เมื่อพม่ากลับมายังจุดเดิม
เมื่อพม่ากลับมาที่จุดเดิม
เป็นข่าวใหญ่ในประเทศพม่าและชาวอาเซียน เมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจล้มการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยให้เหตุว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา มีการโกงการเลือกตั้ง ทำให้ทนต่อระบบที่ย่ำแย่ไม่ไหวจึงต้องออกมาผดุงความยุติธรรมยึดอำนาจเองเสียเลย และขอเวลา 1 ปีในการจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง
แต่ในโลกยุคโซเชียลมีเดียนั้นไม่ง่ายเหมือนหลายสิบปีก่อน ที่พอจะยึดอำนาจก็ไปไล่ปิดสถานีโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์เท่านี้ทุกอย่างก็จบ ไม่มีใครกระตุ้นก่อหวอดให้ออกมาเสี่ยงตายประท้วงรัฐบาลทหาร แต่วันนี้ไม่มีใครปิดสื่อออนไลน์ได้ ทำให้คนออกมาประท้วงกันอย่างล้นหลามในเมืองใหญ่ติดต่อกันเป็นเดือน ในขณะที่องค์กร NGO รวมทั้ง UN ก็ออกมาประณามการกระทำนี้ของทหาร แน่นอนว่าลูกพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาก็งดให้วีซ่ากับนายทหารระดับสูงในการเดินทางเข้าประเทศเป็นที่เรียบร้อย
ย้อนกลับไปในเลือกตั้งครั้งก่อน 8 พ.ย. 2015 พรรคเอ็นแอลดี ของ อองซาน ซูจี คว้าชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ได้ที่นั่งสภาล่างและสภาสูงรวมกัน 291 ที่นั่ง ในขณะที่พรรครัฐบาลเดิมได้จำนวนที่นั่งในสภารวมกันเพียง 33 ที่นั่งเท่านั้น แต่มีการเขียนรัฐธรรมนูญไว้ว่า กองทัพยังคงสามารถส่งคนของตัวเองเข้าไปนั่งในสภาได้ 110 จาก 440 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญที่มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญ
จนกระทั่งมีการเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว แม้พรรคเอ็นแอลดีที่เป็นรัฐบาลเดิมจะได้รับเสียงในสภาน้อยลง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกให้เข้ามาเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม แม้จะชนะแต่ก็มีปัญหามากมายจนเป็นเหตุให้ทหารเข้ามายึดอำนาจในที่สุด
การคว่ำบาตรพม่าไม่ใช่ทางออก
หลายสิบปีก่อนที่พม่าเป็นเผด็จการทหารเต็มขั้น ต่างชาติมีการคว่ำบาตรทางด้านการค้า ห้ามส่งออกและนำเข้าสินค้าบางชนิด การทำธุรกรรมในด้านต่าง ๆ ติดขัดเพราะต้องผ่านความเห็นชอบต่อรัฐบาลทหาร ทำให้ประชาชนอยู่ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ มีเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่ปกครองเท่านั้นที่อยู่ได้แบบสบาย หากมีการคว่ำบาตรอีกครั้ง คนที่จะตายคือประชาชนไม่ใช่รัฐบาลทหาร นานาประเทศรู้ถึงข้อนี้ดีว่าถ้าใช้มาตรการที่แรงต่อพม่าผลเสียจะตกสู่ใคร จึงยังอยู่ในส่วนของการเจรจาว่าจะเลือกทางใดที่เหมาะสม เพื่อให้พม่ากลับมาเป็นประชาธิปไตยได้เร็วที่สุด
มีชนกลุ่มน้อยที่มากเกินไป
ความแตกต่างระหว่างการยึดอำนาจของประเทศอื่น ส่วนใหญ่จะมีคนที่ไม่เห็นด้วยเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่พม่าไม่ใช่เพราะพวกเขามีชนกลุ่มน้อยมากถึง 8 กลุ่มใหญ่คือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู, กลุ่มปะโอ, กลุ่มอาระกัน, กลุ่มเอบีเอสดีเอฟ, กลุ่มดีเคบีเอ, กลุ่มชีน, กลุ่มเอสเอสเอ ของเจ้ายอดศึก และกลุ่มกะเหรี่ยงสันติภาพ พวกเขามีทั้งพื้นที่ ภาษา ประชากรของตัว กองกำลังติดอาวุธ ที่สามารถแยกตัวเป็นประเทศใหม่ได้ทุกเมื่อหากรัฐบาลกลางอ่อนแอ แม้ในช่วงหลังที่มีการเลือกตั้ง โดยให้กลุ่มต่าง ๆ เข้ามาในสภา แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทอย่างเต็มที่นัก การพัฒนาจึงไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อชนกลุ่มน้อย เมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจ ก็เหมือนการลบสัญญาสงบศึก ให้มีการต่อสู้และเสียชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
โรฮิงญาปัญหาที่ไม่จบ
โรฮีนจา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี เป็นมุสลิมที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงยา ในอดีตกองทหารพม่าออกปฏิบัติการกวาดล้างอยู่หลายระลอกตั้งแต่ พ.ศ. 2491หมู่บ้านหลายร้อยแห่ง ถูกเผาและคนหลายพันคนถูกฆ่า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2560 เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็กลับมาอีกครั้ง ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คน ต้องอพยพออกจากพื้นที่รัฐยะไข่ตอนเหนือไปยังบังกลาเทศ
หลังจากเหตุการณ์สงบลงประเทศแกมเบียร้องต่อศาลโลก ยื่นฟ้องพม่าในข้อหาสังหารหมู่ข่มขืน และทำลายชุมชนต่างๆ ในรัฐยะไข่ โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในวาระของรัฐบาล อองซาน ชูจี ซึ่งต้องรับหน้าที่ไปชี้แจงต่อศาล เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าทหารมีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลพลเรือน ที่อยากจะอะไรก็ได้ตามใจตัวเอง
ทางออกของพม่า
ในตอนนี้รัฐบาลทางฝั่งตะวันตกไม่ได้กดดันทหารพม่ามากนัก อาจเพราะช่วงที่คืนประชาธิปไตยมีนักธุรกิจมากมายแห่เข้าไปลงทุน ตรงนี้เองคือขุมทรัพย์ที่ต้องปกป้องหากนานาชาติใช้มาตรการแรง จะเป็นการผลักพม่าเข้าไปหาจีนมากยิ่งขึ้น ด้วยความที่พม่ามีหลายชนชาติถ้าบีบคั้น มากเกินไปอาจกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ไม่มีวันจบ ยิ่งการใช้กองกำลังนานาชาติบุกเข้าไปล้มรัฐบาลทหารแล้วช่วยเหลือประชาชนจึงเป็นไปไม่เลย
ทางที่ดีที่สุดคือการรอให้ทหารทำตามสัญญาที่ตัวเองบอกเอาไว้คืออยู่ในตำแหน่ง 1 ปี เชื่อได้ว่าต่อจากนี้แม้จะมีการประท้วง มีการยิงคนตายพวกเขาเลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่สนใจเสียงเรียกร้องจากต่างชาติ แล้วปล่อยให้ประชาชนหมดแรงไปเอง
ตอนนี้ภายในประเทศพม่าจึงเหมือนเมืองที่ไร้กฎหมาย หลายกลุ่มหลายปัญหา ไม่สามารถนำมาหลอมรวม ความเป็นรัฐชาติไม่สามารถทำได้ ต่างฝ่ายต่างเอาตัวรอดและอยากเป็นใหญ่ ถ้าเราจะเห็นพม่าพัฒนาในตอนนี้คงเป็นเรื่องยาก เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ปัญหามากมายที่ซ้อนอยู่ไม่รู้จบ