"ความพร้อมรอไม่ได้" คุยเรื่องการบริหารโรงพยาบาลชุมชุน และสุขภาพคนไทย กับ "นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร" 

"ความพร้อมรอไม่ได้" คุยเรื่องการบริหารโรงพยาบาลชุมชุน และสุขภาพคนไทย กับ "นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร" 

"ความพร้อมรอไม่ได้" คุยเรื่องการบริหารโรงพยาบาลชุมชุน และสุขภาพคนไทย กับ "นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร"  

นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่น คือคุณหมอที่ทุ่มเทเพื่อการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลชนบท ทุ่มเททั้งกำลัง แรงใจ และความสามารถจนโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน ได้กลายต้นแบบและตัวอย่างโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาในปัจจุบัน 

นอกจากทุ่มเททำงานด้านการแพทย์ ท่านยังสนใจ และทำงานพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง เพราะมี แนวความคิดว่าหากชุมชนเข้มแข็ง ชาวบ้านก็จะมีสุขภาพดี แต่ถ้าชาวบ้านมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือคุณภาพชีวิต ในที่สุดจะทำให้เกิดความเจ็บป่วยตามมา และมองว่าวิกฤติสำคัญอย่างหนึ่งของท้องถิ่น  

เมื่อปี พ.ศ. 2539 นพ.อภิสิทธิ์ และทีมงาน ร่วมกันตั้ง มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จังหวัดขอนแก่น ขึ้นมารองรับการทำงาน แนวทางดำเนินงานของมูลนิธิก็คือเผยแพร่การทำเกษตรแบบผสมผสาน เพราะได้เห็นตัวอย่างจากเกษตรกรบางรายที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ และส่งเสริมการรวมกลุ่มของชาวบ้าน รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างองค์ความรู้ จนปัจจุบันสามารถสร้างเครือข่ายชาวบ้านร่วมแนวทางได้นับหมื่นครอบครัวแล้ว

ท่านสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2527 เคยทำงานที่โรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลน้ำพอง ก่อนย้ายมารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนเกษียณอายุ เราไปคุยกับคุณหมอนักพัฒนากันเลยครับ

 

“ผมเกษียณมาประมาณ 1 ปีกับ 5 เดือนแล้วครับ ตอนนี้ก็เป็นจิตอาสามาทำงานเป็นที่ปรึกษาให้โรงพยาบาลอุบลรัตน์ และเป็นประธานมูลนิธิโรงพยาบาลอุบลรัตน์ ศึกษาจบจากคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ปี พ.ศ. 2527 แล้วก็ได้มาเป็นแพทย์ฝึกหัดในปีนั้นที่โรงพยาบาลขอนแก่น เริ่มงานที่แรก เป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลน้ำพอง ในปี 2528 และก็ได้มาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 จนเกษียณอายุเมื่อเดือนกันยายนปี 2562

“ด้านการศึกษาผมจบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ปี พ.ศ. 2521 จากนั้นก็ได้ไปเรียนแพทย์และได้ไปเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลน้ำพองหนึ่งปี

“เป้าหมายที่ทำงานมาตลอดที่โรงพยาบาลอุบลรัตน์มีอยู่ 3 อย่างก็คือ 1 ทำให้ประชาชน สุขภาพดีมีสุขภาพดี และมีความสุข 2 คือทำให้คุณหมอพยาบาลบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานอย่างมีความสุขเช่นกัน 3 ทำให้ระบบมีความยั่งยืนครับ

“ที่เลือกเรียนหมอก็เพราะว่าประมาณปี พ.ศ. 2512 ตอนนั้นยังเด็กอยู่ ก็คือคุณพ่อของเพื่อนผมเป็นโรคหอบหืด แล้ววันนั้นคุณแม่ของเพื่อนก็มาตาม บอกว่าคุณพ่อไม่หายใจ แล้วก็เลยเข้าไปช่วยท่าน ก็คือตอนนั้นยังไม่มีความรู้เพราะยังไม่ได้เรียนหมอ ก็อุ้มท่านขึ้นแท็กซี่พาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน คือไม่ได้ช่วยอะไรหลังจากนั้นเลยนะครับ พอไปถึงคุณหมอก็ช่วยอยู่สักครึ่งชั่วโมง ปรากฏว่าคุณพ่อก็เสียแล้วเราก็เสียใจมาก

“ก็เลยฝังใจว่าถ้าเรามีความรู้ถ้าเราได้เรียนหมอ เราก็อาจจะช่วยเขาได้ ตั้งแต่วันนั้นก็เลยพยายามตั้งใจที่จะต้องเรียนหมอให้ได้ แต่ต้อง บอกไว้ก่อนครับว่าทางบ้านฐานะยากจน ก็เลยต้องยิ่งพยายามดิ้นรนขวนขวาย บริหารจัดการชีวิตตัวเอง ให้ดีในที่สุดก็สอบเข้าคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีจนได้

“พื้นเพผมเป็นคนกรุงเทพฯ พอได้เข้ามาเรียนหมอก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเรียนด้านไหนดี เหมือนเป็นความโชคดีบนความโชคร้ายเพราะคุณยายผมท่านเป็นมะเร็งปอดพอดี และกระจายมาที่สมอง ตอนนั้นก็เลยได้ไปเฝ้าไข้คุณยายที่โรงพยาบาลเอกชน 10 วัน ซึ่งการบริการดีมากเลย เสียอยู่อย่างเดียวคือตอนเก็บเงินแพงมาก เรียกว่าหมดตัว ก็เลยตัดสินใจว่าไม่เอาโรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่เป้าหมายของเรา เพราะเรารวยแต่ว่าชาวบ้านลำบาก”

ชีวิตที่ขีดเอง

“ตอนเรียนปี 2 มีโอกาสไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไปโรงพยาบาลจังหวัดก็เห็นว่าโรงพยาบาลจังหวัดนั้นคนไข้เยอะมาก แต่จำนวนคุณหมอมีนิดเดียวมีแค่ 5-6 คน แต่เตียงในโรงพยาบาลมีจำนวนถึง 400 เตียง ก็ได้ไปช่วยคุณหมอที่นั่น ปรากฏว่ารุ่งขึ้นได้เห็นคนไข้เสียชีวิตถึง 3 คน ขณะที่คุณหมอท่านเก่งมากเลยนะ ทำได้ทุกอย่างผ่าตัดห้องนู้นเข้าไปตรวจห้องนี้ แต่คนไข้ยังเสียชีวิตตั้ง 3 คน เราก็เลยคิดละเป้าหมายน่าจะไม่ใช่โรงพยาบาลประจำจังหวัด

“ต่อมาก็เลยไปโรงพยาบาลอำเภอ อันนี้ยิ่งทำให้เห็นว่าคุณหมอยิ่งน้อยลงไปอีก ทั้งโรงพยาบาลมีคุณหมอ 2 คนเท่านั้นเอง คนนึงเป็นผู้อำนวยการควบอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย อีกคนก็เป็นรองผู้อำนวยการ วันนั้นผมก็ได้ไปช่วยทำการผ่าตัด ปรากฏว่าไฟดับเราก็เลยต้องเลื่อนตำแหน่งจากผู้ผ่าตัดมือ 4 มือ 5 กลายเป็นมือหนึ่งเลยทีนี้ คือต้องไปส่องไฟฉายให้คุณหมอจนผ่าตัดเสร็จ

“ตอนที่สนิทกันก็เลยถามคุณหมอว่าพี่ครับท่านปลัดกระทรวงได้มาเยี่ยมบ้างหรือเปล่า คุณหมอท่านก็บอกว่าจะมาเยี่ยมทำไมโรงพยาบาลไกลปืนเที่ยงแล้วเพิ่งเปิดใหม่ และไม่มีผลงานอะไรท่านก็เลยไม่ได้มา ผมก็เลยถามต่ออีกว่าท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดได้เคยมาเยี่ยมบ้างหรือเปล่า พี่เขาก็บอกว่าเคยมาครั้งนึงหลังจากนั้นก็ไม่ได้มาอีก แต่ก็ได้ไปประชุมในตัวจังหวัด ถ้าทำโรงพยาบาลให้ดีท่านก็จะไม่มายุ่งวุ่นวายกับเรา

“พอผมได้ยินก็เลยโอ้ที่นี่แหละใช่เลย นาน ๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขถึงจะมาเยี่ยมสักที อย่างนี้การบริหารจัดการดูแลโรงพยาบาลก็เป็นสิทธิ์ของเราเลย ก็เลยตัดสินใจว่าเมื่อเรียนจบจะมาอยู่ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ พอเรียนจบเราก็ต้องคิดอีกว่าจะไปภาคไหนดีล่ะ ผมก็เลยลองไปภาคเหนือเพราะมีเพื่อนประจำอยู่ที่ภาคเหนือ ซึ่งทางภาคเหนือนั้นทุกอย่างดีหมดอากาศก็ดี ยกเว้นเรื่องเดียว อุบัติการณ์การฆ่าตัวตายสูงมาก อาชญากรรมไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ก็เลยตัดสินใจว่าไม่เอาดีกว่า เพราะสงสารคนที่ฆ่าตัวตายและครอบครัวของเขา

“ต่อมาผมก็เลยไปลองที่ภาคใต้ ปรากฏว่าการฆ่าตัวตายมีนิดเดียว แต่การฆ่าผู้อื่น การฆาตกรรมมีปริมาณสูงมาก ก็เลยไม่กล้าไปกลัวถูกฆ่าไปด้วย สุดท้ายก็เลยมาที่ภาคอีสานครับ ซึ่งทางภาคอีสานนั้นน่าสนใจ การฆ่าตัวตายก็น้อยฆ่าผู้อื่นก็น้อย แต่ถูกพยาธิฆ่าตายเยอะ คือถูกพยาธิใบไม้ในตับฆ่าตายเยอะ ก็เลยตัดสินใจมาอยู่ภาคอีสานครับ เพราะคิดว่าน่าจะไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากเท่าไหร่ และที่มาโรงพยาบาลอำเภอเพราะว่าการทำงานมีอิสระครับ

“การทำงานในโรงพยาบาลอำเภอ ตอนเข้าไปทีแรกก็เนื่องจากงานมันท้าทายนะแล้วเป็นงานใหญ่ เป้าหมายเราคืออยากทำให้คนมีสุขภาพที่ดี ปกติแล้วในหนึ่งอำเภอก็จะมีคนราว ๆ ประมาณ 30,000 กว่าคน จนถึง 150,000 คน ที่อำเภออุบลรัตน์ก็มีอยู่ประมาณ 40,000 กว่าคน ซึ่งปรากฏว่าตอนไปทำแล้วเมื่อต้องดูแลประชาชนจำนวนมาก สิ่งแรกเลยคือปัญหาเรื่องการเงิน

“เงินเราไม่พอ จำนวนบุคลากรทางการแพทย์จำนวนคนที่ต้องทำงานในโรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอ คนมีนิดเดียวและก็เลือกไม่ได้ เพราะว่าตอนที่ผมมาอยู่ใหม่ ๆ มีอะไรก็ต้องทำอย่างนั้นไปก่อน ตอนนั้นมีคนทั้งโรงพยาบาลประมาณ 20 กว่าคน เตียงคนไข้มีประมาณแค่ 10 กว่าเตียง โชคดีที่ว่าผมได้ไปทำงานที่โรงพยาบาลน้ำพองมาก่อนปี 1 ก็เลยมีประสบการณ์ ตอนนั้นทำงานเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์คนที่ 2 คือพูดง่าย ๆ ว่ามีหมออยู่ 3 คนทั้งโรงพยาบาล

“จากการเรียนรู้ก็เลยทำให้รู้ว่าเราต้องเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการ โชคดีว่าผมก็เป็นคนที่ถูกฝึกการบริหารจัดการมาตั้งแต่เด็ก การบริหารก็คือต้องทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เริ่มจากการวางแผนการจัดองค์กร การระดมงบประมาณและก็ทรัพยากรสรรพกำลัง รวบรวมจากทั้งพระสงฆ์องค์เจ้าพี่น้องประชาชน ผู้มีจิตศรัทธารวมทั้งบริษัท​ห้างร้านต่าง ๆ และก็อาศัยการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ก็เริ่มต้นจากตรงส่วนนั้น

“สรุปง่าย ๆ ก็คือเงินก็ขาด คนก็ขาด แต่งานเยอะ ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้สำเร็จก็ต้องอาศัยเรื่องของการบริหารจัดการเข้าไปช่วย ทั้งในแง่เรื่องของการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นบทบาทหลักของทางโรงพยาบาล และก็อีกส่วนหนึ่ง คือทำให้เป็นจุดรวมศรัทธาที่ให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และก็การส่งเสริมในเรื่องสุขภาพ การป้องกันโรคและการฟื้นฟูสภาพเมื่อยามที่เขาป่วย ให้หายป่วยเร็วขึ้น และก็การพัฒนาชนบท”

โรงพยาบาลชุมชนและความพร้อม

“อย่างที่เรียนไปตอนต้นว่าคุณหมอในโรงพยาบาลอำเภอนั้นมีน้อย ฉะนั้นเราก็จะไม่มีคุณหมอที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เรียกได้ว่าต้องทำให้ได้ทุกอย่าง จำเป็นต้องเชี่ยวชาญทุกเรื่อง แต่ข้อดีก็คือเราสามารถส่งคนไข้เฉพาะทางไปรักษาต่อได้ที่โรงพยาบาลจังหวัด

“ซึ่งตัวผมเองก็เคยไปเป็นแพทย์ฝึกหัดที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งนั่นเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้รู้จักครูบาอาจารย์และมีเพื่อนฝูงอยู่ในโรงพยาบาลจังหวัด ทำให้เรื่องของการส่งตัวนั้นง่ายขึ้น โดยหลักแล้วโรคภัยไข้เจ็บระดับอำเภอเนี่ยเรา รักษาได้หายประมาณ 90-95 เปอร์เซ็นต์ มีที่จำเป็นต้องส่งตัวไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ทำให้ติดตามได้ไม่ยาก ซึ่งก็มีจำนวนหนึ่งที่เราตามกลับมาพักฟื้นและรักษาต่อเองได้ หลัง ๆ เราก็เรียนรู้จากการปฏิบัติมากขึ้นการทรงตัวก็เลยน้อยลง จาก 10% เหลือ 4-5 เปอร์เซ็นต์

“โรงพยาบาลจังหวัดนั้นจะดูแลคนไข้ 10-20 อำเภอ ฉะนั้นถ้าเทียบกันถ้าหากโรงพยาบาลอุบลรัตน์ส่งไป 4-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีก็จะประมาณ 4-5 พันคนต่อปี สมมุติ โรงพยาบาล 20 โรงพยาบาลส่งไปก็จะ ประมาณ 80,000 คนต่อปี ฉะนั้นโรงพยาบาลจังหวัดจะต้องใหญ่กว่าโรงพยาบาลประจำอำเภอแน่ ๆ เพราะประชากรจำนวนมากกว่า เช่นโรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่น ก็จะต้องดูแลประชากรจำนวนล้านกว่าคน ซึ่งโรงพยาบาลอำเภอจะดูแลประมาณ 4-5 หมื่นคน ฉะนั้นโรงพยาบาลจังหวัดจะต้องใหญ่กว่ามาก ประมาณ 40 เท่า

“ซึ่งถ้าโรงพยาบาลในชุมชนสามารถดูแลคนป่วยและประชาชนได้ดี ก็จะส่งไปประมาณนี้ครับ 4-5 เปอร์เซ็นต์ ถ้าดูแลได้ไม่ดีก็จะต้องส่งไปถึง 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นทางโรงพยาบาลจังหวัดคนไข้ก็จะแน่น ทำให้การรักษาคุณภาพได้น้อยลงเข้าไปอีก แต่ถ้าทำได้โรงพยาบาลชุมชนดูแลชาวบ้านได้ดีเนี่ย การส่งผู้ป่วยก็จะเหลือแค่ 4-5 พันคนต่อปี การที่โรงพยาบาลจังหวัดจะดูแลต่อก็เหลือ 2 แสนคนต่อปี ยกตัวอย่างคนในจังหวัดขอนแก่นมีประมาณ 2 ล้านกว่าคนถ้าเอา 40 ไปหาร นั่นเอง ซึ่งตอนนี้โรงพยาบาลขอนแก่นต้องรับจำนวนผู้ป่วยล้านต่อคนต่อปี

“ที่จำนวนล้านกว่าก็คือสกัดไม่อยู่นั่นเอง ก็เลยเป็นแผนต่อมาที่ทางโรงเรียนแพทย์รามาธิบดีได้เข้ามาช่วย ให้โรงพยาบาลชุมชนแข็งแกร่งขึ้น ทั้งด้านวิชาการทั้งเรื่องการเงินการคลัง และเรื่องการพัฒนากำลังคน เราก็จะทำให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถสกัดได้ ซึ่งถ้าสกัดได้แล้วเนี่ย ทำให้นักศึกษาแพทย์สามารถมาเรียนด้วยได้ ทำให้เรียนจบมาก็มาทำงานให้กับชุมชนได้อีก จะเป็นอำเภอหรือจังหวัด หรือโรงพยาบาลที่ดูแลเขาตอนเรียน เมื่อเรียนจบแล้วเขาก็จะกลับมาเป็นพี่เลี้ยงให้รุ่นน้องในชุมชนได้อีก ซึ่งก็จะทำให้คนในชุมชนได้กลายเป็นแพทย์และกลับมาดูแลคนในชุมชนนั้นได้อีก

“ถ้าทำอย่างนี้ได้นักศึกษาที่เรียนแพทย์เรียนพยาบาลก็จะกลับมาทำงานในพื้นที่ของตัวเองได้ อย่างมีความสุขปัญหาน้อยลง และก็ไปช่วยพี่น้องประชาชนได้เยอะขึ้น อันนี้ก็เป็นจุดที่โรงพยาบาลชุมชนกับทางโรงเรียนแพทย์เข้ามาประสานงานกัน ซึ่ง ท่านคณบดีโรงเรียนแพทย์รามาธิบดีท่านก็เข้าใจ ท่านก็อยากทำให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจกว้างขวางขึ้น ได้ริเริ่มเป็นโครงการที่เราเรียกว่า โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน”

การบริหารจัดการโดยรวม

“โรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะต้องบริหารจัดการในภาพรวมอย่างไร อย่างแรกต้องมีแผน โรงพยาบาลทุกแห่งก็จะต้องมีแผนมีการจัดองค์กร เพราะไม่อย่างนั้นทุกเรื่องก็จะมากองอยู่ที่ผู้อำนวยการทั้งหมด ทำให้จำเป็นต้องมีฝ่ายบริหาร ฝ่ายพยาบาล​ ฝ่ายแพทย์​ ฝ่ายเภสัช และ​ฝ่ายต่าง ๆ เรื่องของงบประมาณ ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะประสบปัญหาเรื่องของงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นธรรมดาที่โรงพยาบาลทั่วประเทศหรือทั่วโลกที่ประสบกับปัญหางบประมาณไม่พอ

“เราเองก็ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการจากทางโรงพยาบาลรามาธิบดี จากโรงพยาบาลศิริราช จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งทางสถาบันใหญ่ ๆ ท่านก็มีมูลนิธิที่จะระดมทุน จากภาคเอกชน จากผู้มีจิตศรัทธา จากคนไข้ เพื่อเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาลร่วมกับรัฐบาล ซึ่งนั่นก็ทำให้ทางโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีทุนพอที่จะดูแลพี่น้องประชาชนได้ดีขึ้นครับ

“ซึ่งในระยะยาวเราก็มองว่า ต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ร่วมเข้ามาเป็นเจ้าของโรงพยาบาล เมื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาล ก็จะแก้ปัญหาได้หลา ยๆ เรื่อง ในอีกด้านหนึ่งถ้าเขาเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเขาก็จะไม่ทำลายโรงพยาบาลนั้น มีอะไรก็จะมาช่วยบอก มาคุยกันเพื่อที่จะทำให้โรงพยาบาลพัฒนาขึ้น

“อีกทางหนึ่งคือเมื่อเขามีรายได้ที่ดีขึ้น เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขามีทุนรอนมากขึ้น เขาก็จะมาช่วยทางโรงพยาบาล เข้ามาร่วมกับทางโรงพยาบาล เราก็ใช้บทเรียนเรื่องนี้เข้ามาช่วยในการพัฒนางบประมาณของทางโรงพยาบาล ซึ่งก็มีโรงพยาบาลหลายแห่งในตอนนี้ที่ทำในลักษณะนี้

“อย่างสุดท้ายก็คือเรื่องของการประเมินผล ว่าเมื่อทำแล้วดีก็ต้องทำต่อ ชาวบ้านได้ประโยชน์ชาวบ้านไม่ต้องเสียชีวิต ชาวบ้านได้รักษาตัวหายกลับไปบ้านได้เร็วขึ้น เขาก็อยากช่วยโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น สิ่งไหนที่ลองทำแล้วถ้ามันไม่ดีเราก็จะพยายามไม่ทำ ป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำนะครับ

“คือเราต้องรักษาส่งเสริมป้องกันและ เพิ่มพูนคุณภาพ ให้กลับชนบท อันนี้คือสิ่งที่โรงพยาบาลจะต้องบริหารจัดการภายใต้เงื่อนไขของปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามา และทรัพยากรที่มีในการแก้ปัญหาซึ่งไม่เยอะนะ คือต้องบริหารจัดการให้ได้ครับ”

ทางออกเรื่องงบประมาณโรงพยาบาลรัฐ

“ทางกระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้ทางโรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถระดมทุนได้ ซึ่งอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร ท่านเคยเป็นอธิการบดีของโรงเรียนแพทย์มาก่อน ซึ่งท่านก็เห็นด้วยกับในเรื่องของการบริจาค และพี่น้องประชาชนก็อยากที่จะบริจาค

ในขณะเดียวกันถ้าลดในเรื่องของภาษีได้ด้วยก็จะยิ่งดี เหมือนในระบบของสถาบันการศึกษา ท่านก็เลยเสนอและชักชวนให้โรงพยาบาลบาง ๆ ได้ทดลองทำดู ซึ่งสามารถระดมทุนเข้าโรงพยาบาลและก็ลดภาษีได้ถึง 2 เท่า ซึ่งดีมากครับเพราะเป็นการช่วยระดมสรรพกำลังให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในอนาคตก็จะยิ่งดีขึ้น

“ซึ่งการพัฒนาก็จะกลับมาช่วยพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่และก็เป็นพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เองนี่แหละที่ช่วยกันบริจาคเพื่อให้ชุมชนตัวเองดีขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของการเปิดระดมทุนเพื่อให้มาเป็นเจ้าของร่วมในโรงพยาบาลได้มากขึ้น นี่เป็นการช่วยให้สภาพคล่องทางการเงินรวมทั้งเรื่องทุนทรัพย์​ของโรงพยาบาลต่าง ๆ ดีขึ้น​ และนำกลับ​มาช่วยพี่น้องประชาชน​ได้มากขึ้น​ด้วย

“ตอนที่คุณตูน Bodyslam วิ่งเพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลต่าง ๆ ในมุมมองของผมเป็นเรื่องที่ดีครับ ซึ่งได้ช่วยพี่น้องประชาชนที่แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่เขาก็อยากช่วยบริจาค ซึ่งเป็นการช่วยภาครัฐอีกทางหนึ่ง ซึ่งทางภาครัฐอาจจะช้าไปนิดนึง หรืออาจจะมีงบประมาณมาดูแลพวกเขาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการรวมทุนและใส่งบประมาณเพิ่มเข้าไปก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่ถึงจะอย่างไรก็ดีมันก็มีข้อจำกัดในเรื่องการใช้งบประมาณเหมือนกัน

“อย่างเช่นโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งมีคุณหมอจำนวน 3 คนก็อาจจะอยากได้คุณหมอคนที่ 4 ที่ 5 เข้ามาเพิ่ม เพื่อช่วยพี่น้องประชาชนในชุมชนนั้นมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถจ้างได้ หรือจ้างได้แต่ราคาในตลาดที่เขาจ้างหมอ ก็ให้เงินดีกว่าโรงพยาบาลชุมชนเยอะ ทำให้ถ้าเราจ้างในราคาปกติก็จะไม่มีหมอเข้ามาอยู่ แต่ถ้าจะจ้างจำนวนเยอะก็ติดในเรื่องของกฎระเบียบอีก

“ซึ่งในอนาคตการที่ทำมูลนิธิจะสามารถต่อยอดไปเป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อคนในอำเภอ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ก็จะกลับมาช่วยแก้ปัญหาให้กับโรงพยาบาลได้ดี เมื่อเรามีงานจากมูลนิธิหรือจากธุรกิจเพื่อสังคม ทางโรงพยาบาลก็จะมีเงินที่จะจ้างคุณหมอจำนวนเพิ่มขึ้น หรือในเบื้องต้นอาจจ้างโดยให้เงินเดือนมากขึ้น เพื่อที่จะดึงคุณหมอเข้ามาช่วย โดยที่ไม่ต้องรองบประมาณจากส่วนกลาง

ซึ่งในระยะยาวการแก้ปัญหาคือจะต้องส่งคนดีที่อยู่ในอำเภอ อยู่ในชุมชนนี้เข้าไปศึกษา เพื่อที่จะกลับมาช่วยงานและพัฒนาชุมชนของเขา ซึ่งตอนนี้เราก็ได้ทำแล้วครับ ส่งเขาไปเป็นนักเรียนนักบริบาลชุมชน ส่งไปเรียนเป็นพยาบาลชุมชน แต่หมอยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งต่อไปถ้าเป็นไปได้แล้วเราสามารถส่งคนในอำเภอซึ่งเป็นคนดีไปเรียนไปศึกษา ไปหาประสบการณ์และกลับมาทำงานช่วยเหลือชุมชนแห่งนั้น กลับมาอยู่ในอำเภอได้ก็จะมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเราก็ได้มาร่วมมือกับทางโรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถผลักดันและทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นจริงได้

“โดยในระยะสั้นนี้บุคลากรจากโรงพยาบาลรามาธิบดีที่จบมาก็จะกลับมาอยู่ที่ขอนแก่น ซึ่งในอนาคตเขาก็จะกลับมาที่นี่ และคุณหมอที่อยู่ที่นี่รวมทั้งผมก็จะช่วยดูแล และร่วมมือกันในการทำงาน เพื่อที่จะฝึกนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ให้ทำงานในโรงพยาบาลได้ทั่วประเทศ สมมุติถ้าเขามาทำงานในโรงพยาบาลอุบลรัตน์เราก็จะช่วยดูแลเขาให้ทำงานสะดวกมากขึ้นหรือหากเขาย้ายไปโรงพยาบาลขอนแก่นหรือโรงพยาบาลในอำเภออื่น ๆ ก็จะช่วยให้เขาทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ก็เป็นตัวกลางในการทำงานเชื่อมกันครับ”

โลกคู่ขนาน ความต่างบนความเป็นจริง

“เงินเดือนของคุณหมอในโรงพยาบาลรัฐบาลกับโรงพยาบาลเอกชนแตกต่างกันขนาดไหน ต้องบอกว่า แตกต่างกันมาก ถ้าเป็นแพทย์จบใหม่ ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนก็จะเงินเดือนมากกว่าคุณหมอที่อยู่โรงพยาบาลรัฐถึง 2-3 เท่า แต่ถ้าเป็นคุณหมอผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็จะยิ่งต่างมากไปเป็น 5 ถึง 10 เท่า ซึ่งเรื่องการให้เงินเดือนคุณหมอและพนักงานในโรงพยาบาลเอกชนนั้นเขาสามารถทำได้เลย เพราะในเมืองไทยนี้ไม่ได้มีการตั้งเพดานว่าเรทมาตรฐานของคุณหมอพยาบาลหรือบุคลากรทางการแพทย์อยู่ที่ตรงไหน

“แม้กระทั่งเรทสูงสุดในการคิดค่าบริการของคนไข้เมื่อมารักษาในโรงพยาบาลเอกชน หมายความว่าหากคนไข้โรงพยาบาลเอกชนรักษากับเขาแล้วถ้าเขาเรียกราคาเป็นแสนก็ต้องให้เขาเป็นแสน ในการรักษาครั้งนั้น เขาเรียกเป็นล้านก็ต้องให้เขาเป็นล้าน แต่โรงพยาบาลรัฐบาลจะถูกกั้นด้วยเพดานของราคามาตรฐานว่าห้ามเกินกว่าที่กำหนด อย่างเช่นถ้าหลวงบอกให้เก็บเคสการรักษานี้ 1,000 บาท แต่ทางโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งนั้นไปเรียกเก็บ 5,000 บาท อันนั้นมีเรื่องแน่ ๆ

