สมชาย ศักดิกุล
ชายผมหยิกไว้หนวดที่ได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงตัวขโมยซีนของวงการภาพยนตร์ไทย ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา เขาไม่เคยหายหน้าไปจากจอเงินและจอแก้ว บทบาทส่วนใหญ่ที่ได้รับมีมากมายตั้งแต่ เจ้าพ่อ หมอผี อาเสี่ย ด็อกเตอร์ นักการเมือง ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ทว่าทุกบทบาทเขาล้วนใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปอย่างกลมกลืน จนกลายเป็นคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน หลายคนจดจำเขาในนาม สมเล็ก นอกจากเล่นหนังแล้วเขายังเป็นนักพากย์ นักดนตรี ฯลฯ เอาเป็นว่าเรื่องราวชีวิตเขาสนุกไม่แพ้คาแรกเตอร์ในหนังเลยทีเดียวครับ
เข้าวงการบันเทิงได้อย่างไร?
“เข้าวงการบันเทิงครั้งแรกก็อายุ 47-48 แล้วครับ ประมาณปี 2544 เล่นหนังเรื่องแรกคือมนต์รักทรานซิสเตอร์ ที่กำกับการแสดงโดย คุณเป็นเอก รัตนเรือง ตอนแรกผมไม่ได้อยากเล่นหนังเลยนะ คิดว่าทำไม่ได้แน่ ๆ เพราะเราไม่ชอบจำบท เห็นเขาต้องจำบทเยอะแยะก็เลยคิดว่าทำไม่ได้แน่ ตอนแรกก็ปฏิเสธทางโมเดลลิ่งไป แต่เขาตื๊อให้ลองมาแคสติ้ง คนชักชวนคือจิ๋มโมเดลลิ่ง ตอนนั้นผมเคยไปแคสติ้งโฆษณา
มาบ้างนิดหน่อย พอเขาเห็นผมเล่นหนังโฆษณารองเท้าบาจา ในบทเล่นเป็นเด็กโข่งใส่ชุดนักเรียน คาแรกเตอร์กวนบาทามาก ก็เลยตามจนผมคิดว่าจะเล่น ๆ ไปให้มันจบ ๆ เขาจะได้ไม่เลือก ไม่สนบทเลยครับ กะว่าจะป่วนให้เขาไม่เอา ผมก็ให้ทีมงานที่เป็นช่างแต่งหน้ามาเล่นต่อบทให้ โดยผมไม่ได้อ่านบทพูดเลย คิดตอบตามใจตัวเอง แต่เขาบรีฟเนื้อเรื่องมาให้เป็นฉาก ๆ แล้ว ผมก็เล่นเป็นตัวเองมีไปเขกหัวไปด่าเขาด้วยนะพอเล่นเสร็จผมก็รอกองถ่ายเลิกจนเหลือสองคนกับผู้กำกับ ก็ไปบอกเขาว่าอย่าเอาผมเล่นเลยเดี๋ยวจะเปลืองฟิล์มแถมเสียเวลานักแสดงท่านอื่นแต่ปรากฏว่าผู้กำกับชอบ คุณเป็นเอกบอกผมแสดงเป็นธรรมชาติดีเล่นแบบไม่ท่องบทแต่พาเรื่องไปตามบทได้ ตบบ่าผมแล้วบอกพี่เหมาะกับบทนี้มาก (หัวเราะเสียงแหบ ๆ ตามสไตล์) สมเล็ก คือชื่อที่ใช้ในการแสดงครับ ผมว่าชื่อสมชายมันฟังดูโหล ไม่น่าเป็นที่จดจำสักเท่าไหร่ชื่อเล่นผมชื่อเล็ก เลยนำสมจากชื่อจริงมาใส่นำหน้าเป็นสมเล็กจำง่ายดี”
ผลงานล่าสุด?
“หนังเรื่องที่เพิ่งเข้าโรงตอนนี้คือ มิสเตอร์เฮิร์ท มือวางอันดับเจ็บ เล่นบทพ่อของซันนี่ครับ ส่วนงานอื่น ๆ ก็มีละครโทรทัศน์อีกหลายเรื่องที่รอออนแอร์ ส่วนงานพากย์เทนนิสก็ยังทำอยู่เช่นเดิมครับ มีอัดสปอร์ตโฆษณาบ้าง เล่นโฆษณาบ้าง เรียกว่าอาชีพหลักของผมคือนักแสดงนี่แหละครับ ส่วนงานอดิเรกก็คือเล่นดนตรีกับวง Bangkok Connection ที่ร้านแซกโซโฟน ตรงอนุสาวรีย์ชัยฯ คือดนตรีผมก็ยังไม่ทิ้งนะ แต่ไปเล่นสักเดือนละครั้งสองครั้งกันลืม นี่ก็ฝีมือตกไปเยอะครับ”
เคยเป็นนักดนตรีอาชีพ และเป็นหนึ่งในสมาชิกวงเฉลียงยุคก่อตั้ง?
