The Magic of Siamese Fighting fish | เผยเสน่ห์ปลากัดไทยลงบนภาพถ่าย

The Magic of Siamese Fighting fish | เผยเสน่ห์ปลากัดไทยลงบนภาพถ่าย

The Magic of Siamese Fighting fish : เผยเสน่ห์ปลากัดไทยลงบนภาพถ่าย
วิศรุต อังคทะวานิช

“ปลากัด” สัตว์เลี้ยงสวยงามที่มีประวัติยาวนานคู่ประวัติศาสตร์ชาวสยาม ปัจจุบันถูกเพราะเลี้ยงขยายพันธุ์เป็นปลาสวยงามส่งออกทั่วโลก และยิ่งตอกย้ำว่าเสน่ห์ของปลากัดเป็นที่ยอมรับในระดับทั่วโลก ผ่านเลนส์ของ “วิศรุต อังคทะวานิช” กับผลงานภาพถ่ายปลากัดบนมือถือยี่ห้อดังระดับโลกที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์

“ผมเกิดที่กรุงเทพฯ ความฝันตอนเด็ก ๆ อยากเป็นนักบินอวกาศเพราะว่าช่วงที่ผมเด็ก ๆ มันเป็นช่วงที่เขาสำรวจอวกาศ แล้วคุณพ่อของผมเป็นหมอเขาก็อยากให้ผมเป็นหมอ ตอนเด็ก ๆ ก็เลยอยากเป็นหมอด้วย พอโตขึ้นมาก็เลยรู้ว่าเราไม่ได้อยากเป็นหมอ เพราะเวลาเห็นเลือดและเราจะรู้สึกจิตใจไม่ค่อยดี ตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าอยากทำอะไร แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งคือผมชอบวาดรูป ชอบงานศิลปะ ชอบดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ บวกกับได้มีโอกาสไปงานแนะแนวของจุฬาฯ ก็ชอบคณะนิเทศฯ กับสถาปัตย์ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเอ็นทรานซ์ไปที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

“ที่บ้านผมเขามีการถ่ายภาพกันตั้งแต่รุ่นปู่ สมัยก่อนนั้นการถ่ายรูปมักจะถ่ายกันในโอกาสพิเศษ ทั้งไปเที่ยว วันเกิด งานปาร์ตี้ เราก็รู้สึกว่าการถ่ายรูปมันเป็นอะไรที่พิเศษในชีวิต เริ่มถ่ายรูปจริงจังช่วง ม.2-ม.3 ที่บ้านก็จะมี Magazine เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ผมก็นั่งศึกษาเอง อ่านว่า ผมเป็นคนที่ Self-Learning เพราะสมัยก่อนก็ไม่มีครูมาสอนถ่ายรูป อยากรู้อะไรก็ต้องไปอ่านหนังสืออ่านในบ้านไม่พอก็ไปห้องสมุด ก็ถ่ายเป็นงานอดิเรกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มมีงานถ่ายงานแต่งงาน งานรับปริญญา

“หลังจากเรียนจบผมทำงานเป็น Art Director พวกงาน Graphic Design ทำได้สักปีกว่า ๆ ผมก็ออกมารับงานเอง การทำกราฟฟิกก็มีปัญหาเรื่องหาช่างภาพไม่ได้ สมัยก่อนช่างภาพน้อยมากโดยเฉพาะช่างภาพถ่ายโฆษณาทั้งน้อยและก็ค่าตัวแพงมาก บางทีงานงานนึงได้ตังค์มาไม่พอค่าตัวของช่างภาพด้วยซ้ำไป ก็เลยคิดว่าเราจะต้องถ่ายเองแล้วแหละ ก็เลยต้องไปเรียนเพิ่มโดยอ่านหนังสือเอา 

“ผมเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวไม่ค่อยโปรโมทตัวเอง แล้วงานก็จะมาจากคนรู้จัก จากคนบอกต่อ คนข้างนอกจะไม่ค่อยรู้จักผมสักเท่าไหร่ จนกระทั่งเริ่มมี Social Media เพื่อนผมจึงชักชวนก็ลองดูนำรูปถ่ายไปฝากไว้ที่เว็บฝรั่ง งานพวก Stock Photo มันไม่มีโจทย์เหมือนงาน Commercial ทั่ว ๆ ไป ฉะนั้นมันก็อยู่ที่ว่าเราจะคิดอะไร ชอบทำอะไร กอปรกับตอนนั้นได้ไปเจอปลาทองที่มันเป็นสีสันใหม่ ๆ ที่จตุจักร ก็เลยซื้อมาเลี้ยง แล้วลองถ่ายรูป ส่วนภาพที่ออกมาก็ดูแปลกตาดี ก็ถ่ายไปลง Stock Photo ส่วนงานปลากัดก็เริ่มถ่ายถัดมา ซึ่งก็ไม่การนำไปไว้ในเว็บประเภท Online Portfolio ของต่างประเทศด้วย

“วิธีถ่ายของผมก็คือผมไม่ได้คิดว่าขายปลา เพราะฉะนั้นผมก็ถ่ายในสิ่งที่ผมอยากเห็น งานของผมรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ตรงหาง เสน่ห์ตรงการเคลื่อนไหว ตอนแรก ๆ ที่ลงใน Facebook ก็ยังไม่มีกระแสอะไรมากนัก เหมือนกับว่ามันยังไม่มีกระแสจากต่างชาติ เหมือนบ้านเรามี Perception ว่าของไทยไม่เจ๋งของนอกเจ๋งกว่า หลังจากนั้นสักพักก็มีพวกบล็อกที่เกี่ยวกับงานดีไซน์ติดต่อเอาไปลง มี Magazine ในวงการศิลปะบ้าง ถ่ายภาพบ้าง จากหลาย ๆ ประเทศมาติดต่อหลังจากนั้นงานผมก็เป็นไวรัลไปเลย คืองานผมจะไปเริ่มจากเมืองนอกกลับมาเมืองไทยมากกว่า หลังจากนั้น ก็มีหลาย ๆ แบรนด์มาขอร่วมงานด้วย จนได้ร่วมงานกับมือถือยี่ห้อดังระดับโลก 

“ผลงานที่คิดว่าเป็นระดับมาสเตอร์พีชของผม ผมไม่สามารถบอกได้ มันต้องผ่านเวลา บางทีมันอาจจะต้องรอเวลาผมตายไปแล้ว มันต้องเป็นสิ่งที่คนอื่นบอก คืออย่างแวนโก๊ะ ก็คงไม่บอกหรอกว่างานของเขาเป็นมาสเตอรพีช ถึงบอกก็ไม่มีใครเชื่อในเวลานั้น เพราะว่าของพวกนี้มันเป็นเรื่องของคนอื่นพูดถึงงาน แต่ตอนนี้เวลาทำงานผมก็คิดว่าทุกงานมันก็คืองานที่เราต้องทำให้ดีที่สุด มันไม่ใช่ทำแล้วได้ตังเยอะที่สุด มันคือความพยายามที่เราต้องใส่ไปให้เต็มที่ 

“การถ่ายภาพทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถถ่ายได้เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่วัตถุประสงค์ของแต่ละคนแล้วว่าถ่ายภาพเพื่ออะไร วัตถุประสงค์คนละอย่างมันก็มีวิธีการที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมอาจจะแนะนำคนที่อยากจะประสบความสำเร็จได้ยาก แต่ที่เราต้องรู้จักตัวเอง คิดอะไรที่มันใหม่ คำว่าใหม่ในที่นี้คือ ไม่ใช่ว่าเราไปดูเทรนด์ที่เขาทำแล้วเราก็ทำตาม อย่างผมถ่ายปลาซึ่งเป็นปลาของไทยถ้าผมไปคิดว่าผมต้องทำตามฝรั่ง ผมก็คงมองข้ามปลากัดไป 

“เพราะฉะนั้นกลับมาที่ตัวเองว่าคุณเป็นใคร ดึงความเป็นตัวคุณเองออกมามานั่นแหละคือวิถีทาง ส่วนจะดีแค่ไหนไปไกลแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าคุณเป็นคนพัฒนามันแล้วก็พิสูจน์ตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ยอมรับสิ่งที่คุณเป็น พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น งานถ่ายภาพมันไม่ได้มาจากเทคนิคหรอกมันมาจากตัวเรา ถ้าเราอยากจะพัฒนางานถ่ายภาพเราต้องพัฒนาตัวเอง”

ถึงแม้ว่าเขาเองจะไม่สามารถบอกได้ว่าผลงานที่เป็นมาสเตอรพีชของเขาคือชิ้นไหน แถมรายละเอียดในการร่วมงานกับมือถือยี่ห้อดังระดับโลกก็ยังมีข้อจำกัดในการเปิดเผยข้อมูล แต่เราก็ขอร่วมภาคภูมิใจไปกับเขาเอง ที่นำปลาสวยงามของไทยไปแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็น และขอยกผลงานภาพชิ้นนี้แหละ ว่าเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีชของเขาในขณะนี้ 

“ปลากัด” สัตว์เลี้ยงสวยงามที่มีประวัติยาวนานคู่ประวัติศาสตร์ชาวสยาม ปัจจุบันถูกเพราะเลี้ยงขยายพันธุ์เป็นปลาสวยงามส่งออกทั่วโลก