“หรือถ้าโรงพยาบาลรัฐบาลอยากจะจ้างหมอในอัตราที่มากกว่าภาครัฐกำหนดก็จะโดนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเช็คบิลได้ ดังนั้นนี่คือความแตกต่าง ไม่ว่าเราจะทำดีเท่าไหร่ พัฒนาบุคลากรได้ดีเท่าไหร่ ความแตกต่างทางด้านรายได้ก็อาจจะมีผลที่ทำให้สมองไหลไปได้ครับ

“ฉะนั้นเราเลยจะต้องสร้าง หลาย ๆ เรื่องขึ้นมาและในหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของเงินทอง ต้องไม่ให้ขาด อาจจะได้ไม่มากเท่าเอกชนแต่ว่าโอเค อยู่ได้ ต้องทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคุณหมอคุณพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ ดีขึ้น ทำให้เขาอยู่ได้ แล้วก็ทำให้ เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนสูงสุด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำครับ”

 

ความพร้อมของโรงพยาบาลชุมชน

“ความพร้อมอย่างที่หนึ่งก็คือ พร้อมรับมือเรื่องของความเจ็บป่วย เมื่อประชาชนเจ็บป่วยเข้ามารักษาเราก็ต้องซ่อมแซม รักษาให้เขาหายเป็นปกติ ฉะนั้นเราก็ต้องมีความพร้อมเรื่องคน เรื่องยา อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ต้องพร้อม แต่ก็ไม่สามารถพร้อมได้เท่ากับโรงพยาบาล จังหวัดหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

“ฉะนั้นก็เลยมีการพัฒนาเรื่องของการส่งต่อ ทั้งเรื่องความรู้นวัตกรรมและเครื่องไม้เครื่องมือหรือแม้แต่อัตรากำลังคนซึ่งโรงพยาบาลชุมชน อาจจะมีกำลังพล 3-10 คน ซึ่งไม่สามารถพร้อมเท่าโรงพยาบาลจังหวัดได้  เราก็ต้องเตรียมความพร้อมในส่วนที่เรามีความชำนาญ และอีกสิ่งหนึ่งคือพร้อมในภาวะฉุกเฉิน ถ้ามีเคสฉุกเฉินเข้ามาเราต้องพร้อมรับมือ ที่จะดูแลเบื้องต้น หรือส่งต่อได้อย่างปลอดภัย รถพยาบาลในการส่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญ รถพยาบาลเป็นสิ่งที่จำเป็นและก็ต้องมีพยาบาลคอยดูแลให้ความใกล้ชิดระหว่าง ที่ผู้ป่วยอยู่บนรถ นี่คือความพร้อมอย่างแรก

“อันที่สองการที่ผมได้มาอยู่ในโรงพยาบาลอำเภอเนี่ย การสร้างสุขภาพที่ดีคือต้องการเตรียมความพร้อมเรื่องการสร้างสุขภาพที่ดี แข็งแรง ให้กับประชาชน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาซ่อมแซมทีหลัง ก็เหมือนกับบ้านนี่แหละครับถ้าเราสร้างบ้านไม่แข็งแรงเราก็ต้องคอยซ่อมแซมอยู่เรื่อย ๆ แต่ถ้าเราสร้างให้แข็งแรงก็จะไม่ต้องมาคอยซ่อมแซมทีหลัง ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพเพื่อให้เขาไม่เจ็บป่วย หรือการป้องกันโรค หรือแม้แต่เรื่องของการฉีดวัคซีนดูแล หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็เป็นการสร้างสุขภาพในบริบทของโรงพยาบาลชุมชนนะครับ

“อย่างที่ 3 คือการฟื้นฟูคุณภาพด้วยนักบริบาลชุมชน พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน คือเข้าไปเยี่ยมเข้าไปติดตาม ตอนนี้ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำโครงการที่ดีมากก็คือเรื่องของคน ให้เลือกบุคคลในหมู่บ้านที่มีใจจิตอาสา และชาวบ้านยอมรับให้เข้าไปดูแลพวกเขา เช่นไปดูแลคนไข้ติดเตียงวันละ 4 ชั่วโมง ที่เหลือก็ไปดูคนไข้เบาหวานความดันผู้พิการ ซึ่งในโครงการนี้ก็มีคนไข้ติดเตียง 6 เดือน ปีนึงหรือสองปี ที่พอเข้าไปดูแลเขาก็กลับมาลุกขึ้นเดินได้ กลับมาช่วยครอบครัว และไปช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมได้ คือเป็นโครงการที่ดีมาก และได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องได้จริง ๆ

“ซึ่งตอนนี้ทางรามาธิบดีให้นักบริบาลชุมชนหมู่บ้านละ 1 คน ต่อไป เมื่อบ้านเรามี 80, 000 หมู่บ้าน ก็จะได้นักบริบาลชุมชนถึง 80,000 คน คิดดูสิครับว่าเราจะสามารถทำให้ผู้ป่วยติดเตียง สุขภาพดีขึ้น ละกลับมาใช้ชีวิตในสังคมและช่วยเหลือผู้อื่นได้มากอีกขนาดไหน  

“สุดท้ายก็คือ โรงพยาบาลที่มีความพร้อม เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชนบท ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงมหาดไทยได้จับมือกับกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ซึ่งมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องรวมทั้งนายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอเป็นเลขา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเป็นรองประธาน และผู้มีอำนาจในหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยกัน

“ปัจจัยทางสังคมที่มีส่วนช่วยเหลือในเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจสังคมสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต ทำให้เศรษฐกิจของเขาดีขึ้นทำให้สภาพแวดล้อมของเขาดีขึ้นทำให้วิถีชีวิตของเขาดีขึ้น และก็ น่าจะลดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บลงได้ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวครับ ดังนั้นโรงพยาบาลโดยทั่วไปจึงจำเป็นจะต้องมีความพร้อมใน 4 ด้านเหล่านี้ครับ

ระบบสาธารณสุขที่ดี เป็นอย่างไร

“ระบบสาธารณสุขที่ดีเนี่ย ต้องมีความทั่วถึง มีความเสมอภาค ไม่ใช่ว่าคนรวยได้ยาอีกตัวนึงคนจนได้ใหญ่ตัวนึง เสมอภาคด้านบริการพื้นฐาน อย่างเรื่องห้องพิเศษ ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตทุกคนก็อยากจะได้ห้องพิเศษกันทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถทำได้ทางโรงพยาบาลก็เลยปรับ ให้สามารถเข้าได้โดยการบริจาควันละ 3 บาทหรือปีละ 1,000 บาท ก็สามารถจได้เข้าห้องพิเศษทุกคน

“ซึ่งอันนี้ยังไม่เสมอภาค 100% แต่ว่าลดความเหลื่อมล้ำลงได้ระดับหนึ่งเทียบกับเมื่อก่อน แต่เรื่องหยูกยา เรื่องการบริการทุกชนิดต้องได้เท่ากัน เป็นเบาหวานชนิดเดียวกันต้องได้ยาตัวเดียวกัน เป็นไข้หวัดชนิดเดียวกันต้องได้ยาตัวเดียวกัน อันนี้คือความเสมอภาค

“ต่อมาคือคุณภาพ คุณภาพเราก็ต้องแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับแรกคือภาพของคุณ อันนี้เราใช้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเราเองก็คือเรื่องภาพของคุณ ภาพของคุณที่หน้างอ รอนาน การบริการไม่ดี วจีไม่ไพเราะ อันนี้ถือเป็นคุณภาพที่ไม่ดี แต่ถ้าภาพของคุณที่ดีก็คือหน้าไม่งอ รอไม่นาน บริการดี วจีไพเราะ ระดับที่ 2 คือภาพของเรา ที่มีคุณประโยชน์ มีประโยชน์ยังไงก็คือรักษาเขาให้หาย ถ้ารักษาไม่หายก็ต้องเป็นการส่งต่อให้ทันเวลา แล้วก็ปลอดภัยอยู่บนรถพยาบาล หรือหากถึงขั้นเสียชีวิตก็ยังได้รู้ล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าไม่ทราบว่าเสียชีวิตเพราะอะไร ต้องไม่มีความเสี่ยงเวลาเข้ามาที่โรงพยาบาล หรือถ้าหากมีก็ต้องเป็นครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่มีความเสี่ยงครั้งหน้าจะต้องไม่มี

“พี่น้องประชาชนรู้สึกว่าเขาหายเพราะเรา ถูกใจและภูมิใจที่ได้เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลของเรา ยามที่เขาป่วยเขาก็จะกลับมาใช้บริการ เรื่องนี้คือเรื่องของคุณภาพและส่วนของการบริการที่ดี อย่างที่ 3 คือมีประสิทธิภาพ คือเข้ามาแล้วรักษาหายเหมือนกันแต่ใช้เงินน้อยกว่า อาจจะเสียค่ารักษาเพียง 30 บาทเท่านั้นเอง หรือว่าไม่ต้องเสียเลยดีที่สุด ถ้าเทียบกับเคสที่ว่าเข้ามารักษาและต้องจ่ายเงินเป็นล้าน เหมือนอย่างที่อเมริกาเข้ามารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในบางรายตามที่เห็นในข่าว

“ชาวบ้านต้องตรวจสอบได้ คือ ให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าของเลย คิดอยากจะทำอะไรที่ดี ๆ ก็จะได้แนะนำกัน เขาอยากจะมาเสนอแนะ เขาอยากมาช่วยทำงาน เขาอยากมาบริจาค ถือเป็นเรื่องดีในทุกประเด็น นี่คือเรื่องระบบสาธารณสุขที่ดี ส่วน ที่ไม่ดีก็คือการตรงกันข้ามกับที่กล่าวมา”

 

"ความพร้อมรอไม่ได้" คุยเรื่องการบริหารโรงพยาบาลชุมชุน และสุขภาพคนไทย กับ "นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร"