ชาตรี ลดาลลิตสกุล : จิตตะวันออกในร่างสากล | Issue 166

ชาตรี ลดาลลิตสกุล : จิตตะวันออกในร่างสากล | Issue 166

“คมในฝัก” คือสำนวนไทยซึ่งพูดถึงคนที่ภายนอกดูนิ่งสงบเสงี่ยม แต่เมื่อพูดหรือกระทำสิ่งใดออกมา จึงรู้ว่า มีความรู้ความสามารถสูง เราไม่ได้กล่าวเกินเลยไปนัก ถ้าจะพูดถึง อาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล คือบุคคลประเภทนี้ เพราะด้วยบุคลิกภายนอกท่านที่ดูสุภาพ พูดน้อย อยู่แบบเงียบ ๆ เรียบง่าย ไม่ออกงานสังคม ตรงนี้เองเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงแทบไม่เคยเห็นท่านออกสื่อมากนัก แต่ในเรื่องแนวคิดด้านสังคมหรือแนวคิดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ กลับตรงกันข้าม ท่านเข้าถึงแก่นแท้ ตกผลึกทางความคิด มีผลงานที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศมากมาย อาทิ “กลุ่มอาคารภูมิพลสังคีต (ฝั่งตะวันตก)” วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัล “สถาปนิกดีเด่น” จากสมาคมสถาปนิกสยาม ปีพ.ศ.2557 ปัจจุบันท่าน ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสถาปนิกโครงการ อาคารรัฐสภาไทย (สัปปายะสภาสถาน) และเป็นเจ้าของบริษัท ต้นศิลป์ สตูดิโอ

ด้วยการทำงานต่อเนื่องหลายสิบปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในมาตรฐานที่สูง ท่านจึงได้รับเลือกให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พ.ศ.2562 ในปีที่ผ่านมานี้เอง

อาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล : ปกติผมเป็นคนใช้ชีวิตง่าย ๆ แต่ว่าพอไปเป็นศิลปินแห่งชาติบางครั้งจะต้องไปเข้าสังคม ซึ่งอาจทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อย แต่ก็รู้สึกอีกแบบหนึ่งที่มีเพื่อนหรือคนรู้จักเพิ่มขึ้น เพราะปกติผมเป็นคนที่อยู่ตามลำพังได้

การเป็นศิลปินแห่งชาติสำหรับผม ตอนนี้ก็เหมือนเป็นคนของชาติไปแล้ว งานที่ทำออกมาอาจจะต้องเป็นสมบัติของชาติ ดังนั้นความรับผิดชอบหรือความตั้งใจต้องทำงานให้ดี เหมือนอย่างที่เราทำมาหรือว่าการที่เราจะถ่ายทอดความรู้ ให้คนอื่นก็จึงเป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตของเราหลังจากนี้ครับ”

อาจารย์ชาตรีเกิดและเติบโตที่ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน โดยมีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ท่านเป็นคนเล็กสุด ครอบครัวประกอบอาชีพขายก๋วยเตี๋ยวและขายน้ำแข็ง อาจารย์ชาตรีเล่าถึงอดีตว่าการเกิดมาเป็น ลูกคนเล็กแม้จะมีพี่ ๆ คอยช่วยทำงาน แต่ตัวท่านเองก็มีหน้าที่ อย่างการตื่นตี 5 ในหน้าร้อนมาเลื่อยน้ำแข็งวันละ 200 ลูก เรียกได้ว่ามีแขนที่แข็งแรงมากสามารถงัดข้อกับใครก็ชนะหมด

ในสมัยเป็นนักเรียนนั้นแม้จะอยู่ต่างจังหวัดแต่ท่าน เป็นคนเรียนดี ท่านเรียกตัวเองว่าเก่งบ้านนอกคือ สอบได้ที่1ของอำเภอและเป็นนักเรียนทุนมาตั้งแต่เด็กท่านเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นที่โรงเรียนจอมทอง ก่อนจะมาเรียนต่อมศ.4 ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จนกระทั่งจบชั้น มศ.5 จึงทำการสอบเอนทรานซ์เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย แต่ปรากฏว่าสอบไม่ติดจึงเสียใจมากเนื่องจากเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันสอบติดหมด จึงเบนเข็มมาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เป็น ช่วงเวลาเดียวกับเกิดเหตุการณ์เหตุการณ์ 6 ตุลาคมพ.ศ. 2519 จึงตัดสินใจเลิกเรียนแล้วกลับบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่

อาจารย์ชาตรีมีพี่ชายอยู่ท่านหนึ่ง ซึ่งได้เข้าไปเรียนวิทยาลัยเพาะช่างก่อนหน้านี้แล้ว (เรียนรุ่นเดียวกับอาจารย์เฉลิมชัย) ซึ่งตัวอาจารย์ชาตรีเป็นคนมีพื้นฐานด้านวิชาคณิตศาสตร์และวิชาสามัญทั่วไปดี จึงไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถทางด้านศิลปะซ่อนอยู่ (เพิ่งมารู้ตอนที่ตัวเองโตแล้ว) พี่ชายจึงแนะนำให้มาสอบเอนทรานซ์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนในที่สุดอาจารย์ชาตรีก็สอบได้เข้าเป็นนิสิตจุฬาอย่างเต็มตัว

อาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล : เมื่อเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ ผมอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จจากการเรียนสถาปัตย์ เนื่องจากมีความเห็นที่ไม่ตรงกับอาจารย์ในสมัยนั้นเป็นยุคหลัง 6 ตุลาคม ผมมีความคิดเป็นของตัวเอง ทุกวันก็เรียนเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น แต่จะเน้นไปที่การทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนามาก ๆ ใน 5 ปีที่เรียนผมทำค่ายไป 10 ค่ายคือทุก ๆ ปิดเทอมผมไม่ได้กลับบ้านเลย

ซึ่งตอนที่กำลังเรียนจบผมตัดสินใจว่าจะไม่เป็นสถาปนิก ผมก็เขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปติดไว้ที่สตูดิโอว่า ขอลาออกจากการเป็นสถาปนิก เพราะความคิดเราในสมัยนั้นคิดว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่รับใช้คนรวย ซึ่งไม่มีใครมองว่าเรามีความสามารถเลย ตอนนั้นผมอยากจะเป็นศิลปิน อยากจะเป็นจิตรกร อยากจะเขียนหนังสือเมื่อเรียนจบที่จุฬาฯ ผมจึงตัดสินใจไปเป็นบัณฑิตอาสาสมัครของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากร บัณฑิตอาสาสมัครจะเป็นหลักสูตรที่จะส่งบัณฑิตไปอยู่ในชนบท คือมันไม่เหมือนค่ายอาสาสมัคร ค่ายอาสาสมัครมันจะเหมือนเราไปทำงานสังคมที่สั้นกว่า

ชีวิตบัณฑิตอาสาสมัคร ปีนั้นเป็นปีที่สว่างไสวในชีวิตผมมาก ลองคิดดู ว่าคนเรามีชีวิตอยู่ในทุก ๆ วัน แต่บางปีเราจำมันไม่ได้เลยเพราะเรามีชีวิตที่ทำซ้ำ ๆ มากจนเกินไป แต่ว่าปีที่ไปเป็นอาสาสมัครมันเป็นปีที่ผมจำรายละเอียดอะไรได้ทุกอย่าง ผมเป็นครูอยู่ที่อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย ชื่อโรงเรียนบ้านไทยเสรี เป็นโรงเรียนหลังคามุงหญ้ามีเสาอยู่ 6 ต้น และม้านั่งก็เสียบปักอยู่บนดิน มีชั้นเรียนรวมกัน ป. 1 ถึง ป. 4 มีนักเรียน 30 กว่าคน แต่มีครูคนเดียวที่ไม่เคยขาดโรงเรียนเลย คราวนี้ พอผมไป เป็นจังหวะที่ครูเขาได้ขาดสอนได้บ้าง คือให้ผมได้สอนป. 3-ป. 4 ส่วนครูประจำสอน ป. 1-ป. 2 แต่บางครั้งเวลาสอน 4 ชั้นรวมกันมันก็ลำบากมาก

ด้วยความที่เราเป็นกบฏตอนที่กลับจากชนบทมา ทางต้นสังกัดจะมีหลักสูตรว่าให้เขียนเป็นสารนิพนธ์ แต่เขาจะให้เขียนในระเบียบวิธีในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่พวกเราเป็นศิลปินก็เลยขอเปลี่ยนเป็นกวีนิพนธ์ หรือศิลปนิพนธ์ แต่เขาไม่ให้เขียนกลุ่มผมก็เลยไม่เขียน ปรากฏว่าในรุ่นผม 80 คน มีคนเขียนสารนิพนธ์แค่ 12 คน ที่เหลือไม่เขียน พูดง่าย ๆ ว่าไม่จบหลักสูตรเพราะเราไม่ได้กลับมาทำ Paper ต่อ นั่นเอง

อาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล : พอกลับมากรุงเทพฯ ผมก็ไม่ได้คิดอยากกลับไปเป็นสถาปนิก ก็เลย ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวง NGO และทำงานเลี้ยงชีพโดยการออกแบบงานและ Presentation ให้บริษัทผู้ออกแบบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมเขียนทัศนียภาพ เขียน Perspective รูปประกอบงานสถาปัตยกรรมคือที่ผมบอกว่า ผมอยากเป็นศิลปินก็เป็นไม่ได้เพราะไม่ได้เรียนมา แต่สถาปนิกเราไม่อยากเป็นแต่เรียนมา เลยทำงานที่อยู่ตรงกลาง รับจ้างเขียนรูป รูปแบบมันเป็น Commercial ทางด้านสถาปัตยกรรม ผมเขียนจนมีชื่อเสียงโด่งดังในวงการได้งานในสิงคโปร์ มาเลย์ ฮ่องกง บรูไน เขียนภาพเหล่านี้จนมีค่าตัวสูงมากขนาดเขียนรูปหนึ่งเอาเช็คไปแลกซื้อเปียโนตัวหนึ่งได้

ผมอยู่แบบนี้มา 7-8 ปี ก็ยังไม่ได้เป็นสถาปนิก ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ เพื่อนรุ่นเดียวกันเป็น Senior ในบริษัทใหญ่ ๆ แล้ว แต่ผมไม่เคยออกแบบอะไรเลย พอดี มีเพื่อนคนหนึ่งเขาไปเรียนต่อแล้วเขากลับมาจากเมืองนอก มาตั้งบริษัทแล้วก็ชวนผม ไปเป็นหุ้นส่วนทำงานด้วย แต่ทำงานได้ประมาณ 7 เดือน ก็ต้องลาออกเพราะผมไม่เคยอยู่ในระบบ ไม่เคยเป็นพนักงาน แถมไปทะเลาะกับผู้จัดการตามประสาคนที่เป็นกบฏ

ช่วงนั้นผมกลับคิดว่าการเป็นสถาปนิกก็ดีเหมือนกัน จากเดิมที่เขียนภาพ Perspective รายได้เดือนนึงประมาณ 2-3 แสนบาท แต่อยากมารับเงินเดือนสถาปนิก 20,000 บาท เพื่อที่จะเป็นรถไฟเที่ยวสุดท้าย ถ้าไม่เป็นสถาปนิกก็คงจะไม่ได้เป็นแล้ว ส่วนความฝันในการเป็นศิลปินเราไม่รู้จะไปต่อได้อย่างไร คือเวลาจะเขียนรูปก็ยังไม่รู้เลย ว่าจะต้องซื้อสียี่ห้ออะไรดี เพราะไม่มีพื้นฐาน เมื่อคิดว่าจะเป็นสถาปนิก พอดี มีเพื่อนคนหนึ่งเขาตั้งบริษัทขึ้นมาแต่กำลังจะเลิกเพื่อไปเป็นผู้รับเหมา ประมาณปี พ.ศ.2533 ผมก็เลยรวมกลุ่มกับเพื่อนไปเซ้งบริษัทในชื่อ บริษัท ต้นศิลป์สถาปัตย์ จำกัด

แต่ช่วงที่ผมเปิดบริษัทกับเพื่อนนั้นได้กลุ่มที่เคยทำค่ายมาด้วยกัน ผมขอเรียกว่าพวกเราเป็นตัวประหลาดของวงการสถาปนิกไทยก็ได้ เพราะคนที่มารวมกันอายุเยอะแต่ไม่มีประสบการณ์ตรงด้านนี้เลย บางคนทำงานโรงแรม บางคนเรียนไม่จบ พอมา รวมกันก็เกิดปัญหาว่า พวกเราไม่เคยออกแบบงานอะไรเลย เวลาที่เราไปหางาน ลูกค้าเขาก็ถามว่า คุณเคยออกแบบบ้านหลังไหนบ้าง? ไหนเอาผลงานมาดู เราก็บอกว่า ไม่มีจึงไม่เคยได้งาน

แต่มันเป็นแรงผลักดันให้เราเข้าสู่วงการประกวดแบบ คือมันต้องเอาชีวิตรอด งานประกวดในสมัยก่อน มันมักเป็นงานราชการ การจะชนะจึงเป็นเรื่องยากจากระบบอุปถัมภ์ แต่พวกเราส่งงานไปก็ชนะขาดเพราะฝีมือล้วน ๆ ซึ่งสมัยก่อนเขาจะเรียก พวกเราว่า “เด๋อสู้ตาย” เราไม่รู้ว่างานนี้มันก็มีเจ้าของจองไว้แล้ว คือเขาก็ประกวดกันเพื่อไม่ให้ผิดระเบียบราชการ แต่เมื่อเวลาเราทำไปแข่ง พวกกรรมการ เขาจะตกใจ เพราะเราทำงานไม่ธรรมดา แล้วทีนี้เราก็มีชื่อเสียง ค่อนข้าง ที่จะรวดเร็ว

อาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล : จากปี พ.ศ. 2533 – 2539 บริษัทต้นศิลป์ก็มีชื่อเสียงขึ้นมา และ มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องของโมเดลอันดับ 1 ประเทศไทย แต่หลังจากนั้นก็ต้องประสบปัญหาในปีพ.ศ.2540 จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ถึงขนาดต้องปิดบริษัท ในที่สุดก็ต้องแยกย้ายกันไป ช่วงที่แยกย้ายกันคือตอนนั้นผมเพิ่งกลับจากการไปทำงานที่เกาหลีเหนือมาด้วย แต่ก็ไม่ทันที่จะช่วยบริษัท คราวนี้ก็ไม่มีเพื่อน ๆ แล้ว ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจคลี่คลาย ผมก็ตั้งบริษัทใหม่คือต้นศิลป์สตูดิโอ จำกัด ซึ่งมีผมคนเดียวก็อยู่ยาวมาจนถึงปัจจุบัน คือมีคนเดียวจริง ๆ ไม่มีเลขา ไม่มีแม่บ้าน ไม่มีพนักงาน ไม่มีโปรดักชั่น แต่ไม่ได้หมายความว่ามีสถาปนิกคนเดียวนะ เรามีโปรดักชั่นแต่เขาก็นั่งอยู่ที่บ้านเขา คือจุดธูปเชิญยังไม่มาเลยอยู่ด้วยกันมา 20 ปี เขาเป็นคนที่มีความสามารถสูงมาก

หลังจากนั้นผมก็มีโอกาสดีคือ ได้ทำงานให้กับ “ร้านขนมเปี๊ยะตั้งเซ่งจั๊ว” ซึ่งเป็นงานขนาดเล็กแล้วบังเอิญงานชิ้นนั้น ได้รับรางวัลเหรียญทองทางสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารรวมกิจกรรมพาณิชยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยามโดยรวมแล้วที่ส่งเข้าประกวดผมได้ถึง 4 เหรียญทอง

แล้วผมมีโอกาสทำงาน “บ้านสีเทาแห่งกู้กู (Gray House of Koo Koo) ภูเก็ต” วิธีคิดคือผมอยากทำงานที่ให้มันอยู่ได้ถึงร้อยปี มีความมั่นคง ซึ่งงานนี้เราก็ส่งวิศวกรของเราไปสร้างเอง แล้วงานชิ้นนั้น เป็นบ้านชิ้นแรก ที่ได้รางวัลเหรียญทอง ซึ่งบ้านที่จะได้เหรียญทองนั้นยากมาก เพราะ คนที่ทำงานสถาปนิกเกี่ยวกับบ้านมีเยอะมาก ความจริงต้นศิลป์ สตูดิโอของผมทำบ้านไม่เยอะแค่ 4 โครงการ แต่เวลาเราทำงานเราก็จะมีวิธีคิดอย่างหนึ่ง ถ้ามีโอกาสทำเราก็จะทำให้ดีที่สุด

