"คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี"

"คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี"

จากเหตุการณ์กรณีการกล่าวหาว่า“ศรีสุวรรณเรียกรับ 1.5 ล้าน อธิบดีกรมการข้าว แลกไม่ยื่นร้องเรียน” กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคม หลายคนตั้งคำถามถึงบทบาทและหน้าที่ของนักร้องเรียนในสังคมไทยว่านักร้องเรียนมีประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่มีหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน หรือทำเพื่อประกอบอาชีพตนเอง โดยการข่มขู่และรีดไถ เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่า

ผมมองว่าหากเราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีใครทำอะไรโดยไม่มีแรงจูงใจ ทุกคนมีแรงจูงใจบางอย่างที่ทำ แน่นอนบางคนมีแรงจูงใจหวังดีกับส่วนรวม โดยเอาความทุกข์ของคนอื่นมาเป็นภาระตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งในสังคมมีคนประเภทนี้อยู่แต่น้อย ซึ่งผมคิดว่าไม่ว่างานอะไร สังคมจะประกอบด้วยคนประเภทเห็นแก่ส่วนรวมเป็นที่ตั้งอยู่จำนวนหนึ่ง และคนที่ไม่ได้เอาส่วนรวมเป็นที่ตั้งแต่เอาส่วนตัวเป็นที่ตั้ง โดยอาจจะอ้างว่าเป็นทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแต่แท้จริงเป็นเรื่องเพื่อประโยชน์ส่วนตัว 

ผมได้เคยแบ่งระดับ “จิตของมนุษย์ออกเป็น 5 ระดับขั้น” ไว้ในหนังสือ คนดีสร้างได้ : โมเดลบริบูรณ์ธรรมประกอบด้วย

เดรัจฉานจิตเห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงคนอื่นเลย (ตัวเอง 100 คนอื่น 0)

ปุถุจิตเห็นแก่คนอื่นบ้าง แต่เห็นแก่ตนเองมากกว่า (ตัวเองมากกว่าคนอื่น)

วิญญูจิตเห็นแก่คนอื่นเท่ากับตนเอง (ตัวเองเท่ากับคนอื่น)

อภิจิตเห็นแก่คนอื่นมากกว่าเห็นแก่ตน (คนอื่นมากกว่าตนเอง)

อารยจิตเห็นแก่คนอื่น ไม่คำนึงถึงตนเองเลย (คนอื่น 100 ตัวเอง 0)

จะเห็นว่านักร้องเรียนส่วนใหญ่ มักจะเป็น “ปุถุชน” คือ เห็นแก่คนอื่นบ้าง แต่เห็นแก่ตนเองมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการนักร้องเรียน จึงควรพิจารณาเจตนาของการร้องเรียนด้วย หากสมมติว่ามีบุคคลหนึ่งทุ่มเทชีวิตให้กับการเป็นนักร้องเรียนอาชีพ เพื่อประโยชน์สาธารณะ คำถามคือจะเลี้ยงชีพอย่างไร โดยเฉพาะหากไม่อยู่ในวัยที่สะสมทรัพย์มากพอสำหรับใช้จ่าย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่ได้โดยปราศจากรายได้

ดังนั้น ผมขอเสนอแนวทางแก้ไขกระบวนการตรวจสอบและร้องเรียนให้มีประสิทธิภาพ และเป็นบทเรียนให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน และสังคมโดยรวม ดังนี้

1. จัดตั้งองค์กรหรือมูลนิธิเพื่อสนับสนุนนักร้องเรียน

นักร้องเรียนต้องทุ่มเทให้กับงานที่ท้าทายและใช้ความพยายามสูง บทบาทของนักร้องเรียน คือ การตรวจสอบ และเป็นตัวแทนให้เสียงของประชาชนที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ผมจึงเห็นว่าการมีนักร้องเรียนมีประโยชน์ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยาก ทั้งในแง่ของช่องทาง ค่าใช้จ่าย ความรู้ และความล่าช้า รวมถึงการขาดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจความทุกข์ยากของประชาชนอย่างแท้จริง นักร้องเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสมือนเป็นการให้บริการสังคมอีกรูปแบบหนึ่งเสมือนทำหน้าที่เป็นทนายความเต็มเวลา ดังนั้นจำเป็นต้องมีรายได้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หากเป็นผู้มีความสุจริตย่อมไปหารายได้จากการทำธุรกิจอื่นที่สุจริตและอุทิศตนเพื่อสังคม

อย่างไรก็ดี บทเรียนสำคัญสำหรับสังคมคือ ต้องสนับสนุนช่วยเหลือนักร้องเรียน เช่น ประชาชนในสังคมร่วมบริจาคเงิน รัฐมีงบประมาณสนับสนุน จึงควรอุปถัมภ์สนับสนุนโดยจัดตั้งองค์กรหรือมูลนิธิกำกับดูแลสนับสนุนผู้ทำประโยชน์ให้สังคมเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมโดยไม่แสวงหากำไร แต่มีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูตนเองได้ เพื่อทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี 

2. จัดตั้งคณะกรรมการ อารยะพลชาติ กำกับดูแล

นักร้องเรียนควรได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการ เพื่อช่วยเหลือ กำกับดูแล ให้กำลังใจ และให้คำแนะนำ ผมอยากเรียกคนเหล่านี้ว่า “อารยะพลชาติ” คือเป็นกำลังสำคัญของชาติที่มีจิตใจสูงส่ง อุทิศตนเข้าไปช่วยเหลือผมเห็นว่าประชาชนในชาติควรมีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการกำกับดูแลหน่วยงานราชการ แบ่งเบาภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหน่วยงานราชการรับภาระหน้าที่ต่าง ๆ ฝ่ายเดียว

ผมอยากเห็นสถาบันต่าง ๆ ปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกเพื่อชาติ มีความตั้งใจที่จะอุทิศ ทั้งเวลา ความสามารถ และทรัพย์สิน เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ โดยเราสามารถร่วมรับผิดชอบในการช่วยกำกับดูแลหน่วยงานต่าง ๆ เป็นคณะกรรมการอารยะพลชาติ เพื่อช่วยระดมทุน ดูแล ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ และปกป้องคุ้มครอง เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ตัวบุคคลและครอบครัว จากการถูกกลั่นแกล้งหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม จากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการที่ผิดกฎหมาย 

3.ระบบคัดเลือกนักร้องเรียนที่ดี

แนวคิดของผม คนดี คือคนที่เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน นักร้องเรียนควรเป็นผู้ที่มีประวัติเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นคนดี คนเก่ง คนกล้า ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด ตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ แม้ในยามปกติที่ไม่ได้ร้องเรียน ก็เป็นผู้มีคุณธรรมเสียสละเพื่อผู้อื่นโดยนำไปโยงกับเรื่องที่ผมเคยเสนอไว้ในสังคม เครดิตการทำความดี (Virtue Credit)เครดิตที่บอกคุณงาม ความดีในสังคม มีตัวชี้วัด เก็บสะสมมาตลอดชีวิต เพื่อจะสามารถหนุนคนดี ให้ทำหน้าที่เพื่อสังคม 

4. ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม และโปร่งใส

ข้าราชการมีจิตใจสาธารณะ มุ่งรับใช้ประชาชนทำงานอย่างสุจริต รวดเร็ว โปร่งใส รับผิดชอบ และใส่ใจประชาชน รวมถึงระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม เข้าถึงได้ง่าย และเท่าเทียมกันเช่น จัดตั้งเว็บไซต์ให้ข้อมูลที่ประชาชนควรรับทราบ และติดตามตรวจสอบได้ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การประมูล ใบเสร็จต่าง ๆ ฯลฯ

ระบบราชการที่ดีจะช่วยลดจำนวนนักร้องเรียน และนักร้องเรียนทำหน้าที่ช่วยอุดรอยรั่ว ช่วยให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพ กรณีนักร้องเรียนบางรายเป็นตัวอย่างของผลประโยชน์ไม่ลงตัว การแก้ไขระบบต้องทำทั้งฝั่งข้าราชการและนักร้องเรียนควบคู่กันไป

ผมขอฝากข้อคิดให้กับสังคมว่า ต้องสันนิษฐานว่าคนสุจริตจนกว่าจะมีหลักฐานพิสูจน์ความผิด การสมมติว่าคนสุจริตไว้ก่อน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเชื่ออะไรง่าย ๆ แต่เป็นการเปิดใจรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านและตัดสินอย่างมีเหตุผลโดยไม่หลงกลกระแสข่าวลือหรือข้อมูลเท็จแต่หาข้อเท็จจริงรอบด้าน จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง และเป็นธรรมผมพยายามผลักดันให้สังคมเชื่อใจกันในทางที่ดี มีความรัก ความห่วงใยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขครับ

 

 

จากเหตุการณ์กรณีการกล่าวหาว่า“ศรีสุวรรณเรียกรับ 1.5 ล้าน อธิบดีกรมการข้าว แลกไม่ยื่นร้องเรียน”