The Blue Babe : 55,000 Years Dry-Aged Fossil เนื้อบ่มที่มีอายุยาวนานนับ 55,000 ปี
เนื้อดรายเอจ (Dry-Aged) คือเนื้อที่ผ่านกระบวนการบ่ม เพื่อเปลี่ยนสภาพเนื้อให้มีรสสัมผัสที่ลุ่มลึกมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเก็บรักษาเนื้อไว้ในห้องเย็นขนาดใหญ่ ด้วยอุณหภูมิต่ำประมาณ 0-4 องศาเซลเซียส ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป โดยเนื้อที่ผ่านการบ่มดรายเอจ เอนไซม์ในเนื้อตามธรรมชาติจะทำปฏิกิริยากับตัวของมันเองในการสลายเนื้อเยื่อ และส่วนที่เป็นพังผืด เปลี่ยนโครงสร้างของเนื้อจนกลายเป็นเนื้อที่นุ่มและมีรสชาติเข้มข้น หอมหวน โดยที่การบ่มเนื้อนี้ไม่จำเป็นต้องหมักหรือปรุงแต่งใด ๆ
แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ในเรื่องของความสะอาด อุณหภูมิ ความชื้น และปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อดรายเอจที่ได้เป็นเนื้อที่มีคุณภาพรสชาติดี ในทุกวันนี้มีเนื้อดรายเอจ ที่มีจำนวนวันการบ่มต่างกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 25 วัน, ม 45 วัน, 200 วัน , 1 ปี และ 4 ปี แต่เชื่อหรือไม่ครับ บนโลกใบนี้มีเนื้อบ่มที่มีอายุยาวนานนับ 55,000 ปี และมีคนเคยลองกินมันไปแล้วด้วย
เรื่องของเรื่องเกิดมาจากการค้นพบมัมมี่กระทิงไบสันตัวผู้ตัวหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1979 ซึ่งถูกค้นพบทางเหนือของ Fairbanks , Alaska โดยเป็นกระทิงสายพันธุ์ที่มีชื่อเรียกว่า ไบซันแห่งทุ่งหญ้าสเตปป์ ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์ของกระทิงไบซันสายพันธุ์ยุโรปในปัจจุบัน โดยสายพันธุ์ทุ่งหญ้าสเตปป์ดังกล่าวนี้ มีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์ปัจจุบันเป็นอย่างมาก และสามารถมีขนาดใหญ่ได้ถึง 1 ตัน เลยทีเดียว โดยมัมมี่กระทิงตัวนี้ถูกค้นพบโดยคนงานเหมืองทองคำ ซึ่งการจะคนหาทองในพื้นที่หนาวเย็นนี้คนงานเหมืองจะทำการใช้สายฉีดไฮโดรลิก ฉีดน้ำไปยังหน้าดินเพื่อทำการละลายเศษดิน และเศษน้ำแข็งในชั้นดินต่าง ๆ ทำให้เกิดการค้นพบกระทิงไบสัน ที่ถูกแช่แข็งไว้ตัวนี้นั่นเอง
กระทิงตัวนี้หลังจากถูกค้นพบ ได้ถูกตั้งชื่อในทันทีตามลักษณะของมัน คือ Blue Babe โดยชื่อ Babe มาจากชื่อวัวยักษ์ในตำนานของ Paul Bunyun ส่วน Blue มาจากสีน้ำเงินที่ตัวของกระทิงไบซันที่ค้นพบ โดยสีน้ำเงินนั้นเกิดจากการเคลือบของ Vivianite ซึ่งเป็นแร่สีน้ำเงินที่ปกคลุมพื้นผิวหนังส่วนใหญ่ของร่างกายของมันครับ
จากการประเมินอายุของเรดิโอคาร์บอนของนักวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นก็พบว่ามันมีอายุราว 36,000 ปี แต่ภายหลังตามการวิจัยค่าคาร์บอนแบบใหม่ดพิสูจน์ว่า มันมีอายุอย่างน้อย 55,000 ปี รวมถึงยังได้พบร่องรอยของเขี้ยวและกรงเล็บที่พบจากร่างของ Blue Babe ซึ่งชี้ชัดให้เห็นว่ามันถูกฆ่าตายโดย Panthera Leoatrox บรรพบุรุษของสิงโตปัจจุบัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือนักวิจัยได้ประเมินว่าเจ้า Blu Babe ได้แข็งตัวอย่างรวดเร็วหลังจากมันเสียชีวิต โดยความเป็นไปได้อย่างหนึ่งก็คือมันตายในช่วงหน้าหนาว ซึ่งทำให้ร่างเกิดการแข็งตัวได้ดี ทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อของมันยังคงมีสภาพคล้ายเนื้อที่สดใหม่ อีกทั้งผิวหนัง ชั้นไขมัน รวมถึงไขกระดูกยังคงไม่บุบสลาย แม้เวลาจะผ่านไปนับหมื่น ๆ ปีก็ตาม
โดยหลังจากการค้นพบร่างของเจ้า Blue Babe ก็ได้ถูกนำมาวิจัยต่อที่มหาวิทยาลัย University of Alaska ซึ่งมีหัวหน้าชุดวิจัยนามว่า Dale Guthrie และในคืนหนึ่งก่อนที่ร่างของเจ้า Blue Babe ไปแสดงยังพิพิธภัณฑ์อย่างถาวร การเชื้อเชิญมาร่วมดินเนอร์ของคนกลุ่มหนึ่งก็ได้เริ่มต้นขึ้นโดยมี Dale Guthrie เป็นโต้โผใหญ่นั่งอยู่หัวโต๊ะรับประทานอาหาร นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ได้นำเนื้อส่วนคอส่วนหนึ่งของเจ้า Blue Babe ไปประกอบอาหารเป็นสตู รับประทานกันในหมู่คณะ (อ้างอิงจากหนังสือ Frozen Fauna of the Mammoth Steppe: The Story of Blue Babe ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อปี 1989)
แม้ว่าจะมีการปรุงใส่ผักแครอท มันฝรั่ง กระเทียม หัวหอม ในปริมาณที่พอเหมาะแล้วก็ตาม แต่ก็ได้มีการระบุเอาไว้ว่ารสชาติของเนื้อที่กินนั้น ทั้งแข็ง และมีกลิ่นดิน แต่ก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดที่จะกินไม่ได้ ส่วนคนที่สงสัยว่ากินเนื้อเก่าขนาดนี้ไปไม่กลัวเป็นอะไรเหรอ คุณ Guthrie ก็บอกว่าเขาและทีมงานไม่ได้กลัวเรื่องนี้นัก เพราะพวกเขากินเนื้อแช่แข็งกันตลอด
แต่ถ้าจะให้กินอีกครั้งคงไม่ทำแล้ว และมันก็เป็นโชคดีมากที่ทุกคนที่กินสตูในวันนั้นไป ทุกคนรอดชีวิตมาบอกเล่าเรื่องราวต่อไปได้ และท้ายที่สุดแล้วผมเชื่อได้อย่างสนิทใจว่า หากวันใดวันหนึ่งมีการขุดค้นพบเนื้อดรายเอจล้านปีไดโนเสาร์สภาพสมบูรณ์งาม ๆ ขึ้นมาได้ตัวหนึ่ง เชื่อได้อย่างสนิทใจได้ว่า คงไม่พ้นถูกเฉือนมาเซียร์กระทะ จิ้มเกลือรับประทานอย่างแน่นอน หรือไม่แน่ อาจจะมีทำไปแล้วก็เป็นได้