Bronx Legacy สเต็ปนอนสต๊อป สู่เทรนด์ท๊อประดับโลก : Scoop

Bronx Legacy สเต็ปนอนสต๊อป สู่เทรนด์ท๊อประดับโลก : Scoop

เบรกกิ้ง (Breaking) หรือ เบรกแดนซ์ (Break Dance) คือศิลปะการเต้นที่ผสมผสานการเคลื่อนไหว ความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น และความคิดสร้างสรรค์เข้าไว้ด้วยกันพร้อมกับเน้นไปที่ท่าทางอันซับซ้อนและทรงพลัง ซึ่งถ้าหากย้อนไปดูเรื่องราวจุดกำเนิดของมันแล้ว เบรกกิ้งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิปฮอปที่มีความเป็นมาอันน่าจดจำ เพราะไม่เพียงเป็นการเต้นออกกำลังปกติทั่วไป แต่มันยังเป็นจิตวิญญาณของการแสดงออกทางศิลปะที่สวยงามอีกด้วย

MiX Magazine ฉบับที่ 197 จึงได้รวบรวมเรื่องราวของวงการเบรกกิ้งตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ท่าเต้นยอดฮิต ศิลปะ แฟชั่น รวมถึงเส้นทางการแข่งขันระดับนานาชาติที่ยกระดับไปสู่การเป็นกีฬาสากล พร้อมเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ของการเต้นที่มากกว่าแค่การเต้นมาให้ได้ชมกัน


Breaking จากย่าน Bronx สู่เวทีระดับโลก

เบรกกิ้ง (Breaking) หรือ เบรกแดนซ์ (Break Dance) ถือกำเนิด ณ ย่านบร็องซ์ (The Bronx) ที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 แถบชุมชนชาวแอฟริกัน-อเมริกันซึ่งถือว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่มีทั้งปัญหาเรื่องยาเสพติดและอาชญากรรม

ด้วยอิทธิพลของฮิปฮอป (Hip-Hop) ในยุคแรกนั้นไม่ได้แยกจากกันกับเบรกกิ้ง จึงมีการแสดงออกอันหลากหลายมิติทั้งในเรื่องของความสนุกสนานและการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนในสังคม เพื่อที่จะได้ระบายพลังงานในเชิงบวกออกมา

วัฒนธรรมฮิปฮอปประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ดีเจ (DJ) แรป (Rap) ศิลปะกราฟฟิตี้ (Graffiti) และการเต้นเบรกกิ้ง (Breaking) รูปแบบการแสดงออกเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกัน ตั้งแต่เรื่องของเสียงดนตรีที่มีส่วนสร้างจังหวะการเคลื่อนไหวให้กับท่าเต้น หรือแม้กระทั่งกราฟฟิตี้ที่มีอิทธิพลต่อการนำเสนอเบรกกิ้งทั้งในแง่ของเครื่องแต่งกายนักเต้นและการออกแบบสถานที่แข่งขัน

สิ่งที่อยู่ใน DNA ของชุมชนย่านบร็องซ์คือเสียงเพลงและการเต้นรำด้วยท่าทีสนุกสนาน จนในที่สุดบุคคลที่มีชื่อเสียงก็เข้ามาร่วมแจมอย่างเป็นทางการ นั่นคือ ‘DJ Kool Herc’ เขาเป็นดีเจชาวอเมริกันเชื้อสายจาเมกา (ในภายหลังได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งฮิปฮอป) ผู้คิดค้นเทคนิค ‘Break’ ซึ่งคือการแยกและยืดจังหวะดนตรี กระทั่งต่อมาได้กลายเป็นแนวเพลงพื้นฐานสำหรับนักเต้น

เบรกกิ้งยุคแรกไม่ได้มีท่าทางการเต้นเหมือนในสมัยนี้ เทคนิคการเต้นต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลากหลายสิ่ง โดยรวมแล้วประกอบไปด้วยท่าเต้นบนพื้น ท่าหยุดนิ่ง และท่าพลิกตัวที่ต้องใช้พละกำลังอย่างมาก 

กาลเวลาผ่านไปจากย่านบร็องซ์เล็ก ๆ ในมหานครนิวยอร์ก วัฒนธรรมฮิปฮอปก็ได้ถูกส่งต่อรุ่นต่อรุ่นจนแพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริกา นักเต้นเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มและจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ มีทีมเบรกกิ้งชื่อเสียงโด่งดังเกิดขึ้น เช่น Rock Steady Crew และ New York City Breakers ทั้งยังมีการเดินสายทัวร์แสดงของแรปเปอร์ทั่วเมืองนิวยอร์กซิตี้เมื่อปี ค.ศ. 1982 อีกด้วย ซึ่งจากจุดนี้เองฮิปฮอปและเบรกกิ้งจึงได้กระจายออกไปยังยุโรปและทั่วโลก กระทั่งได้ปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และโฆษณาตลอดทศวรรษ 1980 และ 1990

ปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายแล้วที่ผู้คนทั่วโลกจะได้เห็นเบรกกิ้งตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ในกลุ่มคนรักเบรกกิ้งมีการแบ่งปันเรื่องราวตั้งแต่เพลง เทคนิคการเต้น และการจัดกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมีการแข่งขันระดับนานาชาติเกิดขึ้นด้วย เช่น Battle of the Year, Freestyle Session และ Red Bull BC One เพื่อเปิดโอกาสให้นักเต้นได้แสดงทักษะบนเวทีระดับโลก

ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เบรกกิ้งจากเดิมที่เคยแข่งขันกันตามท้องถนน ได้ถูกยกระดับให้กลายมาเป็นกีฬาสากลด้วยการบรรจุเข้าในกีฬาโอลิมปิกเยาวชนเมื่อปี ค.ศ. 2018 ณ เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะกีฬาแข่งขันโอลิมปิก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 2024 นี้ ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการกีฬาจนเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากอีกด้วย


ทำความรู้จักเทคนิคการเต้น Breaking

เบรกกิ้ง (Breaking) เป็นศิลปะการเต้นที่ผสมผสานด้วยท่าเต้นอันหลากหลาย แต่ละท่ามีความซับซ้อนและต้องอาศัยทักษะเฉพาะ ซึ่งในที่นี้เราจะขอยกตัวอย่างท่าพื้นฐานต่าง ๆ ที่สำคัญ เพราะถ้าหากพูดกันตามตรงแล้วเบรกกิ้งยังคงได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่มและคนทั่วไปอาจไม่รู้ว่านักเต้นคนนี้ทำท่าอะไรหรือมีความยากง่ายแค่ไหน งั้นเราลองมาทำความเข้าใจเรื่องราวท่าเต้นของพวกเขากันว่ามีจุดเด่นอะไรบ้าง

ท็อปร็อก (Top Rock) คือการเคลื่อนไหวเท้าขณะยืน เปรียบเสมือนอินโทรและมักเป็นท่าแรกของการเต้นเบรกกิ้ง ท่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปินชาวอเมริกัน James Brown และการเต้น Salsa ของลาตินอเมริกา โดยเน้นการเคลื่อนไหวของขาและเท้าผสมผสานกับท่าทางของแขนและลำตัวเพื่อแสดงถึงสไตล์และบุคลิกของนักเต้น ทั้งยังใช้ในการสร้างความสนใจรวมถึงสร้างบรรยากาศให้กับการเต้นอีกด้วย

ดาวน์ร็อก (Down Rock) หรือ ฟุตเวิร์ก (Footwork) คือท่าเต้นบนพื้นในระดับต่ำ ใช้มือและเท้าคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและซับซ้อน นอกจากนี้ยังมีการใช้แขนขาสลับกันไปมาเพื่อสร้างมิติของท่าเต้นให้ดูมีลูกเล่นมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างท่าดาวน์ร็อก (Down Rock) หรือ ฟุตเวิร์ก (Footwork)

- The 6-Step: ท่าที่ใช้มือกับเท้าในการเคลื่อนที่เป็นวงกลมไปเรื่อย ๆ

- Floor Work: การลงไปนอนเต้นกับพื้นและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นพื้นฐานเพื่อไปต่อในท่าอื่น ๆ อย่างการหมุนตัว

พาวเวอร์มูฟ (Power Move) คือท่าที่ต้องใช้พละกำลังและการควบคุมร่างกายค่อนข้างสูงในการเหวี่ยงลำตัวและแขนขา ระดับความยากจะเหมาะสำหรับมืออาชีพ

ตัวอย่างท่าพาวเวอร์มูฟ (Power Move)

- Windmill: การหมุนตัวบนพื้นโดยใช้ไหล่และหลังเป็นแกนหมุน

- Flare: การแกว่งขาทั้งสองข้างเป็นวงกลมรอบลำตัวโดยไม่ให้ขาแตะพื้น

- Head Spin: การหมุนศีรษะลงกับพื้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งท่านี้มีหลายคนยอมแพ้ไปเพราะทำให้เกิดอาการเจ็บศีรษะ อีกทั้งยังอาจทำให้ผมร่วงได้อีกด้วย

ฟรีซ (Freeze) คือท่าหยุดนิ่งซึ่งต้องใช้การทรงตัวและความแข็งแรง มักเป็นท่าจบของการเต้น จัดได้ว่าเหมาะสมกับผู้เริ่มต้น

ตัวอย่างท่าฟรีซ Freeze

- Baby Freeze: การใช้มือข้างหนึ่งเป็นจุดรับน้ำหนักพร้อมยกขาทั้งสองข้างขึ้น

- Chair Freeze: การนั่งบนมือข้างหนึ่งและยกขาขึ้นในลักษณะคล้ายกับนั่งเก้าอี้

- Elbow Freeze: การใช้ข้อศอกและมือข้างหนึ่งเพื่อเป็นจุดรับน้ำหนักแล้วยกขาขึ้น

นอกจากนี้เบรกกิ้งยังถือเป็นหนึ่งในการเต้นประเภทสตรีทแดนซ์ (Street Dance) ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาจากกลุ่มเยาวชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในย่านบร็องซ์ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1970 - 1980 โดยมักจะใช้ดนตรีที่มีดรัมเบรก (Drum Break) พบมากในเพลงฟังก์ โซล และฮิปฮอป ทั้งยังมีสไตล์การเต้นที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและนักเต้นแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น

- เบรกกิ้ง (Breaking): จุดเด่นคือจังหวะเท้าที่หลากหลายและการหมุนตัวบนพื้น รวมถึงมีท่าฟรีซ (Freeze) ที่จะใช้ลงท้ายการเต้นด้วยการทำท่าตัวแข็งซึ่งเป็นท่าเฉพาะของการเต้นรูปแบบนี้

- ล็อกกิ้ง (Locking): เอกลักษณ์คือมีการวางเท้า การหมุนเอว การหมุนแขน และการกระโดดเป็นส่วนหนึ่งของการเต้น

- ป็อปปิ้ง (Popping): มีการเคลื่อนไหวร่างกายแบบแยกส่วนคล้ายหุ่นยนต์ตามจังหวะเพลงอย่างที่หลายคนมักจะคุ้นเคยกันดี

- อัพ ร็อกกิ้ง (Up Rocking): เกิดจากการเลียนแบบท่าต่อสู้และเป็นแนวการเต้นที่แยกออกมาจากเบรกกิ้งอีกที

- ฟรีสไตล์ (Freestyle) : มีรูปแบบผสมผสานแนวการเต้นทุกประเภทที่กล่าวมาข้างต้น รวมไปถึงการเคลื่อนไหวแบบอื่น ๆ ด้วย เช่น ฮิปฮอป (Hip-Hop) แจ๊ซ (Jazz) และบัลเล่ต์ (Ballet)

การเต้นแต่ละประเภทมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไปตามนักเต้นแต่ละคนและภูมิภาคแต่ละที่ ซึ่งการเต้นเบรกกิ้งในบางครั้งอาจมีการปรับเปลี่ยนหรือผสมผสานรูปแบบการเต้นอื่น ๆ เข้าไปเพื่อให้มีความเฉพาะตัวและโดดเด่นมากยิ่งขึ้นได้เช่นกัน


ขอบคุณภาพจาก www.complex.com.jpg

บุคคลที่น่าจดจำในวงการ Breaking ระดับโลก

ในวงการเบรกกิ้ง (Breaking) มีบุคคลสำคัญหลายท่านที่บุกเบิกและพัฒนาวัฒนธรรมนี้ขึ้นมาจนแผ่ขยายไปทั่วโลก พวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างผลงานที่น่าทึ่งบนเวที แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเต้นรุ่นใหม่ทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย เรามาดูกันว่าใครบ้างที่มีส่วนช่วยให้วงการเบรกกิ้งก้าวมายืนตรงจุดนี้ได้

DJ Kool Herc แม้จะไม่ใช่นักเต้นโดยตรงแต่เขาก็ถือเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญ เพราะเขาคือผู้คิดค้นเทคนิค ‘Break’ ในการเล่นแผ่นเสียงซึ่งเป็นจุดกำเนิดของจังหวะที่ใช้ในการเต้นเบรกกิ้ง

Crazy Legs (Richard Colón) หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งทีมเต้น Rock Steady Crew อันโด่งดังซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและเผยแพร่เบรกกิ้งไปทั่วโลก เขาเป็นที่รู้จักจากสไตล์การเต้นที่มีเอกลักษณ์และความสามารถในการทำท่าพาวเวอร์มูฟสุดโหด

Ken Swift อีกหนึ่งสมาชิกคนสำคัญของทีมเต้น Rock Steady Crew โดยเขาได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘The Epitome of B-Boy’ หรือต้นแบบของเหล่าบี-บอยทั้งหลาย เพราะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาท่าฟุตเวิร์กและเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเต้นรุ่นหลัง

Poppin' Pete (Timothy Solomon) แม้จะเป็นที่รู้จักมากกว่าในฐานะนักเต้นป็อปปิ้ง (Popping) แต่เขาก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการเบรกกิ้งผ่านการผสมผสานสไตล์การเต้นที่หลากหลาย

Frosty Freeze (Wayne Frost) สมาชิกอีกคนของทีมเต้น Rock Steady Crew ที่มีชื่อเสียงจากการคิดค้นท่า ‘Suicide’ ซึ่งเป็นท่าเต้นที่ต้องใช้ทักษะและความกล้าสูง

Spy (Elijah Fernandez) หนึ่งในผู้บุกเบิกท่าพาวเวอร์มูฟคนสำคัญ เขาเป็นที่รู้จักจากการพัฒนาท่า ‘Windmill’ และ ‘Head Spin’ ให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น

ปัจจุบันเทคนิคการเต้นเบรกกิ้งได้ถูกพัฒนาไปจนถึงขั้นสูง จึงทำให้เกิดนักเต้นเบรกกิ้งยุคใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่น่าจดจำดังต่อไปนี้

Lilou (Ali Ramdani) นักเต้นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรียผู้ชนะการแข่งขัน Red Bull BC One ถึง 2 สมัย เขาเป็นที่รู้จักจากสไตล์การเต้นที่ผสมผสานความแข็งแกร่งกับความสง่างามเข้าไว้ด้วยกัน

Hong 10 (Hong Sung Chul) นักเต้นชาวเกาหลีใต้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเต้นเบรกกิ้งที่ดีที่สุดในโลก โดยเขามีชื่อเสียงจากการทำท่าพาวเวอร์มูฟอันแสนซับซ้อนและสร้างสรรค์

Roxrite (Omar Delgado Macias) นักเต้นชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกันผู้ชนะการแข่งขันระดับโลกหลายรายการ เขาเป็นที่รู้จักจากสไตล์การเต้นที่มีความสมดุลรวมถึงสเต็ปฟุตเวิร์กที่ยากจะหาใครเทียบ

Menno (Menno van Gorp) นักเต้นชาวเนเธอร์แลนด์ที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในนักเต้นเบรกกิ้งที่สมบูรณ์แบบที่สุด โดยเขานั้นมีความสามารถโดดเด่นทั้งในท่าท็อปร็อก ท่าฟุตเวิร์ก รวมถึงท่าพาวเวอร์มูฟ

Kastet (Katsiaryna Andreyeva) นักเต้นหญิงชาวเบลารุสที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เธอมีสไตล์การเต้นที่แข็งแกร่งและโด่งดังจากการทำท่าพาวเวอร์มูฟอันน่าทึ่ง

Neguin (Fabiano Carvalho) นักเต้นชาวบราซิลที่ผสมผสานเบรกกิ้งเข้ากับการเต้นแบบบราซิลได้อย่างลงตัว โดยเขานั้นมีความคล่องแคล่วและความคิดสร้างสรรค์ในการเต้นที่โดดเด่นอย่างมาก

Sunny (Sunny Choi) นักเต้นหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี เธอเป็นที่รู้จักจากสไตล์การเต้นอันมีเอกลักษณ์ซึ่งผสมผสานเบรกกิ้งเข้ากับการเต้นรูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว

Issei (Issei Hori) นักเต้นชาวญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขามีความสามารถในการทำท่าพาวเวอร์มูฟสุดซับซ้อน ทั้งยังมีสไตล์การเต้นที่เป็นเอกลักษณ์อีกด้วย


จากถนนสู่เส้นทางโอลิมปิก

ย้อนกลับไป 10 ปีก่อนถ้ามีคนมาบอกว่าเบรกกิ้ง (Breaking) จะกลายเป็นกีฬาชิงเหรียญในโอลิมปิกคงแทบไม่มีใครเชื่อ เนื่องจากการเต้นที่ถือกำเนิดจากวัฒนธรรมฮิปฮอปในย่านบร็องซ์ นิวยอร์กซิตี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกสนานและบรรเทาความทุกข์จากปัญหาสังคมของอเมริกันเท่านั้น แต่เวลาต่อมากลับได้รับความนิยมไปยังกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเต้นแนวนี้ทั่วทุกมุมโลก

ต้องยอมรับว่าเบรกกิ้งได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมที่มีความนิยมอย่างแพร่หลาย มีฐานแฟนคลับที่แข็งแกร่ง ทั้งยังมีการก่อตั้งสมาคมมากมายในหลายประเทศ ซึ่งระหว่างการเดินทางอันแสนยาวนานนี้ เบรกกิ้งก็ได้มีการจัดแข่งขันระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เช่น Red Bull BC One ที่ทำให้การเต้นชนิดนี้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น สามารถดึงดูดนักลงทุน สปอนเซอร์ และผู้ชมจำนวนมาก

แต่เหตุผลที่เบรกกิ้งสามารถเดินทางเข้าสู่กีฬาสากลได้นั้นเป็นเพราะมีการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรระดับโลกอย่าง World DanceSport Federation (WDSF) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลกีฬาเต้นรำนานาชาติ องค์กรนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เบรกกิ้งได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เนื่องจากเบรกกิ้งเป็นกีฬาที่มีความแข็งแกร่ง ความยืดหยุ่น และความคิดสร้างสรรค์ ทั้งหมดถือเป็นคุณสมบัติอันสอดคล้องกับหลักการของโอลิมปิก

โอลิมปิกสากลได้ออกนโยบายเปิดรับกีฬาใหม่ ๆ ที่มีความทันสมัยและดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังนั้่นเบรกกิ้งจึงเป็นหนึ่งในกีฬาที่ตอบโจทย์ความต้องการนี้ โดยนำไปเปิดตัวครั้งแรกในงานโอลิมปิกเยาวชนที่จัดขึ้น ณ เมืองบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปีค.ศ. 2018 และได้ถูกบรรจุลงในฐานะกีฬาประเภทใหม่ของมหกรรมโอลิมปิก ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปีค.ศ.2024 ที่ผ่านมา

การแข่งขันเบรกกิ้งแบ่งเป็นออก 2 ประเภท คือ ชายและหญิง โดยทั้ง 16 บี-บอยและ 16 บี-เกิร์ลจะออกมาประชันโชว์ท่าอันน่าตื่นเต้นและคิดกันสด ๆ ตามจังหวะเพลงที่ดีเจเปิดเพื่อสะสมคะแนนให้ได้มากที่สุดในการผ่านเข้ารอบ โดยมีท่าเต้นบังคับ 3 ท่า ได้แก่ ท่าดาวน์ร็อก (Down Rock) หรือ ฟุตเวิร์ก (Footwork) ท่าพาวเวอร์มูฟ (Power Move) และท่าฟรีซ (Freeze) อันเป็นท่าเต้นเบสิคของเบรกกิ้ง

รายละเอียดของเบรกกิ้งในการแข่งขันโอลิมปิกจะมีท่าเต้นที่ควรรู้จักอย่างคร่าว ๆ เช่น ‘Windmill’ อยู่ในกลุ่มท่าพาวเวอร์มูฟ เป็นท่าหมุนตัวบนพื้นโดยใช้ไหล่และหลังเป็นจุดหมุน ‘The 6-Step’ อยู่ในกลุ่มท่าดาวน์ร็อกหรือฟุตเวิร์ก  เป็นท่าเต้นพื้นฐานที่ใช้มือกับเท้าในการเคลื่อนที่เป็นวงกลม สุดท้ายคือท่าฟรีซซึ่งเป็นท่าหยุดนิ่งในอิริยาบถที่ต้องใช้ความแข็งแรงและการทรงตัวสูง

