Life of Thai Folk Song Singers : พนม นพพร

Life of Thai Folk Song Singers : พนม นพพร

Life of Thai Folk Song Singers : บรมครูผู้พัฒนาวงการบันเทิงไทย

พนม นพพร

 

ชาตรี ชินวุฒิ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ พนม นพพร ท่านโด่งดังมาจากการเป็นนักร้องลูกทุ่งเสียงดีมีเพลงอมตะอย่าง “ลาสาวแม่กลอง” นอกจากในเรื่องของเพลงท่านยังเป็นนักแสดง นักเขียนบท ผู้กำกับกับ ผู้สร้างภาพยนตร์ เจ้าของค่ายเพลง ผู้ผลิตรายการทีวีและละคร ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นคนคุณภาพในวงการบันเทิงคนหนึ่งของประเทศไทย แม้วันนี้ท่านได้วางมือจากวงการเพลงและวงการบันเทิงแล้วแต่เรื่องราวของท่านยังน่าจดจำอยู่เสมอ

อาจารย์ พนม นพพร เกิดที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี อยู่ในครอบครัวที่มีพ่อเป็นคนจีนมีแม่เป็นคนไทยซึ่งฐานะไม่ค่อยดีนัก ในครอบครัวมีพี่น้อง 4 คนตัวท่านเองเป็นลูกคนที่ 3 ซึ่งมีนิสัยแตกต่างจากพี่น้องคนอื่นที่ชื่นชอบในเรื่องของเสียงเพลงและการแสดงมากกว่าใครในบ้าน

“ผมจำได้ว่าเกิดมาก็ชอบฟังเพลงจากวิทยุเลย ในยุคนั้นมีนักร้องที่มีชื่อเสียงเป็นต้นแบบอย่าง ไพรวัลย์ ลูกเพชร ที่เพิ่งจะเป็นนักร้องใหม่ ๆ มีคำรณ สัมบุญณานนท์, สมยศ ทัศนพันธุ์, ทูล ทองใจ, สุรพล สมบัติเจริญ, สุเทพ วงศ์กําแหง ฯลฯ คือสมัยนั้นยังไม่ได้แยกลูกทุ่งกับลูกกรุงก็ฟังรวม ๆ กัน ไม่ได้แบ่งประเภทเพียงแต่ต่อมาช่วงหลังคนฟังเขาแยกประเภทขึ้นมาเอง

“ในวัยเด็กก็มีไปชกมวยบ้างไปเป็นเด็กเชียร์รำวงบ้าง เอาความสนุกเฮฮาไปเรื่อยตามประสาวัยรุ่น พออายุ 18 ปีมีอยู่วันหนึ่งผมได้ยินวิทยุประกาศรับสมัครนักร้องประกวดจากกรุงเทพ แต่ผมอยู่ชลบุรีก็คิดว่าจะทำยังไงดี ก็ไปถามเพื่อนว่าไปกรุงเทพถูกรึเปล่าเพื่อนบอกว่าไปถูก ก็เลยร่วมกันเดินทางเข้ากรุงเทพ ไปสมัครประกวดกับวง เทียนชัย สมยาประเสริฐ ซึ่งมีคนมาสมัครกว่า 300 คน พอร้องเสร็จกรรมการก็ให้ผมกลับบ้านที่ต่างจังหวัดก่อน แล้วในหนึ่งอาทิตย์จะโทรแจ้งว่าใครจะได้เป็นนักร้อง พอครบหนึ่งอาทิตย์วงดนตรี เทียนชัย สมยาประเสริฐ โทรมาบอกว่านายชาตรี ชินวุฒิ ได้ที่ 1 ผมดีใจมากถึงกับนอนไม่หลับแทบไม่เชื่อตัวเองว่าจะได้เป็นนักร้อง

“จากนั้นผมก็เข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งสมัยก่อนเวลาเข้ากรุงเทพฯ ไม่ได้มาง่าย ๆ มันใช้เวลานาน ต้องโบกรถ 6 ล้อจากชลบุรีเดินทางมาถึงปากน้ำ จากปากน้ำมาลงที่สนามหลวงก่อนจะข้ามมาฝั่งธนบุรีที่พัก แล้วก็มาใช้ชีวิตเป็นนักร้อง ทางวงดนตรีเขาก็จับผมไปแต่งตัวทำผมสนุกสนานกันไป แต่พอได้ทำงานจริงแล้วหลาย ๆ อย่างมันไม่เหมือนที่คิดไว้จึงหนีไปบวชเณร ระหว่างนั้นก็คิดว่าจะเอายังไงดีกับชีวิต โชคดีตรงที่ตอนนั้นผมเรียนจบ ม. 6 แล้วออกมาจากบ้านถ้าจะกลับไปก็อาย พอสึกออกมาก็ไปอาศัยอยู่กับน้าที่สามแยกไฟฉายดำรงชีพโดยการไปร้องเพลงตามวงเล็ก ๆ คืนละ 30-40 บาท

