โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๖ คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย

โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๖ คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย

“มึงมาทำไม” คำแรกที่แม่ตะโกนใส่หน้า เมื่อฉันเดินเข้ามาในบ้าน

“ผมกลับมา จะมาเรียนหนังสือครับ”

เมื่อตอบเช่นนั้น แม่ก็หัวเราะเยาะใส่หน้า

“ควาย...ควายมันจะกลับมาเรียนหนังสือ” แม่หันไปเพยิกพยากกับผัวของแม่
อดีตนายทหารอากาศที่มีหนี้สินรุงรัง จนกระทั่งถูกปลดออกจากราชการ
มาหลบเจ้าหนี้อยู่กินกับแม่อย่างลับ...ลับ ซ่อน...ซ่อน

“หัตถยา” ฉลาดพอที่จะไม่พูดอะไร ได้แต่หัวเราะหึหึ ฟังเสียงแล้วเหมือนจะเยาะความอ่อนแอของฉัน

“มึงจะไปเรียนหนังสืออะไรกันไอ้ควาย เพื่อน ๆ มึงเขาเรียนมหาวิทยาลัยกัน
จนหมดแล้ว”

“แต่ผมยังมีความหวังที่จะต้องเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้” ฉันบอกและ
อธิบายให้แม่รู้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังประกาศรับสมัครสอบเข้าเรียน
วิชาหนังสือพิมพ์ภาคค่ำ

“หน้าอย่างมึงรึ จะไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้” แม่พูดอย่างดูแคลน

หลังจากที่นิ่งไปครู่ใหญ่ แม่ก็บอกว่า

“ก็ได้ มึงจะมาอยู่ที่นี่ก็ได้ แต่มึงไม่ได้อยู่แบบก่อน กูจะให้มึงไปอยู่ในสวน”

แม่พูดและชี้ไปทางบ้านไม้พุ ๆ พัง ๆ หลังเล็ก ๆ ที่อยู่หลังบ้าน แดดในตอนบ่าย
ทำให้เห็นไอร้อนระอุเต้นเป็นตัวเหนือหลังคาสังกะสี

“มึงไปอยู่ที่นั่น อย่าสะเออะขึ้นมาอยู่บ้านของกู แล้วมึงจะไปตายโหงตายห่าที่ไหนก็ตามใจ เชอะ!! จะไปเรียนมหาวิทยาลัย ฝันไปเถอะมึง”

บ้านใหม่ของแม่ ไม่ใช่บ้านเช่ากลางสวนเมืองนนท์ บ้านที่ฉันเคยถูก
ขับไล่ไสส่งออกมา

บ้านของแม่ปลูกอยู่กลางทุ่งนาในย่านที่เรียกว่าสนามบินน้ำ เป็นบ้านที่ซ่อนอยู่ในดงไม้ห่างไกลจากบ้านผู้คน เหตุผลที่แม่เลือกอยู่ที่นี่ก็เพราะว่า

ที่นี่เหมาะสำหรับเป็นการหลบซ่อนเจ้าหนี้ของแม่และผัวใหม่ ตัวบ้าน
ที่สร้างจึงมองดูเหมือนโกดังเก็บของมากกว่าเป็นบ้านพัก

ทุกวันฉันจะต้องตื่นแต่เช้า ไม่ใช่เพื่อลุกขึ้นมาท่องหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบ
แต่ฉันจะต้องติดไฟต้มน้ำร้อนชงชาให้กับแม่และผัว ทั้งยังต้องปิ้งขนมปังทาเนย
รวมทั้งทอดไข่หรือลวกไข่ให้เป็นอาหารเช้า

พอตกสายก็จะต้องทำงานในบ้านซึ่งไม่แตกต่างไปจากสมัยนั้นฉันเคยทำมาก่อนนี้แล้ว

ก็ถึงเวลาบ่ายนั้นล่ะ ถึงจะมีเวลาได้อ่านหนังสือบ้าง แต่ตอนเย็นงานรดน้ำตามต้นหมากรากไม้กลับหนักกว่าในตอนไหน ๆ เสียอีก 

กลางคืนนั้นล่ะถึงจะมีเวลานอนดูดาวดูพระจันทร์ แล้วก็หลับได้สนิทเพราะความเหนื่อยตลอดทั้งวัน

ชีวิตวกเวียนเป็นเช่นนี้ แต่ความมุ่งมั่นที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไม่ว่าชีวิตประจำวันจะสาหัสสากรรห์
สักเพียงไร

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสมัยนั้น เป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะการสอบ
ทุกมหาวิทยาลัยจะผ่านสภาการศึกษา ที่รัฐบาลทหารเผด็จการสมัยนั้น
ตั้งขึ้นมาเหมือนจะกีดกัด ไม่อยากให้เด็กเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย หรืออย่างที่
ว่ากันว่าไม่อยากให้เด็กมีการศึกษา 

เพราะจะทำให้เด็กฉลาด ยากต่อการปกครอง

ในสมัยก่อนนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีการศึกษา จึงเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าเรียนโดยไม่ต้องมีการสอบคัดเลือก อย่างที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น “ตลาดวิชา”

จนกระทั้งเป็นครั้งแรกในระยะเวลานับสิบปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเปิดสอบรับสมัครเองโดยไม่ผ่านสภาการศึกษา โดยเรียกว่าแผนกวิชาการหนังสือพิมพ์ภาคค่ำขึ้นกับคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งต่อมาก็ได้พัฒนาขึ้นเป็น
คณะวารสารศาสตร์ในปัจจุบัน

สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เรียกกันว่า “เอ็นทรานซ์”
เป็นประสบการณ์ที่ฉันหวั่นไหว เพราะฉันเคยผ่านการสอบมาแล้วครั้งหนึ่ง และเพราะการสอบไม่ผ่าน ชีวิตของฉันจึงต้องหักเหไปเป็นครูสอนหนังสือเด็ก
อยู่ที่สระบุรี แล้วชีวิตก็ผันผวนทำงานอีกมากมาย นับตั้งแต่เป็นไกด์ผีอยู่หน้าโรงแรมโอเรียลเต็ล เป็นเด็กขี่มอเตอร์ไซด์ตระเวรหาบ้านเช่าให้ฝรั่ง

แต่การที่ฉันมั่นใจว่า ฉันคงจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ก็เพราะในประกาศรับสมัครนั้น มีคุณสมบัติอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่ทำงานอาชีพหนังสือพิมพ์จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าเปิดโอกาสให้ผู้ทำงานในวิชาชีพนี้เข้าสอบแข่งขัน

ฉันจึงมั่นใจว่าจะต้องใช้สิทธิความเป็นนักหนังสือพิมพ์เข้าสอบแข่งขัน โอกาสที่จะสอบเข้าได้มีมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพนี้มาก่อน

ฉันจำได้ว่า เมื่อสมัยเรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ มีรุ่นพี่ชื่อ
“สุคต ชูพินิจ” ท่านเป็นลูกชายของ “ครูมาลัย ชูพินิจ” ซึ่งเป็น
นักหนังสือพิมพ์และเป็นนักประพันธ์ชื่อดังในยุคนั้น

ฉันไม่รู้จักครูมาลัย แต่รู้จักผลงานของท่านจากหนังสือเรื่อง “ล่องไพร” และ “ชั่วฟ้าดินสลาย” และรู้ด้วยว่าท่านทำงานเป็นที่ปรึกษาหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายขายดีที่สุดในยุคนั้น

ฉันพยายามติดต่อกับพี่สุคตโดยไปพบที่บ้านของพี่ ซึ่งอยู่ในซอยสุจริตข้างวังสวนจิตรลดา แต่วันที่ไปนั้นพี่สุคตและครูมาลัยไม่ได้อยู่บ้าน มีคุณป้า
ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นมารดาของพี่สุคตและเป็นภรรยาของครูมาลัยชื่อว่า
“ป้าหงวน” มาต้อนรับ

เมื่อฉันเล่าถึงความตั้งใจที่จะใช้สิทธิความเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านก็บอกกับฉันว่า

“ป้าไม่แน่ใจว่า ครูมาลัยจะยอมเซ็นต์รับรองว่าเธอเป็นนักข่าว
เป็นนักหนังสือพิมพ์ให้เธอหรือไม่ เพราะท่านเป็นคนตรง”

ป้าหงวนเว้นเสียงนิดนึง ความรู้สึกของฉันในตอนนั้นเหมือนกับความหวังของฉันหมดสิ้นแล้ว

“แต่...แต่ว่าล่ะ เธอเป็นคนรักเรียนและเป็นนักเรียนโรงเรียนเดียวกับลูกป้า เอาล่ะป้าจะลองดู”

ฉันลาป้าหงวนกลับมาด้วยความไม่แน่ใจ และไม่รู้ด้วยว่าจดหมายที่ป้าหงวนมอบให้มานั้นท่านเขียนว่าอย่างไร

“ไปโรงพิมพ์พิมพ์ไทย ที่สามเหลี่ยมถนนดินแดงไปพบกับคุณไชยยงค์ ชวลิต
ท่านเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ แล้วเอาจดหมายฉบับนี้ไปเรียนท่าน”

ป้าหงวนบอกกับฉันและยื่นจดหมายฉบับนั้นให้

ฉันไม่รู้ว่าในจดหมายนั้น ป้าหงวนท่านเขียนไว้อย่างไร แต่ในใจก็คิดว่าท่านคงเมตตาฝากฉันให้ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” พิจารณา

วันที่ฉันไปหา คุณไชยยงค์  ชวลิต ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เป็นวันที่ฉันตื่นเต้นมากวันหนึ่งของชีวิต

เมื่อได้พบกับท่านแล้วความรู้สึกเหมือนกับร้อน ๆ หนาวๆ ไปทั้งตัว
ยิ่งเมื่อท่านมองฉันลอดจากกรอบแว่นตาเล็ก ๆ ก็ยิ่งเพิ่มความหวาดวิตกกว่าฉันคงจะไม่มีอนาคตที่จะได้เขียนเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แน่

“จดหมายของป้าหงวน” ท่านกล่าวเมื่ออ่านจดหมายฉบับนั้นจบและค่อย ๆ  บรรจงพับเก็บไว้อย่างเรียบร้อย

“คุณป้าเขียนมาบอกว่าคุณอยากจะไปสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เขาจะเปิดสอนวิชาการหนังสือพิมพ์ภาคค่ำ” ผู้อำนวยการไชยยงค์พูดเสียงเรียบ ๆ แต่น้ำทุ่มน้ำเสียงพอจะเดาได้ว่าท่านมีความเมตตา

“ครับ”

“แต่เท่าที่ผมรู้ว่า ผู้ที่จะสมัครต้องผ่านการทำงานหนังสือพิมพ์มาแล้วนี่”

ท่านพูดแล้วจ้องดูฉันอย่างสงสัย

“แล้วคุณเคยทำงานหนังสือพิมพ์มาแล้วหรือ”

“ไม่ครับ ผมยังไม่เคยทำงานหนังสือพิมพ์มาก่อนเลย

“อ๊าว !! แล้วอย่างนี้จะให้ผมเซ็นต์รับรองว่า คุณเคยทำงานหนังสือพิมพ์มาแล้วได้อย่างไรกัน”

ฉันก้มหน้านิ่งไม่กล้าสบสายตาของท่าน แล้วก็กล้าพูดอย่างไร

“ผมรับรองคุณไม่ได้หรอก” ท่านว่าแล้ววางจดหมายฝากของป้าหงวนลงกับโต๊ะทำงานแล้วก็ไม่พูดอะไรอีก

ให้ห้องปรับอากาศที่แอร์ เย็นฉ่ำ ฉันกลับรู้สึกร้อนผ่าวไปทั้งตัว
ไม่ใช่รู้สึกร้อนเท่านั้น แต่รู้สึกเหมือนกับว่ามีหนามแหลมคมทิ่มแทง
เข้าไปกลางใจเสียวแปล๊บปล๊าบไปทั้งตัว

“ผมต้องขอโทษครับ ผมผิดเองที่อยากจะเข้าเรียนวิชาหนังสือพิมพ์
ทั้ง  ๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติถูกต้อง”

ฉันพูดตะกุกตะกักอย่างผู้ที่สำนึกในความผิด

“แล้วเธออยากจะทำงานหนังสือพิมพ์มั้ยล่ะ” เพียงคำถามของท่าน
ก็เหมือนกับปลุกให้มีชีวิตขึ้นทั้ง ๆ ที่เมื่อสักครู่ฉันรู้สึกเหมือนกับว่า
ฉันตายไปแล้ว

“อยากครับ”

“ถ้าเธออยากทำงานหนังสือพิมพ์ เธอก็จะต้องเริ่มต้นทำงานเป็น
นักข่าวก่อน”

ท่านผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” พูดช้า...ช้า

“พรุ่งนี้เธอมาทำงานเป็นนักข่าวที่นี่ได้เลย”

ฉันเดินออกจากห้องทำงานของท่านมาด้วยความรู้สึกสับสน
มันเป็นความสมหวังหรือผิดหวังอย่างไรกันแน่

ความตั้งใจของฉันก็คือ อยากจะได้ใช้สิทธิความเป็นนักข่าวเข้าไป
สมัครสอบ เรียนวิชาหนังสือพิมพ์ภาคค่ำ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แต่ฉันกลับจะต้องมาทำงานเป็นนักข่าวมาเป็นนักหนังสือพิมพ์

ชีวิตจะเอาอะไรกันแน่...?

ความฝันที่จะได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยเหมือนกับเพื่อน ๆ กลับกลายเป็นความจริงว่า ฉันจะต้องเป็นนักข่าวเสียเอง

เอ๊าล่ะ!! ชีวิตเอ๋ย ผิดหวังมาแล้วไม่รู้กี่สิบครั้ง จะผิดหวังอีกสักครั้ง
จะเป็นไรไปเป็นไงก็เป็นกัน เมื่อฟ้าดินลิขิตชีวิตให้ฉันให้มันต้องเป็นอย่างนี้
ฉันก็จะต้องเป็น

...แล้วฉันจะขอเป็นนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ให้ดีที่สุด ฉันมั่นใจ
ฉันตั้งใจ และฉันจะต้องทำให้ได้ฉันขอท้าทายชะตากรรม...
 

 

“สันติ เศวตวิมล”

ผลงานประพันธ์ของอาจารย์ สันติ เศวตวิมล ในคอลัมน์ Life Poet คนแปลกหน้าที่คุ้นเคย