ความจริงเกี่ยวกับ ผู้ประกอบการในอาเซียน

ความจริงเกี่ยวกับ ผู้ประกอบการในอาเซียน

สหประชาชาติกำหนดให้ วันที่ 27 มิถุนายน เป็นวันผู้ประกอบการขนาดย่อม, ขนาดเล็ก และขนาดกลาง
ที่มา: https://asean.org/asean-economic-community/sectoral-bodies-under-the-purview-of-aem/micro-small-and-medium-enterprises/international-msme-day/

 

ผู้ประกอบการเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทุกประเทศ เนื่องจากเป็นผู้นำเงินออม ทรัพยากร หรือปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มาลงทุน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อผลิตสินค้าและบริการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด หรือเพื่อขยายธุรกิจ และเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ (diversification) ส่งผลทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ร้อยละของผู้ประกอบการขนาดย่อม, ขนาดเล็ก และขนาดกลางในอาเซียน ต่อจำนวนธุรกิจทั้งหมด ปี 2014 (Share of Total Business Establishments %)
ที่มา: https://asean.org/wp-content/uploads/2018/06/Grafik-3

 

นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการว่างงานลดลง ประชาชนมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการแพร่กระจายความรู้ และสร้างโอกาสในการประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการคนอื่น ๆ ยิ่งมีกิจกรรมการประกอบการมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ จะยิ่งทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ มากขึ้นด้วยเมื่อหันกลับมามองผู้ประกอบการของอาเซียน จะพบว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีผู้ประกอบการจำนวนมากกว่า 64 ล้านคนที่เป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (Micro, Small and Medium-sized Enterprises - MSME) ซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจของอาเซียน เนื่องจาก จำนวนผู้ประกอบการเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 88.8 – 99.9 ของผู้ประกอบการทั้งหมด และมีการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 51.7 – 97.2 ของการจ้างงานทั้งหมด (ASEAN SME Policy Index 2014) 

หากพิจารณาในรายละเอียดจากการสำรวจผู้ประกอบการอาเซียน (Global Entrepreneurship Monitor – GEM2017-2018) มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น 

1. คนอาเซียนโดยทั่วไปมีนิสัยกลัวความล้มเหลวจึงไม่กล้าเริ่มต้นธุรกิจ 
จากการสำรวจประชากร (ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการ) พบว่า คนอาเซียน (จากการสำรวจนี้มี 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม) โดยเฉลี่ยยอมรับว่า ความกลัวที่จะล้มเหลวเป็นเหตุให้พวกเขาไม่กล้าเริ่มธุรกิจ (Fear of Failure Rate) อยู่ที่ร้อยละ 47.73 ซึ่งสูงกว่าภูมิภาคใดในโลก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (ร้อยละ 36.97) หากพิจารณาในรายประเทศที่มีการสำรวจ พบว่า คนไทยมีความกลัวที่จะล้มเหลวในการทำธุรกิจสูงที่สุดในอาเซียน (ร้อยละ 52.7) และสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ร้อยละ 61.1) ไซปรัส (ร้อยละ 55.9) กรีซ (ร้อยละ 55.5) และ โมร็อกโก (ร้อยละ 52.9)

2. การเป็นผู้ประกอบการในอาเซียนสามารถทำได้ง่าย โดยสัดส่วนของผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นประกอบการต่อประชากรอายุ 18 – 64 ปี (Total Early-Stage Entrepreneurial Activity หรือ TEA) พบว่า สัดส่วนของคนกลุ่มนี้ต่อประชากรของประเทศในอาเซียนโดยเฉลี่ย สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอื่น ๆ ในโลก ร่วมกับประเทศในกลุ่มอเมริกาใต้และแคริบเบียน (ร้อยละ 18.5) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (ร้อยละ 13.9) โดยเวียดนามสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน (ร้อยละ 23.3) ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของไทยอยู่ที่ร้อยละ 21.6 หรืออันดับ 8 ของโลก เท่ากับมาเลเซีย 
การที่อาเซียนมีผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นประกอบการต่อประชากรในสัดส่วนสูง แต่คนอาเซียนกลับมีความกลัวความล้มเหลวในการทำธุรกิจในอัตราที่สูง ดูเหมือนขัดแย้งในตัวเอง แต่ปรากฏการณ์นี้อาจอธิบายได้ว่า ถึงแม้คนในอาเซียนจะกลัวความล้มเหลว แต่การเป็นผู้ประกอบการในประเทศในอาเซียนมีอุปสรรคน้อยมาก ผู้คนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ง่าย และด้วยต้นทุนต่ำ เช่น การทำอาชีพค้าขาย หาบเร่แผงลอย ซื้อมาขายไป เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็ทำให้คนเหล่านี้สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ ซึ่งทำให้จำนวนผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นสูงไปด้วย 

3. ผู้ประกอบการอาเซียนจำนวนมากมีขนาดเล็กและมีการจ้างงานต่ำ เห็นได้จากสัดส่วนของผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นประกอบการที่คาดว่าจะจ้างงานมากกว่า 6 ตำแหน่งใน 5 ปี (High Job Creation Expectation Rate) อยู่ที่ร้อยละ 13.8 ซึ่งต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (ร้อยละ 20.8) โดยประเทศไทยมีค่าสถิติในด้านนี้อยู่ที่ร้อยละ 29.6 สูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 10 ของโลก 

4. ผู้ประกอบการในอาเซียนไม่ใช่ผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์นวัตกรรมมากนัก โดยสัดส่วน TEA ที่ระบุว่า มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่และไม่มีธุรกิจใดที่เสนอผลิตภัณฑ์แบบเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 21 ซึ่งต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (ร้อยละ 28) โดยประเทศไทยและมาเลเซียมีสัดส่วนนี้เท่ากันที่ร้อยละ 29.3 สูงที่สุดในอาเซียน และสูงเป็นอันดับที่ 15 ของโลก การที่ผู้ประกอบการในอาเซียนไม่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้มากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขาดแคลนเงินทุนในการวิจัย ประกอบกับการทำวิจัยและพัฒนาอาจมีต้นทุนที่สูง รวมทั้งทัศนคติที่มีความกลัวที่จะล้มเหลวจึงทำให้การพัฒนานวัตกรรมและสินค้าใหม่ ๆ นั้นเกิดขึ้นน้อย เป็นต้น ประเด็นข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างประเด็นบางส่วนเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าศึกษา ซึ่งหากเราพิจารณาผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการของอาเซียนนั้นยังมีประเด็นที่ยังต้องพัฒนาอีกจำนวนมาก เพื่อที่จะทำให้การดำเนินการของผู้ประกอบการนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศและในภาพรวมอาเซียน 

ร้อยละของผู้ประกอบการขนาดย่อม, ขนาดเล็ก และขนาดกลางในอาเซียน ต่อจำนวนธุรกิจทั้งหมด ปี 2014 (Share of Total Business Establishments %)
ที่มา: https://asean.org/wp-content/uploads/2018/06/Grafik-3

 

อาเซียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการ เพราะเชื่อว่า การส่งเสริมผู้ประกอบการเป็นกุญแจในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้อาเซียนจึงกำหนดแผนในการพัฒนาผู้ประกอบการขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง โดยแผนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการของแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทยอย่างมาก หากภาครัฐเรียนรู้และมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์จากแผนนี้ ซึ่งหากมีโอกาส ผมจะขยายความในประเด็นนี้ให้ชัดเจนขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไปครับ 

 

TEXT : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

#mixmagazinethailand #EconomicVision