ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
เมื่อห้าหกปีที่แล้วผมเขียนหนังสือและบรรยายบอกกับผู้คนทั่วประเทศว่าประเทศไทยเราไม่มียุทธศาสตร์ หลายคนยังสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร? จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2558 เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสมัยนั้น ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “...ยุทธศาสตร์ชาติถือเป็นเรื่องใหม่ในกลไกบริหารประเทศ...” ผู้คนจึงเลิกสงสัยและเลิกเถียง กับผมในประเด็นดังกล่าว
สังคมแห่งชาติ” ที่ประเทศไทยมีมาแล้ว 12 ฉบับไม่ใช่ยุทธศาสตร์หรืออย่างไร? คำตอบที่ได้คือไม่ใช่ยุทธศาสตร์แต่เป็นแค่ “แนวทาง” ให้รัฐบาลทั้งหลายเลือกและก็ไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องทำตามแผนฯ ดังนั้นใครเข้ามาเป็นรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือปฏิวัติก็จะสามารถพาประเทศไปในทางซ้าย ขวาได้ตามอัธยาศัย
30 ปีที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้านเรายังไม่สงบ มีสงคราม ไทยเป็นประเทศเดียวที่สงบสุขไม่มีสงคราม ธุรกิจระดับโลก จึงเลือกมาลงทุนในเมืองไทยกันจนไทยเรา “โชติช่วงชัชวาลย์” ต่อมาเมื่อสงครามในประเทศเพื่อนบ้านสงบ พวกเขาตั้งหลักกันได้และเริ่มเขียนยุทธศาสตร์กัน สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป จนล่าสุดมีนักวิเคราะห์ระดับโลกหลายสถาบันคาดการณ์ตรงกันว่าอีกราว ๆ 30 ปีเวียดนามจะแซงไทยเรา
ส่วนประเทศไทยเราหลังจากรู้ตัวแล้วว่า “ไร้ยุทธศาสตร์” ก็เริ่มตั้งคณะกรรมการมาร่างยุทธศาสตร์และสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาเราก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561 – 2580) กันอย่างเป็นทางการ
ในยุทธศาสตร์ชาตินั้น “ตำแหน่งประเทศ” ซึ่งได้มาจากการวิเคราะห์สถานการณ์โลกในอนาคต ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และวิเคราะห์ SWOT จุดอ่อนจุดแข็งโอกาสและความท้าทายของประเทศ นั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะไม่เช่นนั้น เราก็จะไม่รู้ว่าจะพัฒนาประเทศกันอย่างไร ถ้าการพัฒนาประเทศเป็นเหมือนการเดินทาง “ตำแหน่งประเทศ” ก็คือจุดหมายปลายทางนั่นเองว่าเราจะไปเชียงรายหรือสมุย คนที่จะร่วมเดินทางซึ่งหมายถึงคนทั้งประเทศจะได้รู้ว่าจะต้องเตรียม ตัวจัดกระเป๋าเสื้อผ้ากันอย่างไร ถ้าตำแหน่งประเทศไม่ชัดเจน ก็เหมือนเราชวนเพื่อนไปเที่ยวแต่ไม่ยอมบอกว่าจะพาไป เที่ยวที่ไหน เพื่อนย่อมจะเตรียมตัวไม่ถูก
ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วิสัยทัศน์ประเทศไทยคือ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการ พัฒนาตามหลักปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง” หรือสรุปสั้น ๆ เป็นคติพจน์ประจำชาติว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
“ความมั่นคงหมายถึง การมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยและการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศในทุกระดับ ทั้งระดับประเทศ สังคม ชุมชน ครัวเรือนและปัจเจกบุคคล และมีความั่นคงในทุกมิติ ทั้งมิติทางการทหาร เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเมือง...”
“ความมั่งคั่งหมายถึง ประเทศไทยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืนจนเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ความเหลื่มล้ำของการพัฒนาลดลง ประชากรมีความอยู่ดีมีสุขได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น และมีการพัฒนาอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน มีคุณภาพชีวิตตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ ไม่มีประชาชนที่อยู่ในภาวะความยากจน เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกันต้องมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศ...”
“ความยั่งยืนหมายถึง การพัฒนาที่สามารถสร้างความเจริญ รายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่บนหลักของการใช้ การรักษาและการฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเกินพอดี ไม่สร้างมลภาวะต่อ
สิ่งแวดล้อม...”
วิสัยทัศน์ประเทศไทยที่เขียนไว้ยาว ๆ อย่างที่ผมลอกมาให้อ่านนั้น ทุกประเทศในโลกล้วนอยากเป็นอย่างนั้นเหมือนกับเรา ไม่แปลกอะไร แต่ที่ประเทศอื่น ๆ ไม่เหมือนเราก็คือเขามี “ตำแหน่งประเทศที่สั้นกระชับชัดเจน” ส่วนไทยไม่มี
เมื่อไทยเราไม่มีตำแหน่งประเทศที่สั้นกระชับชัดเจนนั้นทำให้หน่วยราชการต่าง ๆ จึงสามารถ “เลือก” ทำงานที่พวกเขา อยากทำได้ตามอำเภอใจ การทำงานของหน่วยราชการจึงเป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำ แต่ใครอะไรก็ทำถูกต้องตามวิสัยทัศน์ประเทศหมด ลองคิดดูสิครับว่างานไหนของหน่วยราชการใดที่จะไม่สอดคล้องกับความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ฯลฯ บ้าง และเมื่อใครอยากทำอะไรก็สามารถเขียนของบประมาณได้หมด ผลที่ตามมาก็คืองบประมาณของประเทศ
ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดนั้นจึงถูกใช้กันแบบ “เบี้ยหัวแตก” ไร้ประสิทธิภาพ
ประเทศที่มีตำแหน่งประเทศชัดเจนการจัดสรรงบประมาณก็จะทำได้ง่ายชัดเจน สามารถเรียงลำดับกันตามสำคัญ หน่วยงานไหนที่มีหน้าที่ตามตำแหน่งประเทศก็จะได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่าและได้ก่อน ส่วนประเทศไทยนอกจาก จะใช้งบประมาณแบบ “เบี้ยหัวแตก” แล้วยังไม่พอ ยังถูกซ้ำเติมด้วย “การคอร์รัปชั่น” เสียอีก เม็ดเงินที่มีอยู่อย่างน้อยอยู่แล้ว จึงใช้ได้จริงน้อยลงไปอีก “เบี้ยหัวแตก” จึงกลายเป็น “เบี้ยหัวแบะ” แย่ลงไปอีก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา มาเลเซียวางตำแหน่งประเทศเอาไว้ชัดเจนว่าจะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนและแข่งขันด้วย “นวัตกรรม” เขาจึงทุ่มเทงบประมาณภาครัฐและเอกชนไปเพื่อยกระดับ “นวัตกรรม” ของประเทศ ผลก็คือวันนี้มาเลเซียกำลังจะก้าวไปเป็น “ประเทศที่แข่งขันด้วยนวัตกรรม” เหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย เช่นสหรัฐ เยอรมัน สิงคโปร์ ทิ้งให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่แข่งขันด้วยประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งด้อยกว่าเขาอยู่หนึ่งขั้นทั้ง ๆ ที่คำว่า “นวัตกรรม” ก็อยู่ในแผนฯ ของสภาพัฒน์มานานแล้ว
เมื่อมีตำแหน่งประเทศชัดเจน เรื่องต้องมีในการเขียนยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ แต่ไทยเราไม่เคยมีเลย ก็คือ “นโยบายกำหนดแนวปฏิบัติ” ที่จะกำหนดกรอบแนวทางว่าหน่วยงานไหนต้องทำอะไรอย่างไรเมื่อไหร่ใช้งบประมาณเท่าไหร่และต้องประสานกับหน่วยงานอื่นอย่างไร จึงจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้ได้จริง
สิงคโปร์เมื่อตอนแยกตัวออกจากมาเลเซียในปี พ.ศ. 2508 นั้น ความเจริญของประเทศไม่ได้แตกต่างจากไทยเราเลย จะว่าไปแล้วไทยเราดูดีกว่าสิงคโปร์เสียอีกเพราะมีพื้นที่มากกว่า มีทรัพยากรมนุษย์มากกว่า แถมยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าเยอะแยะ ลีกวนยู จึงทำการวิเคราะห์สถานการณ์โลกในอนาคต และ SWOT ของประเทศและพบว่าตำแหน่งประเทศที่เหมาะสมของสิงคโปร์คือการเป็น “ศูนย์กลางการค้าขายและศูนย์กลางการเงิน” ของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อคนสิงคโปร์ต้องสามารถสื่อสารกับโลกและทำงาน “เก่ง” กว่าคนในประเทศเพื่อนบ้าน และการลงทุนในสิงคโปร์นั้นจะต้องโปร่งใสและสะดวกสบาย
ลีกวนยู จึงสั่งการให้สถาบันการศึกษาทุกระดับในสิงคโปร์สอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อที่คนสิงคโปร์จะทำให้พูดภาษาอังกฤษเก่งกันทุกคน จะได้สามารถสื่อสารกับคนทั้งโลกได้ จนคนสิงคโปร์สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ลีกวนยูยังเน้นลงทุนในระบบการศึกษา ลงทุนในการสร้างคน ลงทุนดึงคนเก่งระดับต้น ๆ ของประเทศมาเป็นครู จนวันนี้เด็กนักเรียนสิงคโปร์มีความเก่งเป็นที่ 1 ของโลก ในขณะเดียวกันเขาก็เร่งปฏิรูปและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งหมายรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จนปัจจุบันสิงคโปร์มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดีติดอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน ติดอันดับต้น ๆ ของโลกทิ้งห่างประเทศไทย
ความง่ายในการเริ่มต้นและทำธุรกิจในสิงคโปร์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้ธุรกิจทั้งโลกอยากมาลงทุนในสิงคโปร์ ลีกวนยูจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ จนวันนี้สิงคโปร์ติดอันดับหนึ่งหรือสองในด้านความง่ายในการทำธุรกิจ ส่วนเรื่องคอร์รัปชั่นนั้นตอนที่แยกตัวจากมาเลเซียใหม่ ๆ สิงคโปร์ก็ยังเต็มไปด้วยคอร์รัปชั่นเรียกว่าหนักเหมือนไทยในปัจจุบันนี้เลย เขาจึงยืนเป็นกำแพงเหล็กให้หน่วยปราบคอร์รัปชั่นของสิงคโปร์ที่ชื่อ CPIB ไล่ปราบคนโกงอย่างไม่ไว้หน้า รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลโกง เขาก็ไฟเขียวให้จับติดคุก ปราบกันจนกระทั่งวันนี้สิงคโปร์มีความโปร่งใสติดอันดับต้น ๆ ของโลก
เมื่อตำแหน่งประเทศชัดเจน ยุทธศาสตร์ชาติจึงชัดเจนและมี “นโยบายกำหนดแนวปฏิบัติ” ที่ทำให้ผู้นำหน่วยงานต่าง ๆ และคนในประเทศรู้ว่าใครต้องทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และผลของการทำงานของแต่ละฝ่ายนั้นจะมาเสริมกันตอนไหน จึงทำให้สิงคโปร์ยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางการค้าการเงินของอาเซียนได้อย่างมหัศจรรย์
เวลาสิงคโปร์เขียนยุทธศาสตร์นั้น คณะที่มาช่วยกันเขียนนั้นเป็นคณะเล็ก ๆ แต่เก่งทุกคน เวลาเขียนก็เขียนกันสั้น ๆ กระชับ ชัดเจน รู้สาเหตุปัญหา รู้ว่าประเทศต้องการอะไร และรู้ว่าใครต้องทำอะไรเมื่อไหร่ อย่างไร ด้วยงบประมาณเท่าไหร่และ จะวัดผลได้อย่างไร ผลของการเขียนยุทธศาสตร์ดีและทำเป็น จึงทำให้สิงคโปร์ยกระดับประเทศหนีห่างไปไทยไปเป็น “ประเทศพัฒนาแล้ว” ซึ่งสะท้อนผ่านรายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนสิงคโปร์ซึ่งมากกว่าของคนไทยเกือบ 10 เท่า ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนคนของสองประเทศนี้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวพอ ๆ กัน ทิ้งให้ไทยเรา “ติดกับกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ต่อไป
TEXT : เกษมสันต์ วีระกุล