Scoop : How To ทิ้ง! เริ่มต้นที่มือ จบลงที่ไหน / การแยกขยะก่อนทิ้ง และความเข้าใจแบบผิด ๆ | Issue 158
How To ทิ้ง! เริ่มต้นที่มือ จบลงที่ไหน
นับตั้งแต่ตื่นลืมตาขึ้นมาไปจนถึงคราที่หัวถึงหมอนนอนหลับ กิจวัตรในหนึ่งวันของมนุษย์ทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมาย มีทั้งที่สร้างสรรค์และทำลาย ซึ่งหนึ่งในกิจวัตรประจำวันเหล่านั้นที่มนุษย์ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือการสร้างขยะ ไม่ว่ารับประทานอาหาร ทำงาน เดินห้าง อื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างขยะขึ้นมาทั้งสิ้น
เมื่อการใช้ชีวิตของมนุษย์เราทำให้เกิดขยะ สิ่งที่มนุษย์ผู้มีอารยะทั้งหลายควรพึ่งกระทำต่อนับจากนี้คือการนำมันไปทิ้งลงถังขยะให้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนี้ ทุกคนเคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่า ว่าเจ้าขยะที่เราทิ้งลงถัง ปลายทางของพวกมันคือที่ไหนกัน สำหรับในกรุงเทพฯ หลังจากที่เราสร้างขยะและทิ้งมันลงถังขยะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะดำเนินการเก็บขยะโดยรถเก็บขยะ ข้อมูลจากปี 62 สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร มีรถเก็บขยะสำหรับปฏิบัติหน้าที่จำนวนทั้งสิ้น 2,140 คัน เป็นรถเก็บขยะของกทม. 495 คัน รถเข้า 1,517 คัน ยังไม่รวมพาหนะอื่น ๆ ซึ่งสำหรับการจัดการเรื่องขยะในกทม.
หลังจากเก็บขยะขึ้นรถเป็นที่เรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือการนำขยะเหล่านี้โยกย้ายไปสู่สถานีขนถ่ายขยะเพื่อทำการจำกัดขยะมูลฝอยเหล่านี้ โดยในกทม. มีสถานีสำหรับขนถ่ายขยะอยู่หลัก ๆ 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนถ่ายขยะสายไหม สถานีขนถ่ายขยะหนองแขม และสถานีขนถ่ายขยะอ่อนนุช ซึ่งจากสถิติเมื่อปี 62 ค่าเฉลี่ยของจำนวนขยะที่ขนถ่ายไปยังสายไหมอยู่ที่ 2,400 ตันต่อวัน หนองแขม 3,400 ตันต่อวัน และอ่อนนุช 2,626 ตันต่อวัน
หลังจากขั้นตอนการคัดแยกขยะที่สถานีขนถ่ายขยะเสร็จสิ้น โดยขยะจำพวกเศษอาหารจะถูกนำไปทำปุ๋ย ขยะทั่วไปจะถูกนำไปฝังกลบและเผา ขยะอันตรายจะนำไปกำจัดตามขั้นตอน ขยะรีไซเคิลจะถูกนำกลับไปใช้ซ้ำ และขยะแห้งจะถูกนำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งจำนวนขยะที่นำไปฝังกลบนั้นมีจำนวนมากกว่า 80% โดยขยะทั่วไปจากสถานีขนถ่ายขยะสายไหมและหนอนแขมจะถูกนำไปฝังกลบที่บ่อฝังกลบ จังหวัดนครปฐม ส่วนที่อ่อนนุชจะถูกนำไปฝังกลบที่บ่อฝังกลบ จังหวัดฉะเชิงเทรา
สำหรับปลายทางของขยะอันมากมายที่เกิดขึ้นในกทม. จากข้อมูลเราจะเห็นได้ว่ามีเพียงขยะส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกกำจัดและนำไปแปรรูปเพื่อสร้างประโยชน์ ด้านขยะส่วนใหญ่ที่นำไปฝังกลบเองก็สร้างผลกระทบกลับมาสู่มนุษย์อยู่ไม่น้อย ทั้งปัญหาของดินและแหล่งน้ำใต้ดินที่ฝังกลบ ปัญหาก๊าซเรือนกระจก และกว่าที่ขยะพวกนี้จะย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติก็กินเวลานานพอสมควร
หากใครได้ติดตามข่าวในช่วง 1-2 ปีหลังมานี้ คงทราบกันดีว่าอัตราขยะในกรุงเทพฯ นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลองคิดเล่น ๆ ดูนะครับ ถ้าปัญหาเรื่องขยะยังไม่ดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้นเลย เราต้องใช้พื้นที่ในการฝังกลบขยะอีกมากเท่าไหร่จึงจะพอ หากเราต้องจ่ายค่าค่าบริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นจาก 80 บาทต่อเดือนโดยมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปจัดการขยะที่เพิ่มขึ้น พวกเราจะโอเคหรือไม่?
Did you know : ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย ปัจจุบันกำหนดอัตราค่าบริการอยู่ที่บ้านละ 20 บาทต่อเดือน และเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาได้มีการปรับอัตราค่าบริการขึ้น 4 เท่า เป็น 80 บาทต่อเดือน บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป ก่อนที่จะมีมติเลื่อนการปรับอัตราค่าบริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอยใหม่เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2563 แทน
การแยกขยะก่อนทิ้ง และความเข้าใจแบบผิด ๆ กับปัญหาที่ตามมา
ในปี 2563 เรื่องการแยกขยะก่อนทิ้งอาจไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรในสังคมไทย และดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ค่อยให้ความสนใจหรือร่วมมือกันเท่าไหร่นัก หลายคนถึงมักทิ้งไปโดยไม่มีการคัดแยกหรือทิ้งในที่ที่ถูกที่ควร หรือบางครั้งก็ทิ้งไปด้วยความคิดที่ว่า “แยกทำไมในเมื่อสุดท้ายก็ไปรวมกันอยู่ดี”
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความคิดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่คุณเข้าใจผิดเป็นอย่างยิ่ง โดยหลังจากที่เราทิ้งขยะลงถังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อรถเก็บขยะจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกปฏิบัติหน้าที่เก็บขยะตามจุดต่าง ๆ บนรถเก็บขยะจะมีระบบคัดแยกขยะตามประเภทเพื่อความเป็นระเบียบและง่ายต่อการนำไปจำกัดในขั้นตอนต่อ ๆ ไป
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าการเข้าใจผิดเรื่อง “แยกทำไมในเมื่อสุดท้ายก็ไปรวมกันอยู่ดี” ไม่เห็นจะเป็นไร ตอนเจ้าหน้าที่มาเก็บขยะ พวกเขาคงคัดแยกกันบนรถเอง ความคิดเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดด้วยเช่นกัน ย้อนกลับไปเรื่องปลายทางของขยะ มีจำนวนขยะที่มากถึง 80% ถูกนำไปฝังกลบ รู้หรือไม่ว่าการไม่คัดแยกขยะก่อนทิ้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของขยะกว่า 80% นี้ ซึ่งเจ้าขยะที่ถูกนำไปฝังกลบสร้างผลกระทบกลับมาสู่มนุษย์อยู่ไม่น้อย
เมื่อรู้หนึ่งในต้นต่อของปัญหาขยะแล้ว สิ่งแรกที่พวกเราทุกคนควรช่วยกันเลยคือการเริ่มต้นคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยขยะนั้นถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ คือ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะเปียกหรือเศษอาหาร และขยะอันตราย ซึ่งเมื่อเราแยกขยะออกเป็น 4 ประเภทเรียบร้อยแล้ว อาจเลือกสีถุงบรรจุขยะ หรือติดสติ๊กเกอร์เทปแปะเพื่อเป็นสัญลักษณ์บอกว่าขยะถุงไหนเป็นประเภทไหน ขยะรีไซเคิลสีเหลือง ขยะทั่วไปสีน้ำเงิน ขยะเปียกหรือเศษอาหารสีเขียว และขยะอันตรายสีแดงหรือส้ม เป็นต้น
เพียงแค่เราแยกขยะให้เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ก็สามารถเก็บขยะและคัดแยกได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นำไปสู่ช่องทางที่ทำให้ขยะฝังกลบลดลง ผลกระทบจากวิธีการนี้ก็จะลดลง เป็นการสร้างจิตสำนึกรวมที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
อ่าน Scoop : CLEAN YOUR MIND by MERIGIN เพิ่มเติม
- CLEAN YOUR MIND by MERIGIN : ขยะ/สังคม ถุงพลาสติกภัยร้าย หรือเป็นเพราะเราเอง - Intro
- บอกลาพลาสติก เทรนใหม่ที่ใครได้ประโยชน์? / หรือปัญหาเเท้จริงคือมนุษย์?
- ดูเเลสิ่งเเวดล้อมเริ่มต้นง่าย ๆ ในบ้านมาแยกขยะกันเถอะ
- Recycle Upcycle Zero Waste
- สิงคโปร์ต้นแบบการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน