Breaking X Merigin Hair Tonic หยุดอุปสรรค ผลักทุกปัญหา เผชิญหน้าทุกความท้าทาย

Breaking X Merigin Hair Tonic หยุดอุปสรรค ผลักทุกปัญหา เผชิญหน้าทุกความท้าทาย

เป็นภาพที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อยเมื่อ ‘ชิน ชินวุฒิ – Cheno, เต๋า กันตภณ – T-flow, ซาบะ อารีรัตน์ – ZABA และหมู กฤษภาณุ – CoundPig’ มารวมตัวกันตามประสาเดอะแก๊งคนใกล้ชิดในคอมมูนิตี้นักเต้น แต่วันนี้ MiX และแบรนด์ Merigin ได้ทำการนัดหนึ่งสาว B-Girl และสามหนุ่ม B-Boy เนื่องในโอกาสพิเศษที่มากกว่าเดิมสักหน่อย เพื่อมาร่วมสัมภาษณ์เปิดประสบการณ์ในฐานะนักเต้นผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการ Breaking อย่างยาวนานกว่าสิบปี พร้อมเผยเรื่องราวอุปสรรคและความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญในเส้นทางสายนี้ซึ่งอาจมีน้อยคนนักที่รู้

Warming Up!

Cheno : สวัสดีครับ ชิน ชินวุฒิ หรือ B-Boy Cheno ครับ เต้น Breaking มาประมาณ 24 ปีแล้ว อยู่ทีม 99Flava ครับ

T-Flow : สวัสดีครับ ผมชื่อเต๋านะครับ AKA คือ T-Flow เต้น Breaking มาประมาณ 15 ปี ปัจจุบันอยู่ทีม YoungBlood (YB) และทีม Brother Green ครับ

ZABA : สวัสดีค่ะ B-Girl ZABA เต้น Breaking มา 10 ปีได้แล้วค่ะ ตอนนี้อยู่ทีม Anarchy Rocker และทีม Beat StreetZ ค่ะ

CoundPig : สวัสดีครับ ผม B-Boy CoundPig ครับ เต้น Breaking มาได้ 15 ปีแล้วเหมือนกัน ปัจจุบันอยู่ทีม The Savagers และทีม 99Flava ครับ


The Super Crew

T-Flow : พวกเรารู้จักกันจากการแข่งเต้น Breaking ครับ เพราะว่าอยู่ในคอมมูนิตี้เดียวกันและมักจะเจอกันบ่อย เลยได้มีการพูดคุยกันเรื่อย ๆ แล้วก็เป็นเพื่อนกันครับ

Cheno : เราจะรวมตัวกันเพราะว่างานแข่งเป็นส่วนใหญ่ ไม่ก็ไปซ้อมเต้นแล้วเจอกันตามสถานที่ซ้อมต่าง ๆ ครับ

ZABA : ได้ไปเจอกับรุ่นพี่รุ่นน้องแล้วซ้อมเต้นด้วยกัน หลังจากนั้นก็ไปกินข้าว ฟีลปาร์ตี้จอย ๆ หาอะไรทําหลังเลิกงานหรือหลังเลิกเรียน มันเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ดีค่ะ

T-Flow : อย่างวันนี้ก็รู้สึกดีนะครับที่ได้เจอคนที่คุ้นเคย เหมือนได้แชร์ประสบการณ์ที่เราไปเจอมาในแต่ละวัน จริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเต้นนะครับแต่มีหลายเรื่องเลยที่เราได้คุยกัน

CoundPig : ผมเองตื่นเต้นมากครับที่ได้มาสัมภาษณ์แล้วก็มาเจอเพื่อนด้วย เป็นความตื่นเต้นที่สนุกและหลากหลายอารมณ์ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ครับเพราะว่าส่วนตัวผมก็ไม่ได้มีโอกาสมาสัมภาษณ์บ่อย

Life Challenge

เส้นทางในฐานะนักเต้น Breaking แน่นอนว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ใช่เพียงแค่ความยากลำบากของการฝึกซ้อมในแต่ละท่วงท่าอันแสนจะโหดและหินเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปัจจัยอื่นที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามาให้ได้พบเจอกับความจริง เมื่อตัดสินใจแล้วว่าพวกเขาจะปักหลักอยู่ในวงการนี้เพื่อทำในสิ่งที่รักตลอดไป

CoundPig : ความท้าทายหนึ่งของผมเท่าที่อยู่ในวงการ Breaking มาน่าจะเป็นการแข่งขันตามงานใหญ่ ๆ ยังไงไม่ให้สูญเสียความเป็นตัวเองครับ

Cheno : ส่วนถ้า B-Boy อย่างรุ่นผมคงจะเป็นการต่อสู้กับตัวเองครับ ด้วยความที่เราทํางานหาเลี้ยงชีพและเต้น Breaking ไปด้วย ทั้งสองอย่างมันเลยต้องบาลานซ์กัน แล้วไหนจะอายุที่เพิ่มมากขึ้นอีก ในมุมของผมมันยากตรงที่เราต้องดูแลตัวเอง ไม่เหมือนตอนเด็ก ๆ วัย 15 -16 ปีที่จะซ้อมเต้นได้ทั้งวันเรื่อย ๆ แล้วครับ

T-Flow : เรื่องร่างกายผมจะมีเจ็บตัวบ้างอะไรบ้าง แต่ปัญหาอีกอย่างคือเรื่อง Budget (งบประมาณ) ครับ เพราะว่าจะเต้นอย่างเดียวก็ไม่ได้ บางคนเขาไม่มีงบเพื่อมาลุยต่อในเส้นทางนี้ก็อาจเลิกเต้น Breaking แล้วไปทํางานอื่นแทนเลย

Cheno : อันที่จริงคือมันยังไม่มีการสนับสนุนด้านนี้ด้วยครับ อีกอย่างผมก็ทําสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัวว่ามันเป็นอาชีพได้ยังไงด้วยซ้ำแค่ทำไปเรื่อย ๆ คงเพราะว่าผมทํามันด้วยความจริงจังครับ

Let’s freeze it all

นอกจากความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เหล่านักเต้นได้บอกมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่น้อยคนนักจะนึกถึง นั่นคือเรื่องของสุขภาพหนังศีรษะที่อ่อนแอ ผมบางและผมขาดหลุดร่วง อันเนื่องมาจากสไตล์การเต้นของ Breaking ซึ่งต้องเอาศีรษะลงไปปะทะกับพื้นฟลอร์อยู่เสมอ แม้กระทั่ง ‘เต๋า กันตภณ – T-Flow’ ยังถึงกับเคยเอ่ยปากออกสื่อให้ได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วด้วย 

T-Flow : ขอเล่าเหตุการณ์ตอนผมถูกสัมภาษณ์หลังแข่ง Asian Games 2023 สักหน่อย หลังจากที่เราสัมภาษณ์แบบทางการเสร็จก็ได้มีการคุยเล่นกับสื่อไปเรื่อย ๆ ครับ ทีนี้เขาถามผมว่าถ้าหมวกของผมหลุดออกจากหัวจะมีปัญหาอะไรตอนเต้นหรือเปล่า ผมเลยบอกเขาไปว่าจริง ๆ มันก็ไม่ได้มีผลอะไรมากหรอกแต่ที่ใส่หมวกเพราะว่าผมหัวล้าน (หัวเราะ) พอบอกไปอย่างนี้แล้วสื่อดันชอบ เขาเลยเอาคลิปนี้ไปทำข่าวแล้วก็กลายเป็นกระแสไวรัลขึ้นมาครับ

ZABA : คงเหมือนผู้หญิงค่ะ ถ้าไม่เขียนคิ้วก็ไม่กล้าออกมาจากบ้านประมาณนั้น มันเป็นเรื่องของความมั่นใจ

T-Flow : เราชอบสิ่งนี้ เราขายวิญญาณให้กับมันไปแล้วก็ต้องยอมรับด้วยว่ามันมีผลกระทบจริง ๆ นักเต้น Breaking รุ่นพี่บางคนเคยเข้ามาคุยกับผมเรื่องนี้เหมือนกันนะ เขาบอกว่าเต้นไปเยอะ ๆ มันจะทำให้หัวล้าน ตอนนั้นเรายังเด็กไงครับเลยไม่เชื่อ สุดท้ายมันก็ออกมาอย่างที่เห็น

Cheno : ปัญหานี้มันคือเรื่องซีเรียสภายใต้ความฮานะครับ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความมั่นใจของเราจริง ๆ

ปัญหาที่อาจดูเล็กน้อยในสายตาผู้อื่นแต่แท้จริงแล้วนั้นหนักหนากว่าที่ใครจะทันคาดคิดสำหรับนักเต้น Breaking อย่างพวกเขา ทางแบรนด์ Merigin ในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์บำรุงหนังศีรษะและช่วยในการเกิดใหม่ของเส้นผม จึงขอร่วมซัพพอร์ตทุกความฝันของเหล่านักเต้นภายใต้สโลแกน ‘Always Possible เป็นไปได้เสมอกับเมอริจิ้น’ พร้อมติดตามผลลัพธ์อย่างใกล้ชิดเพื่อหยุดวงจรปัญหาสุขภาพผมและหนังศีรษะ ให้นักเต้นมั่นใจไร้กังวล ระเบิดพลังบนฟลอร์ได้อย่างเต็มที่ในทุก ๆ แมทช์

B-GIRL ZABA  ชีวิตที่พร้อมพุ่งชนทุกความกลัวด้วยความกล้า

‘ซาบะ อารีรัตน์ นุ่มโต’ หรือ ‘ZABA’ เธอคือนักเต้น B-Girl สาวผู้หลงใหลและทุ่มเทใจให้กับการเต้นมากว่า 10 ปี อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในนักกีฬา Breaking ทีมชาติไทยเซ็ตแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เดินทางไปแข่งขันในมหกรรมกีฬาสากลอย่าง SEA Games และ Asian Games เมื่อปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมาอีกด้วย จากความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่นักเต้นสาวคนนี้มี ทำให้จนถึงปัจจุบัน B-Girl ZABA ยังคงเลือกเดินบนเส้นทางสายนี้ต่อไป เพื่อเป้าหมายว่าสักวันหนึ่งวงการ Breaking ไทยจะสามารถก้าวไปสู่ระดับโลกได้ในที่สุด      

The beginning of ‘B-Girl ZABA’

“เส้นทาง B-Girl ของซาบะเริ่มมาจากเราตอนนั้นไม่รู้ว่าจะไปต่อกับการเต้นแนวไหนดีหลังจากเรียนเต้นมาแทบทุกแนวแล้ว จนได้ไปเจอคุณครูชีโน่ (B-Boy Cheno) และเรียนเต้น Breaking กับเขา ซึ่งมันทำให้ซาบะรู้สึกว่าตัวเองน่าจะไปต่อได้อีกไกลในเส้นทาง Breaking เพราะการเต้นแนวนี้มันท้าทายตัวเองเรื่อย ๆ หลังจากนั้นเลยยืนพื้นเป็นนักเต้น B-Girl มาจนถึงปัจจุบันค่ะ

