ผู้สร้างสรรค์ศิลปะของเสียงเพลง

ผู้สร้างสรรค์ศิลปะของเสียงเพลง

Legend of Jazz : ผู้สร้างสรรค์ศิลปะของเสียงเพลง
เทวัญ ทรัพย์แสนยากร 

นักดนตรีแจ๊สโดยเฉพาะผู้เป่าแซกโซโฟนที่คนไทยจดจำได้เป็นคนแรก ๆ ของประเทศ ก็คือ อาจารย์ต๋อง เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ผู้อยู่ในวงการดนตรีมาอย่างโชกโชนยาวนานหลายสิบปี ด้วยฝีไม้ลายมือการเล่นดนตรีอย่างพลิ้วไหวด้วยเทคนิคชั้นสูง จึงได้รับการรับยอมจากคนในวงการดนตรีมาโดยตลอดในวันนี้เรามาพูดคุยนักดนตรีแจ๊สที่ว่ากันว่าคือมือหนึ่งของประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้นเล่นดนตรีจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

อาจารย์เทวัญเกิดที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นข้าราชการมีคุณแม่เป็นแม่บ้าน แต่สิ่งอาจารย์เทวัญในวัยเด็กต่างจากคนอื่นคือ เป็นคนที่ชอบฟังเพลงทุกประเภทเป็นอย่างมาก จึงชอบเรื่องของดนตรีมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งเข้ามาเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จึงได้พบกับวงดุริยางค์ของโรงเรียน แต่ในขณะนั้นยังเล่นดนตรีไม่เป็น และไม่ได้เป็นสมาชิกวงดุริยางค์ แต่ด้วยความชอบก็แอบเข้าไปในห้องดนตรีเพื่อทำการซ้อมเป่า จนเกิดเสียงดนตรีหลังจากนั้นก็ทำการซ้อมด้วยตัวเองมาโดยตลอด

มาวันหนึ่งวงดุริยางค์ขาดคนเล่น เฟรนช์ฮอร์น (Frenchhorn) จึงเป็นโอกาสที่อาจารย์เทวัญได้เข้าร่วมเล่นในวงอย่างเป็นทางการ ซึ่งต่อมาได้มีการประกวดแข่งขันวงดุริยางค์ระดับประเทศในปี พ.ศ. 2503 ซึ่งวงดุริยางค์ของโรงเรียนคว้ารางวัลที่ 2 ของประเทศมาครองได้

จนกระทั่งในช่วงมัธยมปลายซึ่งเป็นทางเลือกของชีวิตว่าจะต้องสอบเรียนต่อที่อื่น แต่ด้วยเพื่อนคนหนึ่งได้แนะนำว่าถ้าชอบดนตรีให้มาที่ศูนย์เยาวชนเพราะมีการเรียนการสอนดนตรีที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งที่ศูนย์แห่งนี้เองมีแซกโซโฟนเหลืออยู่เพียงหนึ่งตัวพอดี อาจารย์เทวัญจึงลองเป่าดูปรากฏว่าเป่าได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป่าแซกโซโฟนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

“การเรียนแซกโซโฟนของผมคือหัดด้วยตัวเองก็หาหนังสือมาอ่านไม่เข้าใจก็ถามอาจารย์เพิ่มเติม ผมคิดว่าถ้าตัวเองมีพรสวรรค์มันน่าจะได้ดีกว่านี้ เพราะที่เคยเห็นก็มีเด็กอัจฉริยะที่ทำได้มากกว่าคนปกติเยอะ ซึ่งผมคงจะมีแค่ส่วนหนึ่งในแง่ที่ว่าคิดแล้วมันโดนเล่นได้พอดี ซึ่งการที่เราเล่นดนตรีตรงนี้มีการตั้งปณิธานว่า เราต้องทำความไพเราะให้ได้ เหมือนที่คุณจะไปเรียนวาดรูป คุณต้องวาดความสวยงามให้ได้ ถ้าคุณตกตรงนี้คุณก็แค่พื้น ๆ เหมือนคนธรรมดาทั่วไป บางคนเล่นดนตรีได้แต่ความไพเราะยังไม่เกิด ทำได้หนักเบาเฉย ๆ ความลึกซึ้งจึงเข้าไปไม่ถึง

“พอเข้ามาเรียนที่ศูนย์เยาวชนเพื่อนรุ่นพี่ก็ชวนไปแสดงดนตรีร่วมกับเล่นคณะรำวง คือชีวิตช่วงนั้นมันรวดเร็วไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นนักดนตรีอาชีพ พอเล่นกับรำวงได้ก็มีคนชวนเข้าไปเล่นตามห้องอาหาร หลังจากนั้นก็มาเล่นในไนต์คลับเลย เหมือนเส้นทางมันเดินไปพอดี คราวนี้ไปตรงไหนก็จะมีคนบอกว่าเด็กหนุ่มคนนี้ฝีมือไม่ธรรมดานะ แล้วท้ายสุดผมได้มาเล่นที่ไนท์คลับที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในตอนนั้น ซึ่งมีนักร้องดัง ๆ ในยุคนั้นก็คือ สุเทพ วงศ์กําแหง, ธานินทร์ อินทรเทพ, รวงทอง ทองลั่นทม ฯลฯ

“การเข้ามาเล่นดนตรีในกรุงเทพฯ ผมมีโอกาสเข้าไปอยู่ในวง เดอะ ไวท์เฮ้าท์ แสดงที่โลลิต้าไนท์คลับระหว่างนั้นผมได้เข้าไปศึกษาเพิ่มเติมที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการในภาควิชาเรียบเรียงเสียงประสาน ผมได้รับการถ่ายทอดวิชาจากอาจารย์แมนรัฐซึ่งท่านไปเรียนมาจากศิลปินแจ๊สชาวอเมริกาซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกแล้วนำมาถ่ายทอดไว้ที่สถาบัน ซึ่งผมก็ไปเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานในสไตล์แจ๊สบิ๊กแบนด์ ซึ่งนำมาใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ด้วย

“ผมรับงานแสดงไนท์คลับก็ทำอย่างนี้มาเรื่อย ๆ จนมีคนเริ่มรู้จักชื่อเสียงว่าคนเป่าแซกโซโฟนหนุ่มที่ไม่ธรรมดา ชื่อของต๋องเทวัญจึงเริ่มเกิดขึ้น ต่อมาจากวง ดิอิมพอสซิเบิ้ลซึ่งเป็นวงที่โด่งดังในยุคนั้นได้มีการยุบวง คุณ เรวัติ พุทธินันทน์ จึงได้ตั้งวงใหม่ชื่อว่าวง Oriental Funk ผมได้รับติดต่อจาก คุณศรายุทธ สุปัญโญ ให้มาร่วมวงด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะไปทัวร์ในต่างประเทศ

“หลังจากที่วงกลับมาจากต่างประเทศ โรงแรมมณเฑียรเขาได้ทำคลับแนวดิสโก้เทคก็เลยให้วง Oriental Funk มาเล่นประจำซึ่งก็ทำให้วงนี้มีชื่อเสียงเป็นระดับเกรด A ของประเทศไทยในตอนนั้น เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในวงการดนตรีและสังคมทั่วไป ในภายหลังถึงจุดอิ่มตัวก็มีการแยกย้ายกันไปทำงานของแต่ละคน 

“ผมคิดไว้แล้วว่าสักวันต้องทำการแสดงเป็นแบบ One Man Show และตั้งแต่วันนั้นก็ทำเป็น ต๋องโชว์ คือการเป่าแซกโซโฟนโชว์คนเดียวผมเป็นคนแรก ๆ ในยุค ราว 50 ปีที่ผ่านมาที่ทำเป็นนักโซโล่เดี่ยว ซึ่งบ้านเราตอนนั้นไม่มีนักโซโล่เพราะนักดนตรีส่วนใหญ่จะเล่นกันเป็นวงเล่นเพื่อให้นักร้องร้องเท่านั้นเอง พอผมทำออกมาจึงทำให้คนรู้จัก ต๋อง เทวัญ มากขึ้น

“พอเริ่มมีชื่อเสียงศิลปินเพลงแทบทุกท่านในยุคนั้นก็เชิญผมไปเล่นดนตรีให้ ก็มีตั้งแต่วงแกรนด์เอ็กซ์, วงอินโนเซ้นท์, พัชรา แวงวรรณ อย่างของค่ายแกรมมี่ผมไปเป่าให้แทบทั้งหมดเช่น ตู่ นันทิดา, แหวน ฐิติมา หรือแม้กระทั่งเพลงของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย ผมก็ไปช่วยเป่าแซกโซโฟนมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีเพลงโฆษณาที่ผมได้ร่วมงานเยอะมาก

“สิ่งที่ผมมีต่างจากนักดนตรีปกติคือ ผมเป็นนักดนตรีที่สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ให้กับเสียงเพลงได้ ซึ่งเมื่อก่อนนักดนตรีในลักษณะนี้มีจำนวนน้อย ส่วนมากเขาจะเล่นตามคำสั่ง ซึ่งผมตั้งใจที่จะเป็นนักดนตรีโชว์เดี่ยวที่เป่าแซกโซโฟน ซึ่งไม่มีใครเคยกล้าทำมาก่อนในประเทศไทยผมเป็นคนนำร่องขึ้นมาเลย

“แต่ความเป็นศิลปินต้องผสานให้เข้ากับความเข้าใจของสื่อมวลชนให้พอดีด้วย มันต้องเริ่มจากการที่เขาติดตามผลงานของผมมาพอสมควร การที่สื่อจะเขียนสิ่งที่เขาต้องการออกมาจึงทำได้จัดเจนขึ้นในคำจำกัดความของเทวัญ ผมไปในแต่ละครั้งที่มีการให้สัมภาษณ์ บางคนเขาก็ให้ฉายาเรามาอย่างเช่น แซกโซโฟนมือหนึ่งของประเทศไทยซึ่งผมไม่กล้าพูดเอง แต่มาจากสื่อมวลชนและประชาชนที่เห็นผลงานของเราเอง

“แม้ผมจะเป็นศิลปินเดี่ยว แต่ตัวเองยังไปทำวงดนตรีอินฟินิตี้ ร่วมกับคุณ ศรายุทธ สุปัญโญ ในสไตล์ฟิวชั่นป๊อบแจ๊ส ผมก็ไปเป่าให้หลายอัลบั้มว่าเป็นวงแจ๊สแนวฟิวชั่น และเป็นวงแรกของประเทศไทยที่มีผลงานออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งสมัยก่อนวงดนตรีแจ๊สแต่ส่วนใหญ่ไม่มีผลงานออกมา เราก็ไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดของวงในยุคนั้น

“นอกจากนี้ผมยังได้ร่วมวง กังสดาล ร่วมกับคุณอัมพร จักกะพาก ที่ใช้เครื่องดนตรีไทยอย่าง ปี่ ขลุ่ย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ระนาดบรรเลงร่วมกับโซปราโน อัลโตแซ็กโซโฟน นำเพลงไทยเดิมมาเรียบเรียงในรูปแบบแจ๊ส เป็นการเปลี่ยนวิธีการแนวผสมผสาน เป็นการทำสิ่งที่มีให้มีความโมเดิร์นขึ้น 

“ส่วนตัวผมเองยังอยากทำอะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาจึงลองเปลี่ยนมาทำแนว แนวแจ๊สร่วมสมัยในแบบของตัวเองดูบ้างจึงมาทำวงที่ชื่อว่า เทวัญ โนเวล แจ๊ส เป็นป๊อบ-แจ๊ส ฟิวชั่น ที่ผสมผสานความเป็นไทย ซึ่งก็มีเพลงทั้งไทยเดิมและเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ 

“ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจทำวงในครั้งแรกผมประกาศหาสมาชิกใครที่คิดว่ามีความสามารถก็อยากให้เขามา ก็มีนักนักดนตรีกลุ่มหนึ่งมาสมัครคือตระกูล ปานพุ่ม พี่ชายของแมว จิรศักดิ์ ชื่อคุณวิบูลย์ ปานพุ่ม เข้ามาหาผมแล้วบอกว่าเดี๋ยวพวกผมจะเล่นให้ดู คือเขามากัน 3-4 พี่น้องครบวงเลย ผมก็ดูว่าพกวเขาจะเล่นเข้ากันได้ไหมคือความตั้งใจและฝีมือการเล่นดนตรีของพวกเขาถือว่าดีมาก ผมก็ตั้งวงขึ้นมาเลยมี เบส กลอง กีตาร์ และตัวผมก็เล่นแซกโซโฟนไปโชว์ที่ไหนก็มีคนนั่งฟัง

“พวกเราก็เล่นดนตรีกันมาเรื่อย ๆ ต่อมาภายหลังคิดว่าควรเอาเครื่องดนตรีไทยเข้ามาร่วมด้วยสัก 1 ชิ้น ผมเลือกเอาระนาดเข้ามาผสม จึงมีนักดนตรีเพิ่มมาอีกคนหนึ่งคือคุณบุญยงค์ ฟักภู่ มาเป็นมือตีระนาด กลายเป็น วงเทวัญ โนเวล แจ๊ส ที่ชัดเจนมากเป็นแจ๊สแนว Contemporary สไตล์ร่วมสมัยที่สร้างสรรค์

“วงเทวัญ โนเวล แจ๊ส ก็ไปคว้ารางวัลวงยอดเยี่ยมในงาน แจ๊สเฟสติวัลในเอเชีย ซึ่งจัดที่มาเลเซีย เป็นงานแจ๊สเฟสติวัลที่ใหญ่ คือในยุคนั้นคนส่วนมากจะมาดูวงของผมแสดงว่าสร้างรูปแบบวงที่มีความแปลกใหม่ซึ่งวงของเราในตอนนั้นถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลกแล้ว ในภายหลังผมได้ขยายวงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นการเพิ่มสีสันเข้าไปกลายเป็นวงเทวัญ โนเวล แจ๊สใหญ่ มีจำนวนสมาชิก 10 กว่าคน ใช้เครื่องดนตรีไทยผสมเกินครึ่ง คือ ระนาด ขิม ขลุ่ย วงดนตรีในยุคนั้นจึงมีความเป็นไทยค่อนข้างสูงในขณะที่วงในช่วงแรกออกแนวโมเดิร์นแต่ช่วงหลังออกแนวความเป็นไทยมากขึ้น

“แต่การทำวงที่ใหญ่ขึ้นมันก็มีความยากคือ จำนวนคนที่มากการซ้อมของวงอาจไม่สมบูรณ์เต็มที่ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาบ้าง ระบบการจัดการในช่วงแรกจึงยังไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่ แต่เราก็ปรับเปลี่ยนกันมาจนดีได้ในภายหลัง โดยจุดเด่นคือเรามีคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรงมีการครีเอทีฟอยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการนำร่องวงดนตรีแนว Contemporary ในประเทศไทย ซึ่งก็คือแนวแจ๊สที่ผมบุกเบิกมา ทุกวันนี้ช่วงหลังมีคนอื่นทำกันหลายวงแล้วซึ่งวิธีการแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน 

“วิธีการนำเครื่องดนตรีต่างประเภทมารวมกันมันต้องใช้วิธีการหลอมรวมให้เป็นหนึ่ง ไม่ใช่การเอาเครื่องดนตรีไทยมาเล่นผสมเครื่องดนตรีสากลเลย แบบนี้มันเหมือนเอาเครื่องดนตรีมาให้อยู่คู่กันเฉย ๆ มันไม่ผสานสอดคล้องซึ่งมีส่วนเสียมากกว่า แต่การทำงานของผมได้วางแพทเทิร์นของคอร์ดฮาโมนิคต่าง ๆ และการทำริทึ่มให้กลองตีอย่างไรก็จะฉีกออกไป และทุกคนจะต้องเล่นในสิ่งที่เราหลอมขึ้นมาใหม่ คือไม่ให้เป็นสากลทั้งหมดและไม่เป็นไทยทั้งหมด คือเมื่อหลอมรวมจะเป็นอะไรก็ได้ แต่อย่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชัดเจนขึ้นมา 

“เรื่องของดนตรีมันก็เหมือนกับโลกของเราที่มีหลายสิ่งประกอบกัน ผมยกตัวอย่างมันมีภาษามากมาย เรารู้ว่าภาษาเกาหลีและภาษาญี่ปุ่นอยู่ใกล้กันรู้ว่าพูดอย่างไรเราฟังไม่ออกแปลไม่ได้ แต่ทำไมเราถึงสามารถแยกทั้งสองภาษานี้ได้ว่าอย่างไหนคือภาษาเกาหลีหรือภาษาญี่ปุ่น เรื่องของดนตรีก็เหมือนกันเลย ถ้านักดนตรีคนไหนแยกความต่างนี้ไม่ออกจะทำงานแนวสร้างสรรค์ยากนิดหนึ่ง เป็นเพียงคนที่นำเครื่องดนตรีมาผสมกันแค่นั้นเอง

“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้ทำร่วมกับการเล่นดนตรีคือการสร้างคาแรคเตอร์ตัวเองขึ้นมาให้คนได้จดจำ มันเป็นแก๊กหนึ่งที่คิดขึ้นมา ผมคิดว่าทุกคนควรต้องสร้างอยู่แล้วแต่ว่ามันต้องถาวร ซึ่งยังไม่มีใครทำในสิ่งที่ผมทำ แล้วผมจะไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นทำมาก่อน อย่างการตัดผมทรงโมฮอกหรือทรงที่คนปกติเขาตัดกัน ผมก็ทำทรงผมที่มันเกิดความสมดุลจนในที่สุดก็ได้ทรงที่เหมาะสมกับตัวเอง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมไปทำการแสดงที่ประเทศอเมริกา คนผิวดำเดินสวนกับผมเขาหันมามองยกนิ้วให้ด้วยชื่นชอบในคาแรคเตอร์ถึงขนาดต้องหันมาชื่นชม เหมือนเป็นการเซอร์ไพรส์สำหรับเขาด้วย

“จากการที่ผมอยู่ในวงการเพลงแจ๊สมาตลอด ผมคิดว่านักดนตรีรุ่นใหม่เก่งขึ้นมีการพัฒนาขึ้นมากต้องขอบคุณสถาบันการศึกษาเปิดสอนอย่างเป็นระบบ เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นแหล่งผลิตบุคคลกรด้านดนตรีที่มีคุณภาพ เรามีนักดนตรีมาตรฐานเท่ากับระดับอินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศไทยทุกแขนง ทั้งแนวคลาสสิกเราก็พร้อมหมด ในเชิงฝีมือถือว่าดีขึ้นมากแต่ในเชิงสร้างสรรค์ต้องเสริมอีกหน่อยเพราะนักดนตรีต้องสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น

“อีกด้านหนึ่งในชีวิตของผมก็ภูมิใจนะที่มีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่ผมทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านผมได้พบเจอแฟนเพลงหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นหนักงานช่วยงานในครัวโรงแรมที่เดินมาบอกผมว่า ผมฟังเพลงอาจารย์ทุกชุดเลยคือแค่นี้ผมก็ดีใจมากแล้ว ซึ่งแฟนเพลงของผมมีหลายระดับไม่ได้แบ่งแยกว่าต้องเป็นคนรวยหรือคนจนเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ถ้าเขาเข้าใจในงานเราเขาก็จะตามเราตลอด

“ในการที่คนยกย่องว่าผมเป็นนักดนตรีแจ๊สระดับต้น ๆ ของประเทศเราก็ต้องเก็บเอาไว้ข้างในเพราะมันก็เป็นมุมหนึ่ง แต่ที่เราทำคือการให้ความสุขคนในด้านเสียงดนตรี ซึ่งธรรมชาติของผมจะทำให้สิ่งที่คนอื่นไม่ทำ ซึ่งเป็นไปในแนวทางสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่ทำให้แย่ลง แต่ไม่ใช่บอกว่าทำแล้วดีกว่าต้องสัมผัสเอง สมมุติว่ามีทางเดินอยู่ 3 ทาง ซึ่งทุกทางสามารถไปถึงจุดหมายได้ แต่คนส่วนใหญ่มักใช้ทางราบเรียบอยู่เพียงเส้นทางเดียว แม้ว่าทางอื่นมันจะขรุขระบ้างแต่มันก็ไปถึงปลายทางได้เหมือนกัน 

Did you know
•    ชื่อที่เป็นทางการของอาจารย์เทวัญคือ เมธวัชร์ ทรัพย์แสนยากร 
•    เครื่องดนตรีที่อาจารย์เทวัญเล่นแล้วเป็นที่จดจำคือ แซกโซโฟน ขลุ่ย ไวโอลิน 
•    ผลงานเดี่ยวของอาจารย์เทวัญ
•    Novel Jazz (พ.ศ. 2535)
•    อ้อน (พ.ศ. 2536)
•    เทวัญ โนเวล แจ๊ส 3 (พ.ศ. 2543)
•    เทวัญ และ ลินเดอแมนน์ สองขั้วจั่วแจ๊ส (พ.ศ. 2544)
•    It’s Possible (พ.ศ. 2552)
•    Unseen Melodies

TEXT : Passaponge Prerajirarat
ช่างภาพ  : Nutchanun Chotiphan

#mixmagazinethailand