่ ครูหอมหวลก็พาผมกลับมาอยู่อยุธยาเพื่อหัดลิเกที่บ้านของลูกสาวท่าน ซึ่งมีบ้านและที่ดินกว้างขวางจึงทำให้สะดวกมากกว่าอยู่กรุงเทพฯ การหัดลิเกสมัยนั้นไม่ได้ฉาบฉวย เราเรียนศิลปะนาฏศิลป์ไทยแบบจริงจัง คือเรียนทุกอย่างที่เป็นพื้นฐาน ตั้งแต่ละครนอก ละครไทย ละครชาตรี เรียนวรรณกรรม พระราชนิพนธ์ นิราศ นิทานพื้นบ้าน จากนั้นมาเรียนร้อง เล่น เต้น รำ ตามแบบฉบับของลิเก ซึ่งใครที่เป็นลิเกในสมัยนั้นต้องถือว่าเป็นคนที่เก่ง เพราะต้องจัดการกับตัวเองทุกอย่างตั้งแต่การแต่งกาย แต่งหน้า ทำผมเอง นอกจากนี้ยังต้องรำได้ ด้นกลอนสดได้ คือบางครั้งเราเดินออกไปบนเวทียังไม่รู้เลยว่าจะร้องอะไร ใครจะส่งท่อนไหนมาให้ จึงต้องมีไหวพริบอยู่ตลอดเวลา
“ผมหัดลิเกอยู่ได้ประมาณ 7 เดือนก็เริ่มออกแสดงเป็นครั้งแรก ได้เล่นวิกเดียวกับสนามมวยอยู่ที่อยุธยา เล่นจนกระทั่งครูหอมหวลเห็นว่าน่าจะมีแวว เพราะมีเพื่อนเป็นเด็กรุ่นใหม่อายุราว 14-16 ปี ด้วยกันเกือบทั้งหมด จากนั้นท่านก็พาออกมาแสดงที่หน้าองค์พระจังหวัดนครปฐมซึ่งมีอยู่ 2 เวที พอเล่นได้สักระยะผมก็กลับมาพักผ่อนที่บ้านได้เพียง 7 วัน คราวนี้เหมือนได้เป็นลิเกเต็มตัวเพราะออกงานใหญ่แบบจริงจัง ท่านก็พาผมตระเวนออกไปแสดงในภาคตะวันออกอย่าง อ.ศรีราชา อ.นาเกลือ อ.สามย่าน (ระยอง) อ.ท่าใหม่ (จันทบุรี) ไปจนถึงจังหวัดตราด
“หลังจากได้เปิดการแสดงไปทั่วภาคตะวันออกคณะหอมหวลวัยรุ่นในสมัยนั้นจึงมีชื่อเสียงมาก เพราะคณะลิเกส่วนใหญ่ จะไม่กล้าไปแสดงทางภาคตะวันออก แต่พวกเราไปเปิดการแสดงซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ผมเล่นลิเกที่นั่นราว 4 ปี ทางครูหอมหวลซึ่งเปิดคณะลิเกอีกด้านหนึ่งที่วิกบางลำพู ก็เห็นว่าที่กรุงเทพฯ นี้คนดูเริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ ท่านก็ย้ายผมมาเล่นที่บางลำพูแทนในช่วงแรกก็เล่นตอนหัวค่ำเพื่อทดลอง ดูก่อนแต่ปรากฏว่ามีคนดูมาก พอแสดงนานขึ้นเรื่อย ๆ คนดูก็เริ่มเยอะขึ้นจนเป็นที่นิยมของคนกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น”
คณะลิเกของครูหอมหวล นาคศิริ ในช่วงเวลาดังกล่าวนับได้ว่าเป็นยุคทองของลิเกไทยที่เฟื่องฟูสุดขีด คณะลิเกหอมหวลมีการเปิดแสดงถึง 9 คณะ กระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ วิกบางลำพู ตลาดเทเวศร์ บางรัก บางซื่อ หมอชิต นนทบุรี ตลาดพลู ธนบุรี ตลาดจังหวัดนครปฐม ตลาดฉะเชิงเทรา ไปจนถึงตลาดบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
