Ways to Become a Successful Graphic Designer : สันติ ลอรัชวี
Ways to Become a Successful Graphic Designer : สันติ ลอรัชวี
คนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและถนัด สิ่งสำคัญต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง มั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ หาไอเดียใหม่ ๆ มาแต่งเติมในผลงาน อย่าง สันติ ลอรัชวี Graphic Designer ที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางที่ตัวเองชื่นชอบ และเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้ไปแสดงงาน Graphic Trial 2018 ที่ Printing Museum Tokyo ประเทศญี่ปุ่น
“เมื่อสมัยมัธยมเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง ไม่ตั้งใจเรียน ไม่สนใจในตัววิชาการมากนัก รู้สึกว่ามีเรื่องเดียวที่ชอบแล้วทำเป็นประจำก็คือการวาดรูป ในสมัยก่อนการเข้ามหาวิยาลัยจะต้องใช้ระบบ Entrance มันเป็นการคัดเลือกเด็กไปในตัวจริง ๆ ในยุคสมัยเราเองก็ไม่ได้ถูกสอนให้เข้าใจว่าประโยชน์ของคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มันคืออะไร นอกเหนือจากท่องจำทำข้อสอบทำให้เด็กในรุ่นผมไม่เข้าใจว่าจะรู้ไปทำไม ก็ได้ละเลยมัน
“สุดท้ายผมก็ Entrance คณะเล็งไว้ไม่ได้ เลยจับพลัดจับผลูได้มาเรียนที่ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตอนเข้ามาเรียนแรก ๆ รู้สึกว่ามันยากลำบากมาก ทักษะการวาดรูปที่มีก็ดูจะไม่แข็งแรงสักเท่าไหร่ ทำให้เราเหนื่อยพอควรเหมือนกัน แต่พอเรียนไป เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมาถูกทาง ยิ่งเรียนมันยิ่งใช่ ในที่สุดก็จบปริญญาตรีที่คณะนี้ แล้วได้เริ่มทำงานโดยตรงเกี่ยวกับ Graphic Designer
“และหลังจากเรียบได้ลองทำงานหลายอย่าง ในปี 2540 ตอนนั้นอายุ 26 ปี ได้มาเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย มันช่วยพัฒนาความรู้ ความคิด ความเข้าใจในหลายเรื่อง สถานะที่เป็นผู้สอนก็รู้สึกได้ว่ามันถูกจริตกับเรา และเห็นถึงประโยชน์ของการสอนอีกด้วย มันทำให้เราไม่สามารถหยุดอยู่นิ่งได้ต้องคอยแสวงหาความรู้อยู่ตลอด
“พอในระยะ 10 ปีหลังที่ผ่านมา เริ่มได้รับโอกาสไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น เริ่มจากในปี 2550 ผมได้ไปออกแบบงาน Graphic ให้กับกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งไปจัดแสดงที่โตเกียว ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มันเหมือนเป็นการเปิดมุมมองของเราให้กว้างขึ้นว่า ในบทบาทของอาชีพนักออกแบบว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นการเพิ่มโลกทัศน์ในอีกหลายแง่มุมให้แก่เรา ว่าแท้ที่จริงแล้ว Graphic Designer มันก็เป็นวัฒนธรรมของแต่ละชาติ การดีไซน์มันเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์แน่นอนว่าแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่าง แต่โดยพื้นฐานของนักออกแบบมีความคล้ายคลึงกัน จากที่ได้ไปทำงานในต่างประเทศมันก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่างาน Graphic ของไทยไม่ได้ด้อยไปกว่านานาชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือภาคอุตสาหกรรมที่ต่างประเทศขยายตัวและมีการตลาดที่ดีกว่าไทย
“ตลอดชีวิตในการทำงานผมก็รู้สึกดีใจทุกครั้งที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับคนอื่นได้ชื่นชม แน่นอนว่าศิลปินทุกคนก็จะมีผลงานที่เป็น Masterpiece ของตัวเอง ทำให้เป็นที่รู้จัก ส่วนตัวผมกลับมองว่างานชิ้นนั้นมันคืองานที่ทำแล้วผมรู้สุขสบายใจ มีความสุขที่ได้ทำ คืองาน I am Thai Graphic Designer เป็นกิจกรรมของทาง PRACTICAL Design Studio ที่มีตัวผม หุ้นส่วน รวมไปถึงน้อง ๆ ทุกคนได้ร่วมกันทำ มันไม่ได้จัดขึ้นเพื่อหารายได้กับลูกค้า แต่เป็นการทำเพื่อภาคสังคมของวงการออกแบบ มีนักออกแบบส่งผลงานมาร่วมโชว์มากมาย ทำให้รู้สึกว่ามีกิจกรรมเกิดขึ้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและได้เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน งานนี้จัดขึ้นเมื่อปี 2552 ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานของสตูโอเราที่ทำให้เรามีเพื่อนมากขึ้น และยังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกด้วย และนำมาซึ่งโอกาสอื่น ๆ ในภายหลัง ทั้งยังมอบประสบการณ์ให้กับสมาชิกอีกด้วย
“หากมองย้อนกลับไปในสมัยอดีตมาจนถึงปัจจุบันวงการ Graphic Designer มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในแง่ของการทำงานเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในสมัยที่ผมเรียนการออกแบบมันมีความยากง่ายต่างจากสมัยนี้ มันมีขั้นตอนเยอะกว่างานพวกศิลปะส่วนใหญ่จะเป็นการทำด้วยมือ ใช้กระบวนการและระยะเวลา รวมไปถึงความประณีตด้วยฝีมือของเราเยอะหน่อย ในปีแรกที่ผมเริ่มเข้ามาทำงานก็จะมีคอมพิวเตอร์เข้ามา เราจึงต้องทำเป็นคู่ขนานกันไปแล้วก็ต้องปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ส่วนตัวผมประกอบอาชีพเดินทางในสายนี้มาตลอด 20 ปี ดังนั้นการที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นแรงงานที่สำคัญในปัจจุบันมันเข้ามาช่วยประหยัดเวลาและเข้าถึงกระบวนการได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันทำให้ตัวบุคคลเองเข้าสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น และในอีกมุมก็ช่วยทำให้วิชาชีพเจริญเติบโต
การแข่งขันสูง การแสวงหารูปแบบที่พิเศษเฉพาะตัวผมมองว่ามันยากขึ้นตามไปด้วย
“สุดท้ายนี้ก็อยากฝากถึงทุกคน ในฐานะคนที่ไม่ได้ทำอยากให้สนใจหน้าที่ของงาน ประโยชน์ของมันมากกว่ารูปร่างหน้าตา รูปแบบ และความสวยงาม Graphic Designer มันช่วยให้การสื่อสารได้ง่ายและชัดเจนขึ้น แต่ในขณะเดียวกันฐานะนักออกแบบเข้าใจอีกว่าหน้าที่ของเราคืออะไร ถ้าหน้าที่ของเราถูกลดทอนลง ก็ทำให้คุณค่าของเราถูกทอนลงเช่นกัน การยกระดับตัวเองจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพของตัวเองด้วย แต่ท้ายที่สุดถ้าสิ่งที่เราทำมันด้วยความสามารถ และหัวใจ ใส่ความรักลงไปสิ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาดีเสมอ”
TEXT : Phattaranit & Thanasin
PHOTO : Nutchanun Chotiphan