กัญชาควรเป็นยาเสพติดหรือไม่

กัญชาควรเป็นยาเสพติดหรือไม่

กัญชา นับว่าเป็นพืชที่รู้จักกันมาเนิ่นนานนับแต่โบราณ  กัญชาถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ยิ่งในปัจจุบันยิ่งได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง กัญชาถูกจัดให้เป็นสารเสพติดที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อปี 2562 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้สนับสนุนนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย ผลักดันเรื่อง“กัญชา กัญชง” เสรี โดยปลดล็อคข้อจำกัดเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชาเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมกัญชาเติบโตมีร้านจำหน่ายกัญชาเปิดใหม่กว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ

การปลดล็อกครั้งนี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีกฎหมาย หรือมาตรการใดมาควบคุมการใช้งานอย่างเพียงพอ ที่ส่งผลให้การปลูก จำหน่าย บริโภค และใช้กัญชาในสังคมไทยเป็นไปอย่างไร้กฎเกณฑ์ ขาดการควบคุมความปลอดภัยที่สำคัญคือ กระทบต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินนโยบายนี้มากที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐบาลใหม่นำโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศนโยบายที่จะออกกฎหมายห้ามการใช้กัญชาเพื่อ “สันทนาการ” ภายในสิ้นปีนี้ซึ่งนำไปสู่ประเด็นถกเถียงว่ากัญชาควรจะยังคงถูกจัดให้เป็นสารเสพติดที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งในแต่ละฝ่ายยังมองระดับการเปิดเสรีที่เหมาะสมไว้ต่างกัน

ผมมองว่าการตัดสินใจว่ากัญชาควรเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาถ่วงดุลระหว่างประโยชน์และโทษที่อาจเกิดขึ้น หากมองสารสำคัญในกัญชาและกัญชงมี 2 ชนิดหลัก คือ Cannabidiol (CBD) และ Tetrahydrocannabinol (THC) แม้สารทั้งสองชนิดจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน

สาร CBD ไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและไม่ทำให้มึนเมา จึงไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้เกิดการเสพติดได้โดยที่กัญชาประกอบด้วย THC สูงถึงร้อยละ 12 แต่มี CBD เพียงร้อยละ 0.3 ทำให้การสูบหรือกินจึงได้รับ THC ในปริมาณสูง โดยเฉพาะการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย การเรียนรู้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิต เช่น อาการหลงผิด ประสาทหลอน วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้าบางการศึกษาระบุว่าการสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน ซึ่งเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวน และสามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจทำให้มีความเสี่ยง ต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นส่วนประโยชน์หลักของกัญชาคือการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคุมในการใช้

ดังนั้น การตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือควบคุมการใช้กัญชาจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการถ่วงดุลประโยชน์และโทษอย่างรอบคอบ โดยต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านสุขภาพ จิตใจ และสังคมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ผมมีความเห็นว่าโทษของการใช้กัญชาน่าจะมากกว่าประโยชน์สำหรับคนปกติทั่วไป ดังนั้นหากไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อการแพทย์ คนปกติก็ไม่ควรใช้กัญชาเพื่อสันทนาการผมจึงนำเสนอจุดยืนทิศทางประเทศไทย ดังต่อไปนี้

1.ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยอยู่ในการควบคุมทางการแพทย์ที่ได้กำหนด

การอนุญาตให้ใช้กัญชาควรจำกัดเฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ทั้งเพื่อการรักษาโรคและการป้องกันโรค โดยต้องอยู่ภายใต้การสั่งจ่ายและควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากการนำกัญชามาใช้เพื่อสันทนาการนั้นอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อคนในชาติมากเกินไป ดังนั้นจึงควรห้ามการใช้นอกเหนือจากทางการแพทย์โดยเฉพาะเยาวชน

2.ควบคุมการใช้กัญชาครอบคลุมทุกด้าน

การควบคุมการใช้กัญชาให้เป็นไปเพียงเท่าที่จำเป็นในทางการแพทย์ และป้องกันการใช้เชิงสันทนาการนั้น จำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในส่วนของการห้ามโฆษณาชักจูงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก และเยาวชนสามารถเข้าถึงการโฆษณาเหล่านั้นได้

อีกทั้งมีการควบคุมสถานที่ในการใช้กัญชา โดยมีการพิจารณาเปิดสถานที่สำหรับสูบและบริโภคกัญชา เพื่อลดการใช้ในครัวเรือนที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน แต่ต้องมีมาตรการควบคุมการใช้ในสถานที่เหล่านี้อย่างเข้มงวด เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน และป้องกันผลกระทบต่อสังคม

3. ส่งเสริมให้มีรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ

กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์สามารถนำสารในกัญชามาสกัด และนำมาใช้ประโยชน์ได้ การอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายจะก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ โดยให้ผู้ปลูกกัญชาสามารถขึ้นทะเบียนเพื่อปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายและสร้างรายได้

มีระบบรองรับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำจะทำให้สามารถควบคุม และกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดตลาดมืดหรือบิดเบือนกลไกตลาด รวมถึงมีมาตรฐานด้านวิชาการและความรู้รองรับการดำเนินการอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ทั้งวิสาหกิจชุมชน นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนตามกฎระเบียบที่กำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศได้อย่างมหาศาล

ผมมองว่าการกำกับดูแลการใช้กัญชาในปัจจุบันของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะการปกป้องเยาวชนจากการเข้าถึงและใช้กัญชา ผมจึงเห็นว่ากัญชาควรถูกจัดให้เป็นยาเสพติดประเภท 5 อีกครั้ง เพื่อให้สามารถควบคุมได้อย่างเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะการใช้เพื่อสันทนาการ และการกำหนดนโยบายกัญชาต้องคำนึงถึงผลกระทบในหลายมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ดังนั้นการตัดสินใจเชิงนโยบายจึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ชั่งน้ำหนักถ่วงดุลข้อดีข้อเสีย และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเทศชาติต่อไปครับ

                                                        

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)

ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD)

[email protected],www.drdancando.com   www.facebook.com/drdancando        

กัญชา นับว่าเป็นพืชที่รู้จักกันมาเนิ่นนานนับแต่โบราณ กัญชาถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ยิ่งในปัจจุบันยิ่งได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง