พม่าหลังยุคอาณานิคม เมื่อทหารมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน (1)

พม่าหลังยุคอาณานิคม เมื่อทหารมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน (1)

พม่าหลังยุคอาณานิคม เมื่อทหารมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน (1)

เดือนที่ผ่านมาเกิดการรัฐประหารขึ้นในพม่า หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าเมียนมาร์ ทำให้คณะทหารกลับเข้ามากุมอำนาจในรัฐบาลและคณะปกครองอีกครั้งหนึ่ง และแน่นอนว่าการขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งของรัฐบาลทหารย่อมนำมาซึ่งเสียงเรียกร้องและตื่นมาประท้วงของประชาชนชาวพม่าทุกหย่อมย่าน ในฐานะที่เขียนเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ ผมเลยขอวกมาเล่าเรื่องพม่าให้นักอ่านได้ลิ้มชิมรสประวัติศาสตร์ส่วนนี้กันสักหน่อย อย่างน้อยก็ถือว่า เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันดังคำขวัญที่ว่า ประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าใจอนาคตและมองเห็นปัจจุบัน แต่เมื่อคิดจะลงมือเขียนแล้วดูจากเนื้อหาแล้วน่าจะยาวเลยต้องขออนุญาตแบ่งออกเป็นสองตอน เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจอย่างแท้จริงนะครับ

ข้อดีของการเข้ายึดครองของชาติตะวันตกก็คือ การทำให้ชาวพม่ายอมรับเอาวัฒนธรรมและวิถีแบบตะวันตกมาด้วย โดยเฉพาะโอกาสการศึกษาที่อังกฤษเข้ามาตั้งมหาวิทยาลัย โดยใช้หลักสูตรแบบตะวันตก อีกทั้งชนชั้นกลางก็สามารถส่งลูกหลานไปเรียนต่อที่อังกฤษ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญญาชนรุ่นใหม่ขึ้นมามากมาย จากการปกครองของอังกฤษ ด้านการเมืองในพม่า มีหลายเรื่องที่สร้างความไม่พอใจกับประชาชนชาวพม่า ผนวกกับความรู้ของนักเรียนนักศึกษาที่เห็นการปกครองของยุโรปที่แตกต่างจากการปกครองของอังกฤษที่ใช้กับพม่า อีกทั้งการไม่เปิดโอกาสให้ชาวพม่าเข้ารับราชการนอกจากตำแหน่งเล็ก ๆ เท่านั้น การกีดกันนี้ยังส่งผลให้นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งหางานทำไม่ได้ เมื่อว่างงานจึงเริ่มรวมกลุ่มกันต่อต้านอังกฤษ ประกอบกับหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำชาวพม่าได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า แต่ในประเทศมีชาวอินเดียและอังกฤษที่เข้ามาหากิน และกอบโกยผลประโยชน์กลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด อีกทั้งบรรดานักศึกษาและกลุ่มต่อต้านได้เห็นการต่อสู้ของมหาตมะ คานธี ทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราชของตัวเอง อีกด้านหนึ่งยังได้รับการกระตุ้นจากบรรดานักการเมืองหัวรุนแรงของอินเดีย ที่ถูกอังกฤษจับตัวแล้วเนรเทศมาอยู่ในพม่า ทำให้กลุ่มต่อต้านเกิดความรู้สึกฮึกเหิมมากยิ่งขึ้น

ว่ากันว่าปฏิกิริยาของกลุ่มชาตินิยมในพม่าเริ่มขึ้นนับแต่อังกฤษนำระบบไดอาคี่ (Dyarchy) มาใช้ โดยควบคุมงานสำคัญเอาไว้หมด และแม้ว่าต่อมาจะปรับปรุงให้พม่ามีส่วนเข้าร่วมมากขึ้น และแยกออกจากอินเดีย ก็ยิ่งทำให้พม่าต้องประสบปัญหาต่าง ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการคอรัปชั่นของนักการเมืองชาวพม่าเอง อันส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา และเกิดช่องว่างระหว่างนักการเมืองกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ดูเหมือนว่ากลุ่มพระสงฆ์ จะเป็นกลุ่มชาตินิยมกลุ่มแรก ๆ ของพม่าที่เกิดขึ้นมาในแผ่นดินพม่า ทั้งนี้แท้จริงนั้น สังคมพม่ามีศาสนาพุทธเป็นแกนกลางแห่งความสำคัญในวิถีของการดำรงอยู่ เมื่ออังกฤษเข้าปกครองพม่า อังกฤษดูเหมือนจะละเลยและไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันสงฆ์ของพุทธศาสนาในประเทศพม่ามากนัก ดังนั้นจึงให้เสรีภาพด้านศาสนาอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันองค์การศาสนาก็ถูกละเลย และเกิดความปั่นป่วนขึ้น ความปั่นป่วนนี้สร้างความไม่พอใจต่อบรรดาพระสงฆ์ในพม่าอย่างมาก และอย่างที่รู้กันว่านอกเหนือจากสถาบันกษัตริย์แล้ว สงฆ์ถือว่าเป็นคนอีกกลุ่มเดียว ที่ประชาชนชาวพม่าให้ความเชื่อมั่นศรัทธา เมื่อประเทศไร้ซึ่งกษัตริย์ สถาบันสงฆ์จึงเป็นเพียงสถาบันเดียวที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นนับถือและศรัทธา

ว่ากันว่า ในระยะแรกของขบวนการชาตินิยมในพม่า พระสงฆ์จึงมีบทบาทในการเป็นผู้นำประชาชน หากแต่ก็เป็นไปเพียงในการประท้วงด้านวัฒนธรรม เช่น ชักชวนให้ชาวพม่าเคร่งครัดต่อพุทธศาสนาและประเพณีดั้งเดิม ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่ออังกฤษ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการประท้วงอีกหลายรูปแบบ ตั้งแต่การประท้วงเชิงวิพากษ์วิจารณ์เรียกร้องให้อังกฤษทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การอดอาหารประท้วง อย่างกรณีของพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ อู วิสาระ ได้อดอาหารประท้วงถึง 166 วันจนมรณภาพ เป็นต้น ต่อมาขบวนการชาตินิยมมีการประสานกันมากขึ้นทั้งพระและฆราวาส กระทั่งนำมาสู่การก่อตั้งสมาคมชาตินิยมกลุ่มแรกขึ้นในปี ค.ศ. 1906 โดยมีชื่อว่า Young Men Buddhist Association (YMBA) หรือสมาคมชาวพุทธหนุ่ม สมาคมชาวพุทธหนุ่มประสบความสำเร็จอย่างมาก ในกรณีการประท้วงห้ามสวมเกือก (No Footwear) เป็นการต่อต้านที่ฝรั่งสวมรองเท้าเข้าวัด เพราะคนพม่านั้นจะไม่สวมรองเท้าเข้าวัด ต้องถอดตั้งแต่บริเวณเข้าวัดทีเดียว ชาวพม่าถือว่าการกระทำของฝรั่งลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาและชาวพม่ามาก การประท้วงครั้งนี้ได้ผลอย่างยิ่ง กลายเป็นจุดร่วมของความรู้สึกชาตินิยมพม่า เมื่อค.ศ. 1918 ทำให้ชาวอังกฤษต้องยอมถอดเกือกเข้าวัด 

ในเวลาต่อมาปรากฏว่าเมื่อมีบรรดาปัญญาชนเข้าร่วมมากขึ้น สมาคมชาวพุทธหนุ่ม (YMBA) ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นองค์กรทางการเมือง โดยใช้ชื่อว่า General Council of Burmese Associations (GCBA) ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศและโดยปกติไม่ได้ยึดติดอยู่กับศาสนาใด ใน ค.ศ. 1920 นักศึกษามหาวิทยาลัยได้เรียกร้องให้มีการประท้วงนโยบายอังกฤษทั่วพม่า การประท้วงนี้ถือเป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นของการที่นักศึกษาเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของประเทศ ในการเคลื่อนไหวอย่างมีสีสันขององค์กรทางการเมืองของชาวพม่านี้ ช่วงเวลาเดียวกัน พระสงฆ์รูปหนึ่งนามว่า อู อุตมะ ได้กลายเป็นผู้นำพระสงฆ์รุ่นใหม่ ที่พยายามตีความพุทธศาสนาแบบใหม่ คือถือว่าพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของพม่า กล่าวคือการที่คนจะตัดกิเลสได้นั้นต้องมีอิสระเสียก่อน อู อุตมะตีความว่า สังคมนิยมนั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกับ โลกนิพพานของพระพุทธศาสนา และการรณรงค์ต่อต้านอังกฤษ จึงเริ่มนำความคิดและประเพณีทางพุทธศาสนาในการ ‘คว่ำบาตร’ มาใช้กับอังกฤษ ว่ากันว่า สถานการณ์นอกประเทศก็มีส่วนทำให้ขบวนการชาตินิยมพม่าเข้มแข็งขึ้น นั่นคือ เมื่อญี่ปุ่นรบชนะรัสเซีย ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจ และกลายเป็นแรงบันดาลใจของชาวเอเชียในการเอาชนะฝรั่ง และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คนพม่าได้เห็นความแตกแยกกันในหมู่ฝรั่ง อีกทั้งคนพม่าที่มีการศึกษาสนใจต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอินเดีย เนื่องจากอังกฤษต้องการความช่วยเหลือจากอาณานิคมอินเดียในการทำสงคราม จึงเอาใจอินเดียด้วยการให้อินเดียปกครองตนเอง ข่าวนี้ได้แพร่ไปในพม่าและเกิดการประท้วงอย่างแพร่หลาย รวมทั้งการก่อตัวของ GCBA ข้างต้น ที่เน้นการปฏิบัติการทางการเมืองโดยตรง ไม่จำกัดเฉพาะคนหนุ่มที่มีการศึกษาแบบตะวันตกเท่านั้น 

ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1930 ได้เกิดกบฏของซายา ซานขึ้น โดยได้แรงกระตุ้นมาจากผลของลัทธิอาณานิคมและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และจากแรงบันดาลใจทางความเชื่อตามเรื่องปรัมปราของพุทธศาสนา การกบฏครั้งนี้อาจมีส่วนในการจุดประกายให้กับพวกนักศึกษาซึ่งต่อมามีการจัดตั้งสมาคมเราชาวพม่า (Dobhama Asiayone หรือ We Burman Society [Our Burma]) อันเป็นจุดเริ่มต้นของผู้นำพม่าที่เรียกร้องเอกราชที่สำคัญ ๆ เช่น อู อองซาน และอูนุ พวกนักศึกษาเริ่มใช้คำว่า “ตะขิ่น” (Thakin) เรียกกันเอง กบฏของซายา ซาน นี้มีลักษณะของการลุกฮือของชาวนา ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ เป็นชาวไร่ชาวนา โดยได้อิทธิพลจากพุทธศาสนาในรูปแบบขบวนการพระศรีอาริย์คล้ายกับขบถผู้มีบุญของไทย โดยเป็นไปอย่างกว้างขวางและรุนแรงมากจากพม่าตอนล่างถึงตอนบน และเข้าไปถึงรัฐฉานด้วย อังกฤษใช้ทหารและอาวุธทันสมัยปราบอยู่ 2 ปี จึงราบคาบ ชาวพม่าในชนบทคือพวกชาวนาได้ตกอยู่ในสภาพแร้นแค้นถูกเอารัดเอาเปรียบ มีหนี้สินมาก ความไม่พอใจต่อสภาพชีวิตของตนได้ปะทุอย่างรุนแรงในกรณีกบฏซายา ซาน กลุ่ม ตะขิ่น ถูกตั้งขึ้นมาในปลาย ค.ศ. 1930 โดยบรรดานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งคำว่า “ตะขิ่น” นี้มีความหมายว่า นาย ซึ่งอังกฤษเคยให้ชาวพม่าเรียกตนว่า ตะขิ่น ดังนั้นจึงกำหนดให้ชาวพม่าใช้คำว่า ตะขิ่น นำหน้าชื่อเพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวพม่ามีความเท่าเทียมกันกับคนอังกฤษ ผู้นำของกลุ่มที่ตั้งขึ้นมานี้ที่สำคัญมี 2 คนคือ อูนุ และอองซาน