“คือมีการเปิดคณะลิเกเยอะมากที่ทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการยึดพื้นที่เอาไว้ลิเกคณะอื่นที่อยากเข้ามาก็ทำได้ยาก ซึ่งเรารักษาคุณภาพการแสดงและชื่อเสียงที่ดีเอาไว้ได้ตลอดจนเป็นที่ชื่นชมของแฟนลิเก ผมเล่นลิเกแบบนี้จนกระทั่งอายุได้เกณฑ์จึงตัดสินใจบวชที่บ้านเกิดจังหวัดอ่างทอง คือถ้าบวชที่กรุงเทพฯ ครูหอมหวลก็กลัวว่าจะมีแม่ยกมารบกวน ผมบวชได้ 1 พรรษา ช่วงเวลาที่สึกยังไม่ทันได้ไปไหน ท่านก็เอาเรือมารอรับผมให้ไปเล่นลิเกต่อเลย เพราะว่าทางวิกไม่มีคนดู ก็เลยต้องกลับไปแสดงและใช้ชีวิตอยู่แบบนั้นราว 2 ปี
“จนกระทั่งผมอายุ 22 ปี ก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งสำคัญผมได้กราบลาครูหอมหวลเพื่อออกมาตั้งคณะลิเกเอง ซึ่งมีเพื่อน ๆ คอยให้การสนับสนุน คณะลิเกของผมคือบุญเลิศ ศิษย์หอมหวล โดยเปิดเล่นที่วิกบางขุนเทียนเป็นครั้งแรก แต่ระหว่างที่เล่นอยู่ตรงนั้นเพื่อนก็มาชวนให้ไปเล่นลิเกทางทีวีคือช่อง 4 บางขุนพรหม สมัยที่ยังถ่ายทอดเป็นระบบขาวดำ ผมก็ถามเพื่อนว่าเล่นยังไงเพราะไม่เคยเล่นผ่านกล้องออกทีวีมาก่อน แต่ก็ตอบตกลงเล่นไป
“จากที่มีชื่อในการแสดงลิเกอยู่แล้ว พอได้ออกทีวีก็ทำให้ยิ่งมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นไปทั่วประเทศซึ่งถือได้ว่าผมเป็นพระเอกลิเกคนแรกและคณะแรกของทีวีบางขุนพรหมเวลาออกไปไหนก็มีคนเข้ามาทักทายนิยมชมชอบมีชื่อเสียงต่อเนื่องกันมาเป็น 10 ปี มันคือผลพลอยได้จากการเล่นลิเกทางทีวี จนกระทั่งยุคสมัยค่อย ๆ เปลี่ยนไป”
ถ้าพูดถึงประเภทการแสดงลิเกนั้นความจริงแล้วมีหลายชนิด ตั้งแต่ลิเกบันตน ลิเกป่า ลิเกลูกบท แต่ที่เราเห็นในปัจจุบันและเป็นที่นิยมคือลิเกทรงเครื่อง ในยุคเก่า จะเน้นการแต่งกายทรงเครื่อง เช่นถ้าแต่งเป็นกษัตริย์ก็คล้ายกษัตริย์จริง ๆ มีท่ารำเป็นแบบแผน แต่งตัวคล้ายละครรำแสดงเป็นละครเรื่องยาว เริ่มด้วยโหมโรงและ บรรเลงเพลงภาษาต่าง ๆ แต่มีการปรับแต่งให้เข้ากับยุคสมัย บางครั้งมากจนอาจลืมพื้นฐานดั้งเดิมที่ครูลิเกท่านได้สืบต่อกันมา แต่ครูบุญเลิศนั้นยังคงอนุรักษ์พื้นฐานดั้งเดิมของลิเกไทยไว้ตลอดเวลา
“ส่วนที่เราเห็นลิเกในปัจจุบันนี้เป็นประเภทที่บอกไม่ถูกว่าคืออะไร เพราะว่าแต่งตัวกันเกะกะไปหมดคือต่างคนต่างแต่ง ใครอยากจะแต่งให้สวยแค่ไหนก็ใส่เครื่องประดับเข้าไปจนไม่รู้ว่าใครรับบทเป็นอะไร ฉะนั้นอรรถรสจึงไม่เกิด ไม่เหมือนลิเกโบราณเวลาที่มีตัวละครเป็นเจ้า ฉากออกจะรู้เลยว่าเป็นเจ้า หรือตัวนางออกก็รู้ทันที คนดูสามารถแยกแยะได้จากการแต่งกาย
