โย่ง เชิญยิ้ม
พิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา หรือที่โด่งดังไปทั่วประเทศในชื่อ โย่ง เชิญยิ้ม ศิลปินตลกระดับต้นๆ ของเมืองไทยในเวลานี้ ทว่าบทบาทที่ทำให้เราต้องจารึกเขาในทำเนียบศิลปิน เพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้ต่อลมหายใจให้ศิลปะเพลงพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะเพลงฉ่อย
ปรากฏการณ์ความนิยมของจำอวดหน้าม่าน ในรายการคุณพระช่วย ได้กลายเป็นกระแสที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจและชื่นชอบวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะเพลงฉ่อยกันมากขึ้น เขาได้ทำให้สิ่งที่คนเคยรู้สึกว่าล้าสมัย กลายเป็นร่วมสมัย
ได้อย่างกลมกลืน
“ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ผมชอบทำอะไรก็ตามแต่ให้คนสนุก ให้เขาหัวเราะไปกับเรา แค่เราได้เห็นหน้าและแววตาที่คนอื่นมีความสุขเราก็รู้สึกดีไปด้วย สมัยก่อนเวลาลิเกจะปิดวิก บางครั้งไม่มีเงินก็จะไปนั่งรอจนกว่าเขาจะเปิดให้ดูการแสดงฟรี ผมชอบไปนั่งดูวงดนตรีเขาซ้อมกัน ได้หัดลองตีฉาบ ตีกลอง จึงทำให้เราพอที่จะจับจังหวะเป็นแล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ ซึมซับเข้ามา จนกระทั่งได้มาหัดเพลงฉ่อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ผมจะร้องเพลงฉ่อยไปเรื่อย ไม่ว่าจะเป็นตอนขี่ควาย ตอนอาบน้ำ ตอนปีนต้นไม้ ตั้งแต่เด็กๆ ผมก็ฝึกร้องแต่เพลงฉ่อยมาตลอด”
“การจะฝึกเพลงฉ่อยได้เราต้องใฝ่ศึกษา คือต้องได้พื้นฐาน ได้เนื้อร้อง จับทำนองให้ได้ก่อน แล้วจึงจะเริ่มท่องได้ ฝึกซ้อมจากตำรามาเรื่อยๆ มีการร้องแก้หักเหลี่ยมหักคมกันระหว่างผู้ชาย – ผู้หญิง เพลงลำตัด อีแซว เพลงฉ่อย มันจะใกล้เคียงกันนะถ้าเพลงลำตัดจะร้องรวมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพลงอีแซว เพลงรำวงเกี่ยวข้าว เพลงขอทาน คนร้องลำตัดเขาจะสามารถร้องได้หมด ผมได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น คือคุณป้าของผมท่านเป็นคนสอนวิชาและถ่ายทอดศาสตร์ด้านนี้ให้กับลูกหลาน มีตำราเป็นสมุดจดมาให้อ่านให้ท่องเลยนะ ซึ่งคุณป้าท่านชื่อนกหวีด ท่านจะเป็นคนเก็บรักษาตำราไว้ แต่พอท่านเสียชีวิตลงก็ไม่ทราบว่าเก็บไว้ที่ไหนอย่างไรเสียดายที่ไม่ได้เก็บรักษาไว้
“โดยส่วนตัวผมชอบดู ชอบศึกษาอยู่แล้ว ผมจึงมีครูเยอะ อย่างผมชอบการร้องลำตัดของพ่อหวังเต๊ะ ผมก็จะไปหาท่าน ไปศึกษาเรียนรู้จากท่านเองโดยตรง การศึกษาเรารอไม่ได้ เราต้องเข้าไปหาครู เพราะผมไม่ได้เรียนทางทฤษฎีดนตรีหรือนาฏศิลป์มาโดยตรง ผมจึงเน้นเรียนแบบปฏิบัติโดยตรงกับผู้รู้เสียมากกว่า ฝึกร้อง ฝึกเล่น ฝึกกับครู และฝึกฝนคนเดียวมาโดยตลอด เพลงฉ่อยในตอนที่ผมได้รับการถ่ายทอดมาจาดคุณป้านกหวีด ในขณะนั้นศิลปะแขนงนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง ความนิยมเสื่อมถอยลง พอเราเริ่มจะเล่นได้ก็ดันไม่สามารถหาเวทีเล่นได้ จนกระทั่งได้มาเจอคณะลิเกที่กำลังฝึกซ้อม ด้วยใจรักและความชอบของผมอยู่แล้ว จึงได้ลองหัดเล่นลิเกแบบเป็นเรื่องเป็นราว ในตอนนั้นผมผอม ดำ เสียงก็แหบ จึงได้รับบทเป็นตัวโจ๊กนับแต่นั้นมา ผมเดินสายเล่นลิเกที่จังหวัดพิษณุโลกให้กับหลายคณะ เรามีความสุข เมื่อเวลาที่เราเล่นแล้วเราได้เห็นคนหัวเราะมีความสุข ตะเวนเล่นไปเรื่อย จนกระทั่งได้มาเล่นกับคณะเฉลิมชัย ศรีฤาชา ที่กำลังดังในพิษณุโลกขณะนั้น ต่อมาจึงได้มาอยู่กับคณะศักรินทร์ดาวร้าย จากนั้นก็ได้อยู่ด้วยกันนานเลย ในสมัยนั้นผมใช้ชื่อ ตลกก้านยาว ผมอยู่จนเป็นตลกคู่ใจกับศักรินทร์ดาวร้าย”
ชีวิต ‘ตลก’
“เริ่มจากการที่เราเห็นตลกในยุคนั้นทำการแสดง แล้วเราอยากเป็นอยากเล่นได้เหมือนเขาบ้าง มีอยู่คืนหนึ่งผมฝันว่าได้เข้าไปเล่นตลกอยู่กับคณะเชิญยิ้ม พอสะดุ้งตื่นขึ้นมา เราก็นั่งอยู่หน้าพ่อแก่ จึงยกมือขึ้นอธิฐานขอให้เราได้เข้าไปเล่นตลกกับคณะนี้ด้วยเถิด ทั้งๆ ที่มองแล้วเราไม่มีทางที่จะเข้ามาได้เลย จนกระทั่งได้มารู้จักกับคุณสมหมาย เจริญสุข เขาเป็นลิเกเล่นอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วเขารู้จักกับศักรินทร์ดาวร้าย จึงทำให้มีโอกาสที่เราได้รู้จักกัน แล้วเขาได้พาเรามาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2529 ผมจำได้ขึ้นใจ เพราะมันเป็นก้าวที่ทำให้เราเกิดความเปลี่ยนแปลง พาเราไปรู้จักกับพี่โน้ต เชิญยิ้ม แต่ก็คลาดกันหลายต่อหลายครั้ง ไปหาคณะเพชรดาราฉาย ก็ได้รับคำปฏิเสธมาเพราะคนยังเต็มอยู่ ไปคณะชวนชื่นก็คนเต็มเช่นกัน จนได้ไปอยู่คณะน่ารัก เพราะเราเคยเล่นคณะลิเกกับศักรินทร์ดาวร้ายมาก่อนแล้วเขาเคยรู้จักจึงรับเราไว้ เราก็ได้ฝึกฝนเรียนรู้การเป็นตลกมาตั้งแต่ตอนนั้น
“ตอนเข้ามาในวงการตลกแรกๆ ยังไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเองที่ชัดเจน การเล่นครั้งแรกของผม ผมว่ามันไม่ฮา ไม่ประสบความสำเร็จเลย ต่างกับตอนที่เล่นลิเกคือทุกคนตั้งใจมาดู ตั้งตารอขำเรา เพราะเราเป็นตัวโจ๊ก แต่พอได้มาเล่นตลก
มันกลายเป็นคนละเรื่องไปเลย เพราะคนเขามานั่งกินข้าว มาพูดคุยกัน ไม่ได้ตั้งใจมาดูเราตลอด เราจึงต้องกลับมาศึกษาใหม่ ดูวิธีการเล่นกันใหม่ จนกระทั่งค่อยๆ กลืนไปกับคณะได้ แต่ยังไม่สามารถมาพูดแบบนี้ได้
“สิ่งที่เราเรียนมามันใช้ได้ แต่เราต้องมาปรับใช้กันใหม่จนได้มาอยู่กับทางพี่เด่น ดอกประดู่ และพี่ยาว อยุธยา ซึ่งเขาแยกมาจากพี่เทพ โพธิ์งาม และมีพี่ตุ๊ยตุ่ยและพี่ยอด จากคณะสี่ดาว สุดท้ายก็มีผมมาร่วมด้วย ตอนจะออกจากคณะน่ารักก็เครียดมาก ไม่รู้จะบอกเขาอย่างไร เราอยู่ได้เพราะความโชคดีที่เขาอุปการะเรามา เราจะมาทิ้งเขาก็ไม่ได้แต่บทสรุปสุดท้ายเราก็มาอยู่กับพวกพี่ยาวจนได้ ผมต้องขอบคุณพี่ปี้ สีเดียว หรือพี่แอนนา ชวนชื่น ในปัจจุบันด้วย เพราะเขาเป็นคนให้คำตอบกับผม ในวันที่ผมถามเขาว่า ถ้าสมมติพี่เทพ โพธิ์งาม มาชวนเขาไปเล่นด้วย เขาจะไปไหม?เขาหันมาตอบทันทีเลยว่าไป ถ้าเรามีทางที่ดีกว่าก็ไปเถอะ พอเราได้คำตอบนี้เราจึงตัดสินใจลาออกมา
“ชื่อโย่ง พิษณุโลก มาเริ่มที่ผมได้ตั้งคณะเป็นโย่ง พิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.2538 เหตุผลที่แยกจากพี่ยาวก็เพราะตลอดเวลาที่เราอยู่กับพี่ยาว เราจะได้แสดงเป็นตัวละครตลอด แต่เราอยากจะลองเปลี่ยนมาเป็นตลกแนวพูด อยากทอล์กโชว์ดูบ้าง เราจึงต้องออกมาทำด้วยตัวเอง จึงได้ร่วมงานกับน้าพวง, ดักแด้, น้าเตี้ย, น้าอ๊อด ที่ได้ร่วมกันในยุคแรกๆ แล้วในตอนนั้นคนยังจำเราไม่ได้ ไม่รู้จักชื่อเราเพราะเราเล่นเป็นตัวละครตลอด พอล้างหน้าเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วไม่มีใครจำได้ ขนาดตั้งเป็นชื่อโย่ง พิษณุโลก คนก็ยังเรียกผิดเรียกถูก คนจะเรียกเป็นพี่ยาว เพราะเคยอยู่คณะพี่ยาวมาก่อน
“หลังจากนั้นก็ได้มาเล่นก่อนบ่ายคลายเครียด กับพี่เป็ดเชิญยิ้ม จึงไปขอใช้นามสกุลเป็นเชิญยิ้ม เวลาเชิญยิ้มมีกิจกรรมอะไร เราก็จะเข้าไปร่วมด้วยตลอด และในสมัยนั้นเรายังไม่มีงานโชว์ที่ไหน เราก็ได้พี่โน้ต เชิญยิ้ม เข้ามาช่วยเหลือให้นักดนตรีพาเราเข้าไปเล่นตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิลล่าคาเฟ่ หรือพระราม 9 คาเฟ่ ซึ่งล้วนแต่เป็นที่ใหญ่ๆ ที่คณะเล็กๆ ไม่สามารถเข้าไปเล่นได้ จนกระทั่งเราได้เล่นเป็นที่ประจำ เราโชคดีที่ได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน”
ฝันที่เป็นจริง บนความสำเร็จ
“การที่เราจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จต้องเริ่มจากการที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารักจริงๆ สัจธรรมเหล่านี้ผมค่อยๆ รู้สึกเองมากกว่า เราได้คิดทบทวนในสิ่งเหล่านี้ ว่ารอยเท้าที่เราก้าวเดินมาแต่ละก้าว เรากำลังรู้สึกอย่างไร เพราะทุกๆ ก้าวที่ผ่านมาเรายังจดจำความรู้สึกเหล่านั้นมาได้โดยตลอด ผมอยู่บนพื้นฐานความจนมาก่อน แค่มีกินได้ในแต่ละวันก็ถือว่าดีแล้ว จริงๆ แล้วผมคิดว่า แก่นของชีวิตคนเรามันไม่มีอะไรเลยนะ ต่อให้เรามีรถ 2 คัน เราก็ขับได้ทีละคัน มีเสื้อผ้าหลายชุด ก็ใส่ได้ทีละชุด แค่มีพอใช้ พอกินพออยู่ก็พอแล้ว ถ้าได้มากกว่าก็ถือว่าเป็นรางวัล
“ผมมองว่าความพยายามมันไม่มีวันหมด เราพยายามให้เยอะให้ฟุ่มเฟือยเข้าไว้จะดีกว่า ความพยายามจะแลกมาด้วยสิ่งที่เราอยากได้ ผมไม่เคยรู้สึกว่าอะไรมันยาก เพราะผมไม่เคยตั้งความหวังว่า ฉันได้สิ่งนี้มาแล้วฉันจะต้องรวย จะต้องมีกินมีใช้ หรือฉันจะต้องมีชีวิตที่ดี ผมจะทำอะไรก็จะคิดแค่เพียงว่า ฉันทำสิ่งนี้แล้วฉันมีความสุข ฉันจึงลงมือทำผมถือว่าผมประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ตั้งใจทำมาแล้ว เพียงแค่ว่าเราจะตั้งจุดมุ่งหมายต่อไปว่าอย่างไรท่านั้นเอง แล้วเราก็เดินมาทางที่เราตั้งเป้าไว้ต่อไป แล้วสิ่งทั้งหลายมันก็จะตามมาเอง
“ผมคิดว่าผมเป็นนักแสดง ผมไม่กล้าเรียกตัวเองว่าศิลปิน เพราะยังมีสิ่งที่ผมยังต้องค้นหาศึกษาเพื่อแสดงอยู่เลยแล้วผมก็คิดว่าผมเองไม่ได้เก่งกาจอะไร สิ่งที่ผมทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นฉ่อย ลิเก ตลก ผมไม่สามารถบอกได้ว่าผมชอบหรือถนัดอะไรมากกว่ากัน เพราะผมชอบทั้งหมดเลย แล้วทุกอย่างมันสามารถนำมารวมเข้าด้วยกันได้ ทอล์กโชว์ครั้งแรกที่ผมทำ เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2542 ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากจุดนั้นก็ทำให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น เพราะเรามีโอกาสก่อนนักแสดงตลกคาเฟ่ที่ได้ขึ้นไปทอล์กโชว์เดี่ยว หลังจากการเล่นเป็นทีมมาตลอด หลังจากวันนั้นผ่านมาก็มีส่วนช่วยให้เราเดินทางมาถึงฝันได้จนวันนี้เช่นกัน ผมเป็นคนไม่ฝันไกล ผมจะค่อยๆ ไปทีละก้าว พอเราฝันใกล้เราจะถึงไว พอถึงเราก็ยืนให้มั่นคงเสียก่อน และเป็นธรรมดาที่จะมีอุปสรรค์ขวากหนามเข้ามา เพราะเราไม่เคยยืนอยู่ในจุดนั้นมาก่อน พอยืนได้มั่นคงแล้ว เราจึงมองหาเส้นทางต่อไปว่าเราจะเดินไปในทิศทางไหน เช่น ตอนนี้เราเล่นเพลงฉ่อยแล้ว จากนั้นก็เป็นจำอวดหน้าม่าน ต่อจากนี้ไปเราจะเริ่มรับทำขวัญนาคด้วย โดยน่าจะเริ่มรับทำต้นปีหน้า เราก็จะสามารถอนุรักษ์ศิลปะได้หลากหลายแขนง
สามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้บ่อยขึ้น
“ศิลปะมันมีความสวยงามอยู่ในตัวของมัน แต่ผมก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมทำมันมีความเป็นศิลปะมากน้อยขนาดไหน อะไรที่ผมคิดว่าเป็นศิลปะผมทำหมด เช่น เพลงฉ่อยเป็นศิลปะการร้องเพลง ลิเกเป็นศิลปะการแสดง ทอล์กโชว์เป็นศิลปะในการพูด เรียงร้อยถ้อยคำ มีชั้นเชิงลูกล่อลูกชน จำอวดหน้าม่านก็มีทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ในตัวของมัน และมันไม่มีที่สิ้นสุด ทุกครั้งที่ผมทำการแสดงผมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ผมจะเป็นประเภทครูลักพักจำอยู่แล้ว แต่บางอย่างก็คิดขึ้นใหม่บางครั้งเห็นเด็กรุ่นใหม่เล่นมุกหรือแสดงในสิ่งที่เราคิดหรือเราทำในอดีต เราจะรู้สึกชอบใจและดีใจ เพราะบางครั้งเราก็ลืมมุกนี้ไปแล้ว”
จำอวดหน้าม่าน...สืบสานเพลงฉ่อย
“ที่มาของสามน้า เริ่มจากผมรู้จักน้าพวงมาตั้งแต่สมัยที่เล่นลิเก ตอนแรกน้าพวงแกตีตะโพน ไม่ได้เล่นลิเก เจออีกทีน้าพวงได้เล่นเป็นตัวโจ๊กแล้ว พออีกสักพักน้าพวงก็ได้ขยับขึ้นเป็นพระเอก แต่เราก็ยังเป็นตัวโจ๊กอยู่เหมือนเดิม พออีกสักพักน้าพวงได้เป็นหัวหน้าคณะ แต่เรายังได้เป็นลูกน้องของคณะนี้อยู่ น้าพวงแกอยู่สายลิเกที่มีชื่อเสียงมาก่อน ส่วนน้านงค์ แกก็เล่นลิเกร่วมอยู่ในคณะเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นพรรคพวกเดียวกัน ได้มาร่วมกันในคณะโย่งเชิญยิ้ม ก็อยู่ด้วยกันมาตลอด โดยเราจะเล่นกันแบบสามคนแต่ต้องไม่ทำให้คนดูรู้สึกว่าเราเล่นกันน้อยคน เราต้องเล่นให้สนุกและตลกให้ได้เท่ากับตลกคณะหนึ่ง จนกระทั่งทางเวิร์คพ้อยได้จัดคอนเสิร์ตคุณพระช่วยครั้งแรกขึ้น เขาอยากให้เราไปเล่นหน้าม่านในช่วงพักครึ่งของการแสดงใหญ่ โดยเป็นการแสดงร้องเพลงฉ่อย ไม่คิดว่าผลตอบรับมันจะดีเกินคาด เขาจึงให้เราไปร่วมด้วยในรายการคุณพระช่วย พอรายการออกไปกระแสตอบรับที่ดีมากๆ ทำให้วัยรุ่นเด็กรุ่นใหม่รู้จักเพลงฉ่อยกันมากขึ้น เราจึงอยากให้คงอยู่และรักษาเพลงเหล่านี้เอาไว้
“ขอขอบคุณป้านกหวีดที่พาหลานฝ่าแดดตากลมข้ามทุ่งไปเอาตำรามาฝึกร้อง และมอบวิชาแขนงนี้ให้กับลูกหลาน และผมเชื่อว่าครูบาอาจารย์เขาต้องชื่นใจที่เห็นสิ่งที่เขาทำมามีชีวิตที่สดชื่นขึ้น ผมเองอยากขอโอกาสหรือพื้นที่ให้ศิลปะเพลงพื้นบ้านเหล่านี้มีพื้นที่ในการแสดงเพื่อรักษาศิลปะนี้เอาไว้ให้รุ่นต่อๆ ไปด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแค่สามน้า เพราะยังมีอีกหลายคนที่มีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นสายแม่ขวัญจิต สายพ่อหวังเต๊ะ สายแม่ศรีนวล พวกเขามีลูกศิษย์อีกเยอะที่พร้อมจะทำการแสดง และผมเชื่อว่าถ้าสามารถนำเอาการแสดงพื้นบ้านเหล่านี้มาเป็นอาชีพได้ เด็กรุ่นใหม่ก็อยากที่จะฝึก แต่ถ้าฝึกมาแล้วไม่สามารถนำมาเป็นอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ เขาก็ไม่รู้จะฝึกไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่ยังมีเด็กอีกมากมายที่อยากจะฝึกฝนเรียนรู้ในศิลปะแขนงนี้
“ผมเชื่อว่าศิลปะแขนงนี้ไม่หายไปจากหัวใจคนไทยหรอก แต่ถ้าไม่มีการส่งเสริมสนับสนุน ไม่ให้ชีวิตกับผู้ที่อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ ศิลปะนี้ก็จะหายไป ครูอาจารย์รุ่นเก่าๆ ก็จะหายไป ดั่งคำที่ว่า ชีวิตสั้นแต่ศิลปะยืนยาว ถ้าศิลปะขาดคนสืบทอดก็ไม่ต่างไปจากชีวิตที่หมดสิ้น ผมเคยคิดที่จะรวบรวมเอาความรู้ที่ผมมีมาทำเป็นตำรา แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ อีกอย่างคือสมัยนี้ค่อนข้างจะสะดวกมากขึ้น เพราะมีสื่อโซเชียลหรือสื่ออื่นๆ ให้เด็กได้ค้นหา เรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้นได้บางครั้งบางคราวเราอาจจะต้องปรับบทกลอน เพื่อให้เกิดความสละสลวยและยังคงมุกที่เติมแต่งเข้าไปด้วย ถ้าร้องกลอนให้ได้ดีต้องมีสัมผัสที่ดีด้วย ของสามน้าอาจจะไม่มีสัมผัสที่สวยนักเพราะบางครั้งเป็นเรื่องของมุก ดังนั้นอยากให้เข้าใจในส่วนนี้ด้วย มีคนมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ผมเหมือนกัน แต่ส่วนตัวผมจะแนะนำให้ไปเป็นลูกศิษย์ครูอาจารย์ที่เขาทำเป็นอาชีพดีกว่า เช่น แม่ศรีนวล แม่ขวัญจิต จะดีกว่าส่วนของพวก 3 น้า ให้ฝึกหัดจากสื่อโซเชียลก็ได้ อีกอย่างคือการแสดงประเภทนี้ยังไม่สามารถเป็นอาชีพที่ทำเงินเป็นกอบเป็นกำได้
“ของไทยเรามีดีอีกมากมาย ถ้าเราไม่ดูแลของพวกนี้ก็จะร่วงโรยไปตามกาลเวลา รุ่นลูกรุ่นหลานของเราต่อๆ ไปก็จะไม่รู้จักศิลปวัฒนธรรมนี้ เพราะมันสูญหายไป นอกจากคนรุ่นเราที่ยังสามารถสืบทอดต่อไปได้ อยากฝากเอาไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน มันเป็นเสน่ห์ของคนไทยโดยแท้จริง อยากให้ของไทยเราส่งไปถึงชาวต่างชาติบ้าง เขาจะได้รู้วัฒนธรรมของเรา เหมือนที่เราเคยรับวัฒนธรรมต่างชาติเขามาอยากให้มีผู้สืบทอดมรดกไทยเยอะๆ ครับ”