7 เสื้อเลสเตอร์ ที่น่าสะสม!

7 เสื้อเลสเตอร์ ที่น่าสะสม!

ดวงอาทิตย์ใน “การมอง” ของผู้คน ดูจะมีความหมายแตกต่างกันไป

นักเดินทางอย่าง ไซม่อน เวสต์ บอกว่าแสงจากบนนั้น คือความหวัง ส่วน ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้คิดสร้าง Jibli นับถือสิ่งนี้ถึงขนาดเอาไปไว้ในฉากหลังหลาย ๆ เรื่อง 

ชาวญี่ปุ่นน่าสนใจที่สุด เขาบอกว่าเวลามองดวงอาทิตย์ จะเห็นจุดดำ ๆ เล็ก ๆ อยู่กลางวงกลม แล้วมันคืออะไรหรือ? 

เขาบอกว่าจุดดำ ๆ คือ อีกาดำ ที่มี 3 ขา เป็นความหมายในทางที่ดีสำหรับคนญี่ปุ่น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมโลโก้เสื้อบอลของทีมชาติ The Samurai Blue จึงใช้ตราสัญลักษณ์ เป็นอีกาดำ 3 ขา มาตั้งแต่ปี 1931 หรือเกือบ ๆ จะหนึ่งร้อยปี โดยไม่เคยเปลี่ยน

มีทีมไม่มากนักในโลกนี้ หรือเพียงนิดน้อยในฟุตบอลอังกฤษ ที่สโมสรแห่งหนึ่งจะไม่เปลี่ยนตราสัญลักษณ์บนหน้าอกเสื้อไป

ที่ว่าน้อยนิดนั้น...เลสเตอร์คือหนึ่งในนั้น

เสื้อของจิ้งจอกสยามตั้งแต่ยุคแรก ๆ มีการใช้ The Fox มาตลอด เท่า ๆ กับที่มีการใช้สีน้ำเงินมายาวนานตั้งแต่ปีแรก

แต่สำหรับเลสเตอร์ พวกเขาเป็นจิ้งจอกมาตลอด

อธิบายอย่างย่นย่อ เลสเตอร์เชียร์ในอดีตกาล เคยเป็นถิ่นย่านและเมืองที่เต็มไปด้วยสุนัขจิ้งจอก และนักล่าสัตว์ประเภทนี้ สุนัขจิ้งจอกเคยเพ่นพ่านเต็มไปหมด 

โดยที่พวกมันก็ไม่เคยรู้ว่า อีกร้อยกว่าปีต่อมา ตัวมันจะกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของทีมที่กำลังจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก 2016 ที่ทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้ ถึงขั้นแย่งชิงสะสม เสื้อทีมในปี 2016

นี่คือ 7 เสื้อจิ้งจอกสยาม ที่ควรมีก่อนตาย หากคุณเป็นคนบ้าเสื้อบอล!

1.เลสเตอร์ 1889 ในยุคสร้างตัวกับฟุตบอลอังกฤษ เลสเตอร์ใช้หลักคิดด้วยคอนเซ็ปต์ Royal Blue พร้อมกับสุนัขจิ้งจอก เสื้อรุ่นนี้คือต้นทาง และใช้ผ้าคอนตอนแบบหยาบ ๆ ที่คนงานเหมืองแร่และคนงานรถไฟในตอนนั้น นิยมใส่ทำงาน ยุคแรกตราสุนัขจิ้งจอก ยังไม่มีการเย็บลงบนเสื้อ ที่สโมสรมีวางโชว์อยู่ด้านล่าง มูลค่าน่าจะประเมินไม่ได้ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ แบบของเสื้อคือเทรนด์นิยมของเสื้อสโมสรต่าง ๆ ที่สร้างทีมในเวลาใกล้กัน

2.เลสเตอร์ 1949 นี่คือเสื้อตัวแรกที่มีการออกแบบตราสโมสรที่เป็นที่ยอมรับ ในยุคแรกของฟุตบอลอังกฤษ คอนเซ็ปต์การออกแบบเสื้อรุ่นนี้ มีคำเรียกว่า Shield Shape Crest คือใช้รูปของโล่ เข้ามาวางบนอก และใส่จิ้งจอกลงไป เป็นรุ่นหายากเพราะเป็นเสื้อที่ใช้ “เพียงปีเดียว” แถมยังเข้าชิง FA Cup ปี 1949 (แพ้วูลฟ์ฯไป 1-3 )

3.เลสเตอร์ 1961 ทำไมรุ่นนี้จึงติด 1 ใน 10? เหตุผลแรกคือ รูปแบบของตราสโมสรถูกดีไซน์โดยศิลปินท้องถิ่น ซึ่งนำเอาพื้นสีขาวสอดวางเข้าไปในตราสัญลักษณ์ ประการต่อมา นี่คือเสื้อรุ่นแรกที่เลสเตอร์ เปลี่ยนจากคอปกมาเป็นคอวีสีขาว ซึ่งในช่วงปลายยุค 50s เทรนด์เสื้อมาทางคอวีอย่างชัดเจน แต่ที่ผมชอบคือ นี่คือเสื้อที่ผลิตโดย Bukta แบรนด์กีฬา “แห่งแรก” ของโลก แถมใส่แค่ถึงวัน Boxing Day ปี 1962 เท่านั้น

4.เลสเตอร์ 1969 ใครบางคนอาจเคยยินคำว่า Prototype Version ของเสื้อบอลมาบ้าง ความหมายของมันคือ เสื้อต้นแบบที่ไม่ได้ใช้ เสื้อที่ใช้และเป็นต้นแบบต่อเสื้อในเวลาต่อมา...จากคอปก มาคอวี ถึงรุ่นนี้กลายเป็นคอกลม ที่เอาเส้นสีขาวเข้าไปเล่นที่คอเสื้อ และตราสัญลักษณ์ ที่เรียกว่า Double Ring คือเส้นวงซ้อนสองเส้น แรกเริ่มเดิมที คำว่า Wembley 1969 อยู่ในโลโก้ แต่ภายหลังได้ย้ายออกมาอยู่ใต้โลโก้

5.เลสเตอร์ 1979 ไม่มีแบรนด์ไหนในทศวรรษที่ 70 ที่จะ Popular เท่ากับ Admiral อีกแล้ว เลสเตอร์ได้ร่วมงานกับแบรนด์นี้ เพราะส่วนหนึ่งมีอีก 3 ทีมดังที่ใช้แบรนด์นี้ ไม่ว่าจะเป็น ทีมชาติอังกฤษ, ลีดส์ ยูไนเต็ด และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ความโดดเด่นของเสื้อเลสเตอร์รุ่นนี้ การดีไซน์ที่เอาโลโก้มาไว้กลางอกอย่างกิ๊บเก๋ และเอาตรา Admiral มาเล่นกับแถบไหล่และคอเสื้อ แถมเป็นยุคหนึ่งที่มีนักบอลดัง ๆ ในทีมหลายคน 

6.เลสเตอร์ 1980 จาก Bukta มา Admiral พอถึงทศวรรษที่ 80 เลสเตอร์เดินทางใหม่กับแบรนด์ประวัติศาสตร์อย่าง Umbro เป็นเสื้อที่ทอผ้า ให้ความหนาของผ้าลดลงจากยุคก่อนหน้านั้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนตาไปจากการมองของแฟนบอลคือ มันลดความเป็น Sport ลงไปด้วย เพราะกลายเป็นเสื้อ Casual รุ่นนี้ไม่ต้องมีเหตุอื่น ๆ เพราะนักบอลคนเดียวที่โด่งดังมากที่สุดของสโมสร ติดทีมชาติอังกฤษ กลายมาเป็น Commentator ของรายการทีวี แกรี ลินิเกอร์ ที่ประกาศว่าจะแก้ผ้าอ่านข่าว หากทีมรักในวัยเยาว์คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก 2016

7.เลสเตอร์ 1984 เหมือนคนรัก กลับมาคบหากันอีก เพราะห่างกายของ Admiral ไปไม่นานนัก ระหว่างปี 1983-1985 เลสเตอร์ก็หวนกลับมาซบไหล่แบรนด์นี้อีกครั้ง แถมออกแบบแตกต่างไปจากเสื้อยุคก่อน ด้วยเส้นสายที่เรียกว่า Typographic แนวดิ่ง และโลโก้ที่ปล่อยวางมากขึ้นที่ผมชอบสุดคือ นี่คือเสื้อเลสเตอร์ตัวแรกที่มีสปอนเซอร์บนหน้าอก ซึ่งก็คือ Ind Coope (มาจาก Sir Edward Inn กับ George Coope ซึ่งร่วมกันทำโรงงานเบียร์ และธุรกิจอาหาร)

แต่มีสปอนเซอร์ตัวแรก ไม่ว่าทีมใด ๆ ก็น่าเก็บแล้ว... 

 

TEXT :  นันทขว้าง สิรสุนทร

#mixmagazinethailand #InMyLife