พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

โลกไม่เคยหยุดหมุนฉันใด เทคโนโลยีก็ยังคงมีสิ่งเกิดขึ้นใหม่เสมอฉันนั้น ถ้าหากเรายังยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ ไม่ปรับตัวตามสิ่งที่เปลี่ยนผัน เราก็คงถูกทำลายและลืมเลือนไปจากสังคมแน่นอน

นี่คือแนวความคิดของผู้ชายที่ได้ชื่อว่าไอคอนวงการไอทีของเมืองไทย คุณพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Show No Limit นักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานไอทีครบวงจร ควบด้วยตำแหน่งพิธีกรรายการแนะนำเทคโนโลยี ผู้ที่มีความคิดไม่หยุดนิ่ง พร้อมแสวงหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ

Back To the Future
“ผมเป็นเด็กที่พยายามหากิจกรรมระหว่างช่วงวัยทำเสมอความสนใจในตอนนั้นเริ่มจากชอบดูการ์ตูน แล้วเกิดความรู้สึกว่าเราอยากวาดบ้าง ก็วาดมาเรื่อย ๆ เมื่อก่อนการ์ตูนรายสัปดาห์อย่าง ZEROและ TALENT ถ้าอ่านตอนของสัปดาห์นี้จบแล้ว ก็ต้องรอให้ถึงสัปดาห์หน้าจึงจะได้อ่านต่อ ตอนนั้นเป็นวัยรุ่นใจร้อนครับ เลยวาดต่อเองเลย เส้นเรื่องมันกลายเป็นคู่ขนาน แต่ในตอนท้ายที่เราเขียนมันดันไปบรรจบคล้าย ๆ แบบการ์ตูนต้นฉบับ เป็นเรื่องที่ตลกดีเหมือนกันพอโตขึ้นมาหน่อยผมก็ไปสนใจมายากล เรื่อยมาจนถึงวิดีโอเกมในสมัยนั้นเครื่องเกมแฟมิคอมนี่กระแสดีมาก ยอมรับเลยว่ามันดึงดูดให้ผมกระโจนลงไปเล่นเหมือนกัน” 

“คือต้องบอกก่อนว่าสมัยเด็กครอบครัวผมไม่ได้ร่ำรวยอะไรนะ คุณแม่เป็นช่างตัดเสื้อทั่วไปนี่แหละ ด้วยความที่ผมอยากได้เครื่องเกมก็เลยรบเร้าให้คุณแม่ซื้อให้หน่อย ซึ่งก็แลกกับการที่ผมต้องตั้งใจเรียน เล่นเกมอย่างไม่ให้เสียการเรียน คุณแม่ก็ทำงานเก็บเงินไปซื้อเจ้าแฟมิคอมมาให้ในที่สุด ทีนี้พอมีเครื่องเกมแล้วความสนใจของเราก็เลยกลายมาเป็นการตั้งภารกิจเคลียร์เกม ใช้เวลาว่างที่มีเสาร์อาทิตย์เล่นเกมด้วยเป้าหมายว่าต้องจบให้ได้ ตอนนั้นก็จะมีกลุ่มเพื่อน ๆ นี่แหละ รวมตัวกันแลกเปลี่ยนสูตร เคล็ดลับการเล่น เพราะมันยังไม่มีอินเตอร์เน็ต เราก็เลยต้องเล่นด้วยตัวเอง ทีนี้พอเรามีฝีมือขึ้นหน่อยก็จะออกไปแข่งกันกับคนถิ่นอื่นบ้าง บ้านผมอยู่พระโขนงแต่จะออกไปเล่นเกมกันที่บางจาก ทำให้ผมได้สกิลติดตัวมาอีกอย่างคือการขี่จักรยาน BMX เรียกได้ว่าผมไม่หยุดกับความสนใจในสิ่งใหม่ ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็หล่อหลอมให้ตัวผมโตขึ้นมาด้วยความชอบ สนใจในสิ่งใหม่ ๆ ที่มันเกิดขึ้นมาไม่เว้นแต่ละวัน” 

The 1st of Social Network
“พอโตขึ้นมาหน่อย ผมก็ยังหากิจกรรมทำต่อมาเรื่อย ๆ ทำให้คุณครูมักจะเรียกใช้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นงานละครโรงเรียน พูดหน้าเสาธง จนได้เป็นประธานนักเรียนช่วงม.ปลาย แต่ทั้งหมดนั้นก็ล้วนแล้วแต่อยากจะหากิจกรรมอะไรใหม่ ๆ ระหว่างช่วงวัยเท่านั้น แล้วทีนี้วันหนึ่งผมไปเจอเรื่องการแสดง คือชอบนักแสดงนั่นแหละ ก็เลยไปประกวดรายการแข่งขันความสามารถชื่อรายการ ตัวต่อตัวแล้วชนะเลิศได้เงินรางวัลมาหนึ่งล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ที่ทำให้ผมได้มีคอมพิวเตอร์เครื่องแรก หลังจากนั้นก็เลยเริ่มเดินทางสายนี้”

“ผมเลือกศึกษาต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการแสดงและกำกับการแสดง ตั้งใจจะเอาดีทางทำหนังเลย อยากพาชีวิตตัวเองไปตามความฝันแล้ว ตอนนั้นเรามีคอมที่ต่ออินเตอร์เน็ตได้เป็นคนแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยทำให้มีคนมาขอความรู้เรื่องการต่ออินเตอร์เน็ตกับผมเยอะมากจนกลายเป็นกูรูเกี่ยวกับเรื่องคอมไปเลย ขนาดที่เพื่อนจะซื้อคอมก็มักจะชวนผมไปเดินเลือกด้วยเพื่อความสบายใจ ซึ่งตัวผมเองตอนนั้นก็มีสนใจเรื่องเทคโนโลยีบ้างอยู่แล้วด้วย แล้วทีนี้ก็มาเจอจุดเปลี่ยนอีกคือเว็บไซต์พันทิปที่ทำให้ผมได้พบเจอกับผู้คนต่าง ๆ มากมายผ่านทางเว็บบอร์ด แล้วเพื่อน ๆ ในพันทิปก็อยากจัดมีตติ้งกัน ทีนี้คนก็เห็นว่าผมพูดเก่งน่าจะดำเนินรายการได้ เลยยกหน้าที่พิธีกรมีตติ้งให้ผมทำ ทีนี้คนชอบ บางทีก็แอบมีคิดเหมือนกันว่าที่คนชอบกันนี่เพราะผมไม่คิดค่าตัวรึเปล่า (ขำ) แต่ตัวเองติดใจแล้วไง ผมเลยรับหน้าที่ดังกล่าวในครั้งต่อ ๆ มาตลอด ซึ่งทำให้ผมได้ไปเจอพี่จอห์น รัตนเวโรจน์ หรือพี่จอห์น นูโว ที่ทุกคนรู้จักกันนั่นเอง”

ได้หน้าต้องไม่ลืมหลัง
“หลังจากได้เจอกับพี่จอห์น รัตนเวโรจน์ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่เขาต้องการพิธีกรร่วมในรายการใหม่ของเขา ชื่อว่ารายการ IE Show.com คือพี่เขาเคยเจอผมตอนเป็นพิธีกรในงานมีตติ้งพันทิป ก็เลยชักชวนให้ผมไปร่วมงานด้วย โดยรายการนี้นี่แหละทำให้ผมเกือบเรียนไม่จบ เพราะพอเราได้มีโอกาสไปทำงานแล้วเราก็อินไง รู้สึกว่าเราสามารถทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองได้แล้วการเรียนก็ไม่จำเป็น ซึ่งมันเป็นความคิดที่ผิดมาก ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่างเด็ดขาด ในขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นทำวิทยานิพนธ์ส่งกันแล้ว ผมทำไม่เสร็จครับ ตอนนั้นพอได้มีโอกาสเข้ามาทำงานทีวีที่ถือว่าเปิดโลกทัศน์ของผมมาก ไม่ได้สนใจเรื่องเรียนอีกเลย จนกระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษาท่านหนึ่ง ชื่อว่าคุณครูปาริชาติ จึงวิวัฒนาพร ได้เรียกผมเข้าไปคุยว่าทำไมไม่เรียน ตอนนั้นผมตอบไปว่าไม่อยากเรียนเพราะผมมีงานทำหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ครูปาริชาติ
เลยพูดเรียกสติผมว่า ‘เธอยังมีเวลาทำงานอีกมากนะพงศ์สุข ในขณะที่เธอมีเวลาแค่ 4 ปี กับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยที่เธอจะเรียนให้จบ’ คำพูดนั้นอิมแพคมาก ทำให้ผมกลับมาเรียนและทำงานส่งแล้วจึงเข้าพิธีรับปริญญาหลังจากเพื่อนจบไปแล้ว 1 ปี ถึงแม้มันจะช้าแต่ผมก็รู้สึกว่าดีมากแล้วที่มันยังไม่สาย การได้ทำงานก่อนเรียนจบมันก็เป็นข้อดีที่ทำให้เราได้สตาร์ทชีวิตก่อนใคร แต่เราก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่าเราที่พุ่งไปแล้วได้ลืมอะไรไว้ข้างหลังบ้างรึเปล่า”

ก้าวแรกสู่สังเวียน
“ต้นกำเนิดแรกเริ่มของบริษัท Show No Limit เกิดขึ้นจากการที่ผมอยากให้การทำงานพิธีกรที่ผมชอบ มันกลายเป็นธุรกิจที่สามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อย ๆ ความหมายคือ ทำให้มันประจำให้มีความถี่ และเราเป็นตัวเลือกโดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาเลือก ปกติแล้วอาชีพพิธีกรหรือนักแสดงทุกคนคงพอนึกภาพกันออกอยู่แล้ว คือต้องรองาน แล้วทำยังไงงานถึงจะเข้ามาหาเราล่ะก็ต้องสร้างชื่อเสียงถูกมั้ย อาจจะต้องเป็นข่าว ทีนี้ข่าวแต่ละประเทศก็จะนิยมไม่เหมือนกัน อย่างอเมริกาก็จะเน้นไปที่ข่าวการงาน ว่าตอนนี้ใครกำลังมีโปรเจ็กต์อะไรก็สามารถสร้างชื่อจากข่าวพวกนี้ได้ ในขณะที่ประเทศไทยเราเนี่ย นิยมข่าวฉาว ผมได้มีโอกาสไปงานแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของเพื่อนนักแสดงท่านหนึ่งมา ภายในงานก็ผ่านไปเรียบร้อยจนมาถึงช่วงการให้สัมภาษณ์ เชื่อมั้ยว่าไม่มีนักข่าวสื่อไหนเลยที่พูดถึงงานในวันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีแต่คำถามว่าคบกับใครอยู่ ตอนนี้ชีวิตคู่เป็นยังไง นักแสดงก็จำเป็นต้องตอบเพื่อให้สื่อนำไปเขียนข่าว”

“ในมุมนึงทำให้ผมฉุกคิดว่าเราควรจะเริ่มให้สติปัญญาคนจากการที่โลกได้เปิดโอกาส ผมทำคนเดียวไม่พอหรอกครับ สื่อต่าง ๆ ควรจะเริ่มมีการพูดถึงได้แล้วว่าการศึกษาหาโอกาสในช่องทางออนไลน์นั้นสามารถนำไปสู่ Digital Economy เปิดธุรกิจใหม่ แหล่งรายได้ใหม่เพิ่มเติม มีงานวิจัยออกมาแล้วนะครับ ว่านับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป มนุษย์เราจะมีอาชีพต่อคนตั้งแต่ 5-7 อาชีพ ความหมายคือไม่มีใครที่จะสามารถผดุงไว้ซึ่งอาชีพเดียวได้อีกต่อไป ซึ่งใน 5 จาก 7 อาชีพนั้นจะเป็นอาชีพใหม่ ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีใครนิยาม ทุกวันนี้สิ่งที่เราโพสต์กันลงบนโซเชียลมันสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินชีวิต ถ้ามีใครสักคนผุดไอเดียบางอย่างเพื่อมาตอบโจทย์คนหมู่มากที่กำลังดำเนินชีวิตอยู่ได้ นั่นก็ถือเป็นการเกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมาอีกอย่างแล้ว”

ยุคทองของผู้แสวงหาโอกาส
“ปัจจุบันมีมหาเศรษฐีรายใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ซึ่งหลายต่อหลายคนมีพื้นฐานมาจากด้าน IT ด้านเทคโนโลยีอย่างที่บอกครับว่ามันยังมีอะไรที่รอให้เราค้นพบอีกมาก อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้หาเจอเป็นคนแรก คือถ้าจะบอกว่านี่คือยุคแห่งโอกาสก็คงไม่ผิด การปฏิวัติอุตสาหกรรมในแต่ละยุคจะใช้เวลาประมาณ 50 ปี พัฒนามาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันเราอยู่ในช่วงที่ 4 แล้ว ซึ่งจังหวะมาตรงกับไทยแลนด์ 4.0 พอดี ช่วงที่ 4 ที่ผมพูดถึงนี้หมายถึง ช่วงเวลาของนวัตกรรม อันเป็นยุคที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมเป็นหลัก ไอ้เจ้านวัตกรรมนี่แหละมันก็คือหัวคิด เราจะจัดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เราใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน ให้มันเกิดประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อย่างไร”

“ยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็ธุรกิจ AirBNB ที่ตอนนี้มีห้องพักมากที่สุดในโลก โดยที่เจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีโรงแรมแม้แต่หลังเดียว ไม่ต้องสร้างอาคารใด ๆ เลยด้วยซ้ำ แต่เขาใช้สิ่งที่คนทั่วไปถืออยู่ในมืออยู่แล้ว มาสร้างโอกาสสร้างธุรกิจโดยการออกแบบระบบให้ หรือว่า Uber เจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีรถสักคัน แต่เขาเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากนำรถส่วนตัวมารับส่งผู้โดยสารในช่วงที่มีเวลาว่าง เพื่อสร้างรายได้ นี่แหละครับคือยุคแห่งโอกาส ยุคแห่งความคิดริเริ่มใครจับทางได้ไวก็สามารถอยู่รอดได้นานเช่นกัน”

“ตัวผมเองมีลูกคนแรกตอนปี 2010 ถัดมาคนเล็กตอนปี 2014 เด็กที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าวจะถูกเรียกว่าเป็นเจนเนอเรชั่นที่เรียกว่าอัลฟ่า ซึ่งเป็นเด็กที่โตมากับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตเลย ไม่เหมือนยุคที่เราโตมาที่ยังไม่มีอะไรเลย จนเริ่มมีแล้วพอเราไปเรียนรู้มันเพิ่มเติม ก็จะกลายเป็นว่าพวกเรานี่แหละ คือส่วนผสมระหว่าง Analog กับ Digital ในขณะที่เด็กที่เกิดมาทุกวันนี้ลืมตามาก็เจอ Digital เลย แถมยังเป็น Digital ที่เบ่งบานแล้วอีกด้วย ในเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเราก็ต้องมองในมุมที่เปลี่ยนแปลงด้วย ธุรกิจที่จะเกิดขึ้นเราก็ต้องมองถึงการเก็บเกี่ยวในอนาคตข้างหน้า”

“อุตสาหกรรมโลกปฏิวัติเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 55 ปี แต่ถามว่าเมืองไทยมีอินเตอร์เน็ตใช้กันกี่ปี เพิ่งจะประมาณ 20 ปีเอง ฉะนั้นสำหรับไทยเรายังมีอีกตั้ง 30 ปีที่จะไปต่อได้ นักวิชาการต่างคาดการณ์กันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ปี 2020 จะเป็นยุคของ Internet of Thing ที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตทั้งหมด ลองนึกถึงความน่าสนใจเหล่านั้นสิครับ กล้อง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากันได้ เราก็ต้องมานั่งคิดกันแล้วว่าพอถึงเวลานั้นมันจะมีธุรกิจหรือบริการอะไรที่สามารถเกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งตัวผมเองมองว่าเราต้องไม่หยุดคิด ต้องคิดไปเรื่อย ๆ เพราะเราเองก็เป็นกลุ่มเป้าหมายเหมือนกัน คือเป็นผู้ใช้ แต่ถ้าเราสามารถจับจุดที่มันยังเป็นช่องโหว่ตรงนั้นได้ เราก็สามารถที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจระดับโลกอย่าง AirBNB หรือว่า Uber ได้เช่นเดียวกัน”

The Day After Tomorrow
“เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่จะเข้ามา Disrupt แน่นอนครับ คือมันจะค่อย ๆ เข้ามาทำลายขนบเดิม ทำลายธุรกิจเก่า อาชีพเก่า แล้วพาคนไปสู่อาชีพการงานใหม่ ๆ ที่เราก็ยังไม่รู้ว่าหน้าตาจะเป็นยังไง ซึ่งเราคง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง งานอะไรที่ทำเป็นรูทีนซ้ำ ๆ กันไปทุกวัน อนาคตเราก็อาจจะมีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาทำในส่วนนั้นแทน หรือแม้แต่ในพาร์ทของสื่อสารมวลชนเองก็ตาม การนำเสนออาจจะคงเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการสร้างสรรค์ จากเดิมที่รายงานข่าวก็เหมือนนั่งอ่านข่าวอยู่ในสตูดิโอทั้งวัน มาจนถึงมีกล้องออกไปสถานที่จริง เดี๋ยวนี้คนไม่ต้องการคนมาเล่าข่าวแล้วครับ ผู้ชมส่วนใหญ่ล้วนมองหาความจริง เพราะว่าภาพที่สนุกที่สุดมากกว่าละครในตอนนี้นั่นคือภาพจากกล้องวงจรปิดครับ อย่างเรื่องที่มีรถปาดหน้ากันแล้วอยู่ ๆ ก็มีการยิงกัน มันสามารถบอกเล่าเรื่องราวความจริงได้โดยไม่ต้องมีคนป้อนข้อมูล เราเชื่อจากสิ่งที่เราเห็นได้เลยแล้วก็นำข้อมูลตรงนั้นมาวิเคราะห์ตามแนวคิดของเรา และที่สำคัญคือความคิดเห็นต่าง ๆ ถูกบอกเล่าพูดคุยกันบนอินเตอร์เน็ต แค่มุมของกล้องก็บอกเล่าความจริงในอีกมุมนึงได้เหมือนกัน”

“ทุกวันนี้ผมทำรายการบางครั้งก็ไม่ต้องใช้โปรดักชั่นยิ่งใหญ่อะไรแล้ว ใช้แค่ Osmo Mobile สักอันกับสมาร์ทโฟนสักเครื่องก็สามารถ Live สถานการณ์สด ๆ ได้แล้ว ลองสังเกตดูนะ สำนักข่าวใหญ่ ๆ บางแห่ง Live นั่งอ่านข่าวมีผู้ชมหลักพัน แล้วดูสรยุทธสิ แค่ออกไป Live ผ่านเฟซบุ๊กคนเข้าไปชมเป็นหมื่น แสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ”

“หรือแม้กระทั่งโลกเสมือนจริงที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้น อย่าง Veiw Master ที่เป็นกล้องสามมิติให้เราส่องแล้วกดเปลี่ยนภาพไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้มีซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ดินแดนลึกลับ ที่เพียงแค่เราใส่แว่น VR มันก็ทำให้เราเสมือนได้ไปยังสถานที่เหล่านั้นจริง ๆ นอกจากนั้นเทคโนโลยีภาพเสมือนดังกล่าวก็จะทำให้การติดต่อสื่อสารมันง่ายขึ้นไปอีก เพียงแค่ใส่เจ้าแว่นตานี่แหละ แล้ววิดีโอคอลคุยกัน มันจะรู้สึกเหมือนว่าเรานั่งคุยกับคนเป็น ๆ อยู่ต่อหน้า ทั้ง ๆ ที่บางทีเขาอาจจะอยู่อีกฟากนึงของโลกก็เป็นได้ หรือแม้สมาร์ทโฮมอัจฉริยะที่เพียงแค่พูดออกคำสั่ง ทุกอย่างในบ้านก็จะสตาร์ทเครื่องเตรียมพร้อมใช้งานได้ทันที ทั้งหมดที่ผมยกตัวอย่างขึ้นมานี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงบนโลกแล้วนะครับ มีวางจำหน่ายแล้วจริง ๆ แน่นอนว่าเมืองไทยเราอาจจะเป็นประเทศที่รัเทคโนโลยีมาก่อน ซึ่งถ้าเรารับอย่างเดียว เราก็จะกลายเป็นประเทศผู้บริโภคเต็มตัว แต่ถ้าเรารับมาแล้วนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านั้นมาต่อยอดมันก็สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากเหมือนกัน ณ เวลานี้ นี่คือยุคสมัยของเรา และเราทุกคนก็ควรที่จะตระหนักถึงมันครับ”

เด็กติดเกม ปัญหาของเด็กหรือของผู้ใหญ่
“เรื่องปัญหาเด็กติดเกม คือผู้ใหญ่บ้านเรามองปัญหาการติดเกมไม่ได้เฉพาะเจาะจง เราไม่ได้ไปชี้ว่าเด็กคนนี้จะต้องเล่นเกมไปตลอด เราไปมองกันในภาพรวม ตัวอย่างเช่นร้านเน็ต ส่วนใหญ่ปัญหาเด็กติดเกมจะถูกโยงไปที่ร้านเน็ต เวลาเราเข้าร้านไปก็จะไม่ค่อยเห็นคนเปิด Microsoft Word ทำงานใช่มั้ยครับ เกือบทั้งร้านจะเล่นแต่เกม เรามองภาพรวมว่า ผ่านมากี่ปีต่อกี่ปี เด็กก็ยังคงเล่นเกมกันอยู่เหมือนเดิม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่แน่นอนอยู่แล้ว เกมถูกสร้างมาเพื่อเด็กและเยาวชน แล้วปัจจุบันนี้เกมถูกสร้างออกมาเพื่อคนหลาย ๆ วัย ไม่ได้จำกัดแค่เด็กอีกต่อไป ทำให้อุตสาหกรรมเกมโลกในขณะนี้เติบโตขึ้นค่อนข้างมาก และถ้าเรามองกันแบบเฉพาะเจาะจงเราก็จะพบว่าคนส่วนใหญ่ที่สนใจงานด้านเทคโนโลยี ล้วนแต่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ทั้งนั้น ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น จากเกมตลับมาสู่เกมที่ปัจจุบันไม่ต้องมีแผ่นเล่นกันแล้ว จ่ายเงินซื้อแล้วโหลดลงเครื่องได้เลย นี่ไงครับ มันมีอะไรใหม่ ๆ ที่รอการค้นพบอยู่ตลอดเวลา”

“คนที่เล่นเกมทุกคนถ้าเล่นเกมเดิม ๆ ทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำ ๆ กัน ยังไงก็ต้องมีความเบื่อหน่ายเกิดขึ้นมาแน่นอน อยู่ที่ว่าหลังจากเกิดการเบื่อขึ้นมาแล้วเนี่ย เราจะใช้โอกาสตรงนั้นในการต่อยอดยังไงซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครู อาจารย์ ที่จะมีส่วนช่วยเติมสิ่งที่เป็นช่องว่างตรงนั้น ถ้าบุคคลเหล่านั้นไม่เติม เด็กที่กำลังเคว้งคว้างก็จะไปเติมกับเพื่อน แล้วตัวเพื่อนเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์มากพอที่จะมาช่วยคัดกรอง รวมถึงส่งเสริมให้เด็กก้าวไปหาอะไรที่ดีภายภาคหน้า บอกไว้ตรงนี้เลยนะครับ การใช้คอมพิวเตอร์ไม่ใช่เพื่อเล่นเกมอย่างเดียวเสมอไปมันมีอะไรอีกมากที่สามารถเป็นช่องทางในการสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้กับตัวเอง เพราะฉะนั้นอย่าไปมองแค่ว่าการเล่นเกมเป็นสิ่งไม่ดีเลยครับ”

Together We Change
“แม้กระทั่งตัวผมเองก็ยังต้องปรับตัวตามยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป ทุกวันนี้ผมจะโฟกัสไปที่ข้อมูลและสื่อ Digital ทั้งหมดครับ ตอนนี้ก็มีเว็บ แบไต๋ ที่ทำมาสิบกว่าปีแล้ว ข่าวไอทีอัพเดตฉับไวอย่างรวดเร็วมีกองบรรณาธิการที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันนี้มี USER เข้ามาใช้งานเฉลี่ยเดือนละถึง 5 ล้านคน เราก็มองว่าอนาคตของเราขึ้นอยู่กับเจ้าเว็บไซต์นี่แหละ คือเมื่อก่อนตัวเว็บไซต์อาจจะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นสื่อหลัก ผมไปโฟกัสที่สื่อทีวีมากกว่า พอยุคสมัยเปลี่ยนทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลง ตอนนี้เว็บไซต์เป็นพระเอกแล้ว กลายเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง นอกจากนี้ก็มี Line Official Account ข่าวไหนที่น่าสนใจเราก็ยิงผ่านไลน์ เผื่อกระตุ้นให้คนคลิ๊กเข้ามาอ่านมากขึ้น แล้วก็ยังมี Facebook Fan page ของแบไต๋ ที่จะเน้นในส่วนของการ Live สด ด้วยคอนเซ็ปต์ที่เปลี่ยนมาเป็น สดทุกครั้งที่มีเรื่อง เพราะโลกทุกวันนี้มันมีช่องทาง และผู้คนที่พร้อมนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา เนื้อหาข่าวมันก็จะคล้าย ๆ กันไปหมด สิ่งที่แข่งขันกันก็คือเรื่องความฉับไวมากกว่า”

“นอกจากในส่วนของงานที่เป็น Digital แล้ว ผมก็ยังคงมีไปปรากฏตัวตามรายการโทรทัศน์อยู่เหมือนเดิมครับ ถ้ายังมีคนต้องการให้ผมไปเป็นวัตถุดิบในรายการต่าง ๆ ผมก็ยังคงมีการทำงานในส่วนนั้นเหมือนเดิมครับ หลัก ๆ ก็จะมีเป็นพิธีกรรายการ ‘คิดแลกล้าน The Startup ไทยแลนด์’ ทางช่อง 3 SD รายการที่จะต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ ซึ่งกำลังจะมีซีซั่นสองเร็ว ๆ นี้ ที่เหลือก็จะเป็นรายการข่าวต่าง ๆ ซึ่งผมก็ยังวนเวียนไปปรากฏตัวอยู่เรื่อย ๆ ครับ” 

TIME CHANGE PEOPLE CHANGE เวลาเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ย่อมเปลี่ยนตาม โดย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์