“ช่วงเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมก็กลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ตอนแรกทำบริษัทประกันภัยครับ เงินเดือนสมัยนั้นพันกว่าบาท ถือว่าเยอะพอสมควรราว ๆ ปี 2520 ตอนนั้นคนจบปริญญาตรียังไม่เยอะมาก และผมเป็นคนเพื่อนเยอะ ก็ไปรู้จักกับรุ่นพี่ที่เล่นดนตรีอยู่โรงแรมโอเรียลเต็ลเขาก็เลยชวนมาเล่นกีตาร์ที่วงไปร้องเพลงและเล่นกีตาร์ช่วง Happy Hour เล่นไปเล่นมาเงินมันดีกว่าทำงานหลักอีก ได้เดือนละห้าพันกว่า ก็เลยทำให้งานหลักเริ่มเสีย ทีนี้ผู้จัดการก็เลยเรียกไปคุยเพราะเขาหวังจะให้เราขึ้นมาเป็นหัวหน้าบอกให้เลิกเล่นดนตรีกลางคืน ให้เวลาไปคิดหนึ่งเดือน แต่ไม่ถึงอาทิตย์ผมก็มาขอลาออก ผมก็เลยเล่นดนตรีมาตลอด มีช่วงหนึ่งไปเล่นกับ พี่อ็อด ศรายุทธ สุปัญโญ วงเราเล่นจะออกฟิวชั่นแจ๊ส ต่างกับวงอื่นที่เน้นร็อค ๆ หน่อย ก็เลยกลายเป็นวงที่เพลงแปลกกว่าชาวบ้านตอนนั้นอัสนี โชติกุล ยังอยากมาเล่นดนตรีกับผมเลยนะ (หัวเราะ)ตอนเขายังอยู่อิสซึ่น พอวงผมแตกพี่เต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) ก็เลยชวนให้มาทำวงเฉลียง บอกเป็นพวกเด็กจุฬาฯ แต่งเพลงดี ตอนนั้นเจี๊ยบ (วัชระ ปานเอี่ยม) ร้องคนเดียว เพลงจะแต่งโดยจิก (ประภาส ชลศรานนท์) กับดี้ (นิติพงษ์ ห่อนาค) ผมก็บอกพี่เต๋อว่าไม่อยากร้องเพลงแบบนี้มันตลก พี่เต๋อก็บอกวงแบบนี้ดีกว่าเล่นแนวตลาดเยอะ มันแปลกก็เลยมาร้องนำร่วมกับเจี๊ยบ โดยมีทีมแกรมมี่ยุคบุกเบิกมาแบ็คอัพให้พี่เต๋อมาโปรดิวซ์ อัสนีเล่นกีตาร์ คนเก่ง ๆ ทั้งนั้น แต่เพลงไม่ดังครับก็เลยกลับมาทำวงเล่นกลางคืนต่อ อีกสองสามปีเขาก็กลับมาทำกันใหม่ที่เป็นเฉลียงในปัจจุบัน”
ชีวิตพลิกผันมาเป็นนักพากย์เทนนิส?
“ผมเล่นดนตรีอาชีพมาตลอด วงสุดท้ายที่อยู่คือ Bangkok Connection ก่อนหน้านี้คุณพ่อก็เตือนอยากให้เรามีอาชีพอื่น เพราะเขาคิดว่าดนตรีมีช่วงอายุของมัน กลัวแก่ไปจะหากินลำบาก คือคุณพ่อของผมเขาเคยเป็นทูต (อเมริกัน) พี่ชายผมก็ทำงานดี ๆ กันทุกคน มีผมนี่แหละที่ดูน่าเป็นห่วงที่สุด อาจเป็นความโชคดีที่ครอบครัวผมจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากคุณพ่อท่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ ผมก็เลยต้องคอยเขียนให้ท่านแทน เพราะท่านเรียนหนังสือที่ปีนังตั้งแต่เด็ก ๆ และทำงานสถานทูตมาตลอด ผมก็เลยได้ภาษาอังกฤษ เรียนเอกอังกฤษ และชอบฟังเพลงฝรั่งก็เลยค่อนข้างสำเนียงดี พอมาช่วงฟองสบู่แตกปี 40 ทุกวงการมันกระทบหมด ร้านอาหาร ผับ บาร์ก็ด้วย ทำให้งานจ้างน้อยลง จากเดือนละสี่ห้าหมื่นบาท กลายเป็นหมื่นกว่าบาท และค่อย ๆ ลดลง จนเพื่อนสนิทคนหนึ่งคือ ย.โย่ง เอกชัย นพจินดา เขาอยากให้เราไปลองออดิชั่นพากย์เทนนิส ตอนนั้นช่อง UTV เคเบิ้ลทีวีเพิ่งมาใหม่ ๆ เลย คือผมเล่นเทนนิสกับเขาประจำมีอยู่วันหนึ่งผมก็เป็นกรรมการตัดสินเกมให้ และก็พากย์สนุก ๆ แซวเขาไปด้วย เขาก็เลยเชียร์ให้เราไปสมัคร ถึงขนาดแอบเอาเทปวิดีโอเทนนิสมาช่วยซ้อมให้เลย เราก็พากย์ในส่วนเกมไปก็มีอีกท่านหนึ่งให้ข้อมูลนักกีฬา ปรากฏว่าออดิชั่นผ่านเพราะเราก็รู้กติกาดี เล่นและติดตามการแข่งขันตลอดบวกกับน้ำเสียงที่เขาว่าน่าฟังก็เลยได้งาน ตอนแรกผมจะไม่เอาเพราะกลัวว่าเขาเกรงใจรับเพราะ ย. โย่ง แนะนำให้กลัวว่าทำได้ไม่ดีแล้วจะเสียชื่อเพื่อน แต่เขาก็บอกว่าได้เพราะตัวเราเอง ก็เลยลองทำ จนปัจจุบันก็ยังพากย์อยู่ เรียกว่าพลิกความเป็นอยู่เลยนะ จากนักดนตรีตกอับกลายเป็นนักพากย์เทนนิส ยิ่งช่วงการแข่งขันยูเอสโอเพ่นหรือช่วงแกรนด์สแลมนี่จำได้ว่าสองอาทิตย์ได้เงินเกือบแสนคิดดูสิครับพลิกชีวิตเลย เสียดายว่าก่อนผมจะได้พากย์เทนนิสรายการแรก ย.โย่ง ก็จากไปเสียก่อน ผมเสียใจมากยังคุยกันว่าจะให้เขาช่วยคอมเม้นต์การพากย์ให้เราอยู่เลย”
รู้จักกับคุณเก้ง จิระ มะลิกุล ได้อย่างไร?
“ไปเล่นหนังให้เขาเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นหนังเรื่องที่สองเลยครับ ตอนแรกจะไม่เล่นหนังแล้วเพราะตอนถ่ายมนต์รักทรานซิสเตอร์เราเครียดมาก กดดันจนคิดว่าเราจะไม่แสดงหนังแล้วแต่เป็นเอกเชียร์ บอกว่าบทหนังดีมากและเขาก็จะมาเล่นด้วยสรุปพอมาแคสติ้งผ่านถามเก้งว่าเป็นเอกเล่นเป็นตัวอะไร ปรากฏเขาชิ่งผมไม่ยอมเล่น ก็เลยสนิทกับเก้งช่วงนั้น เก้งเป็นผู้กำกับคนแรกที่ให้ผมด่าคำสบถในหนังเลยนะ เขาบอกชีวิตจริงนักการเมืองหรือด็อกเตอร์ก็หยาบได้เหมือนกัน อยากให้หนังออกมาดูสมจริง เอ้า! ผมก็จัดให้จนไปเล่นเรื่องไหนก็ชอบให้ผมด่าตลอด เมื่อก่อนเจอกันบ่อย ช่วงนี้ไม่ค่อยได้เจอกันมาพักใหญ่แล้วครับ เก้งเป็นคนน่ารักเป็นผู้กำกับที่เก่ง ส่วนใหญ่ผู้กำกับท่านอื่นจะเครียดเวลาถ่ายหนัง แต่เก้งจะอารมณ์ดี ยิ้มตลอด เก้งน่ารักนิสัยดีครับ”