“ทำงานอยู่ได้สักพักก็โชคดีที่มีพี่สาวเพื่อนทำงานเป็นแม่บ้านอยู่กับวงจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมาตยกุล ก็เลยเป็นช่องทางแนะนำ จึงชวนกันมาสมัครที่วงดนตรีจุฬารัตน์ ซึ่งผมพึ่งสึกจากการบวชเณรหัวยังโล้นอยู่เลย เวลาที่เข้าไปหาครูมงคล ท่านนั่งอยู่ในห้องด้วยบุคลิกเคร่งขรึมคิดเอาเองว่าสงสัยท่านจะดุมาก ผมก็เข้าไปสวัสดีท่านแล้วขอสมัครเป็นนักร้อง ท่านตอบว่า เฮ้ย! ยังไม่รับนักร้องเต็ม ตอนนี้ในวงมีชาย เมืองสิงห์, สังข์ทอง สีใส ฯลฯ ผมก็ขอร้องว่าครูครับผมไม่มีที่กินข้าวแล้วรับผมไว้เถอะ ท่านก็ให้ผมลองร้องเพลงอยู่หลายเพลง พอร้องจบท่านก็ให้ผมทำงานในวงได้ แต่อยู่ในตำแหน่งแบกกลองเครื่องดนตรี แล้วท่านบอกว่าวันนี้จะออกเล่นดนตรีเดินสายอีสานนะ ผมเลยต้องรีบกลับมาที่พักเก็บของที่จำเป็นเพื่อไปกับวงดนตรีตอนนั้นเลย

“วงดนตรีจุฬารัตน์ออกเดินสายแสดงได้ประมาณหนึ่งเดือน นักร้องในวงก็เริ่มป่วยจากการเดินทางเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ ตรงนี้เองเป็นโอกาสของผมได้ขึ้นร้องเพลงเปิดวงเป็นคนแรกซึ่งถือว่าทำได้ดีมีคนชื่นชมมากมาย แต่ชีวิตก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงยังทำงานแบกของในวงสลับกับร้องเพลงเปิดวงต่อไป

“การเดินสายวงดนตรีสมัยก่อน เดือนเมษายนก็เริ่มออกเดินทางเตรียมตัวกันแล้วเพื่อไปเล่นในวันสงกรานต์ คือเดินสายวนไปทั่วทุกภาคของประเทศไปแสดงตั้งแต่โรงหนังเล็ก ๆ หรือตามงานที่เขาจ้างไม่ต้องใหญ่มาก คือต้องไปให้ทั่วไปให้หมดไม่อย่างนั้นอดตาย ตั้งแต่ผมอยู่วงดนตรีมามีอยู่จังหวัดเดียวที่ผมไม่ได้ไปคือจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพราะ มีภูเขาสูงชันซึ่งวงดนตรีไปไม่ถึง”

 ในช่วงที่พักวงหมดงานแสดงเดินสายในต่างจังหวัดระยะเวลาสั้น ๆ ครูมงคล อมาตยกุล นำนักร้องหลายคนในวงไปอัดแผ่นเสียง หนึ่งในนั้นได้ให้โอกาสอาจารย์พนม นพพร ร้องเพลงที่อาจารย์สรวง สันติ แต่งมาให้ชื่อว่า “สุขีเถิดที่รัก” เมื่อเพลงนี้ถูกเผยแพร่ออกมาก็สร้างชื่อให้อาจารย์พนม นพพร ทีละน้อย ต่อมาได้มีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงอีก 2 เพลงคือ “อัดอั้นตันใจ” แต่งโดยครูลพ บุรีรัตน์ แต่เพลงที่ถือว่าแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวก็คือเพลง “ลาสาวแม่กลอง” แต่งโดย เกษม สุวรรณเมนะ

“สมัยก่อนคนรับสื่อมาจากวิทยุเป็นส่วนใหญ่ โทรทัศน์ก็ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะมันมีน้อยและแพง พอเพลงลาสาวแม่กลองดังขึ้นมาคนก็ฟังกันแทบทุกบ้าน เรียกว่าผมมีชื่อเสียงมากในช่วงเวลานั้น แต่ชีวิตก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรผมก็ยังอยู่กับวงดนตรีแล้วก็ไปแบกของเหมือนเดิม แม้แต่นักร้องดังอย่างชายเมืองสิงห์ก็ต้องลงมาช่วยหลังเวที คือวงดนตรีจุฬารัตน์จะเป็นแบบนี้ไม่ว่าดังแค่ไหนก็ยังช่วยเหลือกันเหมือนเดิม

