เอกชัย เจียรกุล

เอกชัย เจียรกุล

ทุกคนมีความฝัน แต่น้อยคนนักที่จะค้นพบความฝันของตัวเอง หลายคนตามหาความฝันด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแน่วแน่ เบิร์ด เอกชัย เจียรกุล คือหนึ่งในผู้ค้นพบความฝันของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ก้าวสู่เส้นทางสายดนตรี ผ่านเวทีมาอย่างโชกโชน ในเวลานี้เขาคือนักกีตาร์เพียงคนเดียวของเอเชียที่ได้รางวัลชนะเลิศประกวดกีต้าร์คลาสสิกระดับโลก จากเวที GFA (Guitar Foundation of America International Concert Artist Competition 2014) และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่ตามมา 

“ทรัมเป็ตเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่ผมได้เล่น ตอนนั้นผมอยู่ในวงโยธวาทิตของโรงเรียนช่วง ม.4 ผมได้แรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ ชะตาชีวิต ที่เคยได้ยินรุ่นพี่เล่นด้วยกีตาร์คลาสสิก ก่อนที่จะเริ่มสนใจกีตาร์คลาสสิกอย่างจริงจัง และย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสู่ทางด้านดนตรีเป็นหลัก ก่อนหน้าที่จะมีการแข่งขัน GFA ผมก็ได้มีการเล่นคอนเสิร์ตเป็นการฝึกมือบ้าง

“เมื่อก่อนก็แข่งมาเรื่อย ๆ เป็นการสะสมประสบการณ์ ผมมีความคิดว่าการเล่นดนตรีคลาสสิกคือ ดนตรีที่นานาชาติเขาเล่นกัน ฉะนั้นการแข่งขันมันเป็นการสร้างโปรไฟล์ให้ตัวเอง เพราะยากมากเลยที่คนอื่นจะมาเชิญเราไปเล่นที่ต่างประเทศ โดยที่เราไม่มีโปรไฟล์ที่น่าสนใจ ดังนั้นการแข่งขันในระดับนานาชาติมันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้รู้ว่าเรามีความสามารถขนาดไหน ผมเริ่มสะสมประสบการณ์ที่ต่างประเทศตั้งแต่ ม.6 เมื่อก่อนก็แข่งในประเทศไทยนี่แหละ จนได้แชมป์หลาย ๆ รายการ ก็เลยรู้สึกว่าเราน่าจะหาประสบการณ์ในการแข่งขันระดับโลก โดยเริ่มไปแข่งที่ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แข่งมาเรื่อย ๆ ใช้เวลากว่า 6 ปีจนได้แชมป์ GFA ซึ่งเป็นรายการใหญ่ที่สุดของกีต้าร์คลาสสิกครับ

“การเดินทางแข่งขันจะใช้ทุนตัวเองทั้งหมดเพราะว่าการไปขอทุนสปอนเซอร์ค่อนข้างยาก หลังจากนั้นจึงฉุกคิดว่า ในการแข่งขันแต่ละครั้งใช้งบประมาณ 1 แสนกว่าบาท ถ้าแข่ง 7 รายการก็ประมาณ 7 แสนกว่าบาท ค่าใช้จ่ายมันเยอะมากเกือบ ๆ ล้านต่อปี ดังนั้น การมีสปอนเซอร์มันจะทำให้เรามีแผนที่ชัดเจน แล้วเราก็สามารถโฟกัสการแข่งขันได้อย่างชัดเจนครับ ส่วนการขอสปอนเซอร์ไม่ยากนะครับ เพราะว่าได้รับการสนับสนุนจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการและคณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำกับสปอนเซอร์ว่ามีเด็กคนหนึ่งที่มีความสามารถและมีความตั้งใจที่อยากจะไปแข่งขันในระดับนานาชาติก็เลยส่งผ่านเรื่องไปทางผู้ให้การสนับสนุน
เรื่องก็เลยง่ายขึ้น”

นอกจากการแข่งขัน GFA ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับเขาแล้ว การทัวร์คอนเสิร์ตไปในหลากหลายประเทศทั่วโลกกว่า 60 คอนเสิร์ตในปีที่แล้ว และการร่วมงานกับค่ายเพลงคลาสสิกระดับโลก NAXOS โดยวางขายทั่วอเมริกาและยุโรป คืออีกหนึ่งความภาคภูมิใจในฐานะตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ

“การโชว์เดี่ยวกีตาร์ในคอนเสิร์ตใหญ่ที่คาร์เนกี้ฮอลล์ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในสถานที่จัดการแสดงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลก โชว์ในคอนเสิร์ตครั้งนั้นทำให้ผมภูมิใจมาก เรียกได้ว่าเป็น Masterpiece ของผมครับ

“ผมตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ตอนเรียน ผมย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดลตั้งแต่ ม.4 เรียนทางด้านดนตรีเป็นหลัก ผมคิดว่ามันคืออาชีพไปแล้ว และก็ต้องทำให้ดีที่สุด และเป้าหมายที่ดีที่สุดคือการเป็นนักดนตรีระดับโลก การแข่งขันระดับโลก การมีคอนเสิร์ตระดับโลก การมีแผ่นเสียงระดับโลก กับ NAXOS อันนั้นเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ในหลาย ๆ ปีก่อน ตอนนี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว 

“หลังจากชนะเลิศการแข่งขันของเวที GFA นั้น ทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไปมาก จากที่เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักเราเลย เพราะว่ารายการนี้เป็นคนเอเชียคนแรกเลยที่ไปคว้าแชมป์มาและก็ไม่มีคนเอเชียได้แชมป์หลังจากได้แชมป์ก็ทำให้วงการกีตาร์คลาสสิกค่อนข้างตื่นตัว การได้ชัยชนะในเวทีนี้ทำให้เราเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน 

“วงการกีตาร์คลาสสิกในเมืองไทยก็ได้รับความนิยมมากกว่าเมื่อก่อนครับ สื่อต่าง ๆ ให้ความสนใจ อย่างผมเองก็มีสปอนเซอร์ที่พยายามผลักดันหลังจากได้แชมป์ ทำให้เยาวชนได้เห็นว่าดนตรีคลาสสิกก็มีดี อย่างที่มหาวิทยาลัยมหิดลก็มีจัดงานคอนเสิร์ตคลาสสิกบ่อย ๆ ทำให้คนเราได้เสพดนตรีคลาสสิกได้ง่ายขึ้นส่วนคนที่จะยึดเป็นอาชีพก็สามารถทำได้ครับ แต่ว่าคุณต้องเก่งจริง ๆ ผมว่าทุกอาชีพจะมีระดับ Level ความสำเร็จที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นนักดนตรีคลาสสิกระดับโลกก็จะมีรายได้ที่เข้ามาค่อนข้างมากพอสมควร 

“ก่อนหน้าที่ผมจะประสบความสำเร็จ ผมก็มีล้มเหลวบ้าง แข่งมาประมาณปีละ 6-7 ครั้ง รวม 30 กว่าเวทีแล้ว ผมไม่ได้แชมป์ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งตกรอบก็มี แพ้บ่อยมากแต่ไม่เคยหยุดแข่งขัน ไม่เคยท้อ ไม่หยุดพัฒนาตนเอง ทุกครั้งที่แพ้มันจะทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองให้มากกว่าเดิม ยิ่งแพ้ยิ่งซ้อมให้มันเก่งขึ้น เมื่อก่อนก็ซ้อมไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ช่วงแข่งก็ประมาณ 8 ชั่วโมง ชีวิตนี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว การแข่งขันไม่มีแล้ว แต่แน่นอนว่าดนตรีมันไม่ใช่กีฬาที่จะมีการแข่งขันตลอดไป การแข่งขันมันเป็นแค่ประตูสู่โลกให้เขาเห็นว่าเราประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นก็จะเดินสายในอาชีพนักดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจัง ฝากถึงน้อง ๆ ที่เรียนดนตรีคลาสสิก อยากให้ตั้งใจ ความมุ่งมั่นมันไม่ได้เกิดจากการพูดแต่มันต้องกระทำ ต้องทุ่มเทและก็พยายามหาโอกาสให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ” 

KnowHim 
- โปรเจ็กต์ที่เขากำลังทำอยู่คือการบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ทุกเพลงในแบบกีต้าร์คลาสสิก ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยร่วมงานกับนักเรียบเรียงดนตรีระดับโลกหลายท่านอัดเสียงที่ประเทศแคนาดา คาดว่าน่าจะเสร็จสมบูรณ์ปลายปีนี้
- เขาเป็นนักกีตาร์คลาสสิกเพียงคนเดียวในเอเชียที่ติดอันดับมือกีตาร์ยอดเยี่ยมของ Gendai Magazine นิตยสารดนตรีของญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีคลาสสิกระดับโลก

 

Destination Of Goal ปลายทางของความสำเร็จ โดย เอกชัย เจียรกุล