ตอนที่ผมจะรับงานที่ภูเก็ตเจ้าของบ้านเขาก็ถามว่า คุณชาตรีเคยออกแบบบ้านที่มีราคานี้แบบนี้บ้างไหม ผมตอบว่าราคา 40 ล้านหลังใหญ่ ผมไม่เคยทำซึ่งผมไม่ได้รู้จักเจ้าของบ้านเป็นการส่วนตัว ผมบอกแกว่าผมจะไม่ตามใจคุณนะ แต่ผมสัญญาว่าจะทำให้สถาปัตยกรรมอันนี้ให้ดี แล้วทำให้คุณเป็นคนโชคดีที่เป็นเจ้าของงานชิ้นนี้ และจะทำให้เป็นงาน Topical ที่อยู่ร้อยปี ลูกค้าผมเป็นคนฉลาดมากเขาหันมามองผมแล้วเขาก็ยิ้ม แล้วบอกว่า คุณชาตรีคุณไม่รู้จักผมซะแล้ว ผมเป็นคนทะเยอทะยานนะ แล้วเขาก็บอกว่าตกลง เราก็ได้ทำงานจนทุกคนพอใจในท้ายที่สุดก็ได้รับรางวัลนั่นเอง

อาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล : ผมอยากบอกว่าเราอยู่ในโลกยุคที่ Globalization เข้ามา แล้ว เราอยู่ในประเทศที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เวลา Globalization มันเข้ามาตัว Localization ต้องตัดสินใจว่าเราจะเอายังไง เพราะมีการตัดสินใจอยู่ 3 แบบก็คือ 1.ตามเขาไปเลย คือไปให้ทันโลก 2.ของเราดีจึงต้อง Protect หรือพยายามทำอะไรกับสิ่งที่มันซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเรา 3.เราต้องพาตัวภูมิปัญญาหรืออัตลักษณ์สืบสานไปในโลกสมัยใหม่ให้ได้ ซึ่งมันก็เป็นคำตอบที่สวยหรู ใคร ๆ ก็ตอบแบบนี้ ซึ่งผมเป็นแบบอันที่ 3 คือเราจะต้องอยู่ในโลกสมัยใหม่ โดยที่รากเหง้าหรือภูมิปัญญาของเราจะใช้ยังไง

แต่ว่าความสำคัญของการเป็นท้องถิ่นมันมีอยู่ 2 มิติ คือ อันแรกคือความเป็นชาวบ้าน ผมเป็นคนบ้านนอกและมาจากชาวบ้าน การใช้คำว่าท้องถิ่นมันตรงเข้าไปที่ตัวชาวบ้าน เพราะว่าสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของเรา มีหลายระดับ มีหลายเลเยอร์ ตั้งแต่บ้าน วัง วัด อะไรต่าง ๆ แต่ว่าเรามาสายบ้าน คำว่าท้องถิ่นมันก็มีอีกมิติหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นเรื่องของภูมิอากาศ

โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่สนใจเรื่องปรัชญา โดยเฉพาะปรัชญาพุทธ แต่ก็เชื่อว่าเราไม่ได้เป็นรองตะวันตก อย่าง Keyword ที่สำคัญที่สุด ในสถาปัตยกรรมที่เรียกว่าปัตยกรรมสมัยใหม่ เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มีการเรียกว่ายุคโมเดิร์น ที่ลุดวิก มีส แวน เดอร์โรห์สถาปนิกชาวเยอรมันเป็นผู้บุกเบิกนำปรัชญา Less is More หรือน้อยคือมาก มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบอาคาร แต่ผมว่ามันไม่ใช่ของฝรั่ง มันเป็นของพวกเรา มันเป็นปรัชญาพุทธ เพราะว่ามันไม่ใช่ของเขา พอมีอายุไปสักระยะหนึ่งก็มีฝรั่งคนอื่นมาประกาศว่า Less is More นั้นมันน้อยจึงน่าเบื่อ ถึงได้เกิดสถาปัตยกรรมแบบอื่น ๆ ตามมา

ผมจึงสนใจที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “จิตตะวันออก” คือสถาปัตยกรรมมันมีร่างกายและก็มีจิต เราคิดว่าเราใช้ในงานสมัยใหม่ แล้วจะใช้องค์ประกอบเดียวกัน คือถ้าเราพูดถึงรูปฟอร์ม สมมุติรูปเรขาคณิต ทรงกลม ลูกบาศก์ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม รูปทรงที่เป็นสากล แต่ว่าเราจะทำยังไงให้งานที่เราใช้เครื่องมือที่เป็นสากลนั้นมีจิตวิญญาณเป็นรากเหง้าของเรา นั่นก็คือจิตวิญญาณตะวันออก อันที่จริงเราโฟกัสไปที่พุทธเลยผมคิดว่าพุทธในสังคมไทย มันเป็นสิ่งที่สังคมเรา Colorful ปะปนกัน ทั้งส่วนที่เป็นแก่น และส่วนที่เป็นเปลือก กุศโลบายที่มันเป็นความสวยงามทางวัฒนธรรม ที่ปนกัน ถามว่าสนใจส่วนไหน เราสนใจส่วนที่เป็นแก่น แล้วก็สนใจส่วนที่มันเป็นสีสันวัฒนธรรมเพราะฉะนั้น งานผมก็พยายามจะทำแบบสมัยใหม่ เพราะเราอยู่ในโลกสมัยใหม่ แต่ว่าส่วนที่ผมให้ความสำคัญมากก็คือ จิตวิญญาณที่เป็นของเราที่มาจากภูมิปัญญาของเรา

ถามว่ามันไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติยังไง คือเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ในเรื่องของ Topical เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและพึ่งพิงธรรมชาติ ความคิดของคนตะวันออกก็คือ อยู่กับธรรมชาติและเราไม่ได้อยู่แบบเอาชนะธรรมชาติ ในสมัยก่อนเวลาน้ำหลากเข้าท่วมบ้าน การสร้างบ้านก็ยกเรือนให้ขึ้นสูงหน่อยแล้วก็ไปพายเรือ พอน้ำไปแล้วเราก็ค่อยเดินลงมาข้างล่างนี่เป็นวิธีคิดของเรา แต่ว่าวิธีคิดของฝรั่งจะต้องถมดินให้มันสูงขึ้น เป็นวิธีการเอาชนะคนละแบบ แต่ผมมีความเชื่อว่า ตรงนี้มันเป็นแก่นของเราเป็นลายมือของผมเอง เป็นลายมือที่ให้ความสำคัญ เนื่องจากเราให้ความสำคัญกับปรัชญาพุทธ มันเลยเป็นลายมือที่เรียบง่ายออกแนว Simplicity และเป็น Simplicity ที่ไม่ใช่ฝรั่ง คือบ้านเราก็มีคนทำงาน Simplicity เรียกว่าเป็นแนว Minimalist หลายคนซึ่งมันไม่ได้ยากมาก

อาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล : ยกตัวอย่างบ้านต้นศิลป์ของของผมหลังนี้ ถ้าผมเปลี่ยนวงกบเป็นเหล็กสีดำปุ๊บ ฟิกเกอร์นี้จะเปลี่ยนเลยเป็นงานที่โมเดิร์นขึ้นดูอาร์ตขึ้นมาก แต่เราตัดสินใจใช้ไม้เพราะพอไม้ปีบมันจะไดร์ฟกลับมาสู่อดีตคือ พ.ศ. มันนับถอยหลัง แล้วดูความเป็นท้องถิ่น แต่ว่าอารมณ์ของมันถ้าเราเข้าใจวัสดุ อย่างวัสดุที่เป็นบ้านไม้ เขาเรียกว่าเป็น Warm Material มันเป็นวัสดุที่ดูอุ่น อย่างคอนกรีตที่เห็น มันเป็น Cool Material ถ้าคุณอยากทำอะไรเท่ ๆ อยากให้เท่แบบไหนก็ทำแบบนั้น ทีนี้เวลา Warm กับ Cool มาอยู่ด้วยกันแล้วมันจะฆ่ากันไหม นั่นมันก็คือสิ่งที่คุณจะต้องมีความรู้ แต่ว่าจริง ๆ แล้วที่มันไม่ฆ่ากันในบ้านหลังนี้ก็เพราะว่ามันอยู่ในร่มของปรัชญาที่เรียกว่า สัจนิยม คือคุณจะเห็นว่าที่บ้านนี้ไม่มีงานที่เรียกว่าเพ้นท์เลย ไม่มีงานทาสี ถ้าคุณลองทาสีไปสักผนังหนึ่ง ที่เหลือจะพังหมดเลย แล้วของสิ่งนี้ มันอยู่กับสิ่งนั้นได้เห็นไหม พอมันมาอยู่ใกล้กันปุ๊บมันอยู่กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติได้ โต๊ะตัวนี้มันไม่ได้เคลือบมันเป็นสีธรรมชาติ กำแพงมันก็ตะไคร่ขึ้น แต่คุณไม่รู้สึกว่ามันขัดกัน หรือมันไปด้วยกันได้ แต่ว่าอันนี้มันเป็นเรื่องของภาษาสถาปัตยกรรม คือดีไซเนอร์จะต้องเรียนหลักการพื้นฐานนี้

ในการทำงานใหญ่ที่มี Area ใหญ่มาก เรียกได้ว่าเป็น Gray Place คือพื้นที่สีเทา อันนี้คือไม่ใช่ผมที่คิดได้คนเดียวนะ พื้นที่สีเทาหมายความว่า สถาปัตยกรรมตะวันตก มันจะมีความชัดเจน เช่นหน้าหนาวเขาเปิดฮีตเตอร์อยู่ในบ้านก็อุ่น พอแดดออกคนพวกนี้ไปตากแดดกันหมดเลย แต่ในประเทศไทยเวลาแดดออก ไม่มีใครไปตากแดดเลยสักคน แล้วเราอยู่ที่ไหน เราก็ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์ตลอด ที่จริงเราอยู่ตรงพื้นที่ที่เรียกว่า Gray Place นอกก็ไม่ใช่ในก็ไม่เชิง พื้นที่นี้เป็นหัวใจของสถาปัตยกรรมของพื้นถิ่น ที่ฝรั่งไม่มีทางเอาชนะเราได้ แล้วผมเรียกพื้นที่นี้ โดยใช้ศัพท์ว่า “สวรรค์ระหว่างนั้น” ก็คือมันเป็นสวรรค์ระหว่างธรรมชาติในบ้าน เพราะฉะนั้นในการที่เราออกแบบสถาปัตยกรรม หัวใจสำคัญคือเราจะต้องทำ ในพื้นที่ที่เป็นสีเทา คือถ้าคุณนั่งตรงนี้คุณปลอดภัยจากแดด และป้องกันคุณจากธรรมชาติ แต่ว่ามันเปิดรับให้ลมผ่านเข้ามา คือมันเป็นทั้งป้องกันและเปิดรับ แต่เวลาฝนตกมันสาดเปียกหมดเลย ก็คือมันเป็นพื้นที่ที่เป็นรอยต่อ ตรงนี้มันคือลักษณะเฉพาะในการทำงานของผม

ผมมีโอกาสได้ออกแบบงานหนึ่งของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ คนเขาก็ฮือฮาว่า มีความสุขมากเมื่ออยู่ที่นี่ จริง ๆ แล้วมันเป็นพื้นฐานของสถาปัตยกรรม อย่างเวลาเขียนโปรแกรมมีห้องเรียนกี่ห้องทำได้ครบ แล้วทำไมคุณไม่ได้เขียนว่า เวลาที่นักศึกษายังไม่ได้เข้าห้องเรียน เขาจะไปอยู่ที่ไหน คุณไม่เขียนพื้นที่รอเรียน นายทุนไม่ได้ให้งบประมาณไว้เวลาที่ออกแบบมันก็เลยต้องเป็นแบบนั้นไง มันก็เลยเป็นห้อง ห้อง ห้อง และมี Quality Door คุณก็ไปสุมกันอยู่ที่โรงอาหาร ไม่มีที่อื่นเลย แต่ว่าจริง ๆ ที่ผมออกแบบงานที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ก็คือพื้นที่ Gray Place มันเป็น Pocket ที่มีอยู่ไปทั่ว ทำให้คุณมีพื้นที่ที่เป็นส่วนตัว หรือคุณจะอยู่เป็นสังคม หรือคุณจะอยู่กับเพื่อน หรือคุณจะอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ได้หมด นั่นเป็นแนวคิดของผม

อาจารย์ชาตรี ลดาลลิตสกุล : พื้นที่ Gray Place มันจะมีผลกับเรื่องแสงโดยตรง สถาปัตยกรรมตะวันตก มันจะสว่างไสว มันต้องการแสงเข้ามา แต่ถ้าคุณดูสถาปัตยกรรมตะวันออกที่เขาไปไกลกว่าเรา ถ้าคุณเคยอ่านงานของนักเขียนที่พูดถึงแสงสลัว หรือแสงที่ขมุกขมัวในงานสถาปัตยกรรม แล้วคุณก็เข้าไปในโบสถ์ในวัดบางที่ คุณจะเห็นว่ามันมีจิตรกรรมที่งดงาม แต่คุณก็จะสงสัยว่า ทำไมเขาต้องเขียนอยู่ในที่มืด ๆ ทำไมไม่เจาะหน้าต่างให้เยอะหน่อย เขียนอย่างนี้แล้วใครจะดูใครจะเห็น แต่อันนั้นเป็นภูมิปัญญาของเรา

ผมอยากที่จะทำงานสมัยใหม่ที่มันสืบสาน แต่คำว่าสืบสานของผมมันคือ สืบสานความงาม สืบสานสุนทรียของภูมิปัญญาท้องถิ่น อธิบายง่าย ๆ ก็คือทำให้จิต เป็นจิตของท้องถิ่น เป็นจิตของปรัชญาตะวันออก คือให้มีจิตวิญญาณที่เป็นแบบนี้ อย่างบ้านหลังนี้ (บ้านต้นศิลป์) ถามว่า จิตวิญญาณมันเป็นแบบไหน มันก็เป็น จิตวิญญาณของผม คุณเดินไปสักพักหนึ่ง คุณก็จะเข้าใจว่าผมเป็นคนแบบไหน

ถึงผมจะทำงานสำคัญมามากมาย ความรู้ความสามารถของก็มาถึงจุดที่ผม เชื่อว่ายังเหนือกว่างานที่เราเคยทำ หมายความว่าถ้าเรามีโอกาสที่จะได้ทำงานโดยไม่มีข้อจำกัด ผมจึงยังไม่คิดว่ามีงานมาสเตอร์พีชจริง ๆ คิดว่าผมยังมีโอกาสทำงานมาสเตอร์พีชในแง่ของงานสถาปัตยกรรมจริง ๆ ในอนาคต แต่ความฝันของผม ยังคงอยู่ คือการเป็นจิตรกรซึ่งก็หวังว่าจะมีงานแนวนี้ออกมาให้ได้ติดตามเช่นกัน

Did You Know

ผลงานของอาจารย์ชาตรีอาทิ
•    สถาปัตยกรรมดีเด่น “เหรียญทอง” ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ กลุ่มอาคารร้านขนมเปี๊ยะ “ตั้ง เซ่ง จั้ว” พ.ศ.2547
•    กลุ่มอาคารภูมิพลสังคีต (ฝั่งตะวันตก) วิทยาลัย ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2557
•    รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ.2554 โดยสมาคม สถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จากผลงาน หอศิลป์ร่วมสมัย TAO HONG TAI d-kunst
•     รางวัลอาคาร ประหยัดพลังงาน “อาคารอทิตยาทร” วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล 
•    นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานการออกแบบตกแต่งภายในให้แก่สถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย, โรงพยาบาล B N H และโรงพยาบาลบางมด

Photo : Satchaphon rungwichitsin

ชาตรี ลดาลลิตสกุล : The Great Architect of Thailand จิตตะวันออกในร่างสากล | Issue 166