“ผมอยู่กับวงดนตรีหลายปีจนครูมงคล อมาตยกุล เริ่มอายุมากจึงยุบวงดนตรี ผมก็เลยมาทำวงดนตรีเองชื่อวงพนม นพพร ก็เดินสายอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ระหว่างนั้นเพื่อนผมอย่างชินกร ไกรลาศ ซึ่งเขาเข้าสู่วงการภาพยนตร์มาก่อน ได้ชวนผมเข้าวงการภาพยนตร์ ช่วงแรกก็เอามาฝากอยู่กับคุณอนิรุทธิ์ นุตไพโรจน์ ซึ่งเป็นผู้กำกับหนัง ผมได้แสดงหนังจากบทตัวประกอบในครั้งแรก ๆ ต่อมาก็ได้รับบทดี ๆ ในการแสดงภาพยนตร์หลายเรื่อง

“เหตุผลที่ผมเป็นนักร้องแล้วสามารถแสดงหนังได้เลยก็เพราะสมัยเด็ก ๆ ผมชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับวงการบันเทิงก็ฝึกฝนเองจากการที่ไปดูหนังกลางแปลง โดยมีต้นแบบการแสดงจาก ส. อาสนจินดา อยู่บ้านนอกผมก็ซ้อมบทเล่นกับเพื่อน ๆ อยู่บ่อยครั้งจนวันหนึ่งผมก็มายืนอยู่ตรงจุดนี้จริง ๆ”อาจารย์ พนม นพพร แสดงหนังอยู่หลายเรื่องทำให้มีประสบการณ์ในวงการภาพยนตร์มากพอสมควร จึงตัดสินใจลองสร้างภาพยนตร์ดูบ้าง ทั้งการเขียนบท กำกับเอง โดยหนังเรื่องแรกที่ทำออกมาคือ

“คมนักเลง” เป็นภาพยนตร์แนวบู๊ โดยมี สมบัติ เมทะนี และอรัญญา นามวงศ์ นำแสดง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยังไม่ยอมแพ้ท่านสร้างภาพยนตร์อีกครั้งในเรื่อง “คุณพ่อขอโทษ” นำแสดงโดยไพโรจน์ สังวริบุตร และ ลลนา สุลาวัลย์ แม้จะไม่ล้มเหลวแต่ก็ไม่ถึงขั้นเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จจริง ๆ แต่เรื่องที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของอาจารย์พนม นพพร คือการสร้างภาพยนตร์ครั้งที่ 3 คือ เรื่อง “จับกัง” ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงมากในยุคนั้น

“ก่อนที่จะสร้างหนังผมต้องไปดูโลเคชั่นจริงก่อนเสมอ แล้วเอาโครงเรื่องจากคนอีสานที่เข้ามาเป็นจับกังในเมือง หนังเรื่องนี้ผมเอาสรพงษ์ ชาตรี มาเล่นบทคนแบกข้าวสาร ซึ่งเป็นพระเอก ไปอยู่ในบ้านของเถ้าแก่โรงสีก็ได้ไปเจอนางเอกที่นั่นแล้วก็เกิดเรื่องราวต่อสู้กัน ในเรื่องมีฉากใหญ่ไปถ่ายที่ท่าเรือเยอะ เรื่องนี้ผมเขียนบทขึ้นมาเองกำกับเอง อะไรไม่ดีเราก็แก้ไขค่อย ๆ ทำไปมันก็สำเร็จขึ้นมา

“ตอนหลังผมอยากทำค่ายเพลงก็เลยเปิดค่ายเพลงขึ้นมา ช่วงแรก ๆ ดีมากเพราะไม่มีเทปผีซีดีเถื่อน มีนักร้องดังในค่ายอยู่หลายคนอย่างแมงปอ ชลธิชา, จ๊อบ & จอย ระหว่างนั้นผมก็ได้รับโอกาสจากทางช่อง 7 ให้ทำรายการเพลงลูกทุ่ง ชุมทางเสียงทอง ตอนที่เริ่มทำไม่มีใครสนใจเลยผมก็ทำไปเรื่อย ๆ จนดัง อีกเหตุผลหนึ่งคือผมสร้างนักร้องในค่ายขึ้นมาก็เป็นเวทีที่ให้นักร้องได้ไปออกรายการโทรทัศน์ เป็นการโฆษณาอีกทางหนึ่งซึ่งรายการนี้ผมทำมาเกือบ 30 ปีแล้ว

“ปัจจุบันเรื่องของธุรกิจเพลงมันไม่สามารถขายเทปได้เหมือนสมัยก่อนต้องขายโชว์อย่างเดียว แล้วต้องหาช่องทีวี ส่งลงยูทูบหรือสื่อออนไลน์อะไรก็ว่ากันไป ซึ่งการมีเทคโนโลยีเข้ามาในวงการเพลงผมคิดว่ามันก็มีข้อดี เพราะมันเป็นการพัฒนาให้วงการเพลงก้าวไปได้ไกลให้มีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาแต่เราต้องตามให้ทัน วงการลูกทุ่งเขาก็พยายามปรับตัวอยู่ ดูลูกทุ่งอีสานเป็นตัวอย่าง เขาปรับตัวเข้าได้หมดแต่ต้องขายวัยรุ่นเป็นประเด็นใหญ่เราจะไปทำเพลงแบบเดิมไม่ได้แล้ว

“แต่ผมก็กังวลว่าบางทีลูกทุ่งอาจเหลือแต่ชื่อ เพราะทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย อย่างเพลงลูกกรุงตอนนี้ไม่มีแล้วเพราะคนฟังรุ่นเก่าค่อย ๆ ทยอยหายไปหมด มีแต่เพลงสมัยใหม่ตอนนี้เพลงมันเริ่มกลมกลืนไปหมดผมว่าเพลงลูกทุ่งต่อไปจะไม่มี เพราะคนรุ่นใหม่เกิดมาไม่รู้จักเขาจะรู้แต่ว่านี่คือเพลงเท่านั้น

“ชีวิตของผมที่ผ่านมาเป็นหลายอย่างตั้งแต่นักร้อง นักแสดง เขียนบท ผู้กำกับ ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักธุรกิจ ผมทำทุกอย่างสารพัด เรื่องแบบนี้ไม่ใช่สร้างปีเดียวเสร็จต้องใช้เวลา 20 -30 ปีทำทีละอย่างทีละขั้น เขาเรียกว่าแยกส่วนให้ถูกต้องแล้วประเมินผล สมัยก่อนผมทำเองคิดเองทั้งหมดทำให้เวลาพักผ่อนเหลือเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง เพราะว่าห่วงงานแต่ตอนนี้ทำไม่ไหวแล้วเพราะอายุมาก บริษัทของผมปัจจุบันก็เหลือเพียงงานละครที่ทำให้ช่อง 7 อยู่แต่ให้ลูกชายดูแลแทนหมดแล้ว

“ผมอยากฝากถึงคนในวงการเพลงและวงการบันเทิงและผู้ร่วมงานทั้งหลายอยากให้รักษาคุณภาพของงานทุกอย่างที่ทำให้มีใจรักมีความมุ่งมั่นคิดดีทำดีซื่อสัตย์ในอาชีพแล้วทุกอย่างจะออกมาดีเอง”

Did you know

• ผลงานเพลงที่สร้างชื่อลาสาวแม่กลอง (เกษม สุวรรณเมนะ), นาวีไทยไปเวียดนาม (พยงค์ มุกดา), สุขีเถิดที่รัก (สรวง สันติ), อัดอั้นตันใจ, ดอกฟ้า, เซิ้งสวิง (สัญญา จุฬาพร)

• ผลงานการสร้างภาพยนตร์คมนักเลง, คุณพ่อขอโทษ, จับกัง, หมามุ่ย, อุ๊ยเขิน, พูดด้วยปืน, แม่ครัวหัวไข่, บ้านไร่อลเวง, ยุทธการกล้วยไม้ป่า, เพลงรักแผ่นดินเพลิง, คนในซอย, ไอ้ขี้เมา, บัวตูมบัวบาน

• ผลงานการแสดงละครโทรทัศน์ อาทิ ช่อง 7 มนต์รักลูกทุ่ง (2538), สุรพล สมบัติเจริญ (คนจริง) (2541) (รับเชิญ), มนต์รักลูกทุ่ง (2548), ล่องเรือหารัก (2552), เพลงรักข้ามภพ (2552) ช่อง 3 แม่ศรีไพร (2539), เสน่ห์บางกอก (2539), รักต้องลุ้น (2540), ไข่ลูกเขย (2540), ไอ้แก่น (2540), แหม่มจ๋า (2541), เทพบุตรสุดที่รัก (2542)

TEXT : Passaponge Prerajirarat
PHOTO : Nutchanun Chotiphan

#mixmagazinethailand #TheArtist