Beyond the Battle เริ่มต้นจากความชอบกับสิ่งที่ไม่เคยยอมแพ้ ชินวุฒิ จันทตรัตน์

Beyond the Battle เริ่มต้นจากความชอบกับสิ่งที่ไม่เคยยอมแพ้ ชินวุฒิ จันทตรัตน์

“การจะดู ‘บี-บอย (B-boy) หรือ เบรกกิ้ง (Breaking)’ แบบง่าย ๆ ผมแนะนำให้ดูเรื่องความเพอร์เฟคของท่าเต้น แต่สิ่งที่ควรดูเสริมเป็นเรื่องของการเต้นเข้าจังหวะเพลงในการแสดงท่าต่าง ๆ ด้วย จะมีท่าหยุด ท่าหมุนตัว ขึ้นบน-ลงล่าง ฟุตเวิร์ค ให้ดูความสอดคล้องกันว่าสมบูรณ์แบบแค่ไหน แม้อีกฝั่งหนึ่งจะเต้นท่ายากมากแต่เขาอาจเก็บรายละเอียดได้ไม่ดีพอ ตรงนี้คือความแตกต่างของเบรกกิ้ง ซึ่งการฝึกซ้อมวัดได้จากคุณภาพของการแข่งเต้นในแต่ละครั้ง”

‘ชีโน่ (Cheno) ชินวุฒิ จันทตรัตน์’ คือนักเต้นมืออาชีพผู้มีประสบการณ์ในวงการเต้นมากกว่า 17 ปี เขาพัฒนาความสามารถจากความชอบและพยายามฝึกฝนมาด้วยตนเองกับกลุ่มเบรกกิ้งในยุคแรกของประเทศไทย ซึ่งผลจากความมุ่งมั่นและความทุ่มเททำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักเต้นเบรกกิ้งที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ คว้ารางวัลมาแล้วมากมาย อาทิ เหรียญเงินซีเกมส์ (SEA Games) ปีค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นครูผู้สอนเบรกกิ้งที่มีประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเต้นรุ่นใหม่ได้อย่างไม่หยุดยั้ง   

การเดินทางสู่การเป็นเบรกกิ้ง

“ผมเกิดที่จังหวัดลําปางแต่มาเติบโตที่จังหวัดกรุงเทพฯ คุณพ่อทำงานเป็นพนักงานบริษัทเกี่ยวกับจิวเวลรี่ ปัจจุบันคุณพ่อผมเสียไปแล้วส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก ถือว่าเป็นครอบครัวธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้ห้ามความชอบของผมนั่นคือการเต้น ซึ่งเราต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการเต้นไปเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผมเริ่มเต้นเป็นแล้วมีรายการแข่งขันผมก็จะบอกว่า ‘ป๊ามาดูผมหน่อย’ พอท่านได้มาดูครั้งหนึ่งคราวนี้ก็มาให้กำลังใจตลอดและไม่ได้ว่าอะไรอีกเลย อีกอย่างการซ้อมเต้นส่วนใหญ่จะซ้อมช่วงดึก มันก็เกิดคำถามสำหรับเด็กวัย 15-16 ปีว่าไปทำอะไรทำไมถึงกลับดึก แต่จริง ๆ แล้วเราไม่ได้ทําอะไรที่ไม่ดี เราไปซ้อมเต้นจริง ๆ 

“เมื่อก่อนที่ผมเริ่มเต้นอย่างจริงจัง ตอนเรียนอยู่ช่วงชั้นประถมในยุคนั้นราชาเพลงป๊อปต้องยกให้ไมเคิล แจ็กสัน ผมชอบเขาเลยเลียนแบบท่าเต้นแทบทุกอย่าง รู้สึกว่ามันแปลกดีที่จะทําอย่างไรให้เต้นเหมือนเขาได้ ผมเคยแต่งตัวเป็นไมเคิล แจ็กสันไปโชว์เต้นที่โรงเรียนเลยนะ เต้นท่ามูนวอล์ค (Moonwalk) สนุก ๆ ตามประสาเด็ก ซึ่งเขาคือหนึ่งในคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมเช่นกัน

