5 ที่มาของความเชื่อทางไสยศาสตร์ ลางดี-ลางร้าย

5 ที่มาของความเชื่อทางไสยศาสตร์ ลางดี-ลางร้าย

เรื่องของโชคลาง ไม่ว่าจะเป็นความโชคดีโชคดีหรือโชคร้ายก็ตาม ผู้อ่านบางท่านก็จะมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของ "โชค" อยู่เสมอ เช่นเวลาคุณจะไปสอบ จะไปสัมภาษณ์งานคุณก็อมพระ ไหว้สิ่งศักสิทธิ์ก่อนออกจากบ้าน ใส่เสื้อชุดเก่งโดยเชื่อว่ามันจะช่วยให้เราได้งาน หรือคุณไม่ออกจากบ้านในศุกร์ที่ 13 เพราะถือว่าโชคร้าย, จิ้งจกทักก่อนออกจากบ้านก็คิดว่าอาจโชคไม่ดี ฯลฯ วันนี้เราขอนำเสนอความเชื่อยอดฮิต 5 เรื่องจากทั่วโลกมาให้อ่านกัน จุดเริ่มต้นที่มาของความเชื่อและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถเข้าใจเรื่องพวกนี้ในอีกมุมมองได้ครับ

แมวดำ (Black Cats) 

​​​​​​

ลางร้ายและความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำนี้มีเยอะมากทั้งยุโรปและเอเชียเรา ในประเทศแถบเอเชียนี้มีความเชื่อที่ว่า ใครเห็นแมวดำที่ไหนจะต้องมีคนตายที่นั้น, ในประเทศจีนถ้าแมวดำกระโดดข้ามศพ ศพจะคืนชีพ, ในประเทศไทยเชื่อว่าถ้าแมวดำโดนศพ ศพจะมีมลทิน เป็นลางไม่ดี ซึ่งวิธีแก้ของแขกมาลายู ต้องเอาตะไกรหนีบมาวางบนอกศพ เผื่อว่าแมวกล้ำกรายเข้ามาใกล้ศพหรือถูกศพ เหล็กตะไกรจะเป็นเครื่องบังคับไม่ให้ศพลุกขึ้นมากลายเป็นผีร้าย 

ที่มาของความเชื่อ : ความเชื่อเกี่ยวกับแมวดำนี้ไม่สามารถระบุให้แน่ชัดได้ว่ามันมาจากไหน ทั้ง ๆ ที่ในยุคอียิปต์โบราณ แมวนั้นถือเป็นสัตว์เลี้ยงของเทพเจ้า ถึงขั้นที่ว่าแมวทุกตัวในสมัยนั้น(รวมถึงแมวดำด้วย)จะได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก มีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ใครทำร้ายหรือฆ่าแมว หากแมวในครอบครัวตายจะต้องจัดพิธีศพอย่างหรูหรา ใช้ผ้าลินินมาห่อศพเอาไว้เหมือนมัมมี่แล้วเก็บในโลงที่ทำจากโลหะมีค่า เช่น บรอนซ์ หรือทำด้วยไม้ 

สันนิษฐานกันว่า ความหวาดกลัวแมวดำเริ่มขึ้นที่ยุโรปในยุคกลาง หรือในยุคล่าแม่มดนั้นแหละ ซึ่งช่วงนั้น ประชากรแมวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วราวและคนเลี้ยงแมวส่วนใหญ่ก็เป็นหญิงชราที่ถูกทอดทิ้ง ที่ดูแล้วไม่ค่อยเป็นมิตร หน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ สกปรก น่ากลัว ประกอบกับแมวเป็นสัตว์ลึกลับ โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อทั้ง 2 สิ่งมาอยู่รวมกันจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา(ในยุคสมัยนั้น)ที่คนพูดกันว่า "แมวดำเป็นสัตว์เลี้ยงของแม่มด" จึงเกิดเป็นความกลัวขึ้น ในแต่ละเดือนมีแมวดำนับพัน ๆ ตัวถูกเผา รวมไปถึงหญิงชราผู้เป็นเจ้าของแมวด้วย และนอกจากนั้นยังผสมกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์มนต์ดำและนิทานพื้นบ้านที่เล่าว่า "ในคืนเดือนมืดคืนหนึ่ง 2 พ่อลูกเห็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เดินผ่านหน้าบ้านไป ด้วยความกลัวพวกเขาจึงขว้างก้อนหินออกไป ปรากฎว่ามันเป็นแมวดำ! มันเดินขากะเผลกไปบ้านที่หญิงชราอาศัยอยู่ วันรุ่งขึ้น พ่อลูกคู่นี้ก็เห็นหญิงชราคนนี้ หน้าเป็นแผล แขนเจ็บ และเดินขากะเผลก ตั้งแต่วันนั้นมา ชาวเมืองก็เชื่อกันว่าแมวดำคือแม่มดแปลงร่างมา" 

- Groundhog Day (การพยากรณ์อากาศของตัว Groundhog )

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของแต่ทุก ๆ ปี ที่ รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา มีประเพณีของชาวอเมริกันที่อยู่ตามชนบท ผู้ศรัทธาความเชื่อในการพยากรณ์อากาศ ของตัว Groundhog (เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รูปร่างเหมือนตุ่น) ซึ่งเปรียบเหมือนสัญลักษณ์การทำนายสภาพอากาศ ว่าฤดูใบไม้ผลิจะมาช้าหรือเร็วในปีนั้น ๆ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าหากพวกมันออกจากโพรงที่มันอาศัยและจำศีลในฤดูหนาว แล้วมันไม่มองเห็นเงาของตนเองแสดงว่าอากาศหนาวยังคงดำเนินต่อไป แต่ถ้าหากว่ามันเห็นเงาของตนเอง หมายถึงการสิ้นสุดการจำศีลและเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ความเชื่อนี้มันอาจไร้สาระหรือไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ทุกปี เทศกาล " Groundhog Day " ก็เป็นความคึกคักของชาวเมืองแห่งนี้มาก มีการจัดกิจกรรม และงานเฉลิมฉลองตลอดวันตลอดคืน

ที่มาของความเชื่อ : เรื่องนี้สามารถอธิบายตามวิทยาศาสตร์ได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วตัว Groundhog เป็นสัตว์ที่คล้าย ๆ หมี ที่โดยปกติมันจะตื่นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ โดยเจ้าตัว Groundhog ก็เช่นเดียวกันกับหมีนี้แหละที่ตื่นเพื่อดูว่าอากาศเป็นอย่างไร ถ้าอากาศหนาวมันก็กลับไปนอนจำศีลต่อ ซึ่งมันอาจขึ้น ๆ ลง ๆ จนกว่ามันจะรับรู้ได้ว่าฤดูใบไม้ผลิมาถึงแล้วจึงจะขึ้นไปข้างบนและไม่ลงไปจำศีลที่รูอีกแล้ว นอกจากนี้สาเหตุที่มันมองเห็นเงาก็เพราะฤดูใบไม้ผลิมันมีแสงอาทิตย์ส่อง จึงเกิดเงาขึ้น แต่หากเป็นฤดูหนาวจะไม่มีแสงแดดส่อง เจ้า Groundhog จึงมองไม่เห็นเงาตัวเองในฤดูหนาว

- กระจกแตก (Breaking a Mirror)

ในบางมุม มนุษย์เรานี้ช่างขี้กลัวจริง ๆ แม้กระทั้งอุบัติเหตุรอบตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นกระจกแตกกลับกลายเป็นเชื่ออย่างจับใจว่านี่คือลางร้าย คุณอาจเจ็บไข้ได้ป่วย อาจมีอันตรายและต้องประสบเคราะห์กรรม บางคนถึงกับเปลี่ยนแปลงแผนการและพฤติกรรมไปเลยเมื่อเกิดเหตุเหล่านี้ขึ้น 

ที่มาของความเชื่อ : ความเชื่อนี้มีมาในสมัยกรีกโบราณ ซึ่งชาวกรีกเชื่อว่ากระจกคือเครื่องบอกอนาคต สะท้อนให้เห็นถึงวิญญาณของคน ทำให้มีความเชื่อว่าภาพถ่าย ภาพเขียนหรือกระจกเป็นตัวแทนของวิญญาณหรือร่างอันแท้จริง ดังนั้นเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับกระจกหรือรูปภาพ จึงเท่ากับว่าจะมีเหตุร้ายบางอย่างเกิดขึ้นกับเจ้าของ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอธิบายได้อีกแบบ คือในศตวรรษที่ 16 กระจกมีราคาแพงมาก เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยของคนรวย หากมีการตกแตกล่ะก็ต้องเสียเงินเสียทองในการซื้อใหม่ ดังนั้นผู้หลักผู้ใหญ่มักสอนเด็กเสมอว่า "อย่ามาเล่นกระจกนะ ไม่งั้นจะโชคร้ายถึง 7ปี (ทั้งนี้เพราะชาวโรมันมีความเชื่ออยู่ว่า สุขภาพของคนจะเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 7 ปี) "ซึ่งตามจิตวิทยาบอกว่า เด็กมักเชื่อเรื่องที่ผู้ใหญ่เล่าเพราะขาดความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตัวเอง จนขาดการวิเคราะห์เหตุผลอย่างเหมาะสมและเป็นวิทยาศาสตร์ อาจด้วยเรื่องนี้เราเลยมีความเชื่อติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน

- ใบไม้สี่แฉก (Four-Leaf Clover)

ใบไม้สี่แฉกเป็นความเชื่อของไอร์แลนด์ ที่เชื่อว่าใครได้พบต้น Clover (พืชตระกูลถั่ว ปกติทั่วไปจะมี 3 ใบ) ที่มี 4 ใบจะถือว่าโชคดี (กรีบแรกหมายถึงความหวัง,กลีบสองหมายถึงศรัทธา,กลีบที่สามหมายถึงความรัก และสี่หมายถึงโชคดีไงล่ะ)

ที่มาของความเชื่อ : เหตุผลก็ง่าย ๆ เลยครับไม่ซับซ้อน เพราะว่าใบ Clover 4 แฉก มันหายาก อิงจากวิทยาศาสตร์ โดยบอกว่าโอกาสที่เจอใบพืชตระกูลถั่วแบบสี่แฉกนี้เป็นเรื่องยาก เพราะการกลายพันธุ์แบบนี้โอกาสพบคือ 1 ใน 10000 ใบ ซึ่งส่วนใหญ่ต้น Clover ทั่วไปจะมี 3 ใบเท่านั้น... แล้วมันโชคดีจริง ๆ หรือ? มีแน่นอนครับ แต่เป็นเรื่องโภชนาการนะ พืชตระกูลถั่ว (เช่นถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และถั่วขาว) จากการศึกษาพบว่าผู้ที่กินถั่วเป็นประจำมีระดับคอเลสเตอรอลน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้กิน และลดอัตราความเสียงต่อการเกิดโรคหัวใจด้วย เพราะพืชตระกูลถั่วนี้ประกอบด้วยไฟเบอร์สูง ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ทำความสะอาดลำไส้ ลดการสะสมของสารพิษในลำไส้ และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ อีกทั้งช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้และมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย

- เท้าของกระต่าย The Rabbit's Foot

 

หลายคนในออสเตเลียเชื่อว่าการได้ของขลัง "เท้ากระต่าย" มาประดับจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและความมั่นคั่ง, ความร่ำรวย, ความอุดมสมบูรณ์, ความสำเร็จในชีวิต และสามารถคุ้มภัยได้ด้วย ยิ่งให้หญิงมีท้องจะช่วยให้คลอดลูกง่าย ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง 

ที่มาของความเชื่อ : เหตุผลสุดง่ายคือ กระต่ายเป็นสัตว์ที่เรียกได้ว่า เป็นผู้ถูกล่า ทั้งจากสัตว์ด้วยกันและมนุษย์ เมื่อนายพรานล่ากระต่ายได้ ก็จะเอาเนื้อหนังไปทำประโยชน์หลาย ๆ อย่าง แต่มีเพียงเท้าของกระต่ายเท่านั้นที่ทำประโยชน์ไม่ได้ แต่ด้วยความงกของนายพรานจึงตัดเท้ากระต่าย เอามาห้อยเป็นพวงกุญแจเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ล่าฆ่ากระต่ายมากี่ตัวแล้ว และเมื่อคนเห็นเครื่องประดับ ประกอบกับนิสัยของกระต่ายที่เป็นสัตว์ที่ตื่นตัวอยู่เสมอ สามารถมองเห็นภัยอันตรายที่จะมาถึง เกิดลูกง่าย มีลูกเยอะ จึงกลายเป็นความเชื่อนี้ในที่สุด 

 

ความเชื่อ หมายถึง ความคิด ความเข้าใจและการยอมรับ นับถือ เชื่อมั่นในสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ต้องมีเหตุผลใดมาสนับสนุนหรือพิสูจน์ ทั้งนี้บางอย่างอาจมีหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ หรืออาจจะไม่มีหลักฐานที่จะนำมาใช้พิสูจน์ให้เห็นจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็ได้ ในเรื่องความเชื่อ ไม่มีถูกหรือผิด แต่อย่าเชื่อทุกอย่าง เชื่อทุกเรื่อง! จนกระทบและมีปัญหากับชีวิตประจำวันก็พอครับ เลือกเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อแล้วมีความสุข ไม่ใช่ยิ่งเชื่อยิ่งมีแต่ความทุกข์ จิตตก ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจาก "ความเชื่อ" เลยครับ

ความเชื่อยอดฮิต 5 เรื่องจากทั่วโลก จุดเริ่มต้นที่มาของความเชื่อและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์