8888 สิงหาคมเลือด เหนือแผ่นดินพม่า

8888 สิงหาคมเลือด เหนือแผ่นดินพม่า

“8888” สิงหาคมเลือด เหนือแผ่นดินพม่า หรือประวัติศาสตร์จะย้อนรอยอีกหน 

และแล้วเหตุการณ์ในพม่า ก็เหมือนย้อนกลับไปสู่เงามืดดังเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้นอีกหน เมื่อกระสุนนัดแรกจากทหารที่ทำการปราบปรามประชาชนผู้ลุกมาเรียกหาเสรีภาพดังขึ้น มาจนถึงวันนี้คือเดือนเมษายน ปรากฏข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากกระสุนของทหารพม่าไปแล้วไม่น้อยกว่า 200 คน และที่แน่ ๆ ยังไม่มีแนวโน้มว่า การปราบปรามและการสังหารผู้บริสุทธิ์นั้นจะยุติลง เมื่อฉบับก่อน ผมเล่าถึงที่มาที่ไปของการเข้ามามีอำนาจของทหารในการปกครองของพม่าในยุคต้นแล้ว กล่าวคือเล่ามาถึงนายพลเนวินสามารถเข้ายึดครองอำนาจของพม่าได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งทำให้นับแต่นั้นรัฐบาลของพม่าก็ตกอยู่ในมือของทหารสืบต่อเนื่องมา และภายใต้อำนาจของทหารนี่เอง ที่นำพาให้เกิดการสังหารหมู่ ครั้งสำคัญ ที่ดูแนวแล้วคาดว่าไม่น่าจะต่างจากที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้นัก การสังหารในครั้งนั้น เราเรียกกันว่า “8888 สิงหาเลือด” เรามาดูกันต่อครับ

ตลอดเวลา 26 ปีที่นายพลเนวินยึดอำนาจการปกครองประเทศพม่า ภายใต้นามพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programmer Party-BSPP) หรือที่เรียกขานกันว่า “ระบอบเนวิน” เขานำพาประเทศพม่ามาสู่ภาวะที่สภาพการเมืองเศรษฐกิจและสังคมตกต่ำอย่างถึงที่สุด จากครั้งหนึ่งที่พม่าเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ ในขณะที่ตัวเองสะสมความมั่งคั่งจนมีเงินฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศมากถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จนได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของโลก เมื่ออดทนมาถึง 26 ปีแล้วในที่สุดประชาชนก็ไม่อาจทนได้อีกต่อไป จึงพร้อมใจกันออกมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยโดยพร้อมเพรียงกันในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 ตกดึกในวันนั้น ฝ่ายรัฐบาลส่งทหารพร้อมอาวุธครบมือออกมาปราบปรามผู้ชุมนุม และปฏิบัติการสังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 4 วันทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ราว ๆ เกือบ 10,000 คน ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็น “กบฏคอมมิวนิสต์”

 

เหตุการณ์ 8888 นี้แท้จริงแล้วก็เป็นผลมาจากการบริหารงาน และการปกครองที่ไร้ซึ่งความชอบธรรมมานับแต่ต้น เหตุการณ์ 8888 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 คือสิงหาคม ค.ศ. 1988 เป็นการสิ้นสุดความอดทนของประชาชนภายใต้การปกครองระบอบเนวินก่อนหน้านั้น ประชาชนต่างตกอยู่ ในภาวะหวาดกลัวกับอำนาจจากปลายกระบอกปืนของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ทำการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเริ่มต้นของระบอบเนวิน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนเหตุการณ์ 8888 นั้นมีอยู่ไม่น้อยและต่อเนื่อง และที่สำคัญ ส่งผลต่อเนื่องกันนับแต่เนวินก้าวสู่อำนาจดังนี้ 7 กรกฎาคม ค.ศ.1962 เกิดเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเนวิน รัฐบาลทหารของเนวินได้สั่งยิงกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมและระเบิดตึกกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งและสั่งปิดมหาวิทยาลัย ผ่านไป 1 ปีกว่า วันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.1964 รัฐบาลเผด็จการประกาศยุบพรรคการเมืองทุกพรรคยกเว้น “พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า” หรือ BSPP ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลกระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1964 รัฐบาลเนวินก็ประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรใบละ 100 จ๊าต และ 50 จ๊าตโดยไม่มีการคืนเงินให้แก่ประชาชน

 

วันที่ 5 กันยายน ค.ศ.1967 ธนบัตรใบละ 25 จ๊าต 35 จ๊าต 75 จ๊าต ถูกยกเลิกโดยไม่มีการชดเชยใด ๆ ซึ่งทำให้เงินตราถึงร้อยละ 75 ที่หนุนเวียนอยู่ในประเทศไร้ค่าในทันที สร้างความไม่พอใจให้กับสาธารณชนประชาชนและนักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วงในกรุงย่างกุ้งและขยายต่อไปยังเมืองใหญ่ ๆ ในพม่า 11 ธันวาคม ค.ศ.1974 รัฐบาลเนวินสั่งปราบปรามนักศึกษา และประชาชนที่กำลังช่วยกันสร้างสุสานชั่วคราวสำหรับเก็บศพของอูถั่น (U Thant) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติที่บริเวณสนามหน้าที่ทำการสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (The Rangoon University Student Union-RUSU) ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนถูกยิงถูกแทงด้วยหอกปลายปืนและถูกจับกุม 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1985 รัฐบาลฯประกาศลดค่าเงินธนบัตรใบละ 100 จ๊าต ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นความกดดันที่ทับถมลงบนจิตใจของประชาชนพม่า สิทธิเสรีภาพทางการเมืองถูกปิดกั้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชนแทบมองไม่เห็นประเทศพม่าตกต่ำจนถึงขีดที่ประชาชนจะทนไหว จนนำมาสู่เหตุการณ์ที่เป็นชนวนที่นำไปสู่ “เหตุการณ์ 8888”

กล่าวคือ ปัญหาเริ่มปะทุขึ้นมาอีกครั้งในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.1988 เมื่อเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนักศึกษา 2 คนอีก 3 วันต่อมาคือในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1988 กลุ่มนักศึกษาก็ชุมนุมประท้วง และเผชิญหน้ากับกองตำรวจปราบจลาจลที่บริเวณสะพานขาว (White Bridge) ริมทะเลสาบอินยา ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมทำร้ายและยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นักศึกษาหลายคนถูกจับกดน้ำตายในทะเลสาบอินยา วันรุ่งขึ้นภายใต้การบัญชาการของเส่งลวิน (Sein Lwin) ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคงกองกำลังทหาร และตำรวจปราบจลาจล กองกำลังทหารและตำรวจ ติดอาวุธได้บุกเข้ามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เพื่อจับกุมนักศึกษาจำนวนหลายร้อยคน ในระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับกุม นักศึกษาจำนวน 41 คนเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจในรถตำรวจที่เป็นพาหนะในการขนย้าย เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธแค้น ให้กับนักศึกษา และประชาชนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และมีการนัดชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 หรือ 8-8-88

เดือนมีนาคม ค.ศ.1988 เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทที่ร้านน้ำชา สถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้งระหว่างนักศึกษา และชาวบ้าน เรื่องลุกลามเมื่อตำรวจปราบจลาจล ได้ยิงนักศึกษาคนหนึ่งเสียชีวิตและจับกุมนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับผิดชอบเรื่องนี้ และการป้ายความผิดไปยังนักศึกษา เพื่อหาข้อยุติในเรื่องการเสียชีวิตของนักศึกษาได้ทำให้การประท้วงขยายตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ ถึงขั้นมีจดหมายเปิดผนึกจากนายพลอองยีถึงนายพลเนวิน 2 ฉบับ และได้ส่งถึงคณาจารย์ ผู้พิพากษา นักกฎหมายและทนายความหลายคนโดยเฉพาะฉบับสุดท้ายได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างรุนแรงต่อการกระทำทารุณกรรมต่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมไปคุมขังไว้ว่ามีการฆาตรกรรมนักศึกษาจำนวนมาก ในระหว่างการคุมขังและการข่มขืนนักศึกษาหญิงจำนวนหลายคนจน ตั้งท้องเมื่อปล่อยตัวออกมา

เมื่อประชาชนหลาย ๆ คนได้รับรู้เนื้อหาของจดหมายก็เกิดความไม่พอใจ และโกรธแค้นรัฐบาลความโกรธแค้นนี้ได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางจนมีการชุมนุมของนักศึกษาและมีข้อเรียกร้องให้มีการเปิดให้ตั้งสหภาพนักศึกษาโดยให้มีการสอบสวนต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา ในเหตุการณ์เดือนมีนาคมให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม และลงโทษ เส่งลวิน ผู้ที่ออกคำสั่งให้ปราบปรามนักศึกษา และขอให้อธิบายถึงความโหดร้ายของรัฐบาลและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่ผู้นำประเทศกลับร่ำรวย เมื่อไม่มีคำตอบจากรัฐบาลกลุ่มนักศึกษาได้นัดชุมนุมกัน โดยครั้งนี้ มีพระสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

15 มิถุนายน ค.ศ.1988 รัฐบาลฯส่งกองกำลังตำรวจ และทหารเข้าสลายการชุมนุมในเขตมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ทำให้การประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เจ้าหน้าที่รัฐฯ ใช้วิธีการโหดร้ายปราบปรามผู้ชุมนุมโดยการขับรถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็วสูงเข้าไปในกลุ่มนักศึกษาที่ประท้วง พร้อมทั้ง ยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษา ทำให้นักศึกษาเสียชีวิตไปจำนวนมากสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การออกมาร่วมกับนักศึกษาต่อต้าน รัฐบาลถึงขั้นประกาศไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในเขตพื้นที่ตน และรุมประชาทัณฑ์จนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปหลายคนรัฐบาลประกาศปิดมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งย่างกุ้งในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1988

เหตุการณ์ก็ได้ลุกลามไปยังสถาบันการศึกษาอื่น ๆ จนต้องมีคำสั่งปิดการเรียนการสอน อย่างไม่มีกำหนดและประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 18.00 - 06.00 น. ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง การปราศรัยซึ่งประกาศนี้ครอบคลุมพื้นที่กรุงย่างกุ้งทั้งหมด แต่การประกาศดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมของนักศึกษาได้การชุมนุมได้ ขยายไปสู่เมืองอื่น ๆ ในพม่า การประกาศนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เพราะการขนส่งสินค้าสดสู่ตลาดไม่สามารถทำได้ ทำให้ขาดสินค้าอุปโภคบริโภคและมีราคาสูงขึ้น หน่วยงานราชการต้องปิดตั้งแต่บ่ายสอง เพื่อให้ข้าราชการกลับบ้านได้ทันซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อประชาชนและส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลเอง ทำให้รัฐบาลต้องออกประกาศเปลี่ยนเวลาห้ามออกจากบ้าน เป็นตั้งแต่เวลา 20.00 - 04.00 น. และพยายามผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ มีการปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมและวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ.1988 มีประกาศให้นักศึกษามาลงทะเบียนใหม่ โดยให้ผู้ปกครองมารับรองด้วย และมีการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ อย่างละเอียด 9 กรกฎาคม ค.ศ.1988 รัฐบาลฯ ประกาศยกเลิกการห้ามออกนอกบ้าน และถอนทหารออกจากกรุงย่างกุ้ง แต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างพุทธกับมุสลิมขึ้นที่เมืองตองยีจนเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุอย่างเฉียบขาด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นติดกันนานถึง 4 วัน มีผู้เสียชีวิต 3 คน

เหตุการณ์ยังไม่สงบ กลับได้ขยายไปสู่เมืองเปรมอีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1988 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกหนึ่งคน ซึ่งทำให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลจนต้องออกมายอมรับ และสอบสวนต่อกรณีเหตุการณ์เดือนมีนาคม และยอมรับเพิ่มเติมว่ามีนักศึกษาเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เพราะถูกยัดเข้าไปในรถกักขังอีก 41 คนโดยให้เหตุผลของการ ไม่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าไม่ต้องการให้สถานการณ์ลุกลามขึ้นไปอีก

การประกาศดังกล่าวส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกิจการภายใน และกิจการศาสนาต้องลาออกและส่งผลกระทบสำคัญถึงขั้นที่นายพลเนวินประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า และเสนอให้มีการลงประชามติของประชาชนทั่วประเทศ ว่าจะยอมรับระบบการเมืองแบบพรรคเดียว หรือจะเปลี่ยนให้เป็นแบบหลายพรรคแต่ที่ประชุมสภาคองเกรสของพรรคฯ ปฏิเสธเรื่องการลงมตินี้ และได้ลงมติให้เส่งลวินขึ้นเป็นผู้นำพรรคแทนนายพลเนวิน วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ.1988 นายพลเนวินก็ประกาศลาออก ในคำประกาศลาออก เขากล่าวเตือนไว้ว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้ประชาชนทั้งชาติรู้ว่า ถ้าทหารยิง นั่นคือการยิงไปที่เป้าหมายไม่มีกระสุนลูกใดยิงใส่อากาศเพื่อสร้างความหวาดกลัว” เส่งลวิน (SeinLwin) ขึ้นรับตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า แทนนายพลเนวินในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ.1988 

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของเส่งลวินได้กลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งขึ้นเนื่องจากเส่งลวินไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและที่สำคัญเส่งลวินเป็นคนออกคำสั่งให้ยิงนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงเนวินเมื่อปี 1962 สั่งยิงตัวอาคารสหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง อันเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญของขบวนการชาตินิยมพม่าและเป็นศูนย์รวมผู้นำพม่าในการต่อสู้และเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และเส่งลวินคนนี้ก็คือคนที่สั่งบุกมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในปี 1974 ในระหว่างที่นักศึกษาและประชาชนชุมนุมกันเพื่อเตรียมจัดพิธีศพของอูถั่น ด้วยการที่สภาคองเกรสไม่ยอมรับในเรื่องการเมืองแบบหลายพรรค แถมยังตั้งเส่งลวินเป็นผู้นำประเทศเสียอีก ทำให้เกิดการชุมนุมของประชาชนขึ้นในกรุงย่างกุ้งและขยายตัวสู่เมืองต่าง ๆ ทั่วพม่า 3 สิงหาคม ค.ศ.1988 เส่งลวินประกาศกฏอัยการศึกเพื่อยุติการประท้วงแต่ไม่อาจหยุดยั้งความไม่พอใจของสาธารณชนได้นักศึกษาประชาชนและพระสงฆ์ลุกฮือขึ้นจัดการชุมนุมโดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องหลายข้อ ดังนี้ 

• ให้ขับไล่เส่งลวิน ให้พ้นจากตำแหน่ง
• ให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง
• ให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
• ยุติการกดขี่สิทธิเสรีชนและคืนเสรีภาพแก่ประชาชน และ
• ประกาศวันดีเดย์ในการประท้วงทั่วประเทศคือวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 ซึ่งประชาชนต่างขานรับและออกมาชุมนุมพร้อมกันในวันที่ 8 สิงหาคม

วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 ประชาชนที่ออกมาชุมนุมกันอย่างสันติตลอดทั้งวัน ซึ่งประกอบไปด้วยนักศึกษาประชาชนและพระสงฆ์ โดยมีทหารเฝ้าอยู่ตามท้องถนนในสภาพที่ข่มขวัญเสียงเพลงจากนักศึกษาประชาชนดังขึ้น

“เรารักพวกท่าน ท่านเป็นพี่น้องเราเราต้องการอิสรภาพ พวกท่านเป็นทหารของประชาชน โปรดมาอยู่ข้างเราเถิดเราเพียงต้องการ อิสรภาพเท่านั้น” 

จนกลางดึกของคืนนั้นกองทหารติดอาวุธครบมือเริ่มปฏิบัติการณ์สังหารโหดอย่างต่อเนื่อง การสังหารหมู่ในครั้งนั้นกินเวลานานถึง 4 วัน โดยใช้วิธีการคือการระดมยิงเข้าไปในฝูงชน ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คนแต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ราว ๆ เกือบหมื่นคน ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็น “กบฏคอมมิวนิสต์” จากนั้นในวันที่ 15 สิงหาคม ออง ซานซูจีก็ได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไป สถานการณ์ของรัฐบาลทหารพม่าดูเหมือนจะเข้าสู่วิกฤติเต็มที่ ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ.1988 กลุ่มทหารนำโดยนายพล ซอว์ หม่อง (Saw Maung) ก็เข้ายึดอำนาจการปกครอง และประกาศตั้งสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council - SLORC) สมาชิกของคณะปฏิวัติประกอบด้วยนายทหารระดับผู้นำจำนวน 21 นายซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารผู้ใกล้ชิดกับนายพลเนวิน 23 กันยายน ค.ศ.1988 นายพลซอว์ หม่องประกาศว่า “กองทัพไม่อาจหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของรัฐเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศตกอยู่ในภาวะที่จะเป็นอันตรายต่ออนาคต”  เขายังได้ให้คำมั่นสัญญาว่า “กองทัพของเราจะสานต่อหน้าที่ดั้งเดิมในการปกป้องและรักษาความมั่นคงแห่งรัฐและการรักษากฎหมายและระเบียบหลังจากการส่งผ่านอำนาจให้กับรัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมซึ่งประชาชนได้ใช้สิทธิประชาธิปไตยอย่างเต็มเปี่ยม”

หลังคำประกาศของนายพลซอว์ หม่อง นักศึกษาบางส่วนทยอยเดินทางออกจากเมืองหลวงย่างกุ้งสู่ชายแดนในเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ฝึกอาวุธเพื่อตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร “เหตุการณ์ 8888” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าที่ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน และเชื่อกันว่าเหตุการณ์นี้ จะเป็นเหตุการณ์ความเจ็บปวดที่ชาวพม่าจะไม่มีวันลืมไปตลอดกาล ใช่ว่าปัญหาทางการเมืองเรื่องทหารของพม่าจะจบลงเพียงเท่านี้ กระนั้นเมื่อมองจากสถานการณ์เมื่อครั้งเหตุการณ์ “8888” นับแต่ช่วงเริ่มตั้งไข่มาจนถึงจุดของการแตกหัก ดูเหมือนจะไม่แตกต่างจากภาพที่กำลังเกิดขึ้นและจะเกิดขึ้นในพม่าในช่วงเวลานี้นัก ฉบับต่อไปเราจะมาดูบทสรุปของปัญหาพม่าที่ดำเนินมาจนถึงวันนี้ ซึ่งพูดได้ว่า วนกลับมาอยู่ที่เดิมอย่างไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

 

 

 

 

 

 

 

“8888” สิงหาคมเลือด เหนือแผ่นดินพม่า หรือประวัติศาสตร์จะย้อนรอยอีกหน