5 ข้อเสนอ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้นในภาวะวิกฤต

5 ข้อเสนอ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้นในภาวะวิกฤต

ข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้นในภาวะวิกฤต

แม้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทยจะอยู่ในช่วงที่หนักที่สุดนับตั้งแต่ มีการระบาด แต่สถานการณ์การระบาดหลายแห่งในโลกอยู่ในช่วงที่คลี่คลายขึ้น จากการกระจายวัคซีนและการปรับตัวของมหาอำนาจโลกอย่างจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยแรงกดดันจากหลายทิศทาง การจัดหาและกระจายวัคซีนกำลังได้รับการจัดการ ให้เป็นไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศที่เห็นโอกาสและเตรียมกลยุทธ์ให้พร้อมรับมือกับ ความท้าทายย่อมกุมความได้เปรียบมากกว่า หลังจากผมได้ประเมินโอกาส และความท้าทายของภาคธุรกิจรวมถึงระบบเศรษฐกิจของไทยเสนอไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ครั้งนี้ผมจะเสนอ แนวทางในการจัดการเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เอาตัวรอดผ่านวิกฤตไปได้ ดังนี้

1. กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนผ่าน “Digital Voucher”

การให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชนในช่วงโควิดมีความจำเป็น แต่ควรมีการออกแบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาผมคิดว่าภาครัฐไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้มากเท่าที่ควร การกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีผลลัพธ์สูงขึ้น หากเงินที่ใส่ลงไปสามารถหมุนได้รวดเร็ว หลายรอบ และรั่วไหลออกนอกระบบน้อย หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า มีตัวทวีคูณสูง (multiplier) ผมจึงเสนอให้ภาครัฐพัฒนา Digital Voucher ซึ่งเป็นการให้เงินช่วยเหลือแก่ประชาชน ในรูปดิจิทัล โดยการสร้างเงื่อนไขให้ผู้ได้รับ Digital Voucher นำ Voucher ไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ภายใน 14 วัน หรือน้อยกว่านั้น เพื่อบังคับให้ต้องนำ Voucher ไปใช้ ส่วนผู้ขายสินค้าและรับเงินเป็น Digital Voucher มีเวลา 14 วัน ในการใช้ Voucher ที่รับมาไปซื้อสินค้าและบริการ หรือ ชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นเดียวกัน โดยเริ่มนับ 1 ตั้งแต่วันที่รับ Voucher มา เป็นต้น ซึ่งผมเชื่อว่าการจำกัดจำนวนวันในการใช้งานนี้ จะมีผลทำให้คนต้องรีบนำเงินออกมาใช้จ่ายและ จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้นกว่าการให้เงินช่วยเหลือแบบปรกติ

2. ส่งเสริมการจ้างงาน ในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว มีผลทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก เป้าหมายของภาครัฐควรมุ่งไปที่การส่งเสริมการจ้างงาน ก่อนจะสนใจเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในระยะสั้นภาครัฐควรส่งเสริมการจ้างงานผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น

1) โครงการจ้างงานขนาดใหญ่ เช่น โครงการจ้าง ผู้ว่างงานทำงานสาธารณะปรับปรุงภูมิทัศน์เมือง ปลูกป่าปรับปรุงบ้านเรือนคนยากจนทั่วประเทศและโครงการบัณฑิตอาสาเพื่อดูดซับบัณฑิตว่างงาน โดยจ้างทำงานในพัฒนาชุมชนในที่ต่าง ๆ โดยจับคู่ตามความรู้ที่เรียนมากับปัญหาความต้องการ ของชุมชนนั้น ๆ หรือทำงานด้านศึกษาวิจัยอย่างเช่น เก็บข้อมูลทำ Big Data แรงงานนอกระบบ เป็นต้น

2) เกษตรพึ่งตนเองก่อน โดยนำผู้ว่างงานในเมือง กลับมาฝึกฝนทำเกษตรพึ่งตนเองเพื่อเตรียมความพร้อม โดยนำพื้นที่ทิ้งร้างหรือป่าเสื่อมโทรม มาจัดสรรให้ผู้ว่างงานเข้าใช้ประโยชน์ชั่วคราว และสร้างแรงจูงใจด้วยการจัดหาที่ทำกินถาวรให้หากมีประสิทธิสภาพที่ดี

3. จัดสรรสวัสดิการให้ตรงเป้า และมีเงื่อนไข

ภาครัฐควรดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีประสิทธิสภาพและต้องไม่ทำให้ประชาชนอ่อนแอในระยะยาว ผมจึงเสนอว่าภาครัฐควรเปลี่ยนจากการจัดสรรสวัสดิการแบบให้เปล่าถ้วนหน้าเป็น “สวัสดิการแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายและมีเงื่อนไข” โดยเน้นคนที่จำเป็นต้องช่วยเหลือ และช่วยชั่วคราว เพื่อให้คนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถ พึ่งตนเองได้ในระยะยาว โดยมีระบบคัดกรองผู้ที่ขอรับสวัสดิการที่ดี มีการแจ้งข้อมูลรายได้ที่ถูกต้องและมีระบบ Big Data เพื่อประเมินคนที่ผ่านเกณฑ์ยากจนอย่างแท้จริงบุคคล ที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะได้รับการช่วยเหลือ

นอกจากนั้นสวัสดิการที่ให้ต้องเป็นสวัสดิการแบบมีเงื่อนไข เช่น การปลดหรือลดหนี้อย่างมีหลักเกณฑ์ บุคคลที่เข้าเกณฑ์ ที่กำหนดไว้จึงจะได้รับการช่วยเหลือ การช่วยเหลือครัวเรือน ที่เข้าโปรแกรมแก้ไขหนี้ หรือการให้ผู้รับสวัสดิการต้องทำงานหรือรับการฝึกอบรมแรงงาน เพื่อจะพัฒนาตัวเองให้มีสมรรถนะสูงขึ้นรวมทั้งอาจนำภาษีติดลบ (Negative tax) ที่ผมเสนอไว้ ในอดีตมาใช้ เพื่อจูงใจให้ผู้รายได้น้อยทำงานเป็นต้น

4. ตั้ง “บรรษัทส่งเสริมการแปลงทรัพยากร ให้เป็นทุน” ช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงทุน

ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อาจทำให้ประชาชนและธุรกิจจำนวนมาก ขาดสภาพคล่องที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจ ภาครัฐ ควรช่วยส่งเสริมให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งผมเสนอว่า ภาครัฐควรจัดตั้ง “บรรษัทส่งเสริมการแปลงทรัพยากรให้เป็นทุน” เพื่อทำหน้าที่ช่วยประเมิน (Assessing) ทรัพยากรที่แปลงให้เป็นทุนได้ และจับคู่ (Matching) บุคคลหรือชุมชนที่มีทุนเพื่อนำไปใช้ให้ประโยชน์ รวมถึงช่วยค้ำประกัน (Guaranteeing) หรือ อุดหนุนเงินทุน (Subsidizing) เป็นต้น

ตัวอย่างทุนที่อาจจะนำมาแปลงให้มีมูลค่าได้ เช่น ทุนส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็น ทักษะ, เวลา, ความรู้, ความดี, ทรัพย์สิน หรือ ทุนชุมชน เช่น วัฒนธรรม, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, สภาพแวดล้อมท้องถิ่น, ธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งจะสามารถทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีทุนที่จะนำไปต่อยอดอย่างอื่นได้มากขึ้น นอกจากนี้อาจจะมีมาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงทุนได้ เช่น การตั้งกองทุนอุ้ม SMEs ซื้อหุ้น SMEs ที่มีศักยภาพ และมีเงื่อนไขซื้อคืน รวมทั้งการให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยแก่ SMEs เพื่อให้ SMEs มีสภาพคล่อง และรักษาการจ้างงานไว้ได้ โดยกำหนดให้ปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี สำหรับธุรกิจทั่วไป และ 2-3 ปี สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว 

5. “ใช้ประโยชน์เครือข่ายคนไทย เช่น ทูตไทย คนไทยโพ้นทะเล” ทำการตลาดเชิงรุกเพื่อช่วยภาคธุรกิจในการส่งออก

ภาครัฐไม่ควรเพียงดำเนินมาตรการตั้งรับ เยียวยาประชาชนและธุรกิจเพียงด้านเดียวเท่านั้น แต่ควรดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อขยายโอกาสให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่หลายพื้นที่ในโลก บรรยากาศเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น และการ แพร่ระบาดเริ่มลดลงแล้ว ซึ่งผมเสนอว่า เพื่อช่วยภาคธุรกิจให้สามารถส่งออกสินค้าและเข้าถึงตลาดในต่างประเทศได้ ภาครัฐควร ส่งเสริมการส่งออกเชิงรุก

โดยการใช้ประโยชน์เครือข่ายคนไทย ที่กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น ทูตไทย คนไทยโพ้นทะเล เป็นต้น รวมทีมกันทำการตลาด จัดตั้ง Market Intelligence ร่วมกับเอกชน เพื่อจัดหาช่องทางจำหน่ายสินค้าไทยไปทั่วโลก โดยภาครัฐควรจะช่วยสร้างแบรนด์ประเทศไทย (National Branding) เนื่องจากสินค้าแบรนด์ไทยหลายอย่าง ได้รับการยอมรับจากนานาชาติเป็นทุนเดิม ทั้งอาหารสด อาหารเสริม เครื่องสำอาง ดังนั้นหากใช้แบรนด์ไทยทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเช่น สินค้า OTOP และสินค้าการเกษตรอื่น ๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ที่ผ่านมาแม้ไทยจะได้รับคำชมกับการรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างมากในช่วงแรก แต่ก็แลกกับผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยมากด้วย เช่นกัน ดังนั้นหากไทยไม่รีบกำหนดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจให้ทันกับเวลา ที่โลกเริ่มคลายล็อคดาวน์ ไทยจะเสียโอกาสในการพลิกฟื้นจากวิกฤตอย่าง ทันท่วงที และทำให้ในอนาคตต้องออกแรงมากขึ้นหากจะกู้เศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นกลับมาดังเดิมครับ

แนวทางในการจัดการเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เอาตัวรอดผ่านวิกฤต