The Falling Legend
Legend ในฉบับนี้ขอส่งท้ายปีด้วยความอาลัยให้กับตำนานแห่งผู้สร้างแห่งสองซีกโลก ฝั่งหนึ่งคือปรมาจารย์แห่งนิยายกำลังภายในจากประเทศจีน ที่มีชื่อว่า จา เลี้ยง จง หรือที่เรารู้จักกันในนาม “กิมย้ง” เจ้าของผลงานอันลือลั่น “มังกรหยก” , “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า”, “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ฯลฯ และอีกฟากฝั่งหนึ่ง คือ Stan Lee ผู้ออกแบบและให้กำเนิดตัวการ์ตูนของ Marvel ทั้งหมดที่เรารู้จัก ไล่เรียงกันมาตั้งแต่ Ironman, Captain Amarica, Hulk, Thor ฯลฯ
ทั้งสองเป็นสุดยอดของทั้งสองฝั่งซีกโลก ทั้งทางอเมริกาและจีน ทั้งคู่มีอายุอานามไล่เลี่ยกัน มีผลงานบันลือโลกไม่ต่างจากกัน และทั้งคู่เสียชีวิตในปีเดียวกัน โดย “กิมย้ง” เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2467 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 รวมอายุได้ 94 ปี ส่วนปู่ Stan lee เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2465 รวมอายุขณะมีชีวิต 95 ปี หย่อน 11 เดือนผมเองเคยเขียนกล่าวเล่าเรื่องราวประวัติและผลงานของทั้งคู่ลงในคอลัมน์ Legend มาแล้วในโอกาสก่อน มาในโอกาสนี้ผมขอนำเรื่องอันเป็นที่สุดของทั้งคู่มานำเสนออีกครั้งเพื่อเป็นการสดุดีให้กับความสามารถและผลงานที่ทั้งคู่ได้ทิ้งไว้ ก่อนที่ทั้งคู่จะจากไปอย่างไม่มีวันกลับครับ
Louis Cha Leung-yung
• กิมย้ง ได้ถูกขนานนามว่าเป็นผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ที่หาได้ยากที่สุดในรอบร้อยปีของจีน
• กิมย้ง สร้างสรรค์ผมงานกำลังภายในออกมาเพียง 15 เรื่องเท่านั้น คือ จอมใจจอมยุทธ์ (1955), กระบี่เลือดเขียว (1956), มังกรหยก ภาค 1 ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ (1957), จิ้งจอกภูเขาหิมะ (1959), มังกรหยก ภาค 2 เอี้ยก่วยเจ้าอินทรี (1959), จิ้งจอกอหังการ (1960), เทพธิดาม้าขาว (1961), ดาบนกเป็ดน้ำ (1961), มังกรหยก ภาค 3 ดาบมังกรหยก (1961), กระบี่ใจพิสุทธิ์ (1963), มังกรทลายฟ้า (1963), กระบี่เย้ยยุทธจักร (1966), แปดเทพอสูรมังกรฟ้า (1967), กระบี่นางพญา (1969), อุ้ยเสี่ยวป้อ (1970) แต่สามารถสร้างรายได้ทั้งยอดจำหน่าย และค่าลิขสิทธิ์หลายหมื่นล้านบาท
• กิมย้ง ไม่เคยเขียนผลงานเพิ่มอีกเลย แต่มีการปรับแก้เนื้อเรื่องโดยตลอดเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะเรื่องเทพธิดาม้าขาว และ กระบี่เย้ยยุทธจักร แต่นวนิยายของกิมย้งทั้ง 15 เรื่อง ได้ถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา และ ไทย เพื่อวางจำหน่ายให้กับบรรดาแฟนนวนิยายกำลังภายในทั่วโลก
• กิมย้งเป็นผู้เขียนนวนิยายจีนคนแรกที่ใส่เรื่องราวของ “ชายรักชาย” ลงไปในเนื้อเรื่อง ในนวนิยายชุด “กระบี่เย้ยยุทธจักร” กับตัวเอกฝ่ายผู้ร้ายอย่าง “ตงฟางปูป้าย” ที่เป็นชายแต่จิตเบี่ยงเบนจากการฝึกวิชา ซึ่งในนวนิยายจีนไม่เคยมีเรื่องชายรักชายอย่างเด่นชัดมาก่อน และสังคมจีนสมัยนั้นค่อนข้างที่จะต่อต้านในเรื่องของกลุ่มรักร่วมเพศ แต่ “กระบี่เย้ยยุทธจักร” กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
• กิมย้ง ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับการเขียน มังกรหยก ในภาคแรก จนสามารถเปิดหนังสือพิมพ์ “หมิงเป้า” ของตัวเองได้ และได้เขียนนวนิยายเป็นตอน ๆ ลงในหนังสือพิมพ์หัวของตนซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มังกรหยก ภาค 2 จอมยุทธล่าอินทรีย์ จนสามารถดันให้หนังสือพิมพ์หมิงเป้า เป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฮ่องกงได้
Stan Lee
• Stan lee เดิมเป็นชื่อนามปากกา โดยชื่อของปู่ที่แท้จริงในตอนแรกคือ “Stanley Martin Lieber” และเริ่มเขียนการ์ตูนในวงการตั้งแต่อายุเพียงแค่ 19 ปี โดยใช้นามปากกาว่า Stan Lee ภายหลังมีชื่อเสียงจากผลงาน จึงเปลี่ยนมาเป็น Stan Lee ซะเลย
• ตัวละคร จากภาพยนต์ของ Marvel ที่ติด Top ทำรายได้สูงสุดของค่าย ไม่ว่าจะเป็น Thor, X-men, Avenger, Spider-man, Iron Man หรือ The Hulk ล้วนแล้วแต่ได้รับการออกแบบตัวละครจาก Stan Lee
• ปู่ Stan lee ได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้น โดยใช้ชื่อว่า Stan Lee Foundation ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับการศึกษาและศิลปะ แก่เด็กที่ด้อยโอกาส โดยมีเป้าหมายของมูลนิธิ คือ สนับสนุนและพัฒนาการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรมและศิลปะ
• ปรากฏตัวในภาพยนตร์ของ Marvel ทุกเรื่อง ที่มีตัวละครที่แกออกแบบ นับโดยรวมทั้งหมด 35 เรื่อง โดยเรื่องแรกที่แกปรากฏตัวคือในปี 1989 ในเรื่อง The Trial of the Incredible Hulk และเรื่องสุดท้ายคือ Ant Man and the Wasp ในปี 2018 โดยที่เรายังไม่ทราบว่า ในเรื่อง Avenger 4 ที่จะฉายในปี 2019 จะมีปู่ Stan lee ปรากฏเป็นเรื่องที่ 36 หรือไม่
• Kevin Feige บอสใหญ่แห่ง Marvel Studios ได้เคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องของการที่ Stan Lee ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ของ Marvel ทุกเรื่องว่าเป็นการสร้างทฤษฎีตัวละครขึ้นมา และเฉลยว่าเป็นการสร้างตัวละคร Stan Lee ให้อยู่ในภาพยนตร์ และไม่ว่า Time Line ในภาพยนตร์จะเป็นอย่างไรตัวละคร Stan Lee ที่โผล่เข้าไปคือคน ๆ เดียวกัน เป็นการบอกเป็นว่า ตัวละครของ Stan Lee นั้นมีอยู่จริง และอยู่เหนือกว่าภาพยนตร์ในจักรวาล Marvel ทุกเรื่องนั่นเอง
สุดท้ายนี้ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของผู้สร้างสรรค์ ของทั้งสองฟากโลก แม้ทั้งคู่อาจจะไม่เคยเจอกันในชีวิตจริง แต่เชื่อได้ว่า หลังจากนี้ทั้งคู่คงไปร่วมสร้างสรรค์ผลงานอันยอดเยี่ยมร่วมกันบนสวรรค์เป็นแน่
TEXT : Ajiravedh Subarnbhesaj