“จุดเริ่มต้นที่ผมได้รู้จักเบรกกิ้งมาจากวันหนึ่งผมไปเดินเล่นที่เดอะมอลล์บางกะปิ แล้วไปเจอมิวสิควิดีโอของวง New School ขึ้นอยู่บนจอยักษ์ พวกเขาเป็นนักร้องแร็พไทยในยุคนั้น มิวสิควิดีโอของเขามีเต้นบี-บอย มีท่าหมุนหัว มีท่าบิน ผมก็เอ๊ะ! ท่าแบบนี้ทําไมมันน่าทํา พอกลับถึงบ้านเลยลองทำดูแต่ทำไม่ได้จนใจมันหงุดหงิดโมโหตัวเอง จากจุดนี้ทำให้ต้องค้นหาข้อมูลว่าท่านี้เขาเรียกว่าอะไร ทำไมเขาทำได้แต่เราทำไม่ได้ พอได้ฝึกจริง ๆ เลยชอบตั้งแต่ตอนนั้น” 

ก้าวแรกสู่การเป็นเบรกกิ้งมืออาชีพ 

“ผมเริ่มเข้ากลุ่มมาซ้อมเต้นบี-บอย (B-boy) หรือ เบรกกิ้ง (Breaking) แบบไม่ได้คิดอะไรมากครับ คิดแค่ว่าอยากทําท่านี้ให้ได้เพราะการทําไม่ได้ยิ่งเป็นเรื่องท้าทาย ผมคิดว่าซ้อมไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็ทำได้เอง แล้วอีกอย่างคือมีกลุ่มรุ่นพี่ที่คอยช่วยซ้อมช่วยแนะนำด้วยเลยค่อย ๆ พัฒนาไปครับ ถ้าถามว่าฝึกหนักไหม วันหนึ่งขั้นต่ำก็ 3 - 4 ชั่วโมง 

“การเต้นบี-บอยในยุคนั้นผมเชื่อว่าไม่มีใครสนใจเรื่องเงินหรือการแข่งขันเท่าไหร่ แค่อยากทำท่าให้ได้หรือมีอีกอย่างคือแค่อยากเท่เพราะท่ามันมีเสน่ห์ ยิ่งท่าหมุนนี่เป็นเรื่องเบสิกที่ทุกคนอยากทำได้เลย ถ้าทำสิ่งที่ยากสุดมาแล้วการทำท่าที่เหลือก็จะไม่ยากแล้ว 

“สเต็ปการเต้นของคนที่เริ่มต้นตอนแรกมันเหนื่อยและท้อแท้ว่าเราจะเริ่มหรือเราจะเลิก ถ้าเราทนก็ไปต่อ ถ้าไม่ทนก็เลิกไปทําอย่างอื่น มันมีแค่นั้น แต่จริง ๆ คือตัวผมไม่ได้คิดอะไรมาก ผมคิดแค่ว่าอยากทําได้ก็เลยทําไปแล้วมันสนุกดี เวลาพลาดเจ็บเราไม่ได้แบบร้องโอ๊ย! งอแง มันเจ็บนั่นแหละแต่คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการฝึก 

“ส่วนตอนนั้นไอดอลยังไม่มี เราจะชอบรุ่นพี่ที่เก่งมากกว่า แต่ถ้าเป็นตอนนี้ไอดอลจริง ๆ จะอยู่ที่ต่างประเทศ มีหลายคนมากครับ พวกเขาเก่งด้านท่าหมุน Power Move ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ฝั่งอเมริกาหรือยุโรป ทุกวันนี้ก็ยังดูเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ด้วยความที่ช่วงแรกเริ่มเรายังเป็นเด็กก็จะหมุนอย่างเดียวเลย แต่ช่วงหลังกลับมาดูสายที่เน้นเต้นเข้าจังหวะด้วย” 

ทำความรู้จักท่ายอดฮิต

“ผมอยากบอกผู้ที่เริ่มชมเบรกกิ้งว่าการเต้นมันมีหลายท่า แต่ที่เราเห็นกันบ่อยจะเป็นท่า Head Spin คือเอาหัวปักพื้นแล้วหมุน ความยากของมันอยู่ที่คนทำต้องมีความอดทนเนื่องจากต้องตั้งหัวจากนั้นก็หมุน แล้วหัวเราต้องโดนน้ำหนักกดทับซึ่งเจ็บมาก แม้ว่าจะมีอุปกรณ์อย่างหมวกก็ยังเจ็บอยู่ดี

“สำหรับผมคนเดียวนะครับ ท่า Head Spin ไม่ได้ยากที่สุด ท่ายากที่สุดของผมคือท่าที่เรียกว่า Nineteen – Ninety หรือ 1990 เป็นการหมุนมือเดียวหลายรอบไปเรื่อย ๆ คนทั่วไปทำได้แค่ 2-3 รอบ แต่คนเก่ง ๆ จะทําได้เป็น 10 รอบ