“หลังจากเรียนเต้น Breaking ได้ประมาณ 1 ปี ซาบะเริ่มคิดว่าถ้าไม่มีครั้งแรกก็จะไม่มีครั้งต่อไป เราเลยตัดสินใจลงแข่งเต้นในงาน La Fete B-Boy Battle ยอมรับว่าตอนนั้นตัวเองเต้นไม่ดีหรอก แต่ซาบะก็ได้ไปยืนอยู่ ณ จุดนั้นเพื่อพรีเซนต์ตัวเองว่ากําลังเข้าสู่วัฒนธรรมของ Breaking แล้วนะ ให้รอดูและติดตามเราด้วย”

B-Girl’s Life

เมื่อมองดูให้ลึกลงไปจะเห็นว่า Breaking ไม่ใช่เพียงการเต้นประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความอดทน ความมีวินัย และความกล้าที่จะทะลุกรอบในหลาย ๆ ด้าน ซึ่ง B-Girl ZABA ได้แสดงถึงทัศนคติที่มุ่งมั่นว่าสิ่งสำคัญของการก้าวเท้าเข้ามาในวงการ Breaking สำหรับเธอแล้วนั้นคือความศรัทธาในสิ่งที่รักและความทุ่มเทในการฝึกฝน หาใช่ปัจจัยอย่างอื่นที่ผู้คนมักชอบตัดสินกัน 

“ประเด็นที่คนชอบมองว่าการเต้น Breaking เป็นกิจกรรมของผู้ชายมีมาตั้งนานแล้วค่ะ เพราะมันใช้ความแข็งแรงคนเลยติดภาพว่าต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นสิที่ทำได้ แต่ซาบะเชื่อว่าการเต้น Breaking ก็เหมือนกับกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่ต้องใช้แรงและมีความ Masculine (ความเป็นชาย) อย่างปีนผา ยิงธนู ยิงปืน ซึ่งสุดท้ายแล้วเพศสภาพไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องเลย อยู่ที่ตัวบุคคลว่าเขาจะทํามันหรือไม่และเขาให้เวลากับการฝึกฝนมากแค่ไหนต่างหาก

“อันที่จริงก็มีปัจจัยด้านกายภาพเหมือนกันเพราะเราเป็นผู้หญิงที่กล้ามเนื้อไม่ได้แข็งแรงเท่าผู้ชาย แต่อย่างน้อยถ้าเราฝึกให้มากขึ้นในทุก ๆ วันก็ทําได้เหมือนกันค่ะ สิ่งสำคัญมันอยู่ที่เวลาเท่านั้นเอง ดังนั้นซาบะเลยเชื่อและศรัทธาในคนที่ยังทําอยู่แล้วก็ทําต่อค่ะ คนที่จะเต้นต่อไปโดยไม่สนปัจจัยด้านอายุหรือว่าความเจ็บปวดทางร่างกาย เพราะการเต้น Breaking มันต้องใช้ความอดทนมาก ๆ เราเลยยิ่งประทับใจคนที่ไม่มีข้ออ้างในตัวเองแบบนี้”

The Power Move 

ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 2023 การเต้น Breaking ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นกีฬาแข่งขัน SEA Games, Asian Games และ Olympic ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้วงการ Breaking เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นบนหน้าสื่อทั่วโลก และท่ามกลางนักเต้นมากความสามารถ B-Girl ZABA คือหนึ่งในผู้ที่ได้ตบเท้าเข้าสู่ฟลอร์การแข่งขันในฐานะนักกีฬา Breaking ทีมชาติไทย พร้อมทั้งเก็บเกี่ยวบทเรียนและประสบการณ์อันมากมายกลับมาซึ่งคือสิ่งล้ำค่าที่เธอจะไม่มีวันลืม

“ตอนที่ได้เป็นหนึ่งในนักกีฬา Breaking ทีมชาติไทยไปแข่งงาน SEA Games 2023 และ Asian Games 2023 ซาบะรู้สึกตื่นเต้นมาก ๆ ค่ะ แต่ว่าต้องฝึกฝนต่อไปเพราะตอนที่เราได้ออกไปข้างนอกจะรู้เลยว่าตัวเองยังฝึกมาไม่มากพอและยังไม่ได้สักเสี้ยวหนึ่งของนักเต้นต่างประเทศเลย”  

“ในแง่ความแตกต่างระหว่างการเต้น Breaking อันเดอร์กราวด์ (Underground) กับการเต้น Breaking ที่เป็นกีฬามันไม่เหมือนกันอยู่แล้วค่ะ อันเดอร์กราวด์ (Underground) หรือใต้ดิน นักเต้นจะพรีเซนต์ความเป็นตัวเองมาก ๆ โดยสามารถเต้นท่าไหนก็ได้ให้บ่งบอกว่านี่คือตัวตนของฉันอย่างชัดเจนที่สุด แต่พอเป็นการแข่งขันกีฬาทุกอย่างต้องลดความเป็นตัวเองลงมานิดหนึ่ง มันจะมีองค์ประกอบการให้คะแนนเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเขากำหนดมาชัดเจนเลยว่าภายใน 1 รอบการแข่งขันจะต้องเต้น 4 ท่าพื้นฐานของ Breaking ทั้งหมด โดยมีท่า Top Rock, ท่า Foot Work, ท่า Power Move และท่า Freeze ซึ่งซาบะไม่ถนัดท่า Power Move แต่จําเป็นต้องฝึกท่านี้หลังจากติดทีมชาติแล้ว เพราะการจะไปแข่งขันกีฬา Breaking มันบังคับว่าต้องเต้นให้ครบทุกท่าค่ะ ตรงจุดเลยนี้มีความแตกต่างในด้านของการเป็น Breaking Culture กับการเป็น Commercial Sport อยู่” 

“สิ่งสำคัญคือซาบะอยากให้มีพื้นที่สําหรับนักเต้น Breaking ในไทยมากขึ้นด้วยค่ะ เพราะว่าตอนนี้พวกเราฝึกซ้อมเต้นกันตามใต้อาคารหรือตามจุดต่าง ๆ ที่พอจะสามารถเต้นได้ บางทีก็โดนยามไล่หรือโดนคนเข้ามาห้ามทั้งที่พวกเราไม่ได้ทําความเดือดร้อนให้ใครเลย อาจจะมีบ้างเรื่องมลภาวะทางเสียงแต่สามารถเดินมาเตือนกันได้นะคะ ดังนั้นก็เลยอยากให้มีพื้นที่เยอะขึ้นสําหรับการฝึกซ้อมเต้นอย่างจริงจังรวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยสนับสนุนการซ้อมด้วย ซาบะเชื่อว่าถ้าปัจจัยพวกนี้มันมีมากขึ้นคนก็จะมาเต้น Breaking กันเยอะขึ้น  แล้วประเทศไทยจะมีนักแข่งเพื่อปั้นไปสู่ระดับโลกได้อีกมากมาย”

Fix your ‘Hair’ to be yourself

ในบรรดาปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่ส่งผลต่อการฝึกซ้อมของเหล่านักเต้น Breaking สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่คือเรื่องของผมขาดหลุดร่วงและสภาพหนังศีรษะที่อ่อนแอ โดยนักเต้นหญิงอย่าง B-Girl ZABA เองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เนื่องด้วยสไตล์การเต้นที่จำเป็นต้องเอาศีรษะลงไปปะทะกับพื้นฟลอร์อยู่เสมอ จึงทำให้เกิดการทำร้ายสุขภาพผมและหนังศีรษะซึ่งยากต่อการดูแลหรือฟื้นฟูให้กลับมาดีขึ้นดังเดิม ในบางครั้งยังไปทำลายความมั่นใจของนักเต้นเมื่อต้องออกสู่สายตาสาธารณะชนอีกด้วย

 “เวลาเต้น Breaking ในท่า Power Move กับท่า Freeze ที่จะต้องเอาหัวลงไปแนบหรือเอาหัวลงไปหมุนกับพื้น ปัจจัยพวกนี้มันส่งผลกระทบต่อเส้นผมเราแน่นอนค่ะ ซาบะเริ่มผมบางแล้วเหมือนกันเพราะว่ามันหลุดร่วงเยอะมาก เลยต้องดูแลและหาวิธีที่จะช่วยให้รากผมของเราแข็งแรงขึ้นหน่อย” 

 “ซาบะคิดว่านักเต้น B-Girl ก็มีความสวยในแบบของตัวเองนะ เราสามารถพรีเซนต์ตัวเองผ่านการแต่งหน้าแต่งตัวได้ ไม่อยากให้ติดภาพจำว่า B-Girl มีแต่คนผมสั้นเพราะต้องเอาหัวไปไถพื้นบ่อย ๆ คือจะผมสั้นหรือผมยาวมันเป็นความชอบส่วนบุคคลและอยู่ที่ความถนัดค่ะ ซาบะเองตอนนี้ตัดผมสั้นเพราะว่ามันแตกปลายและด้วยพื้นฐานเราเป็นคนผมเส้นใหญ่ก็จะดูแลยากหน่อย เลยคิดว่าการมีผมที่สวยสุขภาพดีมันช่วยเสริมความมั่นใจให้กับตัวเราได้เหมือนกันค่ะ”

B-BOY T-FLOW  ชายหนุ่มผู้ยอมอุทิศชีวิตให้กับการเต้น ไปจนกว่าจะสิ้นแรงกาย

‘เต๋า กันตภณ รอดสอาด’ คือชื่อเต็มของชายผู้สวมบทบาทนักเต้น B-Boy มากว่าครึ่งชีวิตภายใต้ฉายา ‘T-Flow’ เขาคือชายหนุ่มผู้มีความฝันว่าชีวิตจะอุทิศเพื่อการเต้นไปจนสิ้นแรงกาย กระทั่งจังหวะหนึ่งเส้นทางของนักเต้นใต้ดินก็ได้พลิกผันสู่การเป็นนักกีฬา Breaking ทีมชาติไทยเซ็ตแรกในประวัติศาสตร์ และวันนี้ ‘B-Boy T-Flow’ ยังคงพร้อมที่จะเคลื่อนไหวร่างกายระเบิดพลังบนฟื้นฟลอร์ต่อไป เพื่อเป้าหมายสำคัญคือการนำชื่อเสียงมาสู่วงการ Breaking ไทยในอนาคต 

Warm Up ทำความรู้จัก B-Boy T-Flow

“ที่มาของชื่อ AKA ในวงการเต้น เริ่มจากตัวอักษร T แทนชื่อเล่นของผมเอง ‘เต๋า’ ส่วนคำว่า Flow มาจากสไตล์การเต้นที่ผมชอบ เมื่อรวมกันเลยกลายเป็น ‘T-Flow’ เพราะเอกลักษณ์การเต้นของ B-Boy T-Flow จะมีความลื่นไหล (Flow) และแข็งแรงครับ ผมค่อนข้างรวมหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกันแต่ว่าหลัก ๆ แล้วจะเป็นด้านสไตล์มากกว่า แบบว่ามีท่าเต้นที่หลากหลายในสไตล์ของตัวเอง”

B-Boy’s Life เส้นทางสู่พื้นฟลอร์

“ผมน่าจะเริ่มเต้น Breaking ตั้งแต่อายุประมาณ 14 ปี แรงบันดาลใจมาจากการที่ผมเป็นคนชอบเต้นอยู่แล้วแหละ ทีนี้แถวบ้านของผมเขาจัดกิจกรรม Break Dance หรือ Breaking ผมเห็นว่าเพื่อนของผมมันไปเต้นแล้วเท่ดีและดูน่าสนใจ สุดท้ายเลยขอเข้าไปร่วมด้วย ดังนั้นคุณครูคนแรกที่สอนผมเต้น Breaking ก็เลยเป็นเพื่อนของผมเองครับ” 

“งานแข่งเต้นครั้งแรกในชีวิตของผมจัดตรงสถานที่ที่ผมซ้อมอยู่นั่นแหละ (ป้อมพระสุเมรุ) เป็นงานแข่งขันที่รุ่นพี่ของผมเขาจัดขึ้นมา ผมจําได้ด้วยนะว่าตัวเองแต่งตัวยังไง (หัวเราะ) แต่ว่าตอนนั้นเด็กน้อยมาก ๆ อายุประมาณ 14-15 ปีเองครับ ผมเพิ่งเริ่มเต้นไม่นานแล้วได้เข้ามาร่วมแข่งขันเลย ซึ่งการแข่งครั้งนั้นไม่ได้รางวัลหรอกเพราะมันไม่ง่ายแถมผมก็เพิ่งหัดเต้นด้วย แต่สิ่งที่ผมได้รับมามันคือประสบการณ์ที่ดีครับ หลังจากครั้งนั้นก็ทําให้กล้าแสดงออกมากขึ้นและรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละคือตัวตนของเรา”

“สําหรับผมประสบการณ์ที่ได้รับจากวงการ Breaking มันมีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนและสังคมรอบข้างที่ดี มันทําให้เราได้เปิดโอกาสเพื่อไปพบกับคนใหม่ ๆ มากขึ้นรวมถึงเจอคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันด้วย อย่างเมื่อก่อนสมัยเด็ก ๆ ผมชอบนักเต้นอยู่คนหนึ่ง เขาชื่อ B-Boy ROOKIE เป็นคนเกาหลีใต้ครับ ผมเจอเขาที่ไทยนี่แหละเพราะเขามาซ้อมเต้นแถวที่ผมซ้อมประจำและรู้จักกับรุ่นพี่ของผม ผมได้มีโอกาสเรียนเต้นกับเขาก็เลยรู้สึกว่านักเต้น B-Boy คนนี้เจ๋งมาก แบบว่าเก่งแถมมีสไตล์ที่เท่ด้วย”

Power Move จากใต้ดินสู่สากล 

จากแนวการเต้นอันเดอร์กราวด์ (Underground) สู่การเป็นกีฬาระดับสากล เมื่อในที่สุด Breaking ก็ได้ถูกบรรจุการแข่งขันในกีฬา SEA Games, Asian Games และ Olympic ซึ่งนี่คือเหตุการณ์ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ของวงการ Breaking ไปทั่วโลก และครั้งหนึ่งในชีวิตของ B-Boy T-Flow ก็ได้มีโอกาสสวมบทบาทนักกีฬา Breaking ทีมชาติไทยเพื่อไปแข่งขันในนามตัวแทนของประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมานี้เอง

“ตอนที่รู้ว่า Breaking จะถูกเอาเข้ามาแข่งเป็นกีฬา ความรู้สึกของผมแวบแรกก็ค่อนข้างงงว่ามันจะทำได้เหรอ เพราะด้วยความที่ Breaking ไม่ได้ง่ายสำหรับคนนอกวงการที่ดูการแข่งขันแล้วจะเข้าใจมัน แต่ผมไม่ได้ต่อต้านเรื่องที่เอา Breaking เข้ามาเป็นกีฬาแข่งขันนะ เพราะว่าตอนอยู่ในจุดที่เราเป็นนักเต้น B-Boy อันเดอร์กราวด์ (Underground) ก็ไม่ได้มีใครสนใจวงการนี้ขนาดนั้นไง แต่พอเริ่มมาเป็นการแข่งขันกีฬา ตรงจุดนี้แหละที่ผมรู้สึกว่ามีคนเข้ามาสนับสนุนและให้ความสนใจวงการ Breaking มากขึ้นซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นอะไรที่ดี ตัวผมเองก็รู้สึกดีใจมากเลยครับที่ได้มาเป็นนักกีฬา Breaking ทีมชาติไทย ได้แข่งในงาน SEA Games 2023 และ Asian Games 2023  ผมรู้สึกว่าคนรอบตัวให้ความสําคัญกับวงการ Breaking มากขึ้นจากเมื่อก่อน

“ส่วนในด้านความแตกต่างระหว่างการเต้น Breaking อันเดอร์กราวด์ (Underground) กับการเต้น Breaking ที่เป็นกีฬา โดยส่วนตัวผมคิดว่าอันเดอร์กราวด์มันจะชิลล์ ๆ และมีความเป็นอิสระมากกว่า แต่ถ้าในมุมมองของการแข่งขันกีฬามันก็จะมีกฎที่เยอะขึ้นซึ่งเราไม่เคยทําแบบนี้มาก่อนเลย และเราต้องมีระเบียบวินัยมากขึ้นด้วยนะ เพราะอันนี้มันไม่ใช่แค่เต้นเป็นตัวเองอย่างเดียวแล้ว มันมีคําว่าไทยแลนด์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทําให้รู้สึกฮึกเหิมมาก

“ผมคิดว่าจะเต้นต่อไปจนตัวเองเต้นไม่ไหว อยากสร้างชื่อเสียงให้ไทยแลนด์ว่านักเต้น B-Boy ไทยก็เก่งเหมือนกัน ความฝันอีกอย่างของผมคืออยากให้มีคนมาเต้น Breaking กันเยอะ ๆ ถ้าเกิดประชากรนักเต้นเราเยอะขึ้น ผมว่าวงการนี้ภาพลักษณ์มันก็อาจจะดูดีขึ้นเยอะครับ ตอนนี้เวลาเราจัดงานแข่งเต้น Breaking ก็จะมีคนเข้าร่วมไม่เยอะมากเพราะมันมีแค่เฉพาะกลุ่มเอง ส่วนใหญ่ครอบครัวเขามักจะกังวลกันไงครับว่าเต้นแบบนี้ร่างกายจะบาดเจ็บมากหรือเปล่า ไม่ก็คิดว่ามันจะทำเป็นอาชีพได้ไหม ถ้าวงการ Breaking ได้รับการส่งเสริมที่มากขึ้นเขาก็อาจเปลี่ยนความคิดกัน”

ความเก่งที่ต้องแลกมาด้วยปัญหา “ผม”

ด้วยสไตล์การเต้นของ Breaking ที่จำเป็นจะต้องเอาศีรษะลงไปปะทะกับพื้นฟลอร์อยู่เสมอ ดังนั้นปัญหาผมขาดหลุดร่วงอย่างหนักจึงได้กลายเป็นสิ่งที่นักเต้น Breaking ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักเต้นบางคนยินยอมรับสภาพที่เป็นอยู่เพราะไม่ต้องการละจากสิ่งที่รักและเลือกจะซุกซ่อนปัญหานี้เอาไว้ภายใต้หมวกจนกลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำที่มีต่อ B-Boy ไปเสียแล้ว เช่นเดียวกับ T-Flow ที่ได้เปิดเผยออกมาว่าปัญหาผมบาง และสุขภาพผมที่อ่อนแอนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยสำหรับวงการนี้เลย

“สําหรับเรื่องผมร่วงผมบาง อันที่จริงมันเป็นปัญหาทั่วโลกเลยไม่ใช่แค่ในบ้านเรา เพราะว่านักเต้น B-Boy จะทุ่มเทเวลากับการซ้อมเยอะมากไงครับ ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไม่ดูแลสุขภาพผมตัวเองหรอกนะ แต่ว่าเราเอาหัวลงไปไถพื้นจนมันกดทับผมทุกวันอยู่ดี สุดท้ายมันก็เลยเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นคงต้องหาอะไรที่ช่วยรักษารากผมตั้งแต่ต้นมันจะได้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน หรือไม่ก็อีกวิธีหนึ่งคือใช้หัวให้น้อยลง แต่ว่าสไตล์การเต้นของผมมันดันต้องใช้หัวไง

“ประเด็นที่ว่าเป็นนักเต้น B-Boy มักจะผมบาง ตัวผมเองไม่ได้แคร์เท่าไหร่เพราะว่ายังชอบและรักการเต้น Breaking อยู่ แต่อีกมุมหนึ่งทุกคนมันก็อยากหล่ออยู่แล้ว ซึ่งผมว่าความหล่อความเท่มันสามารถสร้างกันได้ อย่างน้อยขอได้บํารุงและรักษาผมให้ดีขึ้นสักหน่อยแม้ว่าเราจะยังใช้งานมันหนักเหมือนเดิมก็เถอะ” 

B-BOY COUNDPIG นักเต้นหนุ่มเจ้าคารมณ์กับตัวตนอันหลากมิติ

ชายหนุ่มผู้สร้างสีสันให้กับทุกคนด้วยความฮาและความกวนอันเป็นเอกลักษณ์ ตามแบบฉบับของ ‘CoundPig’ เขาคือนักเต้น B-Boy ไฟแรงที่ขับเคลื่อนชีวิตทำสิ่งอันเป็นสิ่งที่รัก จนอาจกล่าวได้ว่าบทบาทในฐานะ ‘B-Boy CoundPig’ คือครึ่งหนึ่งของตัวตนที่ไม่สามารถแยกออกไปได้จาก ‘หมู กฤษภาณุ วัฒนพงษ์’ 

The Story of ‘CoundPig’

“ที่มาของชื่อ ‘CoundPig’ มันมี Secret Story ที่ผมไม่เคยเล่าให้ใครฟังมาก่อน (MiX คือ Scoop แรกที่ได้รู้เรื่องนี้) ตอนประมาณช่วงประถมต้นผมชอบวาดรูปเล่นเพราะโตมากับการ์ตูนและเกม มันจะมีตัวละครเก่ง ๆ ในการ์ตูนที่เกี่ยวกับหมูสู้กันอยู่ตัวหนึ่ง ผมตั้งชื่อให้มันว่า ‘CoundPig’ โดย ‘Cound’ คือตำแหน่งของมัน ส่วน ‘Pig’ ที่แปลว่าหมูคือชื่อเล่นของผม มันเลยมีความหมายถึงตัวผมเองด้วย (ยิ้ม) ผมใช้ชื่อ CoundPig สมัครนู่นสมัครนี่ ไม่ก็เอาไปตั้งเป็นชื่อในเกมบ้าง พอเข้าวงการเต้นก็คิดว่าใช้ชื่อนี้เป็น AKA ดีกว่าเพื่อจะได้สื่อสารถึงตัวผม” 

The First Step เส้นทางของ ‘B-Boy CoundPig’

“เรื่องราวนี้ค่อนข้างจะเป็นพรหมลิขิตระหว่างผมกับการเต้นเหมือนกันครับ ช่วงตอนเด็ก ๆ ที่บ้านผมเขาสมัครช่อง UBC มันก็จะมีรายการทีวีหลาย ๆ รายการ แล้วมีหนังเกี่ยวกับการเต้นอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ ‘Kickin' It Old Skool’ ตัวละครหนึ่งในเรื่องนี้ชื่อ ‘โคล’ รับบทโดย Jesse ‘Casper’ Brown ซึ่งเขาเป็นนักเต้นจริง ๆ ตอนนั้นเลยเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้เห็นการเต้น B-Boy ครับ

“ตอนเด็ก ๆ ผมบ้าพลังเลยคิดว่าตัวเองก็ทำได้แบบเขา มันไม่น่าจะยากแค่ยกตัวขึ้นเอง ผมเลยลองมาซ้อมเต้นเองดูครับ แต่ว่าตอนแรกก็ทำไม่ได้เพราะค่อนข้างยากจริง ๆ ต่อให้เราจะมีแรงเยอะแต่ว่ามันมีเรื่องของเทคนิคอะไรต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวด้วย จนวันหนึ่งตอนผมอยู่ประมาณมัธยมต้น เพื่อนที่เรียนด้วยกันสมัยประถมอยู่ดี ๆ ก็โทรมาถามว่าอยากเต้น B-Boy หรือเปล่า หลังจากนั้นผมกับเพื่อนก็ไปเต้นด้วยกันแบบมั่ว ๆ จนกระทั่งเพื่อนผมมันชวนไปเรียนเต้นกับพี่ชิน (B-Boy Cheno) ที่ตอนนั้นเขาอยู่ใกล้บ้านผมพอดีก็เลยได้เริ่มต้นเข้าสู่วงการ Breaking ครับ ซึ่งท่าแรกที่เต้นได้น่าจะเป็น Baby Freeze ใช้เวลาฝึกท่านี้ 1-2 วันเพราะมันไม่ได้ยากมาก แต่ว่ามันกลายเป็นพื้นฐานของท่า Power Move และนั่นคือท่าแรกที่เป็นโจทย์ยาก ใช้เวลาฝึกประมาณ 9 เดือนเลยกว่าจะทำได้”   

“งานแข่งครั้งแรกของผมน่าจะย้อนไปประมาณช่วงม.3 หรือ ม.4 นี่แหละ ผมเต้นกับเพื่อนที่โรงเรียน ตอนนั้นยังมีคนเต้นด้วยกันเยอะอยู่จนตอนหลังเหลือแค่เราคนเดียวแล้ว ทีนี้จะมีงานหนึ่งแถวหนองจิต แฮปปี้แลนด์ นี่เป็นงานแรกที่แข่งเต้นเลย รวมทีมโดยมีเพื่อนกับผม 3 คนมาจากโรงเรียนเดียวกัน แล้วก็รุ่นพี่ที่เรียนกับพี่ชิน (B-Boy Cheno) อีก 2 คน เพราะว่าเป็นงานแรกเลยตื่นเต้นมากเลยครับ แต่ว่าก็ทำดีสุดเท่าที่ทําได้แล้ว”

“ผมอยากแข่งอีกหลายงานนะ รวมถึงพวกงานใหญ่ ๆ ของเมืองนอกด้วย แต่อันที่จริงมีอยู่งานเดียวที่ผมรู้สึกว่าโตมากับมันเพราะเริ่มดูตั้งแต่เด็ก ๆ เลย นั่นคืองาน Red Bull PC One ครับ ผมคิดว่าคงเป็นความฝันของนักเต้น Breaking อีกหลายคนเหมือนกันทั้งในไทยและทั่วโลกที่อยากจะลงแข่งงานนี้” 

B-Boy’s Life : ชีวิตติดฟลอร์ 

บทบาทชีวิตในฐานะของ B-Boy CoundPig สร้างทั้งความสุขและประสบการณ์อันล้ำค่ามากมายให้กับ ‘หมู กฤษภาณุ’ ซึ่งสำหรับตัวเขาเองนั้นการเต้น Breaking เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิตและตัวตนที่ผสานรวมกันจนไม่อาจแยกออกได้ เพราะทุก ๆ ครั้งที่ได้ก้าวไปยังฟลอร์เต้น ชายคนนี้จะสามารถแสดงเสน่ห์ความเป็นตัวเองออกมาเพื่อสื่อสารกับทุกคนให้เข้าใจความเป็น ‘CoundPig’ ได้อย่างแท้จริง

