Y Gentleman : เรื่องราวกว่า 10 ปีของศิลปินอิสระ กับเส้นทาง "เยื้อง" ในแบบที่เลือกเอง
นับตั้งแต่วันแรกที่คลิปวิดีโอเพลง “โคตรเฟี้ยว” ถูกอัปโหลดลงบน Youtube นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ Y Gentleman หรือชื่อเดิม เยื้อง Gentleman ศิลปินที่โลดแล่นอยู่บนเส้นทางสายดนตรีอย่างอิสระ สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่มีหยุดพักด้วย Passion อันแรงกล้า ของชายที่ชื่อว่า เบียร์ ปกรณ์ อุดมชัย ผู้เป็นศูนย์กลางของวง ร่วมด้วยเหล่าพี่น้องที่มีจุดยืนในเรื่องเดียวกัน ซึ่งนั่นก็คือการถ่ายทอดเรื่องราว แนวคิด และทัศนคติผ่านเสียงเพลง สร้างสรรค์งานศิลปะในแบบของพวกเขาเอง
Y Gentleman คือศิลปินอิสระผู้สร้างสรรค์ผลงานในสไตล์ American Black Music แนวดนตรีที่แตกแขนงไปได้อย่างหลากหลาย ทั้ง บลูส์ โซล และอีกมากมาย และด้วยความเป็นศิลปินอิสระ ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดใด ๆ จึงทำให้ผลงานของพวกเขาเป็นที่รู้จักแค่ในแวดวงศิลปินนและ เหล่านักฟังเพลงทางเลือก ถึงอย่างนั้น “โคตรเฟี้ยว” ผลงานจากอัลบั้มแรกของวงก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Bedroom Of The Years ของคลื่น Fat Radio และเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการจากเพลง “เสาไฟฟ้า” ผลงานในอัลบั้มที่สองที่ฮิตติดชาร์ต Fat Radio ค่อย ๆ ไต่อันดับจนขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง ของชาร์ตนานติดต่อถึงสามสัปดาห์ซ้อน อยู่ในชาร์ตนานถึงสิบหกสัปดาห์ แต่นี่เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ Y Gentleman เท่านั้น เอาล่ะครับ เรามาย้อนรอยเรื่องราวของพวกเขาบนเส้นทาง ศิลปินอิสระผ่านคุณเบียร์ ปกรณ์ อุดมชัย ชายผู้เปรียบเสมือนศูนย์กลางของวงกัน
Passion + Practice
เบียร์ : ผมคิดว่าความชอบมันเริ่มมาจากความชอบนะ และความชอบมันก็เริ่มมาจากความเท่ สมัยเด็ก ๆ ตอนนั้นมีรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อพี่เดียร์ เขามักจะถือกีต้าร์โปร่งตัวนึงมานั่งเล่น แล้วเด็กที่เล่นอยู่แถวนั้นก็จะมานั่งฟัง ผมรู้สึกว่าพี่เดียร์เท่ว่ะ พอเขาพักเบรกไปกินน้ำหรือทำอะไรก็จะวางกีต้าร์เอาไว้ เราก็จะเดินไปหยิบมาลองเล่นมั่ว ๆ เราเล่นไม่เป็นนะแต่ไม่รู้สึกท้อเลย รู้แค่ว่าอยากเล่นให้เป็นเหมือนพี่เดียร์ หลังจากนั้นก็เริ่มหัดเล่น มันเป็นจุดเริ่มต้นง่าย ๆ นะ แต่ฝังอยู่ในใจ
การเป็นศิลปินมันคือความฝันของผมตั้งแต่เริ่มเล่นกีต้าร์เป็น เราเริ่มรู้สึกว่าเราอยากเติบโตมาเป็นคนที่อยู่ในวงการเพลง ทำอะไรก็ได้สักอย่างในแวดวงนี้ ตอนนั้นเหตุผลมันคงน้อยคือขอให้ได้เป็น เป็นอะไรก็ได้ เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นยังไง มันแค่คิด คิดมาเรื่อย ๆ ในระหว่างนั้นก็เราใช้ชีวิตตามวัยมาเรื่อย ๆ
ผมเริ่มเขียนเพลงครั้งแรกตอนเรียนอยู่ม.2 ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ตอนนั้นเราเกเร มันมีความรู้สึกว่าโลกไม่เข้าใจเรา เราก็เริ่มง่าย ๆ เลย เปิดสมุดขึ้นมาเขียน เขียนขึ้นมาประโยคแรกว่า “อยู่ตัวคนเดียวอย่างนี้ ไม่มีใครมายุ่งเกี่ยว อยู่อย่างอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยวคนเดียวสับสน” ท่อนพรีฮุค “ไม่มีใครมาสนใจ ร่ำร้อง” ท่อนฮุค “เมืองคนมันวกวน ชีวิตมันสับสน” เราเล่าความรู้สึกตอนนั้นทื่อ ๆ ออกมาเลย ระบายออกมา นี่คือเด็กม.สอง
พอเริ่มเป็นวัยรุ่น เราค่อนข้างเกเร แล้วมันก็มีสิ่งเร้าที่ค่อนข้างจะดึงเราออกไปจากตรงนี้เยอะ แต่หลังจากจบเหตุการณ์เกเรเราสามารถชวนเพื่อนมาซ้อมดนตรีได้ต่อ โชคดีที่พอเล่นกีต้าร์เป็นก็ไปหัดเล่นทุกเครื่อง คือเราซน ชอบทำอะไรให้สุดก็เลยสอนเพื่อนได้ พอโตขึ้นเราก็มารู้ว่าการซ้อมดนตรีในตอนนั้นคือการปลดปล่อยไปในตัวนะ เป็นการดึงเราออกจากแวดล้อมตรงนั้น มาคิดตอนโตเรารู้สึกอัศจรรย์ใจตัวเองมาก ดนตรีไม่เคยหายไปไหนเลย มันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเรามาตลอด
ก่อร่างสร้าง เยื้อง Gentleman
เบียร์ : ถึงมันคือความฝันแต่จุดเริ่มมันยากนะ กว่าจะเริ่มทำวงอายุเกือบสามสิบแล้ว มันรู้สึกแบบไม่ได้แล้วว่ะ มันต้องทำแล้ว จุดเริ่มก็มาจากผมครับ ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่าทางที่จะเข้ามาสู่วงการเพลงได้ยังไง เราเติบโตจากยุคที่ต้องทำเทปไปเสนอ ต้องใช้การรู้จัก มีคอนเนคชั่นอะไรอย่างนั้น เราไม่มีทางนั้นเลย เราก็มานั่งคิดว่าต้องทำยังไง สุดท้ายก็เริ่มที่เขียนเพลงก่อนแล้วค่อยหาสมาชิก
ช่วงนั้นเหมือนชีวิตรอบตัวเริ่มนิ่ง ผมเล่นเป็นแบ็กอัพให้กับพี่ปิงปองตีสิบ เริ่มมีเงินพอที่จะซื้อโน๊ตบุ๊ค สิ่งเดียวที่คิดคือต้องซื้อโน๊ตบุ๊ค เพื่อที่จะทำให้เพลงมันพอขึ้นเป็นโครงได้ แล้วก็ไปได้สมาชิกวงที่เล่นดนตรีกลางคืนด้วยกันคือ ป้อง เป็นมือเบส กับ เจี๊ยบ มือกลองจากวง Power Pat ตอนนั้นก็ยังไม่คิดชื่อวง คิดแค่ว่าทำให้เพลงเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งมันก็มีความยากนะ ใครบอกว่าไม่ยากแต่สำหรับผมยากมาก ต้องทำเองทุกขั้นตอน ด้วยอุปกรณ์และข้อจำกัดในสมัยนั้นมันไม่เอื้อแบบสมัยนี้ เราทำอย่างตามมีตามเกิดเพื่อให้มีเดโมส่งให้สมาชิกได้ฟังได้เห็นภาพรวมก่อน แล้วค่อยนัดซ้อม
นัดซ้อมเราก็ไม่มีห้องซ้อม ซ้อมไม่รู้ตั้งกี่ครั้งกว่าจะได้เพลงออกมา พอได้เพลงก็ต้องไปจ้างห้องอัด ทุกอย่างมีต้นทุน เราไม่ได้เป็นคนรวย ห้องอัดก็ไม่ได้ถูกเหมือนสมัยนี้ อัลบั้มแรกต้นทุนเกือบทั้งหมดรวมแล้วผมว่ามันมีหลักแสนที่เสียไป ผมเป็นคนจ่ายส่วนหลัก ๆ ต้นตอมันมาจากเรา เราเป็นศูนย์กลาง เราห้าว เรามีไฟอยากทำที่สุด จ่ายได้เราจ่าย อาศัยทำงานแล้วเอามาจ่าย แต่พอสมาชิกวงเริ่มอินเขาก็ช่วยจ่ายนะ
พอทำเพลงเสร็จออกมาผมคิดได้อย่างเดียวว่าถ้าอยากได้ยินเพลงเราทางวิทยุก็ต้องไปหาคลื่นเพลงก็เดินเข้าไปส่งเพลงเองทุกคลื่นเลย ไปแบบบ้าน ๆ ซื่อ ๆ เขาก็ไม่ได้เปิดทุกคลื่นหรอกอัลบั้มแรก มีเปิดบ้างบางคลื่น
American Black Music
เบียร์ : สำหรับอัลบั้มแรก ครึ่งในในอัลบั้มแบ่งเป็นแนวบลูส์ อีกครึ่งเป็นป็อป ตอนนั้นเหมือนเราเรียนรู้กลไกวงการเพลงในไทยว่าทำลึกมากไม่ได้ แล้วตอนนั้นก่อนหน้าผมมันมีไม่กี่เบอร์เองที่ทำดนตรีบลูส์แล้วเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง แค่ได้รับโล่ในวงการว่านี่รุ่นใหญ่นะทำเพลงบลูส์มา ก็เลยรู้ว่าเราต้องทำเพลงป๊อปด้วยนะ
ในยุคนั้นผมว่านักดนตรีไทยส่วนใหญ่ที่โตมาในยุค 80S หรือ 90S เติบโตในยุคของมากับดนตรีร็อก ผมก็ฟังร็อก ฟังเมทัลไปถึงหนักเลยนะ แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมหันมาสนใจดนตรีของคนผิวดำเริ่มจากวง Fourplay วงต่างประเทศที่รวมศิลปินเบอร์ใหญ่ทางสายแจ๊สมาร่วมเล่นดนตรีกัน ตอนนั้นฟังครั้งแรกเราไม่เข้าใจ แต่ก็รู้สึกว่ามันมีลีลาอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยได้ยิน จุดเปลี่ยนที่สองคือวันหนึ่งพี่ชายหยิบเทปของ Soul After Six อัลบั้มแรกขึ้นมาฟัง ครั้งแรกเจอแทร็กแรก รักแล้ว ก็เป็น Brass Section เลย เราฟังแล้วก็แบบโอ้โห สิ่งแรกที่เราเข้าใจในตอนนั้นคือดนตรีมันส์ได้โดยไม่ต้องมีเอฟเฟคกีต้าร์เลยก็ได้ เสียงดนตรีมันส์ ๆ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากเสียงกีต้าร์แตกเสมอไป วง Soul After Six เขามีความเป็นโซล ตอนนั้นเราก็แบบโซลคืออะไร ด้วยนิสัยส่วนตัว เราก็เริ่มศึกษาย้อนเข้าไปจนถึงรากเหง้าของดนตรีอเมริกันที่เราได้ยินอยู่มันก็มาจากบลูส์ แล้วมันก็แตกแขนงไปเรื่อย ๆ
จุดเปลี่ยนที่เสาไฟฟ้า
เบียร์ : หลังจากเสร็จอัลบั้มแรก เราก็ขึ้นโครงอัลบั้มที่สอง ทำมาสักพักแล้วก็สมาชิกเริ่มมีปัญหากัน เรื่องระบบกระบวนการการทำงาน ตอนนั้นเราเริ่มคิดต่างกัน แล้วตอนนั้นเพลง เสาไฟฟ้า ทำให้วงเริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มมีทัวร์ มีคอนเสิร์ต เราก็ไปทำตรงนั้นก่อน ทีนี้มันก็เลยกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ พอกลับจากทัวร์เรารู้สึกอยากทำเพลงให้มันต่อเนื่อง แต่คิดว่าสมาชิกวงเขาคงเหนื่อย ต้องมานั่งทำเพลงท่ามกลางแรงกดดันก็เถียงกัน ทะเลาะกัน มันก็แบ่งเป็นสองขั้ว ผมตัดสินใจยกวงให้เขา เขาบอกไม่เอา อยากให้หยุด ถ้าวงแตกคือหยุดไปเลย ผมก็เลยมานั่งคิดว่าถ้าให้แล้วไม่เอาผมไม่ทิ้งนะ ขอทำต่อ เพราะว่าชื่อวงผมก็คิด เพลงผมก็เป็นคนคิด ผมจะทำมันต่อ เขาสองคนก็เลยขอถอนตัวออกไป นั่นคือเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ผมต้องหาสมาชิกใหม่
หลังจากนั้นผมเจอ โย มือแซ็กโซโฟน เป็นรุ่นน้องสอนอยู่โรงเรียนเดียวกัน แต่ว่าไม่เจอกันมาพักนึงแล้วนะ ตอนนั้นผมไปเดินที่ถนนพระอาทิตย์แล้วเจอกันก็เลยชักชวน เพราะว่าเพลงเสาไฟฟ้ามันมีไลน์ Brass Section สมาชิกใหม่ก็เริ่มจากมีโยมาก่อน มีโยถึงมี เต้ย เป็นมือกลอง เพราะว่าเต้ยเป็นรุ่นน้องโยที่มหาวิทยาลัย แล้วก็มี ภัทร เป็นก๊วน ๆ ที่เล่นดนตรีกลางคืนด้วยกัน
อัลบั้มสองผมใช้เวลานานมาก ตอนนั้นมันวุ่นวายมากแต่เราก็ทำกันมาเรื่อย ๆ นะ หลายปีเลยกว่าที่จะตัดสินใจจบงานจนเป็นอัลบั้ม แนวเพลงก็บิดจากบลูส์มาเป็นโซล ส่วนหนึ่งมาจากเพลงเสาไฟฟ้าด้วยก็เลยทำเพลงโซลแบบ Brass Section นี่แหละ คอนเซ็ปต์แบบนั้นซึ่งเพลงช่วงหลังในอัลบั้มที่สองก็เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากผม โย เต้ย ภัทร ช่วยกันทำช่วยกันอัด
โย : เหตุผลที่เขาร่วมวงกับพี่เบียร์ คือแนวคิด แนวดนตรี การใช้คอร์ด สไตล์ และโทนเพลงของพี่เบียร์เป็นสิ่งที่ผมสนใจอยู่แล้ว เวลาเล่นดนตรีด้วยกันผมรู้สึกว่ามีอิสระมากกว่าเวลาที่เล่นกันคนอื่น เพราะบางทีคนอื่นเขาก็ไม่เข้าใจเรา
เต้ย : ส่วนผม ก่อนหน้านี้ผมใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้เข้าวงการดนตรี แล้วพี่โยเขาชวนให้มาลองเล่นด้วยกันดู ผมเองชอบเล่นกลองพวกจังหวะกัดเยอะ ๆ พอได้เล่นดนตรีด้วยกันก็เลยลองเล่นในแบบที่ตัวเองไม่เคยเล่น ใส่ทุกอย่างเต็มที่ พี่ ๆ เขาโอเค มีช่วยแนะนำในส่วนนั้นส่วนนี้ ก็เลยตกลงที่จะเข้าวงครับ ถ้าวันนั้นไม่ได้ลองมาเล่นด้วยกัน ตอนนี้ก็คงกลับไปเป็นครูเหงา ๆ อยู่ที่บ้าน
ภัทร : จริง ๆ ผมเริ่มมาจากเพื่อนมาชวน ตอนนั้นพี่เบียร์กำลังหามือเบสบลูส์ แล้วผมเป็นมือเบสที่เล่นแต่บลูส์ก็เลยตกลงไปก่อน ตอนนั้นมันแค่เล่นดนตรีกลางคืน ยังไม่ได้คุยเรื่องวง เล่นด้วยกันอยู่ไปเรื่อย ๆ พี่เบียร์เลยถามว่าลองดูไหม ผมก็ตอบตกลง ลองทำดู เหมือนเก็บประสบการณ์ตัวเองไปด้วย
เติบโตสู่ Y Gentleman
เบียร์ : ผมทำงานผมคิดว่าเราเป็นครีเอทีฟนะ เราพยายามจะหนีจากสิ่งที่เคยทำไปเรื่อย ๆ ทดลองไปเรื่อย เราไม่กลัวว่าสิ่งที่ทำมันจะเสีย งานต้องมีความแตกต่างจากที่ผ่านมา สิ่งที่ผมคิดในอัลบั้มที่สามคือการให้ความสำคัญกับคอรัส แล้วช่วงก่อนที่จะหาสมาชิกใหม่ เราไปได้รับอิทธิพลเรื่องคอรัสมา อย่างวง Coldplay เขาไปเล่นในรายการหนึ่ง เขาไม่เอาเครื่องดนตรีที่เล่นปกติไป แต่เลือกคอรัสไป 5 คนกับเปียโนตัวเดียว ผมรู้สึกว่าศิลปินตะวันตกเขาให้ความสำคัญกับคอรัสดีนะ เห็นแบบนั้นก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องหาคอรัสแล้ว
คืออัลบั้มแรกเราคอรัสเอง ทำเสียงไลน์ผู้หญิงเอง อัลบั้มที่สองมันก็มีน้อง ๆ มาช่วยบ้างแต่มันไม่ได้ตลอด แล้วเราก็เกรงใจ เรารู้สึกว่าอัลบั้มนี้ต้องจริงจังแล้ว ต้องหาสมาชิกมาร่วมวงด้วยเลย ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นผมเล่นดนตรีกลางคืนและได้มีโอกาสมาเล่นที่ร้านหลงเตียน ซึ่งทุกครั้งที่มาเล่นเราก็จะได้ยินเสียงร้องเพลงตาม ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าใคร พยายามฟังทุกครั้งที่มาเล่นที่นี่ พอฟังทุกวันจนรู้ว่าเป็นเสียงร้องของ คุณปุ๋ย หนึ่งในหุ้นส่วนของร้านนี้ ด้วยเนื้อเสียงของเขามันเป็นเสียงที่เราใฝ่หาอยู่ เป็นโทนที่ผมต้องการ ก็เลยชักชวนมาร่วมงานกัน
ปุ๋ย : ตามที่พี่เบียร์เล่าเลย เวลาที่พี่เบียร์มาเล่นดนตรีที่ร้าน เราก็จะนั่งฟังอยู่หลังแคชเชียร์ร้องเพลงตามไปด้วย พอเขามาชักชวนให้มาลองมาร้องคอรัสก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนุก มีไปศึกษาเพิ่มเติมว่าคอรัสจริง ๆ แล้วเป็นยังไง เขาร้องกันยังไงเพราะเราไม่มีพื้นฐานเรื่องนี้ ส่วน ลูกตาล เราเป็นเพื่อนกัน เขามักจะมาที่ร้านบ่อย ๆ เวลาพี่เบียร์ร้องเพลงพวกเราก็จะร้องคลอ ๆ ตามกันไป
ลูกตาล : จริง ๆ เรื่องงานเพลงสำหรับลูกตาลคือความสุขอยู่แล้ว ยิ่งได้ทำกับเพื่อนสนิทของเรา ได้ทำกับพี่ ๆ ที่เขาก็แบบมีความคิดหลายอย่างเหมือนเรา บางอย่างไม่เหมือนเรา ได้มาแชร์มุมมองกัน ได้มาตีความเป็นดนตรีกัน มันเป็นเรื่องของใจล้วน ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยทำงานเพลงมาก่อนแล้ว แต่เป็นงานที่เราไม่ได้คิดเอง ไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนั้นเองทั้งหมด แต่อันนี้เป็นการทำเพลงที่เราได้มาแชร์ไอเดีย แชร์มุมมอง ช่วยกันปรับ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้เกิดเป็นงานศิลปะที่มาจากไอเดียของเราเองมากขึ้น ได้ทำงานกับกลุ่มคนที่เราสบายใจด้วยมาก ๆ มันก็เลยรู้สึกสนุกมาก
รูปแบบการทำงานของ Y Gentleman
ลูกตาล : การทำงานของพวกเรา ส่วนใหญ่จะมาจากพี่เบียร์ก่อน เขาจะเป็นคนขึ้นโครงเพลง โดยเขาจะสังเกตสมาชิกในวงก่อน แล้วคอยหยิบจับวัตถุดิบที่เห็นเพื่อเอามาเขียนเป็นเพลงหรือเขียนทำนอง แล้วค่อยเอามาระดมสมองแชร์กัน อย่างเครื่องเป่าจะเป่ายังไง คอรัสอยากใส่ตรงไหน เบสอยากเล่นยังไง กลองตีอยากแบบไหน อันนี้ใส่แล้วยังไม่เหมาะ ปรับตรงนี้หน่อย ทำงานกันประมาณนี้ค่ะ
เบียร์ : การทำงานคือผมจะขึ้นโครงเพลงมาก่อน ส่วนเนื้อเพลงก็มาจากเรื่องของผมเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจจะมาจากเหตุการณ์สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาของสมาชิกหรือคนแวดล้อม คนแรกที่จะได้ฟังคือโยเป็นส่วนใหญ่ เราจะคุยกันถึงโทนเพลงว่าเป็นประมาณนี้นะ ถ้าโยโอเค ผมก็จะขึ้นโครงต่อ เหมือนทำให้มันใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมคิดก่อน พอมันขึ้นโครงหลักได้ เราก็จะเริ่มแยกส่วนการทำงาน แต่ละคนเขาจะมีหน้าที่อยู่แล้ว อย่างผมส่งทางเต้ย บอกเขาแค่ว่าขอแพทเทิร์นหลักประมาณนี้ ส่วนที่เหลือไปคิดมานะ ถ้าเพลงมีไลน์เครื่องเป่าผมก็จะส่งกลับไปทางโย ถ้าเพลงไม่มีก็ตัดไปเลย เรื่องเบสผมจะไกด์ไปก่อนแล้วค่อยมาคุยกับภัทร ปรึกษากันว่าทำยังไงดี เสนอไอเดียกัน ส่วนคอรัสเป็นภาคสุดท้าย มันต้องจบทุกอย่างก่อน ผมก็จะไกด์ไปบางส่วน คอรัสเราใช้วิธีการเจอหน้ากัน นั่งอยู่หน้าคอม ปล่อยให้ลองร้องกันไปก่อนแล้วค่อยมาเคาะกันว่าจะเอาโน้ตไหน จากนั้นก็ส่งมาสเตอร์กันว่าเป็นประมาณนี้นะ มีแก้ไขเพิ่มเติมไหม คือการที่มีสมาชิกหลายคนและมีการทำงานหลายภาคส่วน ถามว่าเราทะเลาะกันไหม ผมคิดว่าผมเป็นคนเปิดมาก ๆ ผมแทบไม่แก้ใครเลย น้อยมากไม่เกิน 5% มันเป็นการคุยกัน แชร์ไอเดียกันมากกว่า
คิดว่ารสนิยมมีผลต่อตัวศิลปิน หรือการสร้างงาน ของศิลปินมากน้อยแค่ไหน
ภัทร : ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ คือด้วยการทำงานของผม ผมรับโจทย์มาแล้วตีว่าโจทย์จะเอาอะไร อย่างตัวผมฟังเพลงได้ทุกแนวอยู่แล้ว รสนิยมมันเป็นเรื่องของแมททีเรียล ถ้าโจทย์ต้องการให้เป็นโซล ช่วงนั้นผมก็แค่ฟังเพลงโซลให้เยอะขึ้น ไม่ต้องเลือกเฉพาะแนวที่ตัวเองชอบที่สุด แค่เก็บรายละเอียดเพื่อทำให้เพลงเป็นโซลในรูปแบบของตัวผม ประมาณนั้นครับ
เต้ย : สำหรับผมมองว่า อย่างตอนเด็ก ๆ ผมฟังเพลงชายเมืองสิงห์กับตา ฟังเพลงคาราบาวกับพ่อ พอเราโตขึ้นเริ่มเลือกเพลงฟังได้ก็ฟังเพลงแนวที่ชอบ และในแต่ละปีความชอบคนเรามันเปลี่ยนไปอยู่แล้ว สำหรับศิลปินการทำงานมันขึ้นอยู่กับเรื่องของรสนิยมนะ แล้วมันมีทั้งรสนิยมของเรา รสนิยมของคนฟัง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหาจุดกึ่งกลางของมันไหม
ปุ๋ย : ปุ๋ยคิดว่าส่งผลนะคะ สมมุติเราชอบศิลปินคนนี้ ชอบการร้องสไตล์แบบนี้ มันก็จะติดมาในสำเนียงของเรา ความเป็นศิลปินที่เราชอบจะเจือปนอยู่ในงานของเราด้วย เหมือนอย่างตอนเริ่มร้องกับพี่เบียร์แรก ๆ เขาก็จะทักว่าปุ๋ยติดสำเนียงแบบนี้มานะ เราก็ต้องพยายามทำให้มันตัวเรา พยายามเอาสำเนียงเหล่านั้นออก
เบียร์ : ส่วนตัวผมมองว่ารสนิยมคือสิ่งที่เราคิดประมวลมาจากสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราได้ยิน ได้กลิ่น ได้สัมผัส ผมว่าถ้าคนปล่อยปะละเลยมันก็จะออกมาโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าใส่ใจมันหน่อยเราก็จะรู้ว่าจริง ๆ ทุกอย่าง สิ่งมีชีวิตมันเกิดมาจากการรับรู้พฤติกรรมของกันและกัน ฉะนั้นเพลง เรฟเฟอร์เรนซ์เพลงที่เราได้ยินได้ฟังมามันมีผลโดยตรงต่อตัวศิลปินมาก ๆ ข้อเสียคือถ้าเรารับรสนิยมนั้นมามาก ๆ จนเราแยกมันไม่ออกอย่างที่คุณปุ๋ยพูด มันก็จะติดจนเราจนเอาออกยากไปเลย มันเป็นเรื่องของการยึดติดของมนุษย์ มันมีผลต่อการทำงานนะ ถ้าเราเสพ เราทำแบบนั้นซ้ำ ถ้าเราไม่เบื่อ เราไม่ซีเรียส ทุกอย่างมันก็จบ แต่ถ้าเราเริ่มแคร์คนฟัง เขาเริ่มเบื่อ นี่แหละคือปัญหาของการทำงาน
คิดว่าการสังกัดภายใต้ค่ายเพลงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อ Y Gentleman หรือไม่
โย : ผมว่าการไม่มีค่ายมันมีอิสระในแง่ของการทำเพลงมากกว่า การทำงานกับค่ายเราอาจโดนจำกัดว่าต้องเป็นอย่างนี้ ซึ่งบางทีเราก็อยากทำเพลงในแบบที่เราอยากทำ
ปุ๋ย : ถ้าอยากปุ๋ยคนเดียว ด้วยความที่เป็นมือใหม่มาก ๆ โอกาสที่เราจะได้สัมผัสกับเรื่องของค่ายมันดูห่างไกลมาก ๆ แต่การที่เราเป็นศิลปินอิสระมันเปิดโอกาสให้เราได้ทดลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างค่ะ
ภัทร : ผมมองว่ามันมีข้อดีและข้อเสียคนละแบบ อย่างการมีค่ายข้อดีของมันก็คือการบรีฟงานที่มีกรอบเวลา แต่การเป็นศิลปินอิสระเราจะทำอะไรก็ได้ ทำอันนั้นที อันนู้นที มันเลยใช้เวลามากกว่าในการทำงาน ส่วนตัวผมชอบการเป็นศิลปินอิสระมากกว่า เพราะมันมีไอเดียที่แบบบางทีเสนอไปค่ายอาจจะไม่เอา ไม่เห็นด้วย
เต้ย : ผมมองว่ามันดีคนละแบบ อย่างการมีค่ายก็ดี ไม่มีก็ดี ข้อจำกัดมันแตกต่างคนละแบบ เรื่องนี้มันอยู่ที่คนทำงานว่าเราสะดวกแบบไหนมากกว่าครับ
ลูกตาล : จากประสบการณ์ที่เคยทำงานอยู่ในค่าย 7 ปี อยู่ในสัญญาก่อน 5 ปี ต่ออีก 2 ปี เรื่องค่ายคิดว่ามันแล้วแต่รูปแบบของศิลปินมากกว่า อย่างตอนนั้นตัวเราเหมือนขายความเป็นศิลปินอีกแบบนึงที่มีเรื่องของภาพ การเต้น มีนั่นนี่ แต่ในตอนนี้เรากำลังขายความเป็นศิลปินในฐานะผู้สร้างเพลง ซึ่งสมัยก่อนเขาก็คงลำบากกว่านี้เยอะ แต่ในยุคนี้มันก็มีช่องทางมากมายที่สามารถเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่แทนการมีค่ายได้ ถ้าเราไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะมาหารายได้ หาชื่อเสียงจากเรื่องนี้เพียงอย่างเดียว เราอยากที่จะสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง การที่ไม่มีค่ายทำให้เรามีอิสระได้เต็มที่ ได้มากกว่าเยอะเลย
เบียร์ : ข้อดีของการอยู่ค่ายคือการฝึกให้เรารู้จักการถูกควบคุม การถูกควบคุมคือการฝึกความอดทนของเรา เรารู้ว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรตามใจเราหรอก เราก็จะได้ประสบการณ์ตรงนั้น การทำงานกับค่ายคือการมองการตลาดขึ้นมาสำคัญแทบจะเท่ากับเพลง การตลาดส่งผลกับบริษัทซึ่งมันจะต้องมีตัวเงินเข้ามา แต่ศิลปินอิสระคงมองเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราไม่ได้เอาการตลาดมาสำคัญเท่ากับเพลง ผมมองว่าเราแข็งแรงกันคนละอย่าง ในมุมผมคนสร้างเพลง ผมว่าศิลปะถ้ามีกรอบมันจะทำให้เราไม่เจริญทางความคิดทันที คือศิลปะบนโลกมันมาจากการคิดต่างจากคนอื่น การคิดนอกกรอบ คิดบิดเบี้ยวไปหมด มันถึงเกิดศิลปะขึ้นมา เพลงบลูส์มันเกิดจากการที่คนแอฟริกันที่รู้โน้ตน้อย จำได้แค่เสียง 1,4,5 มันถึงเล่นออกมาเหน่อ ๆ Quarter Note มันคือความนอกกรอบทั้งหมด พอเราเอากรอบไปยึดปุ๊ปมันจะไม่มีทันทีกับโน้ตเหน่อ ๆ ครึ่งเสียงของครึ่งเสียง มันก็จะไม่เกิดสิ่งเหล่านี้มาให้เราเล่น ฉะนั้นผมถึงไปมองศิลปะว่าข้อดีของการไม่อยู่ค่ายคือเราอยากจะบ้าเท่าไหร่ก็ได้
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยอย่างเพลงเสาไฟฟ้า ตอนแรกมันเป็นเพลงร้องปกติ ท่อนเวิร์ส A แต่ตอนที่ทำมาสเตอร์เพลงนี้ ตอนนั้นมีมือคีย์บอร์ดอยู่ด้วย แค่เขาไปกดใส่เอฟเฟคผิดใส่ลงไปในไลน์ร้อง พอผมฟังผมบอกว่าเอา เห้ย ชอบว่ะ ซึ่งถ้าเราอยู่ค่ายคงไม่ได้แน่นอน เพราะขนาดสมาชิกวงกันเองเถียงผมหมดทุกคน มันไม่เหมาะ เพลงมันเพราะอยู่แล้ว แต่วันนั้นผมขออนุญาตใช้สิทธิ์ในฐานะคนเขียนเพลงขอใช้แบบนี้ เพลงก็เลยออกมาเป็นอย่างที่ได้ฟังกัน อันนี้มันเป็นข้อดีของการทำงานอิสระ คือถ้าทดลองทำแล้วไม่เวิร์กเราก็แค่ยอมรับผลของมัน ซึ่งจุดนี้ผมก็เข้าใจค่ายนะ จากที่เกริ่นไปเบื้องต้น กลไกของค่ายมันมีเรื่องของธุรกิจมาชนเข้ากับเพลง มันมีต้นทุนเขาเสีย มันมีผลกระทบหากผลงานไม่ประสบความสำเร็จในวงกว้าง ฉะนั้นเขาก็ต้องครุ่นคิดเรื่องนี้ให้มันมากขึ้นมาเสมอเพลง ผมไม่ได้ว่าว่าเขาคิดเรื่องเพลงต่ำกว่านะ แต่มันมีเรื่องของการตลาดเข้ามาเกี่ยวกับเพลง
ลูกตาล : คือค่ายเขามีต้นทุนค่ะ อย่างที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ เขาเลยต้องแสวงหาผลกำไรด้วย แต่ว่าในเมื่อจุดประสงค์ของเราคือการโชว์ศิลปะ โชว์สิ่งที่เราคิด ทัศนคติ ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบเสียดนตรี ถ้าเราคิดแบบนั้นมันก็ต้องทิ้งเรื่องของกำไรไปก่อน ถูกหรือเปล่าคะ กำไรมาทีหลังถ้าเราอยากถ่ายทอดในเรื่องเหล่านี้มากกว่า แน่นอนว่าการอยู่ในค่ายใครเขาจะมาแบกสิ่งที่ค่ายหวังเรื่องกำไรไม่ได้ คือมันข้อดีที่ช่วยเราได้หลายอย่าง แต่ในรูปแบบที่ Y Gentleman เป็น ลูกตาลมองว่าเราไม่จำเป็นต้องมีค่ายค่ะ ถ้ามีมันจะกลายเป็นทุกคนอึดอัด มันจะไม่ใช่ความสุขของเราอย่างเต็มที่
คิดว่าเอกลักษณ์ของ Y Gentleman คืออะไร
เบียร์ : ผมว่าผมมีปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอดเรื่องเอกลักษณ์ของวง ผมตั้งคำถามกับมันมาตลอดจนเข้าปีที่ 11 ว่าวงเรามีเอกลักษณ์อะไร เรามักจะถูกแวดล้อมผลักใส่เสมอในเรื่องนี้ แบบคนรอบตัว เพื่อน ๆ ทักประมาณว่ามึงไม่เหมือนศิลปินเลย แล้วศิลปินต้องทำยังไงวะ ผมก็ไปนั่งตีความหมายนะ ไปนั่งดูศิลปินคนอื่น ๆ แล้วตีโจทย์แบบง่าย ๆ ว่า อ๋อ ศิลปินต้องใส่เสื้อผ้ามากกว่าหนึ่งชิ้น ซึ่งตั้งแต่เป็น เยื้อง Gentleman วงเราถูกการทดลองมาหมดแล้วนะ เราเคยคิดว่าจะต้องให้คนเห็นเชิ้ตขาวสูทดำตลอด ทำภาพขาวดำตลอด ตั้งแต่ทีมเก่าแล้ว เล่นคอนเสิร์ตใส่สูทเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วผมมานั่งถามว่าเอกลักษณ์ของเราคืออะไร นั่งถามว่ามันจำเป็นไหม ส่วนตัวผมมองว่าถ้าสำหรับ เยื้อง Gentleman จนมาเปลี่ยนเป็น Y Gentleman เรื่องเอกลักษณ์อาจจะไม่จำเป็น แต่สำหรับบางวงจำเป็น คนจดจำไม่ได้จดจำเพราะว่าเราแต่งตัวอย่างไร คนจดจำ Y Gentleman เพราะว่าเสียงผม นี่พูดตรง ๆ เลย
ปุ๋ย : คือเอกลักษณ์มันเข้าไปอยู่ในเนื้องานแล้ว
เบียร์ : ใช่ ๆ คือที่ผ่านมาผมคิดถึงขนาดเราต้องไว้ทรงผมอะไรเลยนะ สุดท้ายพอมันทำมาเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าจำเป็นไม่แล้วสำหรับ Y Gentleman อันนี้มองในมุมมองของผมคนเดียวนะ เรื่องเอกลักษณ์ คนอาจจะมองว่าเราครึ่ง ๆ กลาง ๆ วงเราไม่มีเอกลักษณ์อะไร เราก็อาจจะอยากบอกได้ว่านี่มันคงเป็นเอกลักษณ์ของเราก็ได้นะ การที่เราทำเพลงเสียดสีหนัก ๆ แต่เราก็มีเพลงเพราะ ๆ เราทำเพลงเพราะได้ดีด้วย กลับกันเราทำเพลงเพราะได้ดี คนอาจจะมองว่าเลียนไปหรือเปล่า แต่เราเสียดสีได้ เราบู๊ได้ นี่แหละคือความเป็นเรา
เต้ย : ผมว่าเรื่องนี้มันอยู่ที่ใครจับจุดในเรื่องไหน คนนึงอาจมองว่านี่วงบลูส์ อีกคนอาจมองว่าเป็นอย่างอื่นก็ได้
Next Station
เบียร์ : ตอนนี้อัลบั้มที่สามเปลี่ยนชื่อวงจาก เยื้อง Gentleman มาเป็น Y Gentleman ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง เรามีสมาชิกเข้ามาใหม่เป็นคอรัสสองคน แล้วผมอยากให้ชื่อวงเราเขียนง่ายขึ้น คนจำง่ายขึ้น เรายังคงทำเพลงตลอด ตัวผมเรียนรู้จักความลำบากมาตลอด 10 ปี ในช่วงแรก ๆ การทำเพลงในสมัยนั้นมันใช้ต้นทุนสูง ตอนนี้อาจไม่เยอะเท่าตอนนั้นก็จริง แต่เราตัดสินใจแล้ว เราซื้ออุปกรณ์มาเพื่อลดต้นทุนทำเพลง เราปักธงไว้แล้วว่าจะทำเพลงต่อไป แม้ว่าบางทีมันจะท้อ หรือเจอเหตุการณ์ชีวิตอะไร สุดท้ายถ้ามีสติเราก็จะกลับมาทำเพลงต่อไป
สำหรับเพลงของ Y Gentleman เราไม่ได้เป็นวงที่มีเนื้อเพลงเปรียบเปรย ใช้กลอนสวย ๆ เนื้อเพลงเราใช้ภาษาทื่อ ๆ ว่ากันตรง ๆ เลยนะ แต่เป็นการว่ากันตรง ๆ ที่ต้องไปคิดลึก ๆ ประมวลผลให้เยอะ ๆ เรื่องแนวทางด้วยความที่ผมเป็นผมอย่างนี้ เราก็จะทดลองมันไปเรื่อย ๆ เราไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ผมว่าวงการศิลปะมันก็เป็น แบบนี้ ทดลองไปเรื่อย ๆ เราไม่รู้หรอกว่าภาพวาดของไมเคิลแองเจโลจะโด่งดังหลังจากเขาเสียชีวิต คาดเดาไม่ได้ ฉะนั้นศิลปะมันเป็นเรื่องไม่มีผิดถูก
ต่อจากนี้เราก็ยงคงทำเพลงต่อไปเรื่อย ๆ ทำจนกว่าจะไม่มีแรงทำ ไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะไปในทิศทางดนตรีแบบไหน แต่ก็คงไม่หนีจากนี้ไปมาก เราก็คง ไม่ข้ามสายกลับไปทำร็อก เรารู้ว่าพื้นที่ตรงนั้นเราไม่ได้เพียรทำมาอยู่แล้ว เราก็ทำในสิ่งที่เราเพียรทำมา หล่อหลอมเราอยู่ เพลงที่โทนประมาณนี้ เป็น American Black Music แต่จะเป็นโหมดไหนก็คงมีให้แตกแขนงกันไปอีกเยอะมาก เราอาจ จะทำแนวเพลงที่มันแบบฮิตที่ต่างประเทศแต่สำหรับคนไทยอาจยังไม่เคยฟังก็ได้ ส่วนช่องทางการติดตามก็เป็นไปตามโลก เรามีโซเชียล มีแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ให้คนได้ฟังเพลง ได้ติดตามกันครับ
สมาชิก Y Gentleman
- เบียร์ ปกรณ์ อุดมชัย (ร้องนำ, กีต้าร์ และเขียนเพลง)
- โย วรวิทย์ นพเกียรติ์ (แซ็กโซโฟน)
- ภัทร นรภัทร แก้วศรีจันทร์ (เบส)
- เต้ย ณัชชา มีเพียร (กลอง)
- ปุ๋ย อรพรรณ ลิ่มบุตร (ร้อง และคอรัส)
- ลูกตาล กรณ์รวรรณ อุทัยวรรณ์ (ร้อง และคอรัส)
Follow Her
Facebook : YGentleman
Youtube : เยื้อง Gentleman
Photo : Satchaphon Rungwichitsin
หมายเหตุ : เนื่องจากในวันสัมภาษณ์ทางคุณลูกตาลติดภารกิจส่วนตัวจึงได้มีการสัมภาษณ์ผ่านทางวิดีโอคอล เป็นเหตุให้รูปสมาชิกวงมีเพียงแค่เพียง 5 คนเท่านั้น