“ส่วนคนที่อยากเต้น ผมแนะนำให้เริ่มต้นที่ท่า Baby Freeze เป็นท่าง่าย ๆ คล้ายการเล่นโยคะที่ทรงตัวลอยจากพื้นด้วยแขน เมื่อได้ท่าเบสิกแล้วจะมีท่า Top Rock ท่า Cross Indian Step ท่า 6 Step เอาแค่นี้ก่อนยังไม่ต้องไปไกลมากและยังไม่ต้องหมุน ถ้าอยากไประดับที่สูงขึ้นก็เป็น Back Spin หมุนหลังคล้ายเต่านินจา อันนั้นจะง่ายที่สุด แรงขึ้นไปอีกถึงจะเป็น Windmill เป็นท่าเหมือนกังหันลมกางขาแล้วก็ตัวกลิ้งหมุนไปเรื่อย ๆ ท่า Windmill เป็นท่าแรกที่วัดใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เพราะว่ามันเจ็บมากเวลาตัวกระแทกและเรื่องเทคนิคก็เข้าใจยากนิดหนึ่งถ้าคนไม่ค่อยใช้ 

“แต่ถ้าผ่าน Windmill ไปได้แล้วผมคิดว่าไม่มีอะไรยาก อาจจะไปต่อที่ท่า Air Flare หรือ Air Track เป็นท่าลอยตัวกลางอากาศ โดยเอามือค้ำไว้แล้วก็พลิกมาจับใหม่บนพื้น วนไปเป็นรอบ

“ที่ผมพูดมาคือคนไทยสามารถทำได้ทั้งหมดเหมือนคนต่างชาติเลยนะ แต่ว่าคุณภาพของท่า การฝึกซ้อม ความครีเอทีฟ ความต่อเนื่องและรายละเอียดปลีกย่อยเป็นสิ่งที่มีแตกต่างกัน นักกีฬาเราดูออกเลยเวลาแข่งว่าเขาซ้อมมากน้อยแค่ไหน แม้ตอนแข่งจะทำท่าได้เหมือนกันแต่คุณภาพของท่ากับดนตรีนั้นต่างกัน 

“สำหรับคนที่ชอบจริง ๆ ผมแนะนำให้เรียนเบรกกิ้งไปเลยก็ได้ เพราะจะได้ลองเต้นด้วยความถูกต้องและมีคนสอนให้เป็นเร็วกว่า เรียนได้ก็ดีแต่ไม่เรียนก็ไม่เป็นไรเพราะว่าพวกนี้มันเป็นเรื่องของปฏิกิริยาตามธรรมชาติ เหมือนเวลาเราฟังเพลงอะไรก็ตามที่เราโยกหัวตามจังหวะแล้วค่อย ๆ อินกับมัน ซึ่งเพลงกับท่าเต้นมันต้องสัมพันธ์กัน”

จากสนามซ้อมสู่สนามแข่ง

“การแข่งขันเบรกกิ้งจะมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือประเภทแข่งขันชิงเงินรางวัลกับประเภทแข่งขันกีฬาเพื่อชิงเหรียญ ปัจจุบันเบรกกิ้งเป็นชนิดกีฬาหนึ่งที่อยู่ในสมาคมลีลาศครับ เมื่อเราได้รับแจ้งว่าต้องไปแข่งขันซีเกมส์ (SEA Games) ที่กัมพูชาก็เตรียมตัวฝึกซ้อมกันประมาณ 2 เดือน วันละ 3-5 ชั่วโมง โดยมีโค้ชซึ่งเป็นนักกีฬาเก่ามาช่วยกัน เวลาไปแข่งขันจริงต้องเข้าใจว่าสำหรับนักกีฬาไม่ว่าชาติไหนก็รู้จักเป็นเพื่อนกันหมด ต้องเข้าใจด้วยว่ากองเชียร์เจ้าบ้านเขาเชียร์ชาติตัวเองอยู่แล้ว เรื่องการตัดสินและความแฟร์จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเราสู้ได้เพราะว่าประเทศไทยมีนักกีฬาที่เก่งหลายคน

