5 เรื่องราวรอบตัวที่คุณอาจเข้าใจผิดมาตลอด 2

5 เรื่องราวรอบตัวที่คุณอาจเข้าใจผิดมาตลอด 2

เรื่องราวความรู้รอบตัวต่าง ๆ เราสามารถเรียนรู้ได้หลากหลายทาง จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย รวมไปถึงเรื่องเล่าฟังต่อ ๆ กันมา เรื่องราวที่ฟังต่อกันมานี่แหละครับ ที่บางครั้งเราก็เชื่อฝังหัวโดยไม่ทันเอะใจคิดว่ามันเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง สมเหตุสมผลหรือไม่ วันนี้เราขอยก 5 เรื่องราวที่เราอาจเข้าใจผิด แม้หลายเรื่องจะมีการพิสูจน์แล้วก็ตาม มีเรื่องไหนบ้างที่คุณเข้าใจผิดอยู่ ลองอ่านกันครับ? อ่าน 5 เรื่องที่คุณเข้าใจผิดมาทั้งชีวิต ตอนแรก 

1. การอดนอน - การนอนชดเชย

ระหว่างสัปดาห์นอนไม่พอก็ไม่เป็นไร นอนชดเชยให้เต็มอิ่มในวันหยุดแทนได้? ช่วงวันทำงาน หรือวันที่ต้องไปเรียน เราอาจต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ หรือดูซีรี่ย์ช่วงกลางคืน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ หลายคนจึงมักจะนอนเยอะ ๆ ตื่นสาย ๆ เพื่อทดแทนวันอื่น ๆ ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ รู้หรือไม่! ว่าการทำเช่นนี้นอกจากจะไม่สามารถชดเชยอาการนอนไม่พอ ในช่วงที่ผ่านมาได้ แถมยังทำให้นาฬิกาชีวิตของเราสับสน เพราะร่างกายไม่รู้ว่าเราจะต้องรู้สึกง่วงนอน และรู้สึกตื่นตัวพร้อมลุกขึ้นจากเตียงในเวลาไหนดี วิธีที่ดีที่สุดถ้าอยากจะนอนให้พอ คือการพยายามนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณวันละ 7-8 ชั่วโมง และในวันหยุดไม่ควรนอนเยอะเกินไป เราควรนอนพักผ่อนให้เป็นเวลา เพื่อให้นาฬิกาชีวิตของเราคงที่ ไม่เกิดความสับสน

2. สารให้ความหวานแทนน้ำตาล 

จะกินเยอะแค่ไหนก็ได้ ไม่อ้วนเพราะไม่ใช่น้ำตาล? ใครที่ติดหวาน ชอบเติมน้ำตาลลงในอาหารแทบทุกอย่าง รู้หรือไม่ว่าบางครั้งเราไม่ได้รู้สึกว่าการเติมน้ำตาลนั้นทำให้อาหารมีรสอร่อยขึ้นหรอก แต่เรากำลังมีอาการ “ติดหวาน” คือ เคยชินกับการกินอาหารที่มีรสชาติหวานกว่าปกติ จนติดเป็นนิสัยที่แก้ไขได้ยาก บางคนจึงเลือกใช้สารให้ความหวานเพื่อทดแทนน้ำตาล โดยคิดว่าสารให้ความหวานนั้นไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ จะกินเยอะแค่ไหนก็ได้ตามที่เราพอใจ แต่ที่จริงแล้ว สารให้ความหวานนั้นมีหลายประเภท สารให้ความหวานบางประเภทก็ให้พลังงานได้ แม้จะไม่มากเท่าการกินน้ำตาล แต่ก็ให้พลังงานกับร่างกายของเราอยู่ดี เพราะฉะนั้น การกินสารให้ความหวานแบบไม่บันยะบันยัง กินมากเกินกว่าที่ร่างกาย ก็ทำให้เราอ้วนได้เช่นกัน วิธีการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด คือ พยายามลดการกินหวาน กินหวานในน้อยลง ปรุงรสชาติให้น้อยลง เมื่อทำบ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย เราจะพบว่า ต่อให้ไม่ต้องกินหวานมาก เราก็สามารถอร่อยกับเมนูตรงหน้าได้

3. หวีหัก = โชคไม่ดี 

มีความเชื่อกันว่า ขณะที่กำลังหวีผมแล้วหวีเกิดหักในขณะที่ยังหวีอยู่นั้น จะโชคร้าย จะเกิดเรื่องไม่ตีตามมา เช่นอาจมีเรื่องทะเลาะวิวาท สูญเสียของรัก หรือมีเรื่องทุกข์ร้อนใจให้หงุดหงิดได้ การแก้เคล็ดด้วยการนำหวีนั้นทิ้งไปเลย ไม่ให้เก็บไว้ใช้หรือนำไปซ่อมมาใช้ใหม่ หากยังฝืนที่จะใช้จะทำให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นอย่างแน่นอน คล้าย ๆ กับความเชื่อเรื่องกระจกแตกร้าว เรื่องนี้ถ้ามองในมุมปกติง่าย ๆ เลยคือ ของมันเสียแล้วน่ะครับ ทิ้งแล้วซื้อใหม่ดีกว่าครับ แต่ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องนี้ก็ยังมีอยู่ครับ แต่ความเชื่อนี้ก็เป็นผลดีต่อเจ้าของหวีอยู่ดีครับ

4. ลวกช้อนส้อมในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค

ความเชื่อนี้มีตั้งแต่ตอนผมเรียนมัธยมเลยทีเดียว และหลาย ๆ โรงเรียน หลาย ๆ โรงอาหารในปัจจุบันก็ยังมีการเอาน้ำร้อนมาให้ลวกช้อนส้อมก่อนที่จะรับประทานอาหาร เพื่อต้องการจะฆ่าเชื้อโรคจากช้อนก่อนเอาเข้าปาก กรณีนี้หมายถึง น้ำร้อนในหม้อหุงข้าวตาม food court ซึ่งมีอุณหภูมิแค่ 40-50 องศา ซึ่งเป็นความร้อนที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แถมยังเป็นการเพิ่มจำนวนเชื้อโรค เพราะหากไม่มีการเปลี่ยนน้ำ เชื้อโรคที่ทนต่อความร้อนก็จะยิ่งรวมตัวเพราะเป็นอุณหภูมิที่เชื้อโรคยังอยู่ได้

5. ตากระตุก - ขวาร้าย ซ้ายดี

ขวาร้าย ซ้ายดี ความคิดนี้จะขึ้นมาเสมอเวลาเรามีอาการตาเขม่น จริงมั้ยครับ? เรื่องตาเขม่นตามความเป็นจริงแล้ว พิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องของกายภาพของร่างกายมนุษย์ล้วน ๆ เลยครับ ตากระตุก หรือ ตาเขม่น นั้นเป็นภาวะที่มีการหด เกร็ง กระตุก ของกล้ามเนื้อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว เช่น มุมปาก, ใต้หนังตา หรือเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อรอบลูกตาข้างใดข้างหนึ่ง อาการกระตุกมักเกิดขึ้นมากใน เวลาที่เราเกิดความเครียด หรือกังวลใจ รวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้เกิดตากระตุก ตาเขม่นได้อยู่บ่อย ๆ ไม่เกี่ยวกับโชคลางใด ๆ ครับ

เรื่องราวความรู้รอบตัวที่คุณอาจเข้าใจผิดมาตลอดทั้งชีวิต!