One Day Trip in Bangkok
รู้ไหมครับว่าในกรุงเทพฯ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมายที่รอให้คุณไปค้นพบ หรือแวะไปเยือน ชาวต่างชาติที่เดินทางมาเมืองไทยย่อมไม่พลาดที่จะไปยังสถานที่ดีๆ เหล่านี้ แต่เราเป็นคนไทยแท้ๆ กลับมองข้าม เห็นว่าวัดวาอารามเป็นเพียงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น หากคุณได้ลองเข้าไปชมสถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะรัตนโกสินทร์เหล่านี้เพียงสักครั้ง คุณจะต้องประทับใจและติดตรึงในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน เที่ยวเมืองไทยไม่ไปไม่รู้ สโลแกนนี้ยังคงเข้ากับยุคสมัยได้ไม่เสื่อมคลายครับ
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ได้จัดกิจกรรมดีๆ ชวนพวกเรามาเที่ยวในทริปนี้ด้วยครับ สำหรับสถานที่แห่งแรกที่เราอยากแนะนำในทริปนี้ได้แก่ วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศน์และถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ซึ่งถือเป็นบุญของพวกเรายิ่งนักที่ได้เริ่มต้นด้วยการกราบพระศพสมเด็จพระสังฆราช ที่พระตำหนักเพ็ชร จากนั้นจึงไปยังจุดสำคัญต่างๆ ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากพระอาจารย์แครอล กนฺตสีโล มาเป็นผู้บรรยายและพาเยี่ยมชมสถานที่สำคัญภายในวัด ทำให้ทริปนี้ได้ทั้งความรู้ เกร็ดประวัติศาสตร์ ข้อคิด และความเพลิดเพลินอย่างครบครันครับ
ตำหนักเพ็ชร เป็นคอนกรีตชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ สันหลังคาประดับด้วยปูนปั้นลายกระจัง หน้าบันประดับด้วยลายมหามงกุฎและวัชระ ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ด้านล่างลงมาเป็นชื่อตำหนัก ซุ้มประตูหน้าต่างทำด้วยไม้คันทวย
เป็นลายดอกไม้ ฐานแต่ละช่องประดับด้วยซุ้มดอกไม้ปูนปั้น เสาย่อเก็จประดับบัวหัวเสา พื้นปูด้วยหินอ่อน
สำหรับประตูเซี่ยวกางนั้น สร้างตามคตินิยมแบบจีน เป็นรูปสลักไว้ตามบานประตูศาสนสถานต่างๆ เช่น วัด โบสถ์วิหาร ศาลเจ้า เพื่อมุ่งหมายให้เป็นผู้รักษาประตูหรือทวารบาล โดยเซี่ยวกางน่าจะมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ออกเสียงว่าเซ่ากังแปลว่ายืนยาม ตามคติความเชื่อก็คือจะป้องกันภูติผปีศาจและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ได้ ส่วนเซี่ยวกางที่วัดบวรนิเวศวิหารนี้ มีตำนานเล่าขานจากประชาชนในพื้นที่ว่า ผู้นับถือส่วนใหญ่จะมาบน หากได้ในสิ่งที่ตนประสงค์ก็จะนำฝิ่นมาทาที่ปากเพื่อแก้บน ในปัจจุบันฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนที่มาบนจึงหาวิธีเลี่ยงเป็นนำกาแฟดำแทนฝิ่นมาป้ายบริเวณปาก หรืออาจจะใส่ถุงพลาสติกแขวนไว้แทน ซึ่งทางวัดก็ได้ขอความร่วมมือตลอดว่าอย่าทำเลยครับ
รอยพระพุทธบาทสลัก ศิลปะสุโขทัย มีรูปพระอสีติสาวกกำลังประทักษิณอยู่รอบรอยพระพุทธบาทนั้น ประดิษฐานอยู่ที่ข้างศาลาด้านขวาของพระอุโบสถ สังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีเหรียญวางไว้ ขอความกรุณามา ณ ที่นี้ด้วยครับ ว่าเขาห้ามวางเหรียญเนื่องจากจะทำให้รอยพระพุทธบาทเกิดการชำรุดได้
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงไทยชั้นเดียว มี 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องรางแบบจีน หลังคาพระอุโบสถเป็นแบบตรีมุข หน้าบันทั้ง 3 ด้าน มีลวดลายเหมือนกัน คือมีกรอบล้อมหน้าบันเป็นพานรองรับพระขรรค์ มีพระมหามงกุฎครอบ บานประตูด้านในเป็นภาพเขียนสีน้ำมันลายทวารบาลแบบจีน ภายในพระอุโบสถหลังใหม่นี้ยังมีภาพจิตกรรมฝาผนัง ซึ่งมีความงดงามอยู่มากและยังแยกเป็น 2 ตอน คือ ตอนล่างกับตอนบน ภายในมีพระพุทธรูปสำคัญ ได้แก่ พระพุทธชินสีห์และพระสุวรรณเขตในโบสถ์มีพระประธาน 2 องค์ องค์ที่อยู่ด้ายหลังคือพระสุวรรณเขตหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระโต พระชินสีห์เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสุโขทัย
วิหารพระศาสดา ลักษณะของตัวอาคารก่ออิฐถือปูนพื้น 2 ชั้น มีระเบียบรอบฐาน ลูกแก้ว หลังคามุข 2 ชั้นมี 2 ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบมุงกระเบื้อง ราง หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นรูดพระมหาพิชัยภาพพระศาสดาในวิหารพระศาสดา เดิมประดิษฐานอยู่ที่วิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า พระศาสดาและพระพุทธชินสีห์ เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นในวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2406 พระพุทธรูปสำคัญได้แก่ พระศาสดา เดิมเคยสถานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนธาตุมาก่อน แล้วถูกอัญเชิญไปไว้ที่วัดอ้อยช้าง วัดประดู่ฉิมพลี สุดท้ายจึงอัญเชิญมาประดิษฐานในวิหารพระศาสดา
วิหารเก๋ง อยู่บนพื้นเดียวกับวิหารพระศาสดา ด้านซ้ายมือเป็นแบบผสมระหว่างทรงไทยกับทรงจีน คือ หลังคาแอ่นโค้งแบบจีน สันหลังคา ประดับปูนปั้นลายช่อดอกไม้ ใบไม้ หลังคาลดมุข 2 ชั้น มี 3 ตับ มุงกระเบื้องราง ด้านหน้ามีมุขยื่น
และตัววิหารเก๋งประดับกระเบื้อง เคลือบสีเป็นลายช่อดอกไม้ ไก่ฟ้า สิงโต แจกันดอกไม้ และเครื่องบูชาอย่างจีน ฐานบัวมีพาไลเปิดโล่งโดยรอบเสาพาไล สี่เหลี่ยม หนา ลบมุดปลายสอบ บานหน้าต่างไม้ ลายรดน้ำ รูปทิวทัศน์อย่างแบบจีน มีพระพุทธวชิรญาณ ประดิษฐานอยู่กลางวิหารเก๋ง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้หล่ออุทิศถวายรัชกาลที่ 4
พระมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่มีสัณฐานกลมหรือเรียกว่า ลอมฟาง มีคูหาข้างในเข้าไปได้ มีชั้นทักษิณ 2 ชั้น เป็นสี่เหลี่ยมฐานพระเจดีย์ชั้นบน โดยล้อมรอบ 24 วา 3 ศอก 5 นิ้ว คำนวณตามเกณฑ์นี้ ส่วนสูงของพระเจดีย์ตั้งแต่ตอนนี้ขึ้นไปตลอดยอดประมาณ 22 วาเศษพระพุทธรูปที่สำคัญอีกองค์ ได้แก่ พระไพรีพินาศ ประดิษฐานอยู่บนลานประทักษิณพระเจดีย์ วชิรญาณภิกขุหรือที่ต่อมาคือรัชกาลที่ 4 ทรงได้รับมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศ
เรียกได้ว่าทั้งวันก็เดินเก็บรายละเอียดความงดงามแทบไม่หมดครับ เพราะที่นี่ยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง อาทิ พระอุโบสถวัดรังสี, หอระฆัง, หอไตร, ตำหนักจันทร์ ฯลฯเอาเป็นว่าเราแนะนำพอหอมปากหอมคอ แล้วเชิญชวนให้มาเที่ยวกันเองดีกว่าครับ ฉบับหน้าเราจะพาไปเที่ยวสถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง ริมถนนราชดำเนินกลาง รับรองสนุกแน่ครับ...