“งานชิงรางวัลที่ผมประทับใจมากคืองานตั้งแต่ปีค.ศ. 2009 งานนี้จัดขึ้นที่ไต้หวัน มีกรรมการตัดสินระดับตำนานมาร่วมงานด้วยซึ่งเขาอยู่นิวยอร์กไม่ได้จะเจอกันง่าย ๆ การแข่งครั้งนั้นผมแข่งขันเดี่ยวแล้วชนะได้มา 2 รางวัล ซึ่งกรรมการระดับตำนานก็ให้กําลังใจเราว่าทําได้ดีแล้วให้ทําต่อไปนะ อีกประเด็นคือรางวัลที่ได้มาเป็นถ้วยคริสตัลที่หนักมากแล้วผมทำหลุดมือแตกร้าว ทุกวันนี้ยังตั้งอยู่ที่บ้าน เสียใจนิดหน่อยแต่ทำใจได้ครับ”

เสียงเรียกร้องช่วยส่งเสริมสู่เวทีโลก

“ตอนนี้อยากได้การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น สถานที่ฝึกซ้อมสาธารณะที่เป็นลานให้ซ้อมเต้นบีบอยโดยเฉพาะ อยากให้สปอนเซอร์มาช่วยในการลงแข่งขันทั้งในและต่างประเทศด้วย แล้วก็อยากให้มีการแข่งขันบ่อย ๆ ตรงนี้ผมว่าสําคัญ บางคนอาจจะมองว่าแข่งทําไม แต่จริง ๆ มันสําคัญมากเพราะว่าการแข่งขันคือการลับมีด ถ้ามีดไม่คมฟันไปเหอะต้นไม้ไม่ขาดหรอก วิธีการลับมีดก็คืออีเว้นท์เล็ก ๆ นี่แหละ หลายคนอาจจะมองว่าไม่สําคัญแต่อีเวนต์เล็ก ๆ มันทําให้นักกีฬาเก่งขึ้น แม้จะมีการแข่งขันในบ้านเราแต่ก็ไม่ใช่ว่ามีแค่นักเต้นไทยนะ ยังมีนักเต้นต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาร่วมด้วย

“สำหรับนักเต้นเบรกกิ้งรุ่นใหม่อยากให้ทุกคนฝึกซ้อมเยอะ ๆ ครับ เพราะว่าการฝึกซ้อมคือรากฐานสําคัญของการที่จะก้าวไปข้างหน้า ซ้อมแล้วก็ดูแลร่างกายให้ดีด้วย ถ้าเกิดบาดเจ็บเราต้องรู้ตัวเอง อีกอย่างทุกวันนี้มีองค์ความรู้เยอะแยะให้พยายามหาข้อมูล เพราะว่าการเต้นเบรกกิ้งมันไม่ใช่แค่ทําท่าได้แล้วจบ แต่มันต้องหาข้อมูลว่าท่านี้ใครเป็นคนเริ่มหรือว่ามันมาจากที่ไหน เหมือนเราค้นคว้าประวัติศาสตร์เพื่อลงลึกไปกับมัน เราจะสามารถทําความเข้าใจกับตัวเองแล้วสร้างท่าใหม่ ๆ ออกมาได้เพราะว่าสิ่งนี้มันวัดจากความคิดสร้างสรรค์ซะส่วนเป็นใหญ่ ท่าที่เราเห็นทุกวันนี้มันเยอะแยะไปหมดเพราะมันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ครับ

“อีกอย่างหนึ่งคือเราควรเก็บเงินเพื่อออกไปแข่งขันต่างประเทศสักหน่อย ไม่ต้องไกลครับแค่ประเทศมาเลเซีย เวียดนามสิงคโปร์ ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ก็ได้ มีงานแข่งเยอะแยะเราก็ควรออกไปแข่งเมืองนอกด้วย อย่ารอให้โอกาสเข้ามา อย่างเดียว ตอนแรกไม่ชนะหรอกแต่เราเอาประสบการณ์มาปรับปรุงพัฒนาเดี๋ยวมันจะชนะเอง 

“แม้ว่าวงการเบรกกิ้งในบ้านเราจะยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร เราก็ออกไปข้างนอกก่อนแล้วพอกลับมาในประเทศจะพัฒนาตามเอง เขาเรียกว่าป่าล้อมเมือง เด็กที่อยู่ข้างในเขาจะได้เห็นเราที่อยู่ข้างนอกว่ามีฝีมือไปไกลจากแนวคิดและประสบการณ์ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นอย่ามัวคิดว่ามันแพงหรือมันยาก ทุกอย่างยากหมดแต่เราต้องทำมันขึ้นมา”
---------------------------------

ขอขอบคุณสถานที่ : KILLSHOT Coffee & Co.  ลาดพร้าว 94 

ชีโน่ (Cheno) ชินวุฒิ จันทตรัตน์ คือนักเต้นมืออาชีพผู้มีประสบการณ์ในวงการเต้นมากกว่า 17 ปี