“สําหรับผมการเต้น Breaking มันไม่ใช่ว่าต้องเป็นอาชีพหรืองานอดิเรก แต่มันเป็นพาร์ทของสิ่งที่ผมรักจริง ๆ ที่จะทําในชีวิตมากกว่า ผมไม่ได้มองว่ามันจะต้องเป็นอาชีพหลักในชีวิตขนาดนั้นเพราะผมก็ทํางานหลักอย่างอื่นอยู่ เลยไม่ได้รู้สึกว่าการเต้นจะต้องเข้ามาเป็นภาระของชีวิต ผมมีความสุขที่ได้เต้นก็อยากจะจริงใจกับมันให้มากที่สุดครับ ไม่อยากกดดันตัวเองจนเกินไป แค่รู้สึกว่าการเต้น Breaking มันมีหลาย ๆ อย่างที่ผมสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้ ผมสามารถสื่อสารความเป็นผมออกไปในทุก ๆ เรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาได้เท่านั้นเอง”

“วงการ Breaking ให้อะไรกับผมเยอะมากนะ ตอนแรกที่มาเต้นก็ไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอะไรขนาดนั้น เพราะด้วยความตั้งแต่เด็กจนโตผมจะชอบหากิจกรรมสนุก ๆ ทํา บางสิ่งบางอย่างผมเคยคิดจะจริงจังแต่สุดท้ายมันไม่ใช่ทาง ผลคือเราก็ไม่ได้ทํามันต่อ ตอนนั้นเรียกได้ว่าผมพยายามค้นหาตัวเอง พยายามมองหาอะไรที่ถนัดและชอบอยู่ จนวันหนึ่งได้มาเต้น Breaking ตอนแรกรู้สึกแค่ว่าอยากทําท่ายาก ๆ ให้มันได้ แต่พอเราเต้นไปเรื่อย ๆ การเต้นดันกลายเป็นจุดยึดเหนี่ยวของชีวิต เป็นเป้าหมายในชีวิตและเป็นสังคมที่เรารู้สึกอินกับมัน สิ่งนี้ทำให้เรามีความสุขจริง ๆ”

Freeze! หยุดทุกความไม่มั่นใจ

หากนึกถึงการเต้น Breaking หลายคนคงจะเห็นภาพเหล่านักเต้นทั้งหลายกับท่าทางอันผาดโผนอย่างการหมุนศีรษะลงบนพื้นฟลอร์ แน่นอนว่านักเต้น B-Boy ทุกคนสามารถทำสิ่งนี้ออกไปได้ด้วยความสุขและแทบไม่ใส่ใจกับความเจ็บปวดที่ต้องพบเจอ แต่หารู้ไม่ว่าความโหดหินของท่าเต้นเหล่านั้นได้ส่งผลต่อสุขภาพเส้นผมของพวกเขาจนเรียกว่าเป็นสิ่งคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังไปลดทอนความมั่นใจที่ไม่อาจชินชาไปได้เสียทีกับสภาวะผมบางและผมหลุดร่วง ซึ่ง B-Boy CoundPig เองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้อยู่เรื่อย ๆ

“ปัญหาที่เจอคือผมร่วงเยอะแล้วก็มีผมบางนิดหนึ่งตรงกลางหัวครับ เพราะเวลานักเต้น B-Boy เราปั่นหัวมันจะมีปัญหาเรื่องนี้เข้ามา ไม่ใช่แค่ตัวผมนะแต่เพื่อนๆ คนอื่นก็เป็น วิธีแก้เบื้องต้นเราจะใส่หมวกไหมพรมครับ มันพอช่วยได้ในระดับหนึ่ง ไม่งั้นก็จะใส่หมวกกันน็อคเพื่อช่วยเซฟสำหรับนักเต้น B-Boy สายหมุนหัว แต่ส่วนใหญ่คนเขาไม่ได้ทําแค่ท่านี้ท่าเดียวไงเลยจะใส่หมวกกันน็อคแค่ตอนซ้อมกันมากกว่า

“ดังนั้นเรื่องปัญหาผมเนี่ย จริง ๆ แล้วเราแคร์บ้างก็ได้ครับ เพราะว่าพอมันหายไปแล้วเราจะเหลืออยู่ไม่กี่ทรงผมนะที่ตัดได้ ซึ่งเวลาเราเสริมลุคดี ๆ ให้กับตัวเองหน่อย ผมว่ามันก็ช่วยเสริมความมั่นใจขึ้นตอนที่ไปแข่งเต้น”

ช่องทาง Social Media

B-Boy Cheno 

Instagram : bboycheno

Facebook : B-Boy Cheno, Chinnavut CheNo Chantarat

B-Boy T-Flow

Instagram : tflow4e

Facebook : Tflow Phrasumen

B-Girl ZABA

Instagram : zaba_sang, beginnerstudio.dance
Facebook : Zaba Areerat

B-Boy CoundPig

Instagram : coundpig95, the.savagerss

Facebook : Krispanu Vattanapong

 

เป็นภาพที่เราไม่ได้เห็นกันบ่อยเมื่อ ชิน ชินวุฒิ Cheno, เต๋า กันตภณ Tflow ซาบะ อารีรัตน์ ZABA และหมู กฤษภาณุ CoundPig มารวมตัวกัน