โดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ 45 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา
ไต้หวัน...หรือชื่อเรียกเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีนในตอนนั้น “จอมพลเจียง ไค เช็ค” เป็นประธานาธิบดีมีความสัมพันธ์อย่างดีกับรัฐบาลของ “จอมพล ถนอม กิตติขจร” เพราะเป็นทหารเผด็จการเช่นกัน จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่เกิดขึ้นทำให้สองจอมพลสุดท้ายของประเทศ เลือกเดินทางลี้ภัยไปที่ไต้หวัน แต่
“จอมพลถนอม กิตติขจร” เลือกไปสหรัฐอเมริกา
ฉันเดินทางไปถึงกรุงไทเป เมืองหลวงของประเทศนี้ด้วยความรู้สึกตื่นเต้น เพราะเท่าที่รู้มาประเทศนี้มีความเข้มงวดมากในเรื่องการเข้าเมือง เพราะเพิ่งจะพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองให้แก่คอมมิวนิสต์จีนมาไม่กี่สิบปี สนามบินไทเปจึงเหมือนสนามบินทหารมากกว่าสนามบินพาณิชย์ บรรยากาศดูอึมครึมไม่น่าไว้ใจ เจ้าหน้าที่ในสนามบินแต่งกายคล้ายทหาร หน้าตาไม่ค่อยจะเป็นมิตร แตกต่างไปจากสนามบินพาณิชย์ที่ฉันเคยเดินทางพบเห็นทาง ฉันเดินออกจากสนามบินมาด้วยความรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรนี่เป็นการเดินทางมาประเทศนี้เป็นครั้งแรก แต่ก็จำได้ว่ามีเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ที่ไปเรียนเบอร์ลินด้วยกัน และเคยติดต่อกันมาบ้างแต่ไม่บ่อยนัก บางทีเขาคงพอที่จะให้คำแนะนำกับฉันได้
“มิสเตอร์ชาน” ทำงานหนังสือพิมพ์ที่เป็นของรัฐบาลจึงหาได้ไม่ยาก เมื่อพบเขา
“ชาน” ตกใจในการเดินทางมาของฉัน
“สันติคุณรู้ไหมว่าประเทศของเรามีความเข้มงวดในเรื่องการทำข่าว” ชานบอกเช่นนั้น ซึ่งเป็นความจริง เพราะเท่าที่รู้มาหนังสือพิมพ์ในไต้หวันถูกทางการควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะกลัวความไม่ปลอดภัยจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นจีนเช่นเดียวกันแต่ปกครองแตกต่างกัน
เพราะฉะนั้นการเดินทางมาทำข่าวของฉัน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม ที่มีข่าวออกไปว่าคอมมิวนิสต์หนุนหลังนิสิตนักศึกษาและประชาชน หากรัฐบาลจีนไต้หวันรู้ฉันคงจะเดือดร้อนแน่
“มิสเตอร์ ชาน” ดูจะวิตกอย่างมาก แต่เขาก็ให้คำแนะนำว่าบางทีจอมพลประภาสและครอบครัวคงจะได้พักอยู่กับเซฟเฮาส์ที่รัฐบาลเจียงไคเช็คจัดหาให้ ซึ่งก็หาไม่ยากเพราะไทเปเป็นเมืองเล็ก จากการชี้แนะของเขาก็ทำให้ฉันพบกับเซฟเฮ้าส์ แต่ “มิสเตอร์ชาน” เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ยังพูดกำชับอย่างเป็นห่วงใย ก่อนที่จะเดินออกจากสำนักงานของเขา
“สันติ คุณต้องระวัง อย่าให้เจ้าหน้าที่เขารู้ว้าเป็นนักข่าวอย่างเด็ดขาดนะ”
ชานเตือนฉันแต่ปฏิเสธที่จะพาไปเซฟเฮ้าส์ที่เขาแนะนำให้
“เซฟเฮ้าส์” ...หรือบ้านพักเพื่อความปลอดภัยของจอมพลประภาสอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองไทเป เมื่อฉันไปถึงบ้านถูกปิดเงียบ แต่มีเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่งตัวคล้ายทหารยืนจำยามอยู่หน้าบ้าน
สิ่งแรกที่ฉันทำก็คือรีบถ่ายบ้านหลังนี้ไว้ทันที เพื่อเป็นหลักฐานว่าฉันได้มาพบเซฟเฮ้าส์แห่งนี้แล้ว แต่สิ่งที่จะต้องทำต่อก็คือ ทำอย่างไรฉันจะเข้าบ้านเพื่อสัมภาษณ์จอมพลประภาส ซึ่งถ้าได้พบท่านก็คงจะจำหน้าฉันได้ ในเหตุการณ์ในห้องสัมภาษณ์ของกระทรวงมหาดไทย ห้อง”เพรส คอนเฟอร์เรนซ์” (PRESS CONFERENT) ที่ท่านเคยเรียกทหารมาควบคุมตัวฉัน เพราะท่านเชื่อว่าฉันเป็นคอมมิวนิสต์ที่แอบแฝงเข้ามาเป็นนักข่าว ซึ่งถ้ายังเชื่อเช่นนี้ การพบกับท่านในประเทศที่ประกาศว่าเป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์ คงจะต้องทำให้ฉันเดือดร้อนแน่ ระหว่างที่ฉันคิดว่าจะทำอย่างไรดี เจ้าหน้าที่ไต้หวันที่แต่งกายแปลก ๆ คล้ายตำรวจกับทหารก็เข้ามาประชิดตัวพร้อมกับส่งภาษาจีนที่ฉันฟังไม่เข้าใจ
ฉันพยายามจะพูดภาษาอังกฤษกับเขา ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจกัน เขายึดกล้องถ่ายรูปและพาฉันขึ้นรถพาฉันไปที่ตึกเล็ก ๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเซฟเฮ้าส์ ในห้องที่คงจะเป็นห้องสอบสวน เจ้าหน้าที่ค้นตัวฉันอย่างละเอียด อย่างชนิดที่เรียกว่าแก้ผ้าค้นตัว แล้วก็ส่งเสียงเป็นภาษาจีนซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเขาพูดว่าอะไรกัน สิ่งที่เขายึดจากฉันได้ก็มีเพียงหนังสือเดินทาง และกล้องที่ฉันใช้ถ่ายรูปเท่านั้น
เป็นเวลานานนับชั่วโมงที่ฉันจะต้องอยู่ในห้องเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเข้ามาและพูดภาษาอังกฤษ ถามว่าเป็นใครทำไมเข้ามาถ่ายรูปบ้าน ด้วยสัญชาติญาณของความเป็นนักข่าว และการสอนของอาจารย์วิชาการหนังสือพิมพ์ที่บอกว่า หากเธอถูกคุกคามก็ให้อ้างสิทธิความเป็นนักข่าวที่ทั้งโลกเขาปฏิบัติ และเป็นที่ยอมรับกันมาก็คือ สิทธิในการทำข่าวและเรามีสิทธิที่จะไม่ตอบในคำถามที่จะเป็นอันตรายกับตัวเราได้ แต่ในภาวะเช่นนี้กับประเทศที่ประกาศตัวเองชัดเจนให้ชาวโลกได้รู้ว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับคอมมิวนิสต์ จะมีประโยชน์อะไรที่ฉันจะอ้างสิทธิที่ว่า ฉันจึงบอกเขาเพียงว่า
“ผมเป็นนักท่องเที่ยว”
“แล้วทำไมจึงมาถ่ายภาพบ้านหลังนี้” เขาชักอย่างไม่เชื่อในคำตอบ ฉันที่อธิบายว่าผ่านมาเห็นบ้านหลังนี้แตกต่างไปจากบ้านแบบจีนที่มีอยู่ทั่วไป เห็นว่าแปลกดีจึงถ่ายรูปบ้านทรงตะวันตกนี้เอาไว้เปรียบเทียบ เพื่อเป็นที่ระลึกนึกถึงในการเดินทาง เมื่อตอบเขาเช่นนี้ เจ้าหน้าที่หยิบเอาหนังสือเดินทางของฉันขึ้นมาดู แล้วอ่านด้วยเสียงดังว่า
“แอมพอยี้”
คำว่า “Employee” ที่เขียนไว้ในหนังสือเดินทางแปลว่ามีอาชีพรับจ้าง เมื่อเขาพิจารณาวีซ่าที่ฉันเดินทางเที่ยวประเทศต่าง ๆ จริง เขาจึงปล่อยตัวฉัน แต่ก็ยึดฟิล์มภายในกล้องไป
เขาอธิบายฉันว่า “เรามีสิทธิที่จะยึดฟิล์ม ที่คุณถ่ายบ้านหลังนี้ไว้”
“ทำไม มันก็แค่บ้านธรรมดา” เมื่อฉันได้แย้ง เขาหัวเราะแต่ก็ไม่ตอบหรืออธิบายให้เข้าใจ
เท่านี้ก็พอที่จะทำให้เชื่อได้ว่า บ้านหลังนี้ไม่ใช่บ้านธรรมดา คงจะเป็นบ้านเซฟเฮ้าส์จริงอย่างที่เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ไต้หวันแนะนำ
แต่ก็ต้องขอบคุณที่เขาเตือนว่า อย่าให้ใครรู้ว่าเป็นนักข่าวอย่างเด็ดขาด และก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ ที่พิมพ์ในหนังสือเดินทางว่าฉันมีอาชีพรับจ้าง ไม่ใช่อาชีพนักหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นอาชีพที่ฉันภาคภูมิใจ เพราะถ้าพิมพ์เช่นนั้นไป ฉันคงจะกลับประเทศไทยเพื่อจะมาเสนอข่าวได้ ว่า
...ฉันเป็นนักข่าวที่บินมาทำข่าวจอมพลประภาสลี้ภัยมาอยู่ไต้หวันเป็นคนแรก แม้ว่าข่าวจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม...
“สันติ เศวตวิมล”
นักเขียนบรรณาธิการอาวุโส
เจ้าของรางวัลนักเขียนรางวัลนราธิปประพันธ์พงศ์ 2565