กลุ่มหรือพวกตะขิ่นเริ่มทำการชักชวนให้ชาวพม่าเข้าร่วมในการสนับสนุนบทบาททางการเมืองของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ทำให้นักศึกษาได้รับความนิยมจากประชาชน ในฐานะที่เป็นนักชาตินิยม พวกนี้ไม่ต้องการเป็นนักการเมืองและข้าราชการ เพราะเวลานั้นประชาชนมองว่าสองพวกอาชีพนี้เป็นเครื่องมือของอังกฤษ อีกทั้งพวก ตะขิ่นนี้เป็นนักศึกษาที่มีความสนใจในแนวคิดของลัทธิมาร์ค ในแง่การนำมาใช้ให้เกิดความนิยมในคนหมู่มาก ทั้งนี้ก็เพื่อขับไล่คนอังกฤษและอินเดียให้ออกไป แต่ไม่สนใจในเรื่องคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง เพราะพวกเขามองว่าศาสนายังอยู่คู่กับชาวพม่า แต่ก็ไม่ต้องการให้พระเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย ปรากฏว่าใน ค.ศ.1936 พรรคตะขิ่น ได้รับเลือกให้เข้าไปนั่งในสภาขององค์การนักศึกษาทุกที่นั่ง โดยมีอูนุเป็นนายกองค์การนักศึกษาและมีอองซานเป็นบรรณาธิการนักศึกษา และได้ออกวารสารโจมตีผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผลของการดำเนินการนั้น ทำให้ทั้ง 2 คนถูกพักการเรียน แล้วนักศึกษาก็ลุกขึ้นประท้วง ดร.บามอ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นต้องลงมาสอบสวนแต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของนักศึกษาก่อให้เกิดการประท้วงบานปลายต่อไปต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับนักศึกษา เลยเถิดถึงเป็นอุบัติเหตุและมีนักศึกษาเสียชีวิตและบาดเจ็บ การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับนักศึกษาไม่เป็นผลเหตุการณ์นี้บานปลายจนถึง ค.ศ. 1939 รัฐบาลต้องหาทางออกโดยการออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยใหม่ และยกเลิกการไล่อูนุออก ทำให้พวกตะขิ่นมีอิทธิพลและความนิยมเพิ่มมากขึ้น คราวนี้ได้เข้าไปยุยงและได้แนวร่วมจากพวกกรรมกร ยุยงให้มีการนัดหยุดงานประท้วงค่าจ้างแรงงาน อีกทั้งตะขิ่น ยังได้เข้าไปจัดตั้งองค์กรชาวนาและดึงชาวนาเข้ามาอบรมทางการเมือง

นอกจากกลุ่มนี้แล้ว ยังมีกลุ่มพระอีกกลุ่มหนึ่ง นำโดยอูซอ ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ภาวะความขัดแย้งระหว่างอังกฤษ รัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาตินิยมดูเหมือนจะบานปลายออกไปเรื่อย ๆ กระนั้นก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาเสียก่อน ในแผนการของญี่ปุ่นที่ต้องการสร้างวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพานั้น เป้าหมายที่สำคัญคือต้องยึดจีนให้ได้ทั้งหมด โดยญี่ปุ่นหวังจะใช้ตังเกี๋ยเป็นจุดเริ่มต้นของการรุกรานเข้าสู่จีนตอนใต้ ซึ่งในเวลาต่อมาญี่ปุ่นได้เข้าไปจัดตั้งฐานทัพขึ้นในตังเกี๋ยของเวียดนาม กระนั้นในพม่ามีเส้นทางหนึ่งที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรยังสามารถใช้ในการส่งเสบียงให้แก่จีนที่กำลังอ่อนแรงอยู่ นั่นคือเส้นทางถนนสายสำคัญในพม่าที่ชื่อ Burma Road ซึ่งอังกฤษเจ้าอาณานิคมของพม่าได้สร้างขึ้นในช่วง ค.ศ.1937-1939 ทางสายนี้เปรียบเสมือนประตูหลังบ้านของจีน และจะกลายมาเป็นทางเข้าออกอีกทางหนึ่งหากว่าจีนถูกปิดล้อมทางชายฝั่ง ซึ่งเส้นทางนี้มีความยาว 700 ไมล์ (1,100 กิโลเมตร) ต้องข้ามภูเขาและป่าทึบเริ่มจากเมือง Lashio ในพม่าไปจนถึงเมืองคุนหมิงของจีน ญี่ปุ่นกำหนดว่าจะต้องใช้ความพยายามทุกอย่างที่จะต้องตัดเส้นทางช่วยเหลือจีน โดยเฉพาะจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งแนวทางหนึ่งก็คือต้องส่งเสริมและเร่งให้เอกราชแก่พม่า ดังนั้นญี่ปุ่นจึงเริ่มส่งคนเข้ามาในพม่าโดยมาเป็นสายลับและทำการติดต่อกับบรรดาผู้นำชาตินิยมพม่าที่สำคัญ ๆ โดยมีข้อเสนอว่าจะช่วยให้พม่าได้เอกราชจากอังกฤษ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1941 กองบัญชาการทหารสูงสุดในโตเกียว ได้ก่อตั้งองค์การสืบราชการลับมินามิขึ้น โดยมีกองกำลัง 16 กองทัพ ทั้งทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน รวมไปถึงบรรดานักชาตินิยมพม่า พร้อมกันนั้นได้นำพวกตะขิ่น จำนวน 30 คน ไปฝึกอาวุธที่เกาะไหหลำเพื่อก่อตั้งกองทัพ B I A (Burma Independence Army) ซึ่งมีบุคคลชั้นนำของตะขิ่นหลายคนเข้าร่วม อาทิ อองซาน เนวิน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้เองได้ก่อตั้งกองทัพพม่าอิสระขึ้นมาเพื่อขับไล่อังกฤษ ในเวลาต่อมาก็ให้คนเหล่านี้ขนอาวุธเข้าสู่พม่าและฝึกเยาวชนพม่าในค่ายทหารที่ตั้งขึ้นในประเทศไทยใกล้พรมแดนพม่า ครั้นเมื่อสงครามแปซิฟิก เริ่มต้นขึ้น ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1941 กองทัพกู้ชาติพม่าที่ประกอบด้วยชาวญี่ปุ่น 73 คนและชาวพม่าชั้นนำอีก 30 คน รวมถึงเยาวชนพม่าอีก 200 คน มีฐานปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ก็ได้ออกจากกรุงเทพฯเข้าไปยังพม่า โดยกองทัพกู้ชาติได้ช่วยเหลือญี่ปุ่นอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง เช่นออกกฎหมายและคำสั่งขึ้นมาใช้ในพื้นที่ที่ถูกยึดครอง เกณฑ์แรงงาน และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากชาวพม่า รวบรวมยุทธปัจจัยที่จำเป็นต่าง ๆ ให้แก่กองทัพญี่ปุ่น ทั้งยังแทรกซึมเข้าไปในย่างกุ้ง เพื่อสร้างความปั่นป่วนแก่กองทัพอังกฤษ เหตุที่พวกขบวนการชาตินิยมพม่าช่วยเหลืออย่างเต็มที่นั้นก็เพราะสัญญาที่ญี่ปุ่นได้เคยกล่าวเอาไว้นั่นเอง สุดท้ายในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นก็สามารถยึดเมืองย่างกุ้ง และ Burma Road ได้สำเร็จ

วันที่ 15 มีนาคม ปีเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นก็จัดตั้งการบริหารกองทัพพม่าขึ้นในเมืองย่างกุ้ง และนำนายทหารชาวญี่ปุ่น ประชาชนญี่ปุ่น ส่งเข้ามาในพม่า พบว่าเมื่อถึงเดือนกรกฎาคมของปีนั้นก็มีชาวญี่ปุ่นอยู่ในพม่าถึง 800 คนที่ทำงานในองค์การต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในพม่า การดำเนินการของญี่ปุ่นเริ่มสร้างความผิดหวังแก่บรรดาผู้นำชาตินิยม ทั้งนี้เพราะยังไม่ปรากฏวี่แววว่าญี่ปุ่นจะให้เอกราชแก่พม่าดังที่กล่าวเอาไว้ ญี่ปุ่นเข้าปกครองพม่า กลายเป็นความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งทั้งนี้
เพราะเอาเข้าจริง มันไม่มีความแตกต่างใดกับที่ถูกอังกฤษปกครอง อีกทั้งพม่ายังได้รับความเสียหายมากที่สุดด้วย เมืองต่าง ๆ ถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศของญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งบ่อน้ำมันพม่า เครื่องอุปกรณ์ในการทำเหมือง และการขนส่งทางน้ำก็ถูกทำลายย่อยยับโดยกองทัพอังกฤษก่อนที่พวกเขาจะถอยออกไป เส้นทางรถไฟสายต่าง ๆ ใช้การไม่ได้ เพราะการโจมตีของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่สำคัญญี่ปุ่นยังเป็นรายสำคัญที่เข้าทำลาย และปล้นสะดมเครื่องยนต์กลไก เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และทำให้พม่าสูญเสียตลาดการค้าต่างประเทศทั้งหมดไป

เมษายน ค.ศ.1942 ญี่ปุ่นก็จัดตั้งรัฐบาลพม่าขึ้นปกครองประเทศ เรียกว่า รัฐบาลบาโฮ (Burma BahoGoverment) โดยมีหัวหน้ารัฐบาลคือ ตะขิ่นตันโอ๊ค โดยมีงานสำคัญก็คือช่วยเหลือญี่ปุ่นออกกฎหมาย เพื่อเป็นคำสั่งในเขตยึดครอง แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นก็ออกประกาศยุบรัฐบาลบาโฮเสีย พร้อมทั้งปลดประจำการกองทัพกู้ชาติพม่าเสียด้วย แล้วจัดตั้งรัฐบาลกลางขึ้นปกครองประเทศพม่า โดยมีหัวหน้ารัฐบาลคือ ดร.บามอ โดยเหตุที่ยุบรัฐบาลเก่านั้น ก็เพราะไม่มีคำสั่งหรือกฎหมายใดที่จะออกต่อไปแล้ว และประการที่สำคัญคือ ญี่ปุ่นต้องการยืดเวลาการให้เอกราชแก่พม่าออกไป โดยเริ่มดำเนินแผนขึ้นต้นด้วยการจัดตั้งรัฐบาลหุ่น ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการปกครอง

การยุบกองทัพกู้ชาติพม่าในวันที่ 10 มิถุนายนนั้น ญี่ปุ่นวางแผนเอาไว้ว่าจะจัดตั้งเป็นกองทัพใหม่ขึ้น โดยจะมีอองซาน เป็นผู้บัญชาการอยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1942  แผนการของญี่ปุ่นก็เปลี่ยนไปอีก โดยประกาศว่าจะให้เอกราชแก่พม่าอีก ทั้งนี้เพราะในเวลานั้น กองทัพอังกฤษในอินเดียได้จัดส่งกองกำลังทหารอินเดียที่ 14 เข้าทางอาระกันเพื่อเข้าตีพม่า โดยมีเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าสมทบ ญี่ปุ่นต้องประสบกับความปราชัยอย่างหนักในแถบแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ดังนั้นการเปลี่ยนท่าทีอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่นในครั้งนั้นก็เพราะต้องการความช่วยเหลือจากชาวพม่านั่นเอง 

วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1943 พม่าก็ได้เอกราชจากการยึดครองของญี่ปุ่นโดย ดร.บามอ ได้ประกาศเอกราชของพม่า แล้วเข้าดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ เรียกว่า อธิบดี โดยได้รับการรับรองจากกลุ่มอักษะ ซึ่งรวมทั้งเยอรมัน ญี่ปุ่น ไทย แมนจูกัว และจีน นับเป็นอาณานิคมตะวันตกแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับเอกราช แต่เอกราชนั้นก็ไม่ใช่เอกราชที่อิสระแท้จริง ทั้งนี้เพราะยังอยู่ใต้การควบคุมของกองทัพญี่ปุ่น ควบคุมนโยบายสำคัญ ๆ อยู่ ซึ่งญี่ปุ่นก็ยังคงใช้พม่าในการปฏิบัติการต่อไป อองซาน ได้จัดตั้งกองทัพพม่าแห่งชาติขึ้นมา B I A (Burma Independence Army) เมื่อญี่ปุ่นเริ่มแสดงออกว่าต้องการผลประโยชน์และปัจจัยทางเศรษฐกิจจากพม่าเพื่อเป็นทุนในการขยายอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้นำ B I A ต้องหันไปหากลุ่มชาตินิยมต่าง ๆ แล้วร่วมกันก่อตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมาในนามของ A F P F L (Anti Fascist People’s Freedom League) โดยมีจุดประสงค์เพื่อขับไล่ ญี่ปุ่นและต่อสู้เพื่อเอกราช ญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่า ขณะนั้นทางอังกฤษก็ได้ให้ข้าหลวง ดอร์แมน สมิตต์กลับไปคัดเลือกข้าราชการพม่าที่ฝักใฝ่อังกฤษกลับมาจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่เมืองสิมลา พร้อมกับให้สัญญากับชาวพม่าว่าจะฟื้นฟูพม่าหลังสงครามสิ้นสุดลงอีกทั้งยังสัญญาว่าจะให้สิทธิในการปกครองตนเองมากขึ้นด้วย

แต่ปรากฏว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อังกฤษก็กลับมาปกครองพม่าดังเดิม อีกทั้งก็ยังพยายามรื้อฟื้นอำนาจของอังกฤษ โดยพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจของพม่า แต่ก็ไม่เป็นผลมากนักเพราะพม่าเสียหายจากสงครามมาอย่างหนักอีกทั้งอังกฤษก็ยังนำระบอบการปกครองแบบ Dyarchy กลับมาใช้ โดยให้ข้าหลวงอังกฤษเข้ามาปกครองโดยตรง A F P F L ไม่อาจนิ่งเฉยอยู่ได้ ออกมาต่อต้านการกลับมาของอังกฤษกดดันจนอังกฤษต้องเตรียมการที่จะให้เอกราชแก่พม่า กระนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะกะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ ซึ่งไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า และอังกฤษได้ให้การรับรองสิทธิของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ จนในที่สุด รัฐบาลอังกฤษภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีเคลมอนท์แอตลี (Clement Atlee) ตกลงจะมอบเอกราชให้พม่า ได้มีการลงนามให้พม่าเป็นอิสรภาพ เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1946 ภายใต้เงื่อนไขว่า, ในระยะเวลา 1 ปี พม่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อให้ได้ผู้แทนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ เดือนเมษายน ค.ศ.1947 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น โดยได้รวมเอาชนกลุ่มต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ชาวพม่าเท่านั้นแต่ยังมีชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย ซึ่ง A F P F Lชนะการเลือกตั้งและมีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อวางรากฐานของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แต่ปรากฏว่าขณะมีการประชุม อองซานและคณะรัฐมนตรีจำนวน 6 คนถูกลอบสังหาร โดยอูซอ ถูกจับได้ว่าเป็นคนวางแผน จึงถูกตัดสินประหารชีวิต อูนุ จึงก้าวเข้ามารับหน้าที่แทนอองซาน สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เปิดประชุมใหม่ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1947 มีข้อตกลงที่จะให้พม่ามี 2 สภา คือสภาล่าง โดยเลือกจากประชาชนจากทุกดินแดน และสภาบนที่จะเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยหวังว่าชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ จะพึงพอใจ อังกฤษตกลงถอนตัวออกจากพม่า ทำให้พม่าสามารถประกาศเอกราชได้ในวันที่ 4 มกราคมค.ศ. 1948โดยมีอูนุ เป็นประธานาธิบดีคนแรก และมีเจ้าฉวีธาตุเป็นประธานาธิบดี อูนุปกครองพม่าอย่างยาวนานถึง 14 ปี ภายใต้แรงกดดันจากหลากหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจและแรงบีบคั้นจากพวกพรรคคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้เกิดความแตกแยกในกลุ่ม A F P F L กระทั่งมีการบีบคั้นให้เขาต้องลาออก แล้วมีการเชิญนายพลเนวิน นายทหารที่มากบารมีในเวลานั้นเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี แทนในค.ศ. 1958 นายพลเนวินขึ้นมาบริหารประเทศก็ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ของประเทศ และพยายามรวบรวมพวก A F P F L กันขึ้นมาใหม่ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในค.ศ. 1959 ปรากฏว่าพรรคของอูนุได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง อูนุกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่รัฐบาลของอูนุก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ในบ้านเมืองได้ ไม่ว่าปัญหาการกบฏของชนกลุ่มน้อย และความแตกแยกในคณะรัฐบาล

นายพลเนวินและคณะทหารจึงก่อการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1962 ประกาศยุบสภาสูงและสภาล่าง พร้อมยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วจัดตั้งสภาปฏิวัติขึ้นมา โดยนายพลเนวินดำรงตำแหน่งประธานสภาปฏิวัติ รัฐบาลทหารของเนวินพยายามแก้ไขปัญหาของประเทศ มีการเลือกเอาระบอบสังคมนิยมเข้ามาใช้ โดยการโอนกิจการด้านอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจต่าง ๆ มาเป็นของรัฐบาล ยกเลิกการค้าของชาวจีนและชาวอินเดีย ต่อต้านการลงทุนของต่างชาติ และไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ และจำกัดสิทธิต่าง ๆ อีกมากมาย หลังการปฏิวัติอูนุหลบหนีออกนอกประเทศ แล้วได้หลบเข้ามาอยู่ในเมืองไทยพร้อมประกาศไม่ยอมรับรัฐบาลของนายพลเนวิน การเข้ามาอยู่ในเมืองไทยของอูนุ สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร นั้นทำให้สัมพันธภาพระหว่างไทยกับพม่าตึงเครียด รัฐบาลไทยจึงต้องขอร้องให้อูนุเดินทางออกนอกประเทศ

อูนุได้ท้าทายนายพลเนวินว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่เขาจะได้กลับไปเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อมั่นในฐานเสียงสนับสนุนจากประชาชนของเขา ดังนั้นในค.ศ. 1972 นายพลเนวินจึงลาออก แล้วให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างเสร็จ
ใน ค.ศ. 1973 และมีการเลือกตั้งในค.ศ. 1974 ผลคือ นายพลเนวิน ได้รับการเลือกตั้งและขึ้นเป็นประธานาธิบดีของพม่า แม้เนวินจะชนะการเลือกตั้งมาก็จริง แต่ก็มีความไม่พอใจจากประชาชนและนักศึกษาในกรณีการปกครองของเขาที่ใช้วิธีแบบเผด็จการ ทำให้เกิดการต่อต้านและลุกขึ้นมาประท้วง ซึ่งเนวินก็ตอบโต้โดยการใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง มีการจับแกนนำจำคุก ทำให้การต่อต้านสงบลงไปบ้าง จากนั้นนายพลเนวินก็ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นคือ Burma Socialist Program Party และได้ครองอำนาจการเมืองเรื่อยมาโดยไม่มีฝ่ายค้าน

ติดตามต่อได้ใน Part 2 ครับ 

 

พม่าหลังยุคอาณานิคม เมื่อทหารมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน (1)