ประทีป คชบัว อัตลักษณ์ของศิลปะเหนือจริง

ประทีป คชบัว อัตลักษณ์ของศิลปะเหนือจริง

The Meaning of Art : อัตลักษณ์ของศิลปะเหนือจริง

ถ้าพูดถึงเรื่องของศิลปะเหนือจริงหรือ Surrealism (เซอเรียลิสม์) ในประเทศไทยมีคนสร้างสรรค์ศิลปะแนวทางนี้มากมาย แต่คนที่โดดเด่นจนได้รับการยกย่องว่าเป็นนักวาดภาพ Surrealism อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยท่านหนึ่ง คืออาจารย์ประทีป คชบัว ศิลปินผู้มีจินตนาการผสมผสานกับรากฐานวัฒนธรรมไทย สร้างงานด้วยความละเอียดเข้มข้นแฝงไปด้วยปรัชญาในชีวิต

แต่ในวันนี้ไม่ว่าท่านจะอยู่วงการไหน หลังจากโควิค-19 ระลอก 3 ที่ผ่านมาทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่กันอย่างยากลำบาก ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ MiX Magazine จึงได้คัดเลือกศิลปินมากฝีมือ อย่างอาจารย์ ประทีป คชบัว มาอัปเดทความเป็นอยู่และงานล่าสุดของเขาให้ได้อ่านกัน

                “แม้จะมีเรื่องของโรคระบาดเข้ามา แต่ปัจจุบันชีวิตของผมยังคงวาดรูป ตามกำลังและปัจจัยทางร่างกายที่อำนวย คือยิ่งแก่ตัวก็ยิ่งทำงานได้ลำบากมากขึ้น เพราะไม่สามารถยกแขนวาดได้นานเหมือนเดิมอีกแล้ว พูดง่าย ๆ คือวาดมาก ปวดมาก แต่ยังนับว่าดีที่เป็นคนขยัน มีการตั้งเป้าไว้ว่าจะวาดภาพให้ได้ปีละ 12 ชิ้น จะชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ก็ทำไป

“ ส่วนผลงานของผมที่ทำยังคงเป็นแนวถนัด Surreal วาดสะสมไปเรื่อย ไม่มีจุดหมายที่จะแสดงงาน เพราะการวาดรูปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมานานแสนนานแล้ว และจะยังคงเป็นต่อไป

“ปกติผลงานที่ทำออกมา ก็มักจะเป็นการผสมเรื่องราวจริงรอบตัว ผสานกับความคิดที่สร้างขึ้น จากตัวเองอยู่แล้วไม่เฉพาะปัจจุบัน หากย้อนไปดูผลงานเก่า ๆ บางชิ้น ก็จะมีทั้งเรื่องราวชีวิต สังคม ศาสนา และการเมือง ซึ่งสะท้อนออกมาทั้งในรูปแบบเรียบง่าย สวยงาม วุ่นวาย เยอะ มากมาย สะพรึงจนถึงต้องตีความ

“ส่วนสถานการณ์โรคระบาด โควิด -19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยซึ่งเผชิญชะตากรรมร่วมอยู่ในขณะนี้ ในส่วนตัวผมเองผลกระทบส่วนตัวนั้นนับว่าน้อยมาก เพราะการทำงานอยู่บ้าน ถือเป็นปกติวิสัยของอาชีพเขียนรูป คือมันเหมือน Social Distancing มานานแล้ว เพิ่มเติมก็มีการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น โดยการบริจาคงานไปประมูล ไปแสดง หารายได้ช่วยสังคมตามแต่จะขอมา ช่วยเหลือได้ก็ช่วยไป ส่วนมากเป็นภาพที่ไม่เกี่ยวกับโควิดแต่อย่างใด

“โดยผลงานที่เกี่ยวข้องตรง ๆ กับโรคระบาด ที่ยาวนานข้ามปีมา ศิลปินหลาย ๆ คน ก็ได้ออกมามีบทบาท มีส่วนร่วมในการระดมทุน ช่วยเหลือสังคมมากมาย นับเป็นอีกภาคส่วนสำคัญซึ่งต้องชื่นชม แต่ส่วนตัวผมเองเขียนงานที่เกี่ยวกับโควิดจริง ๆ ไม่กี่ชิ้น แต่ช่วงที่เกิดไวรัสโคโรน่าระบาดขึ้น บนโลกใบนี้ กระแสข่าวมากมายก็เกิดขึ้นตามกัน การพูดถึงแหล่งที่มาของเชื้อ การแพร่กระจายลุกลาม การเสียชีวิต ผลกระทบในด้านต่าง ๆ สังคม เศรษฐกิจ วงการแพทย์ วงการสื่อ ฯลฯ ฟังแล้วก็มีแต่ สร้างความหดหู่ หวาดกลัว สะเทือนใจ แทบจะทั้งสิ้น ผมจึงได้สร้างผลงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง

“เป็นภาพ “โควิด้า” ผมออกมาอย่างสวยงามสวนทางกับชาวโลก ด้วยการหยิบประเด็นที่ว่า เชื้อโรคนี้มาจากค้างคาว น่าแปลกโคโรน่าทำอะไรค้างคาวไม่ได้ มันยังสุขสบายดี ขณะที่มนุษย์เจ็บป่วยล้มตายกันเป็นเบือ เพราะอะไร? ก็เพราะฝีมือมนุษย์นั่นเอง “โควิด้า” มนุษย์ค้างคาวสาวงาม สัตว์ดึกดำบรรพ์ ของผม จึงสวยงามตามที่เห็นครับ”

จุดเริ่มต้นของชีวิต

ในวัยเด็กอาจารย์ ประทีป คชบัว เติบโตมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก อาศัยอยู่ชุมชนบ้านช่างหล่อย่านบางกอกน้อย สมัยก่อนหมู่บ้านนี้มีชื่อเสียงจากแหล่งรวมช่างฝีมือดี สำหรับการหล่อประติมากรรมช่างสิบหมู่ ที่ทำสืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี อาจารย์ประทีปจึงได้รับอิทธิพลในเรื่องของช่างฝีมือเหล่านี้ด้วย

ส่วนเรื่องของการวาดภาพนั้น ท่านเริ่มต้นมาจากเห็นพี่ชายที่วาดรูปเก่ง จึงกลายเป็นต้นแบบในการวาดภาพ อีกด้านหนึ่งได้ซึมซับความคนบ้านช่างหล่อ ทำให้กลายเป็นคนที่มีทักษะเหนือกว่าเด็กคนอื่น อย่างในช่วงที่เรียนชั้นประถม อาจารย์ประทีปวาดภาพได้เหนือกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันมาก วาดการ์ตูนลายไทย หนุมาน ทศกัณฐ์ หลายภาพมีการส่งประกวดและได้ที่หนึ่งมาโดยตลอด

เมื่อเริ่มโตขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย งานศิลปะของอาจารย์ประทีปไม่ใช่เพื่อความสุนทรีย์ส่วนตัวอย่างเดียว แต่เพื่อความอยู่รอดของชีวิตด้วย เนื่องจากความยากจนและที่หนักกว่านั้นคือ หัวหน้าครอบครัวอย่างคุณพ่อเป็นอัมพฤกษ์ อาจารย์ประทีปจึงต้องหาเงินโดยการเขียนภาพเหมือน เพื่อส่งตัวเองเรียนอีกทางหนึ่ง

ในด้านการวาดภาพ ท่านค้นพบเอกลักษณ์ของตัวเอง ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรปี 3 มีการให้เลือกความถนัดทางศิลปะ อาจารย์ประทีปเลือกเรียนการเขียนภาพสีน้ำมันเพราะเป็นสิ่งที่ชอบ แล้ววันหนึ่งได้มีการส่งงานให้กับอาจารย์ เป็นภาพเขียนเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าในแนว Surrealism เมื่ออาจารย์ได้เห็นภาพก็รับรู้ถึงความสามารถของนักศึกษาคนนี้ ท่านจึงแนะนำให้เขียนภาพแนว Surrealism ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่หลังจากเรียนจบออกมา อาจารย์ประทีปพยายามหาหนทางให้กับชีวิตตัวเอง จึงไปอยู่กับรุ่นพี่โดยรับงานเขียนภาพเป็นศิลปินอิสระถึง 2 ปี แต่เนื่องจากฐานะทางบ้านยังยากลำบาก จึงต้องยอมเข้าระบบทำงานประจำในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่งเพื่อนำเงินเดือนส่งให้ครอบครัว

บริษัทแรกอาจารย์ประทีปเข้าทำงานได้เงินเดือนเพียง 3 พันบาท โดยมีหน้าที่ทำ AD โฆษณา สตอรี่บอร์ด และเขียนภาพประกอบ แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ บวกกับเงินเดือนที่น้อยจึงย้ายบริษัทใหม่ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันบาท แต่อยู่ได้ไม่นานมีบริษัทโฆษณาใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งให้ไปทำงานด้วย โดยเพิ่มเงินเป็น 9 พันบาท แม้จะเป็นเงินเดือนที่ไม่มากแต่สามารถนำเงินที่เหลือกลับไปให้ครอบครัวได้ใช้จ่ายมากกว่าเดิม

เมื่อทำงานไปเรื่อย ๆ อาจารย์ประทีปแสดงฝีมือการวาดภาพโฆษณาขั้นสูง ทำให้มีบริษัทโฆษณาใหญ่อันดับสองของประเทศในสมัยนั้นมาขอให้ทำงานด้วย โดยให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นบาท อาจารย์ประทีปตอบตกลงแต่บอกบริษัทเก่าว่าขอเวลา 1 ปีให้มาตามกลับไป เมื่อครบ 1 ปีบริษัทเก่ามาตามอย่างที่สัญญาไว้ โดยให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 4 หมื่นบาทพร้อมรถประจำตำแหน่งอีกหนึ่งคัน จนกระทั่งเงินเดือนไต่ไปสูงสุดที่ 6 หมื่นบาท ในเวลานั้นต้องถือว่ามีรายได้มากพอที่จะกลับไปจุลเจือครอบครัวอย่างสบาย

จนกระทั่งถึงยุคการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในวงการโฆษณา ประกอบกับอาจารย์ประทีปเริ่มอิ่มตัวในการทำงานประจำ จึงลาออกมาทำงานศิลปะของตัวเอง โดยวาดภาพเพื่องานอดิเรกเท่านั้น ในช่วงแรกมีเพื่อนชวนให้นำงานไปแสดงที่หอศิลป์ ตรงจุดนี้เองจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ให้เริ่มก้าวเข้าสู่การทำศิลปะอย่างเต็มตัว

ท้อแต่ไม่ถอย

“ในปี พ.ศ. 2538 ผมแสดงงานครั้งแรกเป็นแนวพุทธศิลป์และภาพวิว เชื่อไหมไม่มีคนสนใจงานของผมเลย ทำให้ผมขายภาพไม่ได้เงินเลยสักบาท ก็รู้สึกท้อ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งได้ไปสังสรรค์กับเพื่อน ขณะที่กำลังขับรถแล้วไปติดอยู่บนสะพาน เพื่อนที่มาด้วยกันบอกว่า ‘ประทีปเราเห็นนายแสดงงานมันสุดยอดแล้ว แต่ทำไมไม่ทำงานให้มันสุดยอดไปกว่านี้ทั้ง ๆ ที่สไตล์ของนายคือ Surrealism ประทีปปล่อยหมัดออกมาสิ นายคือสุดยอดของ Surrealism อยู่แล้ว’ นี่คือคำพูดที่ทำให้ผมลุกขึ้นมาทำงาน

“ช่วงปี พ.ศ. 2539 มีคนติดต่อเข้ามาที่บ้านผมเพื่อซื้อผลงานหนึ่งชิ้น เป็นงานเขียนติดบ้าน ภาพเกี่ยวกับเที่ยวทะเลดำน้ำเป็นแนวธรรมดาปกติทั่วไป หลังจากนั้นทุกอย่างเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผมทำงานศิลปะ Surrealism อย่างเข้มข้นออกมาแสดง ก็ได้รับผลตอบรับอย่างดีทั้งเรื่องชื่อเสียงและรายได้ จนมาถึงปัจจุบันผมคิดว่า ถ้าเพื่อนไม่พูดคำนั้นออกมา ผมอาจกำลังทำอาชีพอื่นอยู่ก็ได้ ผมอยากบอกเด็ก ๆ รุ่นหลังที่ทำงานศิลปะว่า คุณต้องอดทนทำงานแสดงงานศิลปะมาสัก 10 ครั้ง คนจะรู้จักชื่อคุณเองหรืออาจใช้เวลาประมาณ 5 ปีถึงจะสำเร็จได้ ซึ่งผมเคยผ่านมาแล้ว

 “ผมคิดว่าชาติที่แล้วสวรรค์ส่งมาให้ผมเป็นคนวาดรูป เพราะว่าผมทำอย่างอื่นไม่ถนัด ความจริงอยากไปขายก๋วยเตี๋ยวทำร้านอาหาร เพราะการเป็นศิลปินชีวิตบางทีรายได้ไม่พอกิน เขียนภาพสวยไม่มีคนซื้อหรือต้องปล่อยไปในราคาถูกก็คงไม่ใช่ เรื่องนี้ต้องใช้ความอดทนแต่ผมดันชอบ ชอบวาดรูปแล้วมีความสุขด้วยความเงียบ”

แก่นของศิลปะเหนือจริง

ความเป็นศิลปะในรูปแบบเหนือจริงหรือ Surrealism (เซอเรียลิสม์) เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 ประเทศฝรั่งเศส จากกลุ่มดาด้า (Dada) มีบุคคลคนสำคัญประจำกลุ่มคือ อองเดร เบรตง มีจุดหมายอยู่ที่การคลี่คลายสภาพอันขัดแย้งระหว่างระยะห่างของความฝันและความเป็นจริง ถ่ายทอดออกมาในงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ศิลปะแนว Surrealism มีความหมายว่าเหนือความจริง เพราะศิลปะแนวนี้ถ่ายทอดเรื่องราวเหนือธรรมชาติออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

“ความจริง Realism คือรากฐานของ Surrealism คนที่จะเขียนภาพ Surrealism ได้จำเป็นต้องเขียนรูปเหมือนให้ได้ก่อน ซึ่งผมเป็นคนที่เขียนรูปเหมือนอันดับต้น ๆ ของศิลปินในประเทศมาแล้ว คือมันเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ Surrealism จึงเหมาะกับความเป็นผมมาก ซึ่งรูปที่ดีจะสะท้อนนิสัยของคนเขียนอีกด้วย

“Surrealism ที่ดีต้องชัดเจนในเรื่องของเนื้อหาและความละเอียด Surrealism ของศิลปินบางส่วนอาจจะสะเปะสะปะซึ่งมาจากการทำการบ้านมาไม่ดีพอ ไม่ได้เหมารวมว่าจะวาดรูปอะไรก็ได้ แต่ต้องมีโครงสร้างมีองค์ประกอบ มีแสงมีความเป็นจริงจับต้องได้น่าสะพึงผงะ ไม่ใช่ดูภาพแล้วเฉย ๆ เหมือนคนที่ถ่ายรูปเก่ง ๆ มันจะมีวิญญาณอยู่ในนั้น โดยรวมแล้วต้องมีประสบการณ์สูงมากคือวาดรูปมาเยอะจึงเป็นศิลปิน Surrealism ได้ดี

“ผมเขียนภาพออกมาภาพหนึ่ง ต้องค้นพบเรื่องนั้นขึ้นมาก่อนแล้วค่อยแปลออกมา ยกตัวอย่างภาพที่ผมให้ชื่อว่า ประจักษ์ เป็นรูปในป่าเป็นเวิ้งที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ทั้งที่เป็นน้ำตกธรรมดา แต่คนที่วาด Surrealism ไม่ได้เห็นเหมือนคนธรรมดา ผมเห็นเป็นพระพุทธรูปที่เวิ้งว้างกว้างใหญ่ แล้วคนที่จะเข้าถึงตรงนี้คือพระและศิลปินเท่านั้น ศิลปินสร้างมันขึ้นมาด้วยความที่ไม่มีจริง แต่รากมันมาจากความจริงคือธรรมะ ธรรมชาติที่มีอยู่ทุกอณู ถ้าสังเกตดี ๆ จะมีพระธุดงค์องค์หนึ่งเดินเข้าไปในป่าแล้วเจอมุมสวย ๆ มุมหนึ่ง ซึ่งมองแล้วไมใช่ธรรมดาเราเท่านั้นใช่ไหมที่เห็นคนเดียว ผมจึงแผ่ความเป็น Surrealism เอามาให้ทุกคนได้ชม

ชีวิตศิลปิน

 “ผมขอออกตัวเลยว่าปกติแล้วตัวผมเองความจริงไม่ค่อยชอบออกสังคม ไม่ชอบแสดงงานเป็นคนที่ทำงานอยู่เงียบ ๆ ในอดีตผมเอางานไปแสดงมาเป็นร้อยครั้งแล้ว แต่งานนี้เป็นข้อยกเว้น การแสดงงานข้างนอกมันบอกถึงความอย่าใจแคบ เด็กรุ่นใหม่จะได้เห็นผลงาน คงไม่มีใครอยากมาบ้านผมตลอด

“ในการใช้ชีวิตผมคิดว่าคนเราต้องมีลมหายใจ ตื่นมาต้องสีฟันต้องกินข้าว ส่วนหนึ่งของมนุษย์ควรจะมีอาชีพที่เลี้ยงชีพได้ด้วย ไม่ใช่ว่าเราตื่นมาล้างหน้าแล้วนอนต่อ คนทุกคนต้องมีอาชีพนั้นแล้วสนุกกับมัน แล้วทำไมเราไม่ทำงานให้มันดีที่สุดไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม คือถ้าเราตื่นมาแล้วไม่รู้จะทำอะไร ชีวิตนี้จึงไม่ใช่ต้องหาทางใหม่ ทุกวันนี้ผมตื่นมากระปรี้กระเปร่ามีความสุขทุกวันทำให้ตัวเองสดชื่นตอนเย็นก็ขี่จักรยานทุกวัน มีเวลาว่างก็ไปปลูกต้นไม้บ้างนี่คือรสชาติของชีวิตที่ไม่รบกวนอะไรเลยมีความสุขจนตาย  

“แล้วตัวผมเองไม่ได้ใช้เงินมากนักในหนึ่งเดือนผมใช้เงินเพียง 3 พันบาท จึงไม่เคยคิดว่าตัวเองจนเลย ผมเคยคิดว่าตัวเองคงใช้เงินจำนวนนี้ต่อเดือนไปจนถึงอายุ 90 ปี ที่ผมพูดให้ฟังไม่ได้บอกว่าตัวเองร่ำรวยแต่ผมบอกว่าผมพอแล้ว รถผมก็ไม่ได้ขับ แม้จะมีอยู่ก็ตาม การเดินทางผมก็นั่งแท็กซี่แทน

“ทุกวันนี้ชีวิตผมจึงมีความสุขแล้ว ความสุขของผมคือการอยู่บ้านเงียบ ๆ แต่เชื่อไหมว่าใน 1 เดือนมีคนให้ผมไปบรรยายหลายที่ เวลานั่งอยู่เฉย ๆ คนก็ชอบมาหา ในหนึ่งปีผมมีงานใหญ่อยู่ราว 8 งาน บางงานมีจากต่างประเทศที่ให้ผมไปทำงานบางทีก็จำไม่ได้ว่าเข้ามาได้ยังไง คือชีวิตมันเป็นแบบนี้อนาคตผมต้องการอยู่เงียบ ๆ มากกว่า

“ในใจลึก ๆ ผมเบื่อมนุษย์เบื่อสังคมเบื่อการเมืองความวุ่นวาย การได้เจอคนเราไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งผมเป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะไปที่ไหนมักมีคนในวงการต้อนรับ นั่นทำให้ผมจะแคร์เพื่อนที่ไปด้วยกันว่าความสำคัญของคนรอบข้างถูกลดค่าผมจึงไม่ทันได้รับรองคนที่มาทักได้ทั้งหมด เลยมีความรู้สึกว่ามาเจอกันที่บ้านดีกว่าบางคนจึงมองว่าหยิ่งซึ่งไม่ใช่

“ผมทำงานเป็นศิลปินมาอย่างยาวนานทำให้เกิดปัญหาปวดแขนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ผมเป็นคนที่เขียนรูปเนี้ยบเข้มข้นทำให้แขนอยู่บนอากาศนาน จึงกลายเป็นคนที่มีปัญหากับโรคนี้ แต่อายุผมยังไม่เยอะมากจึงยังสามารถทำงานดี ๆ ออกมาได้ ศิลปินอายุ 65-70 ปีเป็นช่วงที่โรยรา ซึ่งผมยังมีพลังอยู่ส่วนเรื่องแขนอาจไม่ไหวเหมือนก่อน แต่ผมก็อยากทำงานให้ดีที่สุดแต่ใช้เวลาน้อยที่สุดและให้ละเอียดอ่อนที่สุด เพื่อตอบโจทย์และให้ประโยชน์กับสังคมมากที่สุด

 

 

 

 

ประทีป คชบัว ศิลปินผู้มีจินตนาการผสมผสานกับรากฐานวัฒนธรรมไทย สร้างงานด้วยความละเอียดเข้มข้นแฝงไปด้วยปรัชญาในชีวิต ผู้สร้างสรรค์ศิลปะเหนือจริงหรือ Surrealism (เซอเรียลิสม์)