ฮูลิแกน

ฮูลิแกน

ประเทศอังกฤษบอกว่า ตอนนี้ไม่มีฮูลิแกนแล้ว แต่ไม่นานมานี้ ผมไปดูแดงเดือด พวกสเกาเซอร์ ณ แอนฟิลด์กระทืบเก้าอี้ในสนามแมนยูฯ แล้วขว้างร่อนลงสนาม เท่านั้นแหละพวกเรดอาร์มี่ 20 คน แต่งชุดนินจาดำ เอาดาบไล่ฟันหลังเกมหน้าสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด เลือดงี้สาด (ผลคือโดนตำรวจจับทั้งคู่)

สมาคมฟุตบอลของอังกฤษส่งเสียง ประเทศของเราไม่มีอันธพาลลูกหนังแล้ว แต่ไม่นานมานี้ผมไปดูเอฟเวอร์ตันปะทะเวสต์แฮม ผลก็คือระหว่างเกม พวกขุนค้อนตะโกนท้าพวกทอฟฟี่ว่า ไปต่อยกันหลังเกม อีแบบนี้เจ้าภาพมีหรือจะยอม ทั้งคู่ตะลุมบอนกันตรงลานจอดรถ (จนตำรวจม้าต้องควงกระบองฟัดแหลก)

แฟนเชลซีเห็นสองเหตุการณ์นี้ แล้วทำยี้ บอกพวกเราไม่เป็นแบบนั้น แต่ไล่หลังไม่นาน แฟนเชลซีนี่แหละ โดนคดีดูถูกสาวผิวดำในสถานีรถไฟ บวกกับเรื่องที่ไล่ชายต่างสีผิวไม่ให้เข้าขบวนรถไฟ

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ หลายคนบอกว่า ฮูลิแกนหรืออันธพาลลูกหนังยังมีอยู่ แต่สงบปากมากขึ้น ผมกลับถึงบ้านที่กรุงเทพ เปิดหนังสือ History of Football Violence ที่เขียนโดย โรบิน แมนเซอร์ และในหนังสือเขาเล่าว่า

จิมมี่ ฟาร์เรลล์ ฮูลิแกนชื่อดังคนหนึ่งของวงการช่างกลลูกหนัง เคยตั้งกฎทองเอาไว้ว่าแก๊งฮูลิแกนของเขานั้น จะมีคุณธรรม 3 – 4 ข้อในการเป็นฮูลิแกนที่สังคมต้องให้เกียรติ

ข้อที่ 1    จะต้องไม่ทำร้ายเด็กและผู้หญิงรวมไปถึงคนชรา คือถ้าเด็กปืนจะตีแฟนไก่ แล้วมีคนสูงวัยอยู่ด้วย ควรจะเอาไม้เลยข้ามหัวสาวกสเปอร์ไป

ข้อที่ 2    จะไม่ลงไปในสนามสร้างความวุ่นวายต่อเกม ข้อนี้อธิบายได้ว่า ถ้าจะตีกันต้องนัดไปล่อกันนอกสนาม ล่อกันที่หน้าผับ หรือตามชานชาลาสถานีรถไฟ ถ้าตีกันในสนามบอลถือว่าเป็นฮูลิแกนที่ไม่มีคุณธรรม

ข้อที่ 3    จะมีเรื่องเฉพาะกับแฟนบอลฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น และไม่ใส่เสื้อทีมของตัวเองเพื่อเลี่ยงการสร้าง “ความเสื่อมเสีย” ให้กับสโมสร พูดง่ายๆ คือ อย่าเอาแบบช่างกลบางแห่งของไทย  ที่วิ่งไปยิงไป  แล้วใครโดนลูกหลงตายช่างมัน

ข้อที่ 4    เดี๋ยวจะบอกตอนจบ แล้วรู้มั้ยว่า ฮูลิแกนนี่เขามีวันของพวกเขาด้วยนะ 25 พฤษภาคม 1964 คือวันฮูลิแกนโลก มันเป็นวันแรกๆ ที่ฮูลิแกนได้แสดง “บทบาทของตัวเอง” ในสนามฟุตบอลอย่างเต็มที่ (คล้ายๆ เคยตีกันเละเทะวันนั้น) แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ฮูลิแกนนั้นเกิดและมีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 หรือเกือบๆ 200 ปีที่แล้ว

ศัพท์คำว่า “ฮูลิแกน” (Hooligan) ถูกนำมาใช้ในช่วงปี 1890 โดยมีความหมายถึงพวกอันธพาล ที่มักก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านในวันที่มีการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล

จนถึงวันนี้ เวลาผ่านมานับได้ร้อยกว่าปี ความหมายของฮูลิแกนก็ไม่ได้แปรเปลี่ยนไปสักเท่าใด หนำซ้ำความรุนแรงที่คนกลุ่มนี้กระทำยังดูจะซับซ้อนมากขึ้น และเป็นไปในรูปแบบของการ “ตระเตรียม” หรือ “วางแผน” มากขึ้นด้วยในแง่หนึ่ง ถ้าพิจารณาจากลักษณะขั้นพื้นฐานของกีฬาที่เปิดโอกาสให้มีการปะทะกันนั้น “ความรุนแรง” กับ “ฟุตบอล” มีความเกี่ยวข้องกันมานับตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว

ในศตวรรษที่ 13 นั้น คือช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นต้นกำเนิดของฟุตบอลในประเทศอังกฤษ โดยคนพื้นเมืองมักจัดการละเล่นประเภทนี้ขึ้นในวันสำคัญทางศาสนา รูปแบบของเกม คล้ายกับสงครามขนาดย่อม

โดยผู้เล่นคือคนวัยหนุ่มจากหมู่บ้านและเมืองใกล้ๆ การปะทะกันเพื่อแย่งโอกาสในการนำลูกหนังกลมๆ ส่งเข้าประตูโบสถ์ ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มีความรุนแรง และเป็นไปโดยไร้กติกา โดยมีแรงกระตุ้นสำคัญคือกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน ทรัพย์สิน และอื่นๆ

เกมดังกล่าวเป็นเหมือน “ประเพณี” (tradition) และต้องมี “การดื่ม” เป็นสิ่งประกอบด้วย หลายครั้งเกิดความรุนแรงในระดับที่เกินขีดจำกัด ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจนถึงขั้นล้มตาย ซึ่งสำหรับในยุคนั้นไม่ได้ถือว่าความเสียหายต่อชีวิตที่เกิดขึ้นในเกมฟุตบอล คือ “หายนะ” ดังเช่นทุกวันนี้

การต่อยตีแบบรุมสกรัมในตอนนั้น ทำให้เกิดกฎทองข้อที่ 4 ก็คือ ห้ามมีการรุมสกรัม ถ้าจะต่อยตีโวยวายต้องล่อกันตัวๆ แบบนัดกันไปต่อยนอกสนาม จึงจะถือว่าเป็นฮูลิแกนที่มีคุณภาพและคุณธรรม แล้วลองชายตามองไปยังสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ สิ แฟนหงส์เกเรทำลายข้าวของ เด็กผีแต่งนินจาไล่เอาดาบฟัน แต่ข้อสองสอบผ่าน เพราะไปล่อกันตามหน้าสนามและสถานีรถไฟ สำหรับข้อสาม น่าจะต้องสอบซ่อม เพราะที่บอกว่าไม่ตีทีมอื่น จะตีเฉพาะฝ่ายตรงข้าม แต่นี่เห็นใครไม่ใส่เสื้อสีเดียวกับพวกมัน พี่ท่านล่อหมด

ล่อไม่ล่อเปล่า ใครไปนั่งรวมกลุ่มแล้ว “เผือก” ไม่ร้องเพลง หรือเผือกไม่ดีใจเวลายิงประตูได้ มันอาจจะหันมา “ตี” พวกเดียวกันเอง ก็เคยมี 

ก็มี “คุณธรรม” นะโว้ย