นอกจากนี้ความท้าทายของเบรกกิ้งนั้นอยู่ที่นักกีฬาต้องปรับเปลี่ยนสไตล์การเต้นและด้นสดให้เข้ากับจังหวะเพลงที่ดีเจเปิด ซึ่งต้องอาศัยทั้งความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางเทคนิค และไหวพริบในการแสดงออกด้วย

การตัดสินจะทำโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางเทคนิค การแสดงออก และความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน โดยมหกรรมโอลิมปิก ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศสที่ผ่านมา ‘ยูอาสะ อามิ หรือ B-Girl AMI’  นักเต้นชาวญี่ปุ่นก็ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักเต้นหญิงคนแรกที่คว้าเหรียญทองเบรกกิ้งมาครอง ส่วนฝ่ายชายคือ ‘ฟิลิปป์ คิม หรือ B-Boy Phil Wizard’ ผู้ชนะตัวแทนจากทีมชาติแคนาดา 

การเพิ่มเบรกกิ้งเข้าสู่โอลิมปิกไม่เพียงสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชม แต่ยังเป็นการยกระดับศิลปะการเต้นรูปแบบนี้สู่การยอมรับในระดับสากลยิ่งขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้นักเต้นทั่วโลกได้แสดงความสามารถบนเวทีใหญ่และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาทักษะการเต้นของตนเองอีกด้วย ดังนั้นมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปารีส 2024 จึงไม่เพียงแค่เป็นการแข่งขันกีฬาเท่านั้น ทว่ากลับได้ร่วมเฉลิมฉลองวัฒนธรรมและความหลากหลายผ่านศิลปะการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าเบรกกิ้ง ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญและจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในประวัติศาสตร์กีฬาโอลิมปิกเลยก็ว่าได้


ก้าวที่กำลังเดินของ Breaking ไทย

วัฒนธรรมฮิปฮอปในสหรัฐอเมริกาได้แพร่หลายมาสู่ประเทศไทยในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ผ่านทางสื่อต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ มิวสิควิดีโอ และการแสดงสดของศิลปินต่างชาติ ซึ่งแน่นอนว่ามันนำพาเบรกกิ้ง (Breaking) เข้ามาด้วย

เบรกกิ้งในไทยเริ่มต้นจากวัยรุ่นที่หลงใหลในวัฒนธรรมฮิปฮอป จนมีกลุ่มเล็ก ๆ ที่ชื่นชอบเบรกกิ้งแยกตัวออกมาเป็นนักเต้นมือสมัครเล่น สมัยก่อนพวกเขาหัดเต้นลองผิดลองถูกด้วยกันเองเนื่องจากยังไม่มีการสอนผ่านสื่อออนไลน์ที่แพร่หลายเหมือนปัจจุบัน จึงมักมีการฝึกซ้อมตามสวนสาธารณะ ลานจัตุรัส หรือห้างสรรพสินค้าแทน 

ช่วงยุค 1990s - 2000s วงการเบรกกิ้งในไทยก็เริ่มเติบโต มีการจัดแข่งขันระดับอีเวนต์เล็ก ๆ ไปจนถึงระดับประเทศทำให้เกิดชุมชนของนักเต้นที่แข็งแกร่งขึ้น เมื่อมีคนเก่งก็เริ่มมีผู้เชี่ยวชาญตามมา เบรกกิ้งจึงเข้าสู่หลักสูตรในสตูดิโอเต้นหรือโรงเรียนสอนเต้นหลายแห่ง ดังนั้นศิลปะการเต้นแนวนี้เลยไม่ได้จำกัดเพียงคนกลุ่มเดียวอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อองค์กรต่าง ๆ ระดับโลกพยายามผลักดันเบรกกิ้งเข้าไปอยู่ในหมวดกีฬา จากการเต้นเพื่อความสนุกสนานและการแสดงออกทางศิลปะสู่การฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบเพื่อไปแข่งขันในระดับนานาชาติ ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนทุกอย่างเข้าระบบมากขึ้น ดังนั้นเบรกกิ้งจึงได้มาสังกัดอยู่ในสมาคมกีฬาลีลาศแห่งประเทศไทย

ก้าวแรกเริ่มจากการบรรจุเป็นหนึ่งในกีฬาแข่งขันเอเชียนเกมส์ (Asian Games) ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว ประเทศจีน เมื่อปีค.ศ.2023 ตามมาด้วยงานซีเกมส์ (SEA Games) ครั้งที่ 32 ณ ประเทศกัมพูชาในปีเดียวกัน ซึ่งก็มีนักกีฬาเบรกกิ้งไทยที่ได้คว้าเหรียญเงินและเหรียญทองแดงกลับมา นั่นคือ ‘ชิน หรือ Cheno ชินวุฒิ จันทตรัตน์’ และ ‘เต๋า หรือ T-Flow กันตภณ รอดสอาด’ ตามลำดับ นอกจากนี้เบรกกิ้งยังเข้าไปอยู่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสมาแล้วด้วย ถือเป็นความหวังใหม่ของเบรกกิ้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม วงการเบรกกิ้งของไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำ นั่นคือปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนจากภาครัฐที่ยังไม่เพียงพอ การขาดแคลนสถานที่ฝึกซ้อมอันเหมาะสม อุปกรณ์การฝึกที่ทันสมัย รวมถึงผู้ฝึกสอนอย่างเป็นระบบและมีประสบการณ์สูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถของนักเต้นเบรกกิ้ง ยิ่งไปกว่านั้นคือต้องพัฒนาการแข่งขันภายในประเทศให้มีจำนวนมากเช่นเดียวกับนานาชาติด้วย เพื่อเป็นเวทีให้นักเต้นรุ่นใหม่ได้พัฒนาฝีมือและสั่งสมประสบการณ์มากขึ้นอีก

แม้จะมีความท้าทายหลายประการ แต่อนาคตเบรกกิ้งประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากหลังการแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีสจบลงทำให้คนเห็นและรู้จักกีฬาเบรกกิ้งกันมากขึ้น เทียบกับสมัยก่อนแล้วมีหลายภาคส่วนเริ่มให้ความสนใจและเป็นแรงผลักดันให้นักกีฬาก้าวต่อไป หากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบเบรกกิ้งของไทยก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นสู่ระดับแนวหน้าของโลกได้ในอนาคตอย่างแน่นอน


Hip-Hop & Breaking เทรนด์ฮอตฮิตที่ไม่เคยจางหาย

เทรนด์ของฮิปฮอป (Hip-Hop) นั้นรันอยู่ในวงการมาแทบจะทุกยุคทุกสมัย อีกทั้งแฟชั่นการแต่งกายของเหล่าบี – บอย (B-Boy) และบี – เกิร์ล (B-Girl) ต่างก็สร้างภาพจำให้กับคนทั่วไปอยู่ไม่น้อย ด้วยท่วงท่าของเบรกกิ้ง (Breaking) หรือ เบรกแดนซ์ (Break Dance) ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างหนัก นักเต้นทั้งหลายจึงพยายามมองหาเสื้อผ้าที่ช่วยให้มีความคล่องตัวขณะเต้น ดังนั้นแฟชั่นของพวกเขาเลยมักจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดของนักกีฬาหรืออาชีพแรงงานที่มีเครื่องแบบอันแสนสะดวกสบายเพราะต้องขยับเขยื้อนร่างกายบ่อย ๆ ก่อนจะพัฒนากลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่วนเวียนมาให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ

แฟชั่นแรกเริ่มของเบรกกิ้งคือ ‘Tracksuit’ หรือชุดวอร์มสำหรับออกกำลังกาย มีลักษณะเป็นผ้าลื่นเหมาะสำหรับการเคลื่อนไหวหนัก ๆ และไม่ฟิตพอดีตัวจนเกินไป ซึ่งการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าทรงหลวมได้ต่อยอดมาถึงสไตล์ ‘Baggy’ นั่นคือเสื้อและกางเกงตัวใหญ่โคร่งที่เรามักจะเห็นชาวฮิปฮอปนิยมกันอยู่เสมอ ทั้งยังเพิ่มความเป็นกลุ่มแก๊งให้มากขึ้นด้วย ‘เสื้อยืดสกรีนลาย (Flocked T-Shirt)’ ตามชื่อหรือสัญลักษณ์ประจำทีม กลายเป็นเทรนด์ ‘Fashion Gang’ ที่เหล่านักเต้นจะสวมใส่ชุดแบบเดียวกันทั้งกลุ่มขึ้นมา

อีกหนึ่งแฟชั่นภาพจำของนักเต้นเบรกกิ้งคือ ‘หมวก’ ซึ่งเป็นไอเทมที่แทบจะขาดไปไม่ได้เลย โดยหมวกที่พวกเขานิยมสวมใส่กันนั้นจะเรียกว่า ‘Bell Hat’ มีลักษณะเป็นทรงระฆังและ ‘Baseball Cap’ หมวกแก๊ปที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนักกีฬาเบสบอล ด้วยท่าเต้นของเบรกกิ้งนั้นมีการนำศีรษะลงไปหมุนกับพื้นฟลอร์อยู่เสมอจึงจำเป็นต้องสวมใส่หมวกเอาไว้เพื่อป้องกันอันตรายในขั้นต้น ดังนั้นนักเต้นแทบทุกคนจะขาดไอเทมชิ้นนี้ไปไม่ได้เลยจนกลายเป็นภาพจำต่อเบรกกิ้ง แถมบางครั้งคนก็ยังเรียกหมวกทรงนี้ว่าหมวกฮิปฮอป

ปัจจุบันแฟชั่นบางอย่างของบี – บอยและบี – เกิร์ลในยุค 1980s-2000s เริ่มถูกนำกลับมาสร้างเทรนด์ฮิตอีกครั้งทั้ง Baggy Jeans และ Bell Hat รวมถึงแฟชั่นอื่น ๆ ที่ไม่เคยห่างหายไปจากกระแสอย่าง Baseball Cap และ Flocked T-Shirt นอกจากนี้ยังมีชุด Tracksuit ไปปรากฏอยู่ในผลงานของศิลปินไอดอล K-Pop บางวง เช่น NewJeans ซึ่งพวกเธอมักจะหยิบเอาไอเดียชุดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฮิปฮอปและเบรกกิ้งมาสวมใส่อยู่บ่อย ๆ

นอกจากแฟชั่นการแต่งตัวแล้วฮิปฮอปและเบรกกิ้งก็ยังไปปรากฏอยู่ตามสื่อบันเทิงต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ในยุค 80s ของสหรัฐอเมริกาได้มีภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเอาวัฒนธรรมของฮิปฮอปขึ้นมาปรากฏบนจอเงิน นั่นคือ ‘Wild Style’ ออกฉายเมื่อปีค.ศ.1983 แม้ว่าตัวละครเอกของภาพยนตร์จะทำงานเกี่ยวข้องกับด้านกราฟฟิตี้ (Graffiti) แต่ภายในเรื่องก็ได้แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของความเป็นฮิปฮอปไว้อย่างครบถ้วนซึ่งนั่นรวมถึงการเต้นเบรกกิ้งด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ตัวภาพยนตร์ยังมีจุดเด่นในด้านของดนตรีซาวด์แทร็กที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงการเพลงฮิปฮอปมากมายในช่วงยุค 80s และนักเต้นเบรกกิ้งก็ยังนิยมใช้ดนตรีซาวด์แทร็กจากภาพยนตร์เรื่องนี้มาประกอบการเต้นของพวกเขาอีกด้วย

ต่อมาในปีค.ศ.1984 ยังมีภาพยนตร์เรื่อง ‘Beat Street’ ที่เล่าเกี่ยวกับผู้คนในย่านบร็องซ์ (The Bronx) ซึ่งเกี่ยวพันถึงวัฒนธรรมของฮิปฮอปและเบรกกิ้ง โดยในเรื่องได้มีกลุ่มบี – บอยอันแสนโด่งดังอย่าง ‘New York City Breakers’ ปรากฏตัวขึ้นในฉากหนึ่ง พวกเขาคือกลุ่มนักเต้นเบรกกิ้งยุคแรกเริ่มที่ได้ออกอัลบั้มเป็นของตัวเองและนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ณ ขณะนั้น ถึงขนาดได้ไปแสดงต่อหน้าประธานาธิบดี Ronald Reagan จนเรียกได้ว่านี่คืออีกหนึ่งตำนานของวงการเบรกกิ้ง

สำหรับวัยรุ่นยุค 2000s ภาพยนตร์แดนซ์กระจายฝั่งตะวันตกที่ติดตราตรึงใจคงหนีไม่พ้น ‘Step Up’ ที่สร้างภาคต่อมาแล้วหลายซีซั่น โดยภาคแรกออกฉายในปีค.ศ.2006 เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนักเต้นสตรีทแดนซ์ (Street Dance) ซึ่งเป็นแนวการเต้นประเภทหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้นโดยนักเต้นริมทางยุค 70s - 80s และรวบรวมเอาการเต้นหลากหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกันรวมถึงเบรกกิ้งด้วย กระทั่งเมื่อปีค.ศ.2019 บริษัท Yuehua Entertainment จากจีนก็ได้ร่วมมือกับบริษัท Lionsgate Films สร้างภาพยนตร์ ‘Step Up: Dance Of The Year’ ซึ่งเป็นภาคแยกในแฟรนไชส์ภาพยนตร์เดียวกันของ Step Up ขึ้นมา

นี่จึงเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าแดนมังกรเองก็ให้ความสนใจกับสตรีทแดนซ์และเบรกกิ้งอยู่ไม่ใช่น้อย ดังนั้นฝั่งเอเชียที่มีกระแส Pop Culture มาแรงจึงเริ่มหยิบยกเอาการเต้นเบรกกิ้งขึ้นมาปรากฏตามหน้าสื่อบันเทิงมากยิ่งขึ้น


การปรากฏตัวของ Breaking บนหน้าสื่อและทิศทางต่อไปในอนาคต

ในยุคปัจจุบันเริ่มมีสื่อที่เกี่ยวข้องกับการเต้นเบรกกิ้ง (Breaking) ปรากฏให้เห็นอยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะผู้นำด้าน Pop Culture อย่างเกาหลีใต้และแม่ทัพใหญ่แห่งเอเชียอย่างจีนที่หันมาส่งเสริมวงการสตรีทแดนซ์ (Street Dance) รวมถึงวงการเบรกกิ้งกันมากขึ้น ไหนจะข่าวการเข้าร่วมเป็นกีฬาแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกก็ยิ่งทำให้กระแสของเบรกกิ้งค่อย ๆ ขึ้นมาอยู่บนหน้าสื่อบันเทิงซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมของเบรกกิ้งไปด้วยโดยปริยาย

จีนแผ่นดินใหญ่ได้ผุดรายการที่นำเสนอเกี่ยวกับสตรีทแดนซ์และเบรกกิ้งขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น ‘Street Dance Of China’ และ ‘Great Dance Crew’ ของแพลตฟอร์ม Youku รวมถึงรายการ ‘Hot Blood Dance Crew’ ของแพลตฟอร์ม iQIYI ซึ่งรายการเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่นักเต้นเบรกกิ้งจะได้ระเบิดพลังบนเวทีผ่านสื่อบันเทิงสาธารณะ ในขณะเดียวกันทางฝั่งเกาหลีใต้ก็มีรายการชื่อดังอย่าง ‘Street Woman Fighter’ และ ‘Street Man Fighter’ ที่แจ้งเกิดนักเต้นหลากหลายคน รวมถึงได้นำเอาวัฒนธรรมของเบรกกิ้งขึ้นมาโชว์แก่สายตาผู้คนมากขึ้นอีกด้วยเพราะทั้งสองรายการต่างก็ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักมากมายไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ชาวไทยที่ติดตาม K-Entertainment กันอยู่เสมอ

อิทธิพลของเหล่าศิลปินไอดอลที่เคยคร่ำหวอดอยู่ในวงการสตรีทแดนซ์และใกล้ชิดกับวงการเบรกกิ้งมาก่อนก็มีผลทำให้คนหันมารู้จักหรือสนใจวงการนี้กันมากขึ้น ตัวอย่างเช่น คังแดเนียล (Kang Daniel)’ ไอดอลหนุ่ม K-Pop มากความสามารถ เขาเป็นอีกหนึ่งคนดังที่ถูกยอมรับในด้านการเต้นโดยเฉพาะเบรกกิ้งที่เจ้าตัวถนัดแสนถนัด ซึ่งแดเนียลนั้นมีชื่อในวงการบี-บอยว่า ‘Flag’ และเคยสังกัดทีมเต้น Loups Crew แห่งเมืองปูซานบ้านเกิดมาก่อน อีกทั้งเขายังได้มารับหน้าที่เป็นโฮสต์หลักประจำรายการ Street Woman Fighter และ Street Man Fighter อันแสนฮอตฮิตที่ผ่านมาด้วย

ซูเปอร์สตาร์หนุ่มแดนมังกรชื่อดังแห่งยุคหวังอี้ป๋อ (Wang Yibo)’ ก็เป็นอีกหนึ่งคนดังที่วนเวียนอยู่กับวงการเต้นสตรีทแดนซ์ โดยเขาได้เข้าร่วมเป็นกัปตันทีมประจำรายการ Street Dance Of China พร้อมพาลูกทีม หยางข่าย หรือ B-Boy Keven’ คว้าชัยเมื่อฤดูกาลที่ 3 ของรายการ นอกจากนี้ในปีค.ศ.2023 ที่ผ่านมาเขายังได้รับบทบาทนำในภาพยนตร์เรื่อง ‘One And Only’ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหนุ่มน้อยนักเต้นเบรกกิ้งผู้มีความฝันและความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ซึ่งแน่นอนว่าประสบความสำเร็จทั้งรายได้และกระแสวิจารณ์ พร้อมไปปลุกพลังความฮึกเหิมในการเชียร์นักกีฬาเบรกกิ้งทีมชาติจีนที่ได้ลงแข่งในเอเชียนเกมส์ ณ เมืองหางโจว ประเทศจีนและมหกรรมโอลิมปิก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นเป็น Top 1 ของกีฬาเบรกกิ้งในเอเชียนเกมส์ ณ เมืองหางโจว ประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมาด้วย เพราะกวาดไปได้ทั้งเหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดงจากผลงานของ ‘B-Boy Shigekix  B-Girl Ami และ B-Girl Ayumi’ ตามลำดับ โดยญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีนักเต้นเก่ง ๆ อยู่มากมาย เห็นได้จากการปรากฏตัวในรายการแข่งขันระดับนานาชาติบนหน้าสื่อต่าง ๆ และภายหลังจากที่นักกีฬาเบรกกิ้งไปคว้าชัยมาจนกลายเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ กระแสของเบรกกิ้งจึงยิ่งกระจายไปยังประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกเพศวัยทั้งเด็ก วัยรุ่น แม้กระทั่งผู้สูงอายุ

ด้วยความยากของท่วงท่าต่าง ๆ ในเบรกกิ้งรวมถึงการมีวัฒนธรรมอันเฉพาะกลุ่ม จึงไม่แปลกนักที่อาจจะยังมีคนสนใจไม่มากเท่ากับกีฬาบางชนิด ทว่าในทางกลับกันเบรกกิ้งเริ่มถูกมองว่าเป็นกีฬาที่สามารถใช้ออกกำลังกายได้อย่างสร้างสรรค์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอย่างไรก็ตามแรงสนับสนุนส่วนนั้นก็ยังเป็นคนละเรื่องกับการขับเคลื่อนวงการเบรกกิ้งในระดับมหภาคอยู่ดี เพราะนักเต้นหลายคนยังคงขาดทั้งพื้นที่ซ้อม อุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงงบประมาณอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับพวกเขาในการจะไปแข่งขัน ณ เวทีต่าง ๆ นักเต้นเบรกกิ้งอีกหลายประเทศต้องเผชิญกับอุปสรรคนี้อยู่เช่นเดียวกับในไทย ดังนั้นหลังจากนี้คงต้องคอยจับตาดูกระแสทิศทางของวงการเบรกกิ้งกันต่อไปว่าจะสามารถพลิกจากใต้ดินขึ้นมาสู่สากลได้อย่างแท้จริงแล้วหรือยัง

ขอบคุณภาพจาก

- www.complex.com.jpg

- www.nbcnews.com.jpg

- www.techbeyondinfinity.com.jpg

- www.sahamongkolfilm.com

MiX Magazine ฉบับที่ 197 รวบรวมเรื่องราวของวงการเบรกกิ้งตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ท่าเต้นยอดฮิต ศิลปะ แฟชั่น รวมถึงเส้นทางการแข่งขันระดับนานาชาติที่ยกระดับไปสู่การเป็นกีฬาสากล พร้อมเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ของการเต้นที่มากกว่าแค่การเต้นมาให้ได้ชมกัน