“ตรงส่วนนี้เองเราจะมองออกเลยว่าลิเกคนไหนที่ไม่ได้ฝึกฝนในรูปแบบของลิเกทรงเครื่อง เพราะพื้นฐานของเขาจะไม่แน่นพอ ลิเกทรงเครื่องจะเรียนทุกอย่างเกี่ยวกับลิเก เรียนวรรณคดีพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ลักษณวงศ์ หรือแม้กระทั่งบทพระราชนิพนธ์อย่างอิเหนาเราก็ต้องเอามาใช้
“เวลาเล่นลิเกสิ่งที่ต้องมีคือผู้ชมที่สนับสนุนหรือกลุ่มคนที่เรียกว่าแม่ยก แม่ยกนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยผมเด็ก ๆ อย่างเวลาที่ผมกำลังออกแสดง ระนาดกำลังโหมโรง แต่เกิดมีฝนตกหนักพอดีออกไปแสดงไม่ได้ จึงมานั่งคิดว่าฝนตกตลอดแบบนี้คงเล่นต่อไม่ได้ก็คิดจะย้ายไปเล่นกันที่อื่น แต่จะมีพวกคุณป้า คุณน้า คุณแม่ พวกเขาเข้ามา
บอกว่าอย่าเพิ่งไปเลยลูก ยังไม่ได้ดูการแสดงเลยแล้วก็มีการขนข้าวของผักปลามาให้เพื่อเป็นกำลังใจ
“แล้วคราวนี้พอเริ่มสนิทกันลิเกก็เรียกว่าแม่ คำว่าแม่แปลว่าแม่ที่ยกย่อง ให้ดี จึงเป็นที่มาของคำว่าแม่ยก แต่บางครั้งมันก็มีประเภทที่เลยเถิด จนกระทั่งมีการแข่งขันการให้พวงมาลัยลิเก ใครให้มากก็ดูว่าเป็นคนมีฐานะ หรือแม้กระทั่งให้รถเบนซ์ก็มี อย่างมีหญิงไทยคนหนึ่งอยู่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เขาดูลิเกทางทีวี รู้สึกชอบก็ส่งเงินมาให้ซื้อรถเบนซ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมีสตางค์ที่ไม่มีภาระเขาจะให้ด้วยความเสน่ห์หา
“แต่เรื่องแบบนี้ก็มีปัญหาบ้างเพราะ ความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็รักแบบพี่น้อง บางคนก็รักแบบพี่ ป้า น้าอาหรืออะไรก็ตามแต่ลิเกจึงควรอยู่ในกรอบของตัวเอง แต่แม่ยกสมัยนี้จะต่างจากสมัยก่อนพอสมควร เพราะเขาจะชอบเป็นรายบุคล คณะลิเกจะแสดงดีไม่ดีอย่างไรเขาไม่สนใจ เพียงแต่ชอบคุณคนเดียวก็พอ นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลิเกตกต่ำ ทั้งที่เมื่อก่อนนี้เวลาหนึ่งทุ่มคนมารอเต็มหมดแล้ว เพราะแม่ยกหรือคนทั่วไปเขาเข้ามาชมการแสดง มาดูศิลปะนาฏศิลป์ที่สื่อถึงอรรถรสของการแสดงอย่างแท้จริง แต่ตอนนี้ไม่ใช่
“ชีวิตของลิเกจากที่ผมเห็นมาจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือคนที่สบาย ก็สบายมาก ๆ เรียกว่าใช้ชีวิตอู้ฟู่หรูหราส่วนคนที่ลำบากก็ลำบากจริง ๆ ชีวิตลิเกจึงไม่มีความเท่าเทียมกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ยังเหมือนเดิม คนที่เล่นลิเกก็จะเป็นลักษณะนี้ คนที่ลำบากก็ต้องต่อสู้กันต่อไป
“จากอดีตที่รุ่งเรืองเมื่อผ่านยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงของสังคม ลิเกตอนนี้ผมคิดว่าจะเหลือคณะลิเกที่รุ่งเรืองไม่กี่คณะ เช่น ศรราม น้ำเพชร, ไชยา มิตรชัย, กุ้ง สุทธิราช ฯลฯ ช่วงที่รุ่งเรืองราคาค่าตัวของนักแสดงและคณะลิเกขึ้นไปสูงมาก
“แต่อีกด้านนึ่งจะมีคณะลิเกธรรมดาที่รับเล่นเพียงแค่ 3-5 หมื่นบาท โดยกลุ่มนี้จะมีมากแต่ก็อาจไม่คุ้มค่าตัวเพราะการแสดงลิเกเป็นการลงทุนที่สูงมากเฉพาะแค่อุปกรณ์ลิเกราคาก็นับล้านบาทแล้ว ตั้งแต่เรื่องของฉาก ไฟ เสื้อผ้าชุดละหลายหมื่น ลองคิดดูซิว่าคนหนึ่งใช้อย่างน้อย 5 ชุด แล้วทั้งคณะจะใช้เงินเท่าไหร่ เครื่องแต่งกายเพชรเม็ดหนึ่งราคาแพงมาก นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งวงการลิเกเริ่มถอยลง แต่จะถอยลงไปหมดคงไม่เป็นอย่างนั้นก็คงจะมีอยู่เพราะคนแก่ยังนิยมดูลิเก ผมเป็นห่วงอยู่ว่าเด็กรุ่นใหม่จะขึ้นมาได้อย่างไร จะเดินไปทางไหน ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสารที่อาชีพนี้ความนิยมลดลง”
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมีเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม พฤติกรรมการบริโภคสื่อบันเทิงก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย จากที่คนนิยมออกไปแสวงหาความบันเทิง นอกบ้าน ก็เข้ามาสู่ยุคที่ทุกคนสามารถเปิดสื่อดูได้ที่บ้านทันที ตรงนี้เองลิเกไทยก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มคนที่ยังนิยมชมชอบอยู่ด้วย
“ที่ผ่านมามีบริษัทติดต่อมาให้ผมนำลิเกไปเล่นลงในแผ่นซีดี จากที่เราเคยเล่นสดหน้าเวทีก็ไปเล่นในสตูดิโอแทน ซึ่งการเล่นให้คนดูบทเวทีมันคือการแสดงกลางแจ้งที่ต้องใช้ไหวพริบการแก้ไขหากเกิดความผิดพลาด แต่การเล่นในสตูดิโอ หากแสดงพลาดก็หยุดแล้วถ่ายใหม่คนที่ได้ดู เวลาออกมาเป็นแผ่นก็คิดว่าดี แต่ความจริงแล้วอาจไม่ดีก็ได้ เพราะลิเกอาจไม่ได้ใช้ทักษะการแสดงที่แท้จริงออกมา
“ส่วนรายได้นั้นผมบอกได้เลยว่าไม่พอ อย่างบริษัทที่เขาจ้างจะให้เงินก้อนมาแค่เพียง 3 หมื่นบาทเอาไปจัดการกันเองในงบประมาณนี้ แต่ลิเกมีรายจ่ายประมาณ 5 หมื่นบาท บางคนเขาก็อยากเล่นก็แสดงไป แต่ผมไม่เล่นเพราะว่าไม่คุ้ม ส่วนตัวแล้วผมรับงานที่สมน้ำสมเนื้อ อย่างเรื่องผู้ชนะ 10 ทิศ เรื่องละ 2 ล้านบาท เราถือว่าเราขายศิลปะเราต้องแสดงดี เสียงดี ร้องดี เล่นดีทุกอย่างต้องทำให้ดีคุ้มค่าเงินของเขาแล้วต้องคุ้มค่าตัวของเรา ที่ออกเล่น เพื่อให้คนดูมีความสุขเมื่อได้ชมการแสดง”
จากประสบการณ์แสดงลิเกมานานจนครูบุญเลิศ นาจพินิจ ถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ลิเกเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้ตอนนี้ท่านจะอายุมากแล้วก็ยังมีลูกศิษย์มากมายแวะเวียนมาขอความรู้อยู่ตลอดเวลา ท่านก็พยายามถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ตัวเองที่มีให้มากที่สุดเพื่อให้คนรุ่นหลังได้สืบสานศิลปะด้านนี้ต่อไป
“ปัจจุบันผมยังคงสอนลิเกให้ลูกศิษย์อยู่ เพราะเราได้ให้สัจจะกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมว่า จะถ่ายทอดศิลปะลิเกต่อไปจนกว่าเราจะไม่ไหวลูกศิษย์ของผมถ้ารวมกันทั่วประเทศน่าจะเยอะมาก ไม่ใช่แต่กลุ่มคณะลิเกเท่านั้น คือผมเคยไปสอนแทบทุกมหาวิทยาลัย การได้เป็นศิลปินแห่งชาติตรงนี้จึงเหมือนเป็นเครดิตติดตัว พอพวกนักศึกษาเห็นประวัติว่าผมเคยทำอะไรมาบ้าง เขาจะเชื่อถือ
“แล้วลูกศิษย์ที่มาเรียนผมจะสอนเรื่องความถูกต้องมาก่อน ตั้งแต่เทคนิคการสอนลิเก ต้องมาจากแม่บทการรำถึงมาหัดร้อง พอหลังจากนั้นก็มาหัดเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วจะเข้าเรื่องของวรรณกรรม แล้วค่อยไต่ระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เด็กที่มาต้องเสียงดีหน้าตาพอใช้ได้ไม่ต้องถึงกับหล่อมาก แต่ถ้าหล่อมากเสียงดีเป็นพระเอกเลย เด็กที่เป็นตัวอื่นเราก็จะดูว่าใครมีความสามารถอะไรก็เล่นตามบทนั้น
“การแสดงลิเกสำหรับคนรุ่นใหม่มันก็คงจะยืนระยะอยู่แบบนี้ต่อไป เพราะลิเกมันเคยขึ้นไปอยู่ในจุดสูงสุดแล้ว มันคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปให้กลับมาในจุดเดิมได้อีก ถึงอย่างไรเราก็ต้องย้อนกลับไปหาต้นตอของลิเกดั้งเดิมว่ามีอะไร แล้วทำในสิ่งที่ถูกต้อง การแสดงลิเกจึงไม่น่าจะสูญหายไปจากสังคมไทย
“ลิเกไทยนั้นเกิดมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกได้ว่าเกิดก่อนเพลงลูกทุ่งด้วยซ้ำ เราจึงควรเก็บรักษาการแสดงของเราเอาไว้สืบสานศิลปะนาฏศิลป์ไทยให้ชั่วลูกชั่วหลาน เพราะเป็นการแสดงที่ยาก กว่าที่คนคนหนึ่งจะหัดเป็นลิเกได้ต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ศิษย์ทั้งหลายช่วยกันรักษาศิลปะการแสดงของเราเอาไว้ ให้อยู่คู่กับบ้านเมืองของเรา เพราะบ้านเมืองไหนไม่มีศิลปะ ศิลปิน บ้านนั้นก็ไม่ใช่บ้านเมืองที่โสภา”