ย้อนรอยปฏิวัติ รัฐประหาร ... ไม่มีใครได้อะไรจากความเปลี่ยนแปลง
ย้อนรอยปฏิวัติ รัฐประหาร ... ไม่มีใครได้อะไรจากความเปลี่ยนแปลง
วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครอบรอบ 7 ปี ของการทำการรัฐประหาร โดยคณะ ค.ส.ช. โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การรัฐประหารในครั้งนั้น เชื่อกันว่าเป็นการเข้ามา “แก้ทางตัน” ของการเมืองไทย กระทั่งนำมาสู่ “ขอเวลาอีกไม่นาน” และคำสัญญาเรื่องการปฏิรูปองค์กรหลายแห่งรวมถึงองค์กรการเมืองที่สร้างปัญหาให้แก่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน
แต่มาจนถึงวันนี้ครบ 7 ปีแล้ว ผลอันเนื่องมาจากการปฏิวัติในครั้งนั้น นำผลดีหรือผลเสียอย่างไรมาสู่ประเทศชาติ ผมเชื่อว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ย่อมมองเห็นและเข้าใจมันดี ซึ่งนั่นคงไม่ใช่หน้าที่ของผมในที่นี้ แต่สิ่งที่อยากจะเอามาให้ผู้อ่านได้เห็นและรับรู้กันอย่างชัดเจนนั่นก็คือ ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการทำรัฐประหาร รวมถึงการกบฏมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย
ฉะนั้นในที่นี้ ผมเลยจะขอมาประมวลสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมาให้ท่านผุ้อ่านได้เห็นภาพกันว่ามันเกิดอะไรขึ้นมาบ้างและมีผลที่ดีหรือร้ายต่อประเทศอย่างไรบ้าง เชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นข้อมูลชั้นดีให้แก่ท่านที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยตลอดมา
การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475
“คณะราษฎร" ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนบางกลุ่ม จำนวน 99 นาย มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงยินยอมตามคำร้องขอของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติในครั้งนั้น
รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาพร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลิดรอนอำนาจภายในคณะราษฎร ที่มีการแตกแยกกันเอง ในส่วนของการใช้อำนาจต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครองศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภาสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคนทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกันฯลฯ นับเป็นการรัฐประหารครั้งแรก
กบฏบวชเดช 11 ตุลาคม 2476
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ก่อการเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาล โดยอ้างว่าคณะราษฎรปกครองประเทศไทย โดยกุมอำนาจไว้แต่เพียงผู้เดียว และปล่อยให้บุคคลกระทำการหมิ่นองค์พระประมุขของชาติ รวมทั้งจะดำเนินการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ คณะผู้ก่อการได้ยกกำลังเข้ายึดดอนเมืองเอาไว้ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.ท.หลวง พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสมออกไปปราบปราม จนประสบผลสำเร็จถือเป็นกบฏครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตย
กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478
ทหารชั้นประทวนในกองพันต่าง ๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้าได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา
กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481
ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการและได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผินชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
รัฐประหาร 6 เมษายน 2491
คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป
กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491
พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตรเขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการและจับกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ
กบฏแบ่งแยกดินแดน พฤศจิกายน 2491
จะมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายคนเช่น นายทิม ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฎรมีเอกสิทธิ์ทางการเมือง
กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492
นายปรีดีพนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวังและตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามและนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง
กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494
นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจและประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือกับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปราบปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ
รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่าง ๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสีย พร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง
กบฏสันติภาพ 10 พฤศจิกายน 2497
นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะถูกจับในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการรวมตัวกันเรี่ยไรเงินและข้าวของไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากความแห้งแล้งอย่างหนักเป็นการดำเนินการที่เป็นภัยต่อรัฐบาลนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี
รัฐประหาร 16 กันยายน 2500
จอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหาร นำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนักจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ
รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501
เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่งโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองเป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง
รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514
จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี
ปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516
การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่ง ได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519
พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เนื่องจากเกิดการจลาจลและรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครองและมอบให้นายธานินทร์กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
กบฏ 26 มีนาคม 2520
พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นครผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520
รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520
พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว
กบฏ1 เมษายน 2524
พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่ม โดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลวฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้
การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน 2528
พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการได้นำกำลังทหารและรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา แล ะกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วนภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพลเอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจรและนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้ มีอดีตนายทหารผู้ใหญ่หลายคนตกเป็นผู้ต้องหา ว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยาและพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534
โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบกทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทรคงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบกเลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชายชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ และขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ข่าวการรัฐประหารโดยได้พยายามติดต่อช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อการออกโทรทัศน์ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมไว้ จึงทำให้การออกโทรทัศน์ไม่ได้และมีการโฟนอินไปยังช่อง 9 ประกาศใช้ พ.ร.ก สถานการณ์ฉุกเฉิน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อมีการยึดพื้นที่ ทำให้ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี แล้วประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคม หลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมือง ที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ภายหลังรัฐประหาร คปค.ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และแน่นอนครั้งล่าสุดก็คือเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ผมขอเว้นไม่กล่าวถึงหรือลงรายละเอียดในที่นี้ เพียงแต่ให้ผู้อ่านได้มองและเข้าใจกันเองว่า ได้เวลาแล้วหรือไม่ที่ประเทศนี้น่าจะหมดสิ้นเรื่องราวเช่นนี